"เอ็กซิมแบงก์ไทย พี่เลี้ยงมือใหม่-ใจถึง"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

พลังสี่ประสานภารกิจต่อเนื่องของอดีตนายกฯ อานันท์-ม.ร.ว. ปรีดิยาธร-ขุนคลัง ธารินทร์และผู้ว่าการแบงก์ชาติวิจิตร ทำให้วันนี้ผู้ส่งออกไทยมี "เอ็กซิมแบงก์ไทย" เป็นที่พึ่งการเงินแห่งใหม่ เป็นเสบียงสนับสนุน "กองทัพมด" ผู้ส่งออกไทยขายของในต้นทุนต่ำแล้วขนเม็ดเงินเข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่าล้านล้านบาท แต่ก้าวต่อไปของเอ็กซิมแบงก์ไทยจะสามารถแบกรับภาระปัญหาประกันความเสี่ยงได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องน่าจับตา !!

ชัยเฉลิม ลีรุจิกุล เพิ่งเสร็จสิ้นการเซ็นสัญญากู้เงินจากเอ็กซิมแบงก์ไทย เพื่อใช้เป็นสินเชื่อส่งออกเสื่อน้ำมันไปประเทศมาลี เขาเป็นตัวอย่างหนึ่งของพ่อค้าส่งออกรายย่อย ที่มีภูมิหลังล้มลุกคลุกคลาน สมัยทำโรงงานหัวเตาปิคนิคแก๊สที่ต้องปิดกิจการไปเพราะนโยบายห้ามผลิตของรัฐบาล แต่ด้วยจิตใจของนักสู้ชีวิต ภายในห้าปีที่ผ่านมา เขาก็ฟื้นตัวได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง เป็นเจ้าของบริษัทซันไชน์ ออโตพาร์ท ที่ไปบุกเบิกเปิดตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประเทศมาลี ทวีปอัฟริกา ที่ซึ่งเป็นตลาดที่โลกลืมและไม่ยอมรับ แต่ชัยเฉลิมเล็งเห็นช่องทางทำธุรกิจการค้า

"ผมเดินไปหาเอ็กซิมแบงก์ไทย เมื่อรับทราบจากหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เขาเปิดสำนักงานในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ผมขอสินเชื่อเพื่อใช้เงินซื้อของจากโรงงาน ผมอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังว่า ผมไม่มีหลักทรัพย์ ไม่มีแอล/ซี มีแต่ใบสั่งของจากสำนักงานสาขาที่โน่น วันที่เจ้าหน้าที่เอ็กซิมแบงก์ไทยไปดูที่ออฟฟิศผมที่กรุงเทพ เผอิญผมมีเครื่องไถนา 40 ตัว เขาเห็นเราทำจริงก็อนุมัติสินเชื่อ ที่ผมขอไป ประมาณล้านกว่าไม่ถึงสองล้านบาท ผมใช้น้อยตามความจำเป็น" ชัยเฉลิมเล่าให้ฟังถึงที่มาของเงินกู้แบบไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

การให้บริการ "วงเงินซื้อลดตั๋วสินค้าออกที่ไม่มีแอล/ซี" ดังกรณีชัยเฉลิมได้รับ เป็นสินเชื่อให้ผู้ส่งออกหน้าใหม่ หรือรายย่อยที่มีความสามารถส่งออกแต่ไม่มีทุนทรัพย์ ก็สามารถนำตั๋วมาขายเพื่อเอาเงินหมุนเวียนไปใช้ในธุรกิจ เป็นตั๋วชนิดไม่เกิน 90 วัน ส่วนผู้ค้ำประกันจะเป็นตัวเจ้าของกิจการเองหรือบริษัทก็ได้ แต่ถ้าวงเงินสูงก็อาจจะต้องมีหลักทรัพย์เพิ่มเติมบ้าง

