โล๊ะ ‘ บาร์เตอร์เทรด ’ ยุคทักษิณนักวิชาการชี้ต้องเลิกสัญญาเอาเปรียบ !


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

‘ การุณ ’ยืนยันการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดไม่คุ้มค่าจำเป็นต้องเลิก ส่วนสัญญาที่ลงนามไปแล้วยังมีผลจนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการ ขณะที่ ‘ เกียรติ สิทธีอมร ’ระบุไทยไม่มีความเป็นต้องการใช้การค้าบาร์เตอร์เทรดเพราะเป็นช่องทางให้ภาครัฐ-เอกชนสุมหัวคอร์รัปชั่น ด้าน ‘ ดร.สมภพ ’ แนะไม่ใช่แค่เลิกโครงการแต่ต้องตรวจสอบย้อนหลังทุกสัญญาบาร์เตอร์เทรดที่ไทยถูกเอาเปรียบในสมัยรัฐบาลทักษิณ

สืบเนื่องจาก “ รัฐบาลทักษิณ ” ได้มีนโยบายที่จะดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ( Mega Projects ) ซึ่งมีมูลค่าโครงการโดยรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และได้อ้างความจำเป็นต้องมีการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรนำเอาวิธีการดำเนินการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้า ( Barter Trade ) มาใช้ให้มากขึ้น โดยหนึ่งในข้ออ้างดังกล่าวคือช่วยลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอันเนื่องมาจากการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ และได้มีคำสั่งแต่ง “ ตั้งคณะกรรมการการค้าแบบแลกเปลี่ยน ” โดยมีรองนายกรัฐมนตรี( นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขณะนั้น ) เป็นประธานโดยได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการการค้าแบบแลกเปลี่ยนครั้งที่ 1 / 2548 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2548

ซึ่งที่ประชุมในวันนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการจัดทำรายการสินค้าที่จะนำมาแลกเปลี่ยน ให้มีการประมาณการผลผลิตสินค้าแต่ละชนิดให้ละเอียดเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนการส่งออกสำหรับการเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้านั่นคือจุดกำเนิดการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมากระทรวงพาณิชย์ในยุค ‘ รัฐบาลสุรยุทธ์ ’ ได้มีแนวคิดจะยกเลิกระบบการค้าแบบแลกเปลี่ยน ( Barter Trade ) จะส่งผลกระทบต่อสัญญาการค้าที่ลงนามได้ก่อนหน้านี้หรือไม่ อะไรคือสาเหตุหลักที่ต้องยกเลิกการค้าแบบบาร์เตอร์เทรด การยกเลิกดังกล่าวจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคู่ค้าหรือไม่

ยันการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดไม่คุ้ม!

การุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การค้าแบบแลกเปลี่ยน (บาร์เตอร์เทรด ) ตอนนี้มีนโยบายจากท่านรมว.พาณิชย์ ให้ยกเลิกไปเพราะไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการค้าแบบนั้นแล้ว ความคุ้มค่าในการดำเนินการมันไม่มี ขั้นตอนที่ยุ่งยาก การส่งมอบของก็ล่าช้า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่านายหน้าที่ต้องจ่ายมันจึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ต้องทำแบบนั้น ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ และ รัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำการค้าทั้งรูปแบบเคาน์เตอร์เทรด และบาร์เตอร์เทรดเห็นตรงกันว่า โครงการดังกล่าวไม่ตรงกับเจตนาในการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรเพราะความยุ่งยากในการดำเนินการ และยังเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ มีการล็อกสเปกโดยให้บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ส่งมอบสินค้าเกษตรให้กับประเทศที่ทำบาร์เตอร์เทรด หรือเคาน์เตอร์เทรดกัน

อย่างไรก็ดีการค้าขายแบบบาร์เตอร์เทรดแต่เดิมนั้นเพราะประเทศเรามีสินค้าการเกษตรเหลือเยอะ เราจำเป็นต้องระบายของออกไปไปต่างประเทศ แต่หากโครงการใดมีความจำเป็นต้องดำเนินการใช้บาร์เตอร์เทรด ก็จะขออนุมัติเป็นกรณีๆไปเพื่อระบายสินค้าเกษตรในช่วงที่ผลผลิตล้นตลาด

