ฝรั่งพยากรณ์ตลาดหุ้นไทยฟอร์มดีลงมติปลายปีนี้พบ"ธันวาพารวย"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สำนักไทย-สำนักเทศ แทงกั๊ก คาดดัชนีไทยมีสัญญาณ "ดีเซมเบอร์เอฟเฟกต์" หรือ "ธันวา พารวย" แต่อาจเกิดเร็วก่อนถึงปลายเดือนธันวาคม เพราะผู้จัดการกองทุนปรับพอร์ตก่อนถึงวันหยุดยาว คาดได้เห็นบวก 50 จุด สถาบันจัดอันดับชั้นนำยกชั้นตลาดหุ้นไทย แนะเพิ่มลงทุน เชื่อทิศทางเศรษฐกิจไฉไลกว่าเดิม แม้ยังกังวลปัญหาการเมือง ความไม่ชัดเจนในรายละเอียดนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องกฎอัยการศึกอยู่บ้าง

ตลอดช่วงเกือบทศวรรษ ที่ผ่านมาของตลาดหลักทรัพย์ไทย มีถึง 8 ใน 9 ปีที่เกิดปรากฏการณ์ "ธันวา พารวย" (December Effect) ขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถิติที่สูงมาก เรียกได้ว่าหากได้เข้าไปเล่นก็มีโอกาสที่จะแทงได้มากกว่าแทงเสีย

ทำให้ตลาดหุ้นในช่วงเดือนต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมามีการปรับตัวขึ้นมาเพื่อรอปรากฏการณ์นี้ ก่อนจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมาเสียก่อน อันเนื่องมาจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น รวมถึงเด้งที่2 จากผลกระทบของเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ที่มีฐานในสหรัฐอเมริกา ชื่อ CITADEL ซึ่งมีขนาดเงินกองทุนราว 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยเกือบ ๆ 5 แสนล้านบาท ไปลงทุนในตลาดค้าน้ำมันและพลังงานไว้ แล้วขาดทุน 6.6 พันล้านเหรียญ หรือเกือบ ๆ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนแห่ถอนเงินออกมาเพราะกลัวได้รับผลกระทบจากการขาดทุน ดังนั้นผู้บริหารกองทุนเลยต้องไปหาเงินมาให้ด้วยการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในตลาดหุ้นโดยเฉพาะในเอเชีย ก่ออิทธิพลให้กองทุนอื่น ๆ แข่งกันขาย ส่งผลถึงตลาดหุ้นไทยที่ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย

กวี ชูกิจเกษม ผู้บังคับบัญชาสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ พัฒนสิน (CNS) เชื่อว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ทั้งDecember Effect และ January Effect ในรอบนี้ โดยเชื่อว่าตลาดจะขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 40 จุด เนื่องจากที่ผ่านมาต่างชาติยังให้น้ำหนักลงทุนหุ้นไทยค่อนข้างมาก จะเห็นได้จากโบรกเกอร์ต่างชาติหลายแห่งได้ทยอยเพิ่มน้ำหนักลงทุนในไทย

ช่วงที่ผ่านตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก เพราะถูกกดดันจากปัจจัยทางการเมือง กฎหมายนอมินี และปตท. ดังนั้นหากสามารถขจัดความเสี่ยงเหล่านี้ได้หมดเชื่อว่าตลาดจะวิ่งได้แรง

"จากการที่ทางการได้จัดการในเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนโดยเร็ว และจากปัจจัยเศรษฐกิจที่มีทิศทางว่าจะดีขึ้นเป็นตัวหนุน เชื่อว่าจะทำให้หุ้นปีหน้าไปถึง 944 จุด โดยยังมีแรงซื้อของต่างชาติเข้ามามาก เพราะช่วง1-2 ปีตลอดหุ้นไทยวิ่งได้ไม่ไกลนัก แตกต่างจากเพื่อนบ้าน ทำให้หุ้นไทยยังมีโอกาสขึ้นได้อีก"

ขณะที่โบรกเกอร์รายหนึ่งมองว่า การกลับมาซื้อรอบใหม่ของต่างชาติเชื่อว่าน่าจะรุนแรง ดูจากสัญญาณดีโบรกฯต่างชาติเพิ่มน้ำหนักลงหุ้นไทย ดังนั้นปรากฏการณ์ทั้ง"ธันวา พารวย" December Effect และ"มกรา พาโชค" January Effect ในรอบนี้คงจะรุนแรงเช่นกัน โดยมองว่าดัชนีอาจขึ้นไปได้ถึง 50 จุดในช่วงธันวาคม 49 ต่อเนื่อง มกราคม 50

ด้าน สร์วท วินเชสเทอร์ ผู้บริหารกองทุนอาวุโสของ อไลแอนซ์ โกบอล อินเวสเตอร์ ประจำฮ่องกง ให้ความเห็นว่า ปีนี้น่าจะมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิด December Effect อีก เพียงแต่ระยะเวลาอาจจะย่นเข้ามาเร็วขึ้น ไม่ใช่ปลายๆเดือนอย่างที่เคยเป็น เพราะจากที่เห็นพบว่าผู้จัดการกองทุนหลายรายจะเลื่อนวันลาหยุดช่วงปลายปีให้เร็วขึ้น ทำให้การปรับพอร์ตซื้อขายปลายปีเลื่อนขึ้นมาเร็วขึ้นด้วย

ส่วนผลสำรวจความคิดเห็นของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 20 แห่ง มีถึง 95%ของนักวิเคราะห์ที่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะเกิด December Effect หรือ January Effect โดย 21% ของนักวิเคราะห์ที่เชื่อว่าจะเกิด January Effect เท่านั้น และอีก 16% เชื่อว่าจะมี December Effect อย่างเดียว

ด้าน วอลล์สตรีท เจอร์นัลฉบับออนไลน์รายงานว่า วาณิชธนกิจ เจพีมอร์แกน ประกาศปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และเพิ่มอันดับความน่าลงทุนของหุ้นมาเลเซีย และอินโดนีเซียสู่ระดับ "เป็นกลาง" โดยระบุถึงนโยบายการเงินที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในทั้ง 3 ประเทศ

ทั้งนี้ในรายงานเกี่ยวกับแนวโน้มหุ้นในตลาดเกิดใหม่ปี 2007 ของ เจพีมอร์แกน แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยและปรับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนในหุ้นมาเลเซียและอินโดนีเซียสู่ระดับ "เป็นกลาง"

เจพีมอร์แกนระบุอย่างเฉพาะเจาะจงต่อทัศนะเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทย คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มประมาณการทางเศรษฐกิจและผลกำไรในปี 2007 นอกจากนี้ยังระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า จะเอื้อประโยชน์ต่อหุ้นไทย

สำหรับสินทรัพย์ประเภทหุ้นในตลาดเกิดใหม่นั้น คาดว่า ภาวะในปี 2007จะยังคงเหมือนกับในปีนี้ โดยการขยายตัวของผลประกอบการจะยังคงสูงกว่าอัตราในตลาดที่พัฒนาแล้ว

"ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอการเติบโต น่าจะทำให้ตลาดมุ่งความสนใจมาที่อุปสงค์ที่แข็งแกร่งภายในประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับสูงในตลาดเกิดใหม่ และภายใต้สถานการณ์นี้ นักลงทุนระหว่างประเทศน่าจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนให้กับสินทรัพย์ดังกล่าว"

แต่ทว่าอันตรายประการหนึ่งก็คือการที่ตลาดไม่พร้อมรับมือกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง โดยเจพีมอร์แกนคาดว่าเฟดจะกลับเข้าสู่วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.2007 และหากการปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวสร้างความประหลาดใจต่อตลาด ตลาดเกิดใหม่ก็อาจเผชิญกับแรงเทขายในช่วงไตรมาส 2

ก่อนหน้านี้ MSCI Barra ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่จัดทำดัชนีอ้างอิงและผลิตภัณฑ์วิเคราะห์การบริหารความเสี่ยง ได้เพิ่มน้ำหนักลงทุนให้ตลาดหุ้นไทยจาก 2.72% เป็น 2.83% หรือเพิ่มขึ้น 0.11% จากการนำ บมจ.ปิโตรเคมีกัลไทย (IRPC) เข้าไปคำนวณในดัชนี

ส่วนสถาบันจัดอันดับชั้นนำอาทิ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส(Moody's Investors Service) และสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (S&P) ได้ยกเลิกเครดิตพินิจในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีแนวโน้มปรับเพิ่มเครดิตขึ้นอีก หากการเมืองโดยเฉพาะการยกเลิกกฎอัยการศึกมีความชัดเจน เช่นเดียวกับ บริษัทเจแปน เรตติ้ง เครดิต จำกัด หรือ(JCR) ที่ได้ยกเลิกมุมมองระดับเครดิตของไทยที่มีการเฝ้าระวังเป็นลบออก ทำให้ระดับเครดิตของไทยเป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพ

นอกจากนั้น อัลแลน คอนเวย์ หัวหน้าฝ่ายหุ้นตลาดเกิดใหม่ของชโรเดอร์ส(Shloulder) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนของอังกฤษกล่าวว่า ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ทะยานขึ้นมาแล้วเกือบ 3เท่านับตั้งแต่ปี 2002 แต่การทะยานขึ้นนี้ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเริ่มแข็งแกร่งขึ้น โดยตลาดเอเชียที่บริษัทชโรเดอร์สชื่นชอบรวมถึงเกาหลีใต้และไทย เนื่องจากหุ้นใน 2ตลาดนี้มีราคาต่ำ ส่วนตลาดขนาดใหญ่ที่ชโรเดอร์สชื่นชอบน้อยที่สุดในภูมิภาคคืออินเดีย เนื่องจากมีราคาแพง นอกจากนี้ ชโรเดอร์สยังมีจุดยืนที่เป็นกลางต่อการลงทุนในจีน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.