"แต่สิ่งที่ผมอยากให้เอ็กซิมแบงก์เพิ่มบริการในอนาคตคือ สินเชื่อ DOMESTIC L/C เป็นแอล/ซีในประเทศ ที่เจ้าของโรงงานไปเก็บเงินจากเอ็กซิมแบงก์แทนที่เราจะต้องไปกู้เงินมามัดจำเขา เงินกู้นั้นเราก็ต้องเสียดอกเบี้ยแต่ของยังทำไม่เสร็จ" ชัยเฉลิมวาดหวังในอนาคต

ขณะเดียวกันก็มีบริการอีกอย่างของเอ็กซิมแบงก์ไทยคือ "สินเชื่อระยะสั้นเพื่อเตรียมการส่งออก" สำหรับผู้ส่งออกรายย่อยที่ไม่มีแพคกิ้งเครดิตกับแบงก์พาณิชย์ สามารถขอสินเชื่อจัดเตรียมสินค้าเพื่อส่งของลงเรือ (PRE-POST SHIPMENT) ให้กู้ 120 วัน โดยมีสต๊อคสินค้าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เอ็กซิมแบงก์ไทยก็ให้กู้ หรือค้ำประกันอาวัลตั๋วเงินที่ออก

"อัตราดอกเบี้ยที่เอ็กซิมแบงก์ไทยคิดผมไม่แพงเพราะบวกอีก 1.75% จากเอ็มแอลอาร์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่พวกผมผู้ส่งออกรายย่อยแฮปปี้ เพราะถ้าผมเอาจากไฟแนนซ์เขาคิดตั้ง 15-16% แต่สำหรับ ที่นี่เขาคิดผมแค่ 12-13% เท่านั้น" ชัยเฉลิมเล่าให้ฟัง

เพียงระยะเวลาสองอาทิตย์ หลังจากยื่นเรื่องชัยเฉลิมก็มีกำลังเงินและกำลังใจที่จะดำเนินธุรกิจส่งออกไปยังประเทศมาลี ประเทศที่ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักมากนัก ซึ่งพลอยเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่าการติดต่อทำธุรกิจกับประเทศนี้มีความเสี่ยงสูง สถาบันการเงินไม่อยากจะให้การสนับสนุนด้านการเงินเท่าไรนัก

กรณีของเฉลิมชัยนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย ดีไม่ดีอาจจะถูกมองว่า "จับเสือมือเปล่า" ถ้าหากเขาเดินเข้าไปขอกู้แบงก์พาณิชย์ทั่วไป เพราะว่าชัยเฉลิมไม่มีหลักประกันอะไรเลย ไม่มีแพคกิ้งเครดิตซึ่งต้องมีหลักทรัพย์มหาศาลค้ำประกันบัญชีไว้ ไม่มีทั้งแอล/ซี หรือถ้ามีแอล/ซี...แต่แบงก์ไหนเล่าจะยอมรับให้สินเชื่อได้ เพราะแอล/ซีใบนั้นจะต้องได้รับการันตีจากแบงก์ยุโรปชั้นนำที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ชัยเฉลิมจนปัญญา จนกระทั่งได้เห็นแสงเรืองรองส่องอยู่ปลายถ้ำ

แสงแห่งความหวังนั้นคือเอ็กซิมแบงก์ไทย พี่เลี้ยงมือใหม่-ใจถึง ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐผู้ยอมเสี่ยงไปกับผู้ส่งออกแบบชัยเฉลิม

"หลักการทำงานของเอ็กซิมแบงก์ไทยคือธุรกิจใดที่คนอื่นเห็นว่าเสี่ยง แต่เราเห็นว่าไม่เสี่ยงมากนัก ก็จะลองทำดูเพื่อเป็นทัพหน้าให้กับนักธุรกิจของไทยในการบุกตลาด ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ที่ตั้งแบงก์นี้ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนผู้ส่งออก ไม่เหมือนกับการทำธุรกิจแบบแบงก์พาณิชย์" ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ไทยกล่าว

