ททท.ลดงบย่อไซส์งานหลังถูกตัดงบเปิดแผนดันท่องเที่ยวภาคกลางปีหน้า


ผู้จัดการรายวัน(1 ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ททท. ปรับลดงบประมาณและขนาดกิจกรรมลง ตามงบที่ถูกหั่นไป 200 ล้านบาท ยันทุกโครงการทำต่อแน่นอนไม่มีล้มเลิก อย่างดีก็เลื่อนออกไป เปิดแผนตลาดท่องเที่ยวภาคกลางปีหน้า แยกย่อยเป็นโซน ชูจุดขายแต่ละโซน ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 8 % หรือ 377,800 ล้านบาท

นางสาวเพ็ญสุดา ไพรอร่าม รองผู้ว่าการด้านสินค้าการท่องