|
"ยูโอบี" ยึดหัวหาดกองทุนอนุพันธ์คุ้มครองเงินต้นสู้ยุคบลจ.แข่งเดือดใช้ความเก๋าเฉพาะด้านดึงลูกค้า
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ยุคแข่งเดือดส่งผล บลจ. ขนาดกลางปรับตัวหาวิถีแห่งการอยู่รอด เน้นยุทธวิธีความถนัดเฉพาะด้าน เลี่ยงเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดกองทุนรวมขณะเดียวกันก็ต้องลดแรงปะทะระหว่างกองทุนร่วมรุ่น หาทางเปิดตลาดใหม่ ๆ ด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายแตกต่าง ซึ่ง"ยูโอบี" หนึ่งใน บลจ.ที่เริ่มตั้งไข่ หันมาเอาดีในกองทุนรวมแบบปิด ปี2550 รุกหนักเปิดอีก 5 กองทุน ที่เน้นคุ้มครองเงินต้นอิงตราสารอนุพันธ์ หลังเห็นสิงโปร์บูม ประกาศปี2550 แม้ตอนนี้จะมีแต่นักลงทุนสถาบันเป็นส่วนใหญ่
จากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) โดยส่วนแบ่งตลาดกว่า 63.71 %เป็นของ 5 บลจ.ขนาดใหญ่ ขณะที่ บลจ.ที่เหลืออีก 13 แห่งซึ่งไม่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หนุนหลังกลับต้องมาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่เหลืออยู่อีกเพียง 1 ใน 3 ประกอบกับปีนี้ยังจะมี บลจ.ใหม่เข้ามาเปิดดำเนินการอีก 3 แห่ง ทำให้สมรภูมินี้ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเข้าไปอีก
ภาวะเช่นนี้ บลจ.ขนาดกลางจึงมีสถานภาพเหมือนโดนกระหนาบทั้งสองด้าน ไม่ต่างอะไรกับแซนวิช ด้านหนึ่งก็ต้องสร้างผลตอบแทนและความน่าสนใจเพื่อยื้อแย่งเม็ดเงินกับ บลจ.ขนาดใหญ่ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ต้องป้องกันเม็ดเงินไม่ให้ไหลไป บลจ.ขนาดเดียวกันหรือขนาดเล็กกว่าได้
แม้ว่าจะสามารถออกกองทุนประเภทเดียวกันกับ บลจ.ขนาดใหญ่ได้ด้วยต้นทุนที่เท่ากัน แต่ทว่าความสามารถในการระดมเงินนั้นทำได้น้อยกว่า ส่งผลต่อการเรียกเก็บค่าบริหารจัดการซึ่งปกติจะได้เป็นร้อยละของมูลค่ากองทุนน้อยตามไปด้วย
ดังนั้น บลจ.ขนาดกลางและเล็กในยุคนี้จึงต้องมีความชำนาญ ความโดดเด่นเฉพาะด้าน เป็นโพสิชันนิ่งและจุดขายที่ชัดเจน เพื่อสร้างความน่าสนใจและความแตกต่าง
ยูโอบี ถือได้ว่าเป็น บลจ.แรกๆที่ได้ปรับตัวแล้ว และได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะเอาดีด้านตลาดกองทุนรวมปิด ประเภทคุ้มครองเงินต้น กล่าวคือผลตอบแทนที่จะจ่ายคืนให้ผู้ถือหน่วยเมื่อครบอายุกองทุน จะใช้ดัชนีอ้างอิงตัวหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ในการจ่ายซึ่งอาจจะเป็น ดัชนีเซ็ท 50 ดัชนีนิเกอิ 225 หรือ ดัชนีอื่นๆก็ได้ ในกรณีที่ดัชนีมีค่าลดลงกองทุนก็จะจ่ายเงินต้นเต็มจำนวนคืน แต่หากดัชนีเป็นบวกกองทุนก็จะจ่ายเงินต้นบวกด้วยผลตอบแทน
หลักการบริหารกองทุนประเภทนี้จะทำโดย แยกเงินต้นที่มีผู้นำมาลงทุนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกประมาณ 90%จะนำไปลงทุนในพันธบัตร ซึ่งเมื่อครบดีล ส่วนนี้จะได้ดอกเบี้ยรวมเป็น 100% ถือเป็นส่วนที่ประกันเงินต้น ด้านส่วนที่ 2 อีกประมาณ10% นำไปลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ โดยมีเงื่อนไขว่าหากดัชนีอ้างอิงขึ้นจากวันเริ่มลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้ แต่หากดัชนีอ้างอิงต่ำกว่า ในส่วน 10%นี้ก็จะกลายเป็น0% ซึ่งหมายถึงว่าการลงทุนในส่วนของตราสารอนุพันธ์จะไม่ได้รับเงินคืน
เพราะฉะนั้นผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยจะได้รับมีอยู่ 2 แนวทางหลังครบอายุกองทุน คือ ได้คืนเพียงเงินต้น และ ได้เงินต้นบวกผลตอบแทนจากอนุพันธ์ที่อ้างอิงดัชนี
อย่างไรก็ ในส่วนของการคำนวณผลตอบแทนให้แก่ลูกค้านั้นจะมีสูตรเฉพาะของกองทุนซึ่งผู้ลงทุนสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวน หรือผู้จัดการกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
ความเสี่ยงของกองทุนนี้ก็คือ หากในช่วงใดมีอัตราเงินเฟ้อสูง แม้ผู้ถือหน่วยจะได้รับการจ่ายคืนเงินต้น ทว่าค่าเงินที่แท้จริงหลังหักลบกับเงินฟ้อแล้วอาจจะติดลบก็ได้
วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี(ไทย)กล่าวว่า จะเน้นการออกกองทุนประเภทนี้เป็นหลักโดยคาดว่าในปีหน้าจะมีกองทุนที่อิงอนุพันธ์ประมาณ 5 กอง จากในครึ่งหลังของปีนี้ที่ได้เริ่มออกไปแล้ว 3 กองและกำลังอยู่ในช่วงเปิดขายอีก 1 กอง โดยเป็นกองที่อ้างอิงกับดัชนี "fin4cast" ที่บริษัทซีเมนส์ จากประเทศเยอรมันนี พัฒนาขึ้น โดยจะเชื่อมโยงและขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก
" fin4cast เป็นดัชนีที่ดีจริงๆ เจ้าหน้าที่เขาดีใจมากที่ไปค้นพบดัชนีตัวนี้เข้า ขนาดตอนที่นำมาเสนอผมเขายังตัวสั่นไม่หายเลย"
แม้กองทุนประเภทนี้จะเป็นที่นิยมมากในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสิงคโปร์ แต่สำหรับประเทศไทยแล้วที่ผ่านมาสามารถระดมทุนได้เพียง 10-20%ของมูลค่ากองที่ 2 พันล้านบาทเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนสถาบันมากกว่ารายย่อย
"สันนิษฐานว่าคงไม่ใช่เป็นเพราะกองทุนมีรูปแบบที่ซับซ้อนหรือเข้าใจยาก แต่คงจะเป็นเพราะระยะเวลาที่ต้องถือหน่วยถึง 2 ปีมากกว่าเพราะหลายคนมองว่านานเกินไป แต่สำหรับนักลงทุนสถาบันแล้วสามารถจะแบ่งเงินมาลงในกองลักษณะนี้และถือยาวได้ เป็นการกระจายความเสี่ยง"
"เราสามารถจะออกแบบให้อายุกองทุนสั้นลงได้ แต่อัตราผลตอบแทนที่ได้ก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกันดังนั้นจึงมองว่าระยะเวลา 2 ปีถือเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ถ้าเปรียบเทียบจากอัตราผลตอบแทนที่จะได้กับอายุที่ต้องถือ"
กองทุนประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่คาดว่าดัชนีน่าจะมีทิศทางที่ดีในอนาคตแต่กลัวความเสี่ยง จึงไม่กล้าลงทุนโดยตรง หากผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นอย่างสุดจิตสุดใจดัชนีหรือหุ้นนั้นๆจะต้องขึ้นอย่างแน่นอน คำตอบจากกองทุนนี้อาจไม่ใช่ผลตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|