บนชั้น 17 อาคารบุญผ่องภายในห้องทำงานที่ตกแต่งเรียบง่าย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล นั่งบริหารอยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการสถาบันการเงินน้องใหม่ "ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย" (ธสน.) หรือ "เอ็กซิมแบงก์ไทย"

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร สะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นนายธนาคารมืออาชีพ ผสมผสานกับบทบาทอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สามสมัยตั้งแต่ยุครัฐบาลนายกฯ อานันท์ 1 และ 2

ความจำเป็นต้องมีเอ็กซิมแบงก์ไทย เป็นภารกิจหลักเร่งด่วนที่รัฐบาลยุคอานันท์ทำได้สำเร็จก่อนจะเปลี่ยนเป็นยุครัฐบาลชวน หลีกภัย !

ครั้งกระนั้น ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ได้รับมอบหมายภารกิจจากนายก ฯ อานันท์ ในการยกร่าง พ.ร.บ. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จนกระทั่งผ่านสภาฯ ได้และสามารถประกาศใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2535 ก่อนรัฐบาลอานันท์ 2 จะสิ้นสุดลง

ต่อมาเมื่อธารินทร์ นิมมานเหมินท์ขึ้นเป็นขุนคลัง โครงการธนาคารเพื่อการส่งออกฯ นี้ได้รับการสานต่อในเชิงปฏิบัติจริง โดยเชื่อมประสานกับผู้ว่าแบงก์ชาติ วิจิตร สุพินิจ เตรียมโอนย้ายงานแพคกิ้งเครดิตทั้งหมด สร้างธนาคารเพื่อการส่งออกฯ นี้ขึ้นมา เพราะนี่คือโครงการในฝันโครงการหนึ่งที่ธารินทร์พูดเสมอถึงความจำเป็นต้องมี ตั้งแต่สมัยเขายังเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่

"เรื่องเอ็กซิมแบงก์ไทยนี้ ภาคเอกชนที่พูดมากกว่าใคร ๆ ก็คือคุณธารินทร์ ตั้งแต่สมัยเขายังอยู่ไทยพาณิชย์ แต่ทีนี้รัฐบาลหลายรัฐบาล แม้จะพยายามจะทำให้มันเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ว่ากระบวนการตามกฎหมายผ่านสภาฯ เกิดช้าไป แต่มันก็เกิดแล้ว ก็ทำให้มันดีที่สุดก็แล้วกัน" ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เล่าให้ฟัง

โครงสร้างผู้บริหารระดับสูงของเอ็กซิมแบงก์ไทย ถูกจัดวางตามต้นแบบแบงก์พาณิชย์ทั่วไป เริ่มจากคณะกรรมการธนาคารดูแลระดับนโยบาย 12 คน โดยมีวิจิตร สุพินิจเป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร และม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุลเป็นกรรมการผู้จัดการ

ผู้บริหารเอ็กซิมแบงก์ไทยตระหนักดีว่า แม้จะเป็นธนาคารของรัฐก็ตาม ความคล่องตัวยังเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นเอ็กซิมแบงก์ไทยจึงมีกฎหมายเฉพาะตัว "พ.ร.บ. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย" เป็นแม่บท

ในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดเงินกองทุนเริ่มแรกของเอ็กซิมแบงก์ไทย 2,500 ล้านบาทปรากฏว่าสิ้นปีได้รับชำระเงินทุนแล้ว 1,843.47 ล้านบาทนอกจากนี้แบงก์ชาติยังสนับสนุนวงเงินกู้ยืมสินเชื่อแพคกิ้งเครดิตทั้งหมดจำนวน 30,000 ล้านบาทอีกด้วย

นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางให้เอ็กซิมแบงก์ไทยระดมแหล่งเงินทุนได้อีกหลายช่องทาง เช่น กู้จากแบงก์ในและต่างประเทศ หรือการออกตราสารการเงินระยะสั้นและยาวทั้งที่เป็นสกุลบาทหรือสกุลเงินตราต่างประเทศได้ทั้งนั้น

ยกเว้นข้อห้ามประการเดียวที่เอ็กซิมแบงก์ไทยทำแข่งกับแบงก์พาณิชย์ไม่ได้ นั่นคือ การเปิดบัญชีเพื่อรับเงินฝากจากสถาบันการเงิน

"เอ็กซิมแบงก์ไทยทำธุรกิจแข่งกับแบงก์พาณิชย์ไม่ได้ แต่เราเองก็มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจ การที่เราค้ำประกันตั๋วผู้ส่งออก หากวันหนึ่งแบงก์พาณิชย์บอกให้เขาไปกู้กับแบงก์โดยตรง โดยที่เราไม่ต้องไปค้ำประกัน นั่นแหละเป็นเป้าหมายของเรา เงินทุกบาทที่เราได้มาแล้วปล่อยกู้นั้น เราได้มาจากการกู้ยืมเงินอีกต่อหนึ่ง แบงก์ชาติปล่อยให้แบงก์พาณิชย์ 5% แต่แบงก์ชาติปล่อยให้เรากี่เปอร์เซนต์เราไม่บอก ขอให้รู้แต่ว่ามาร์จิ้นเราไม่ถึง 3%" กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ไทยกล่าว

กว่าจะถึงวันนี้ที่ผู้ส่งออกรอคอย ช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ภาคเอกชนบุกตลาดโลกไปแล้วขณะที่รัฐบาลยังมัวแต่มะงุมมะงาหรา ตัวเลขการส่งออกของไทยโตเป็นสัดส่วนที่เทียบมูลค่าส่งออกกับจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) จากร้อยละ 15.6 ในปี 2505 เป็นร้อยละ 39.4 ในปี 2535 โดยเฉพาะห้าปีที่ผ่านมา

"ระบบการเมืองไทยไม่เคยกระทบกระเทือนเศรษฐกิจตราบใดที่สินค้าจากประเทศไทยเป็นของดีและราคาถูกกว่าคู่แข่งเป็นคุณ ๆ ซื้อไหม ? อย่างคราวที่เกิดพฤษภาทมิฬ ยอดเอ็กซ์ปอร์ตตกแค่เดือนเดียว แต่ในที่สุดเราก็ขายได้เหมือนเดิม" นี่เป็นคำยืนยันของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร อดีตรมช. กระทรวงพาณิชย์

ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้านต้นทุน ทำให้ผู้ส่งออกต้องการแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำแต่ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีบริการสินเชื่อรูปแบบอื่น นอกจาก "แพคกิ้งเครดิต" เท่านั้นของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผู้ส่งออกต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันการเปิดแพคกิ้งเครดิต


แต่เมื่อเอ็กซิมแบงก์ไทยเกิดขึ้นด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะสนับสนุนเงินทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ส่งออกไทย บริการสินเชื่อมีถึง 7 ประเภทซึ่งแบงก์พาณิชย์ทั่วไปไม่เสี่ยงทำ จึงถูกนำเสนอบริการลูกค้า ได้แก่

หนึ่ง-วงเงินซื้อลดตั๋วสินค้าออกที่ไม่มีแอล/ซี

สอง-สินเชื่อระยะสั้นเพื่อเตรียมการส่งออก

สาม-เงินกู้ระยะปานกลางเพื่อขยายการส่งออก

สี่-สินเชื่อเพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าคงทน

ห้า-เงินกู้ระยะยาวเพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าทุน

หก-สินเชื่อระยะปานกลางเพื่อสนับสนุนส่งออกสินค้าเกษตร

เจ็ด-กรมธรรม์ประกันการส่งออกทั่วไป

"เป้าหมายของเราส่งเสริมทั้งผู้ส่งออกหน้าเก่าและหน้าใหม่แต่ที่อนุมัติผู้ส่งออกรายย่อยบ่อย ๆ เพราะศึกษาง่ายและอนุมัติได้เร็วแต่เราก็มีรายใหญ่ที่เขากำลังขายเครื่องจักรไปต่างประเทศมากู้หลายราย มีรายใหญ่ที่จะไปลงทุนในต่างประเทศและชวนเราให้เข้าร่วมทุนอีกหลายรายด้วย พวกนี้เป็นรายใหญ่ที่ขอสินเชื่อและเรากำลังศึกษา" กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ไทยเล่าให้ฟัง

นอกจากลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออกรายย่อย บริการ "เงินกู้ระยะปานกลางเพื่อขยายการส่งออก" ของเอ็กซิมแบงก์ไทยยังจับกลุ่มผู้ส่งออกขนาดกลาง ดังเช่นกรณีของบริษัทแฟล็กซี่แพลน ดีไซน์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานส่งออกประเทศญี่ปุ่น

บวรศักดิ์ กฤฎาพงษ์ เจ้าของกิจการได้ลองเข้าไปขอกู้ในวงเงิน 10 ล้านบาทจากเอ็กซิมแบงก์ปรากฏว่าได้รับอนุมัติอย่างรวดเร็ว

"ปกติผมจะใช้แพคกิ้งเครดิตจากแบงก์ไทยพาณิชย์แต่เมื่อเห็นว่าเอ็กซิมแบงก์ไทยเปิดให้บริการด้านนี้ผมก็ลองติดต่อดู ก็อนุมัติรวดเร็วกว่าทั่วไป แต่เรื่องอื่น ๆ ผมเห็นว่าเหมือนกับที่แบงก์อื่น" บวรศักดิ์ เปรียบเทียบจุดต่างของบริการ

เพียงปีแรก ก้าวย่างของการเปิดบริการสินเชื่อเพื่อการส่งออกของเอ็กซิมแบงก์ไทยก็น่าจับตา โดยเฉพาะการระบายสินค้าเกษตรที่ต้องทำ ตามนโยบายรัฐบาลป้องกันราคาพืชผลตกต่ำ ทำให้เกิด "บริการสินเชื่อระยะปานกลางเพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตร" ที่ใช้วิธีให้เครดิตไลน์ยาวไม่เกิน 2 ปีแก่ผู้ซื้อโดยหลักประกันไม่จำเป็นต้องมี ในกรณีที่เป็นสินค้าที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้การสนับสนุน เช่นการปล่อยสินเชื่อในโครงการข้าว นาปรังจำนวน 1-2 พันล้านบาทเป็นต้น

สำหรับผู้ส่งออกรายใหญ่หรือปานกลาง การที่มีเครดิตไลน์ที่ดีกับแบงก์พาณิชย์ก็มิใช่ว่าจะได้รับอนุมัติสินเชื่อเสมอไป เพราะถ้าหากไปค้ากับประเทศที่เสี่ยงแบบประเทศสังคมนิยมที่เริ่มเปิดการค้าเสรีแบบรัสเซีย หรือยุโรปตะวันออกบางประเทศ ประชาคมรัฐอิสระ (CIS) ซึ่งมีปัญหาความสามารถในการชำระเงินมาก ๆ แบงก์พาณิชย์คงจะพับเรื่องเข้าลิ้นชักไม่อนุมัติแน่แท้ แต่เอ็กซิมแบงก์ไทยพยายามให้บริการ เช่น การติดต่อกับธนาคารพาณิชย์ที่เชื่อถือได้ในประเทศนั้น ๆ เพื่อทำระบบ OPEN SETTLEMENT ACCOUNT หรือการจัดทำบัญชีบันทึกการซื้อขายทั้งสองฝ่ายและทุก ๆ 3 เดือนมีการเคลียร์บัญชีกันครั้งหนึ่ง

"ในประเทศที่การชำระเงินยังไม่คล่องตัว ผู้ส่งออกยังไม่มั่นใจว่าจะได้รับการชำระเงินหรือไม่ ? วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างธนาคาร ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือ การให้วงเงินสินเชื่อเพื่อรองรับแอล/ซีของพ่อค้าในประเทศนั้น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ส่งออกไทยด้วย"

นี่คือนโยบายการกรุยทางสะดวกให้ผู้ส่งออกของเอ็กซิมแบงก์ไทยตามคำบอกกล่าวของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร

ด้วยนโยบายของการสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างธนาคารนี่เอง จึงเป็นครั้งแรกที่เวียดนามกู้เงินจากตลาดการเงินเอกชน โดยมีสองธนาคารไทย คือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและธนาคารกรุงไทย เป็นผู้จัดหาเงินกู้แบบ SYNDICATE LOAN 100 ล้านเหรียญสหรัฐจากแบงก์พาณิชย์ไทยและต่างประเทศ 9 แห่ง กับบริษัทเงินทุน 5 แห่งมีระยะเวลาชำระคืน 5 ปี แบ่งเป็นชำระ 6 งวดทุกครึ่งปี รวมระยะปลอดหนี้เงินต้น 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ LIBOR+2.25 %

กล่าวกันว่า เบื้องหลังของความสัมพันธ์ฉันเพื่อนระหว่างผู้ว่าแบงก์ชาติวิจิตร สุพินิจกับเกา ซีเกียม ผู้ว่าการแบงก์ชาติเวียดนาม ก่อให้เกิดแนวความคิดของความร่วมมือช่วยเหลือทางการเงิน-การค้า-การลงทุนนี้โดยไทยวาดหวังว่า จะเป็นประตูเงินประตูทองของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ และที่สำคัญคือบทบาทของวิเทศธนกิจในฐานะศูนย์กลางระดมทุนในภูมิภาคอินโดจีน

เหตุผลที่เอ็กซิมแบงก์ไทยปล่อยสินเชื่อให้เวียดนามไม่ใช่เหตุผลการเมือง แต่เป็นเหตุผลของการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จะต้องร่วมมือกันในสามประเด็นคือ-ร่วมลงทุน-ร่วมค้าขายและร่วมมือทางการเงิน

"เมื่อเขาขาดเงินทุน แต่เรามีแหล่งเงินทุนโดยบางทีเราไม่ได้ควักกระเป๋าตัวเองแต่มาจากต่างประเทศที่ไหลผ่านเราที่เป็นประตู เราก็เอาอันนี้มาสร้างความร่วมมือกัน ไม่เกี่ยวกับการเมือง และไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องทำทั้งนั้น ทันทีที่เราทำ เขาก็เห็นน้ำใจเรา และเมื่อพ่อค้าเราไป เขาก็ให้ความสะดวกง่ายขึ้น" ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กรรรมการผู้จัดการให้ทัศนะต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว

ประเทศจีน เวียดนาม ลาว เขมรและประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ กลายเป็นตลาดใหม่สำหรับการ RELOCATE สินค้าทุน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกลที่คนไทยผลิตเอง หรือปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์เก่านำไปขายให้เพื่อนบ้านในราคาถูก

กลยุทธ์ของเอ็กซิมแบงก์ที่จะสนับสนุนผู้ส่งออกเครื่องจักรเหล่านี้ คือการยืดระยะเวลาการชำระเงินออกไปนาน 3-5 ปี ในวงเงินกู้ไม่เกิน 85% ของมูลค่าสินค้าทุน

"ถ้าเราไม่มีเทอมเงินกู้ 5 ปี เราก็ไม่มีโอกาสจะขายพวกเครื่องจักรนี้ได้ ขณะนี้มีรายใหญ่ที่มาขอกู้ 6-8 ราย วงเงินปาเข้าไป 2 พันล้านบาท เรากำลังศึกษาอยู่ โอกาสและความเสี่ยงในการปล่อยกู้กับผู้ซื้อเครื่องจักรจากไทยเรานั้น เราป้องกันโดยผ่านแบงก์ท้องถิ่นค้ำประกัน เราไม่ทำเดี่ยว ๆ หรอก" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เล่าให้ฟัง

เมื่อถูกถามว่า หากพ่อค้าไทยทำตัวเป็น "โบรกเกอร์" ที่นำเข้าเครื่องจักรเก่าจากต่างประเทศแล้วขายต่อให้ประเทศเพื่อนบ้านโดยขอสินเชื่อประเภทนี้บ้างจะได้รับการพิจารณาหรือไม่? ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าวว่า "ถ้าเป็นโบรกเกอร์เราไม่สนใจ ทำไมเราจะเอาเงินของเราไปช่วยญี่ปุ่นขายของเล่า?"

แต่สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงไปกว่านี้ ที่เอ็กซิมแบงก์ไทยยังไม่ได้ให้บริการนั่นคือ "กรมธรรม์ประกันการส่งออกทั่วไป" ที่คุ้มครองความเสี่ยงในการเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อ โดยมีเงื่อนไขขายสินค้าที่มีกำหนดชำระเงินจากผู้ซื้อไม่เกิน 180 วัน และถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเอ็กซิมแบงก์ไทยจะชดเชยให้ 70-90%

การรับประกันความเสี่ยงในการเรียกเก็บเงินจากการส่งออก ตลอดจนการประกันความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศ ถือว่าเอ็กซิมแบงก์ไทยได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติฯ ซึ่งระบุให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีชดเชยความเสียหายจากธุรกิจเหล่านี้ด้วย !

"บริการนี้เอ็กซิมแบงก์ทุกประเทศขาดทุนทั้งนั้นและส่วนนี้เป็นธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่ทำเพราะมีความเสี่ยงสูงเกือบเต็ม 100% แต่ธุรกิจนี้จะช่วยเหลือผู้ส่งออกได้มาก ประกันรายได้จากผู้ซื้อแน่นอน ทำให้ผู้ส่งออกมั่นใจที่จะบุกตลาดใหม่ ๆ " ทศชนก ลีลาวรรณกุลศิริ ผู้จัดการวิเคราะห์สินเชื่อ 1 ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ กล่าวและคาดว่าจะเปิดบริการดังกล่าวได้ปลายปีนี้เพราะต้องคิดคำนวณค่าธรรมเนียมจากอัตราเสี่ยงในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในระยะแรกของเอ็กซิมแบงก์ไทยนั้น ปรากฏว่ามีผู้ส่งออกรายย่อยที่ให้ความสนใจติดต่อเข้ามาถึงเดือนละกว่า 100 ราย โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก และขอสินเชื่อระยะสั้นเพื่อเตรียมการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือการขอเงินกู้ระยะปานกลางเพื่อขยายการส่งออก

แต่ปัญหาการประชาสัมพันธ์โฆษณาที่ยังอยู่ในวงแคบทำให้เอ็กซิมแบงก์ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ผู้ส่งออกส่วนใหญ่จึงยังไม่มีความเข้าใจในขอบเขตการให้บริการและคิดว่าการขอสินเชื่อเอ็กซิมแบงก์จะยุ่งยากเหมือนทำกับแบงก์ชาติ

ภาพพจน์ของเอ็กซิมแบงก์ไทยจึงโตเงียบ ๆ ตามบุคลิกของผู้นำ ความเป็น ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะอดีตนายแบงก์ใหญ่กสิกรไทย ที่เข้ามาบริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ทำให้สีสันของสถาบันการเงินของรัฐแห่งใหม่นี้น่าจับตาว่า ยุคพระศรีอารย์ของสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ส่งออกได้อุบัติขึ้นแล้ว ภายใต้การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศอันรุนแรง ถึงเวลาเสียทีสำหรับกองทัพมดไทยเหล่านี้จะขนเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศแม้จะเสี่ยงต่อปัจจัยผันผวนทางการเมืองและอัตราแลกเปลี่ยนก็ตามที แต่ก็มีเอ็กซิมแบงก์ไทยรองรับ !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.