“ หากยกเลิกบาร์เตอร์เทรดจะส่งผลให้ทุกโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา หรือในส่วนที่ยังไม่ได้ทำลงนามสัญญาต้องยกเลิกไปทันที ขณะที่โครงการที่ได้ทำสัญญากันไปแล้วจะต้องดำเนินการจนกว่าเสร็จสิ้นโครงการ ” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุ

ระบุ ‘ บาร์เตอร์เทรด ’ เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์

ขณะที่เกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหัวใจการค้าบาร์เตอร์เทรดคืออะไร มันคือการแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศ ในภาวะที่ทุนสำรองของประเทศน้อย อัตราแลกเปลี่ยนไม่คงที่ ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการสินค้าที่ตรงกัน และนำเอาสินค้าที่ดีสุดมาแลกเปลี่ยนกัน แต่ที่ผ่านมากลับไม่ใช่อย่างที่ว่ามา เพราะรัฐเป็นผู้รวบรวมสินค้าจากเกษตรกรเพียงรายเดียว ไม่มีการแข่งขัน เกิดการแทรกแซงกระบวนการค้าปกติ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกลับไม่ตกแก่เกษตร จึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะคงไว้ซึ่งระบบการค้าดังกล่าว เพราะอย่าลืมว่าหัวใจของเรื่องนี้คือเกษตรกรต้องได้รับผลประโยชน์ แต่ในอดีตที่ผ่านมาไม่ใช่เลยอย่างที่เห็นกันอยู่

ขณะที่การค้าแบบเคาน์เตอร์เทรดไม่ควรจะยกเลิก เพราะยังเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐ และภาคธุรกิจภาคเอกชนในทุกด้าน เพราะมีการกำหนดให้มีการซื้อสินค้าต่างตอบแทนกันในลักษณะที่หลากหลาย ซึ่งมีข้อดีอยู่บ้างเพราะเวลาที่เราจะซื้อสินค้าต่างประเทศเขาก็ต้องสินค้าจากเรา สมมติง่ายๆ ว่าเวลาไปลงนามซื้อขายสินค้ากับต่างประเทศในวงเงิน 100 ล้านแต่เวลาลงนามเราก็ขอให้ต่างประเทศคู่สัญญาซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศเราด้วยในสัดส่วน 50% ของสัญญาที่ได้ลงนามเพื่อป้องการการขาดดุลการค้าได้

ล็อกสเปกเอื้อพวกพ้องหากินข้ามชาติ!

“ระบบการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดมันไม่มีประโยชน์เลย มันมีแต่ประโยชน์แต่ในทางคอนเซ็ปต์ ( concept ) แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคณะกรรมการที่ดูแลไม่สามารถทำให้เกิดกลไกที่เป็นธรรมได้ เกิดการล็อกสเปกให้บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นผู้ส่งมอบสินค้าเกษตรให้กับประเทศที่ทำบาร์เตอร์เทรด ทั้งความล่าช้าในการส่งสินค้าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา ”

เกียรติยังบอกว่า การค้าแบบบาร์เตอร์เทรดที่ได้ลงนามไปแล้วนั้นค่อนข้างยากที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในสัญญาเดิม เพราะอาจจะกระทบความน่าเชื่อถือของประเทศได้ เว้นแต่ว่ามีเหตุที่ดีในการข้อเปลี่ยนแปลงแก้ไข เช่น อาจจะพบการคอร์รัปชั่นในโครงการ

นักวิชาการหนุนยกเลิกบาร์เตอร์เทรด

ขณะที่ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอยกเลิกนโยบายบาร์เตอร์เทรดเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะระบบการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นระบบที่ล้าสมัยมาก ไม่มีใครทำกันแล้วที่จะเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันแบบสมัยก่อน ทำไมเราต้องเอาสินค้าไปแลกกับประเทศอื่นในเมื่อเรามีเงินสดในมือ ก็ซื้อขายแบบตรงๆกันไปเลย

“ ผมเข้าใจว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดของพรรคไทยรักไทย ที่พยายามจะสร้างภาพว่ามีการค้าขายที่ชาวบ้านจับต้องได้ คือพยายามให้ชาวบ้านเห็นว่า เป็นการค้าขายที่เอาสินค้าไปแลกมาไม่ต้องใช้เงิน และเกษตรกรยังมีส่วนช่วยประเทศ ในอีกทางหนึ่งนี่คือความฉลาดของรัฐบาลที่แล้ว ”

อย่างไรก็ตามการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดมีส่วนช่วยส่งเสริมการส่งออกได้น้อยมาก แต่รัฐบาลที่แล้วจะเน้นไปทางโปรโมทมากกว่า ขณะที่ตัวเลขส่งออกของเราปีนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 16 %ไม่ได้มีผลจากจากตรงนั้นเลย แต่ถ้าประเทศประสบวิกฤต หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตอนนั้นแหละถึงเหมาะที่จะทำการค้าแบบบาร์เตอร์เทรด คือมันต้องฉุกเฉินจริงๆ ส่งออกตกต่ำมากๆ ต้องระบายสินค้าของออกเราไปต่างประเทศ ประเทศต้องการกระจายสินค้านั่นแหละถึงจะเหมาะสม แต่สภาวะปัจจุบันไม่มีเหตุผลต้องทำการค้าแบบนั้น

แนะสอบย้อนหลังโครงการที่เสียเปรียบ

นอกจากนี้แล้วนักวิชาการผู้นี้ยังเสนอว่า การค้าแบบบาร์เตอร์เทรดที่ได้ลงนามไปแล้ว ไม่ว่าประเทศไทยจะลงนามสัญญากับประเทศใดก็ตามต้องนำมาทบทวนย้อนหลังไปทุกโครงการทั้งหมดไม่ว่าจะซื้ออาวุธ เครื่องจักรต่างๆ เราต้องมาดูทุกแง่ทุกมุมว่ามันมีหมกเม็ดตรงไหนหรือไม่ หากทำให้ประเทศชาติเสียเปรียบเสียผลประโยชน์ก็ต้องยกเลิกไปเลย ไม่ต้องกลัวกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะคู่ค้าของเราแบบบาร์เตอร์เทรดมีไม่กี่ประเทศในลักษณะแบบนี้ เขาก็ต้องเข้าใจหากจะเปลี่ยนเป็นการซื้อขายแบบเงินสดแทน

ขณะที่เงินสำรองของประเทศที่มีอยู่จำนวนมาก แล้วเราจะเอาการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดไว้ทำไมละ ยกเลิกไปเลยหันมาซื้อขายแบบเงินสด เพราะสามารถช่วยแก้ไขการคอร์รัปชั่น การจ่ายเงินใต้โต๊ะ การล็อกสเปกที่เกิดในโครงการบาร์เตอร์เทรดที่ผ่านมาได้อีกด้วย

8 โครงการล่าสุด ‘ บาร์เตอร์เทรด ’

สำหรับการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดในสมัย “ รัฐบาลทักษิณ ” ปี 2549 ที่เป็นโครงการใหญ่ๆ 8โครงการล่าสุดได้แก่ 1.) กองทัพบกต้องการซื้อปืนใหญ่จากฝรั่งเศสมูลค่า 1,800 ล้านบาท , 2.) กระทรวงกลาโหมต้องการซื้อรถหุ้มเกราะจากแคนาดามูลค่า 7,900 ล้านบาท , 3.) กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยต้องการซื้อสินค้าเพื่อตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยจากออสเตรเลียมูลค่า 3,700 ล้านบาท , 4.) การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการซื้อหัวรถจักรจากจีนมูลค่า 1,800 ล้านบาท , 5.) โครงการซื้อรถไฟจากจีนมูลค่า 700 ล้านบาท แลกกับข้าวประมาณ 50,000 ตัน , 6.) โครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรไทยกับเครื่องจักรในโรงงานยาสูบ จ.เชียงใหม่ , 7.) โครงการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ ตู้คอนเทนเนอร์ของกรมศุลกากร , 8.) โครงการซื้อเครื่องบินรบซู30 จากรัสเซียคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 20,455 ล้านบาท) ซึ่งได้มีการหารือกันไว้ในเบื้องต้น โดยไทยเสนอแลกเปลี่ยนด้วยสินค้าไก่ กุ้ง และข้าว แต่ทางรัสเซียสนใจสินค้ากุ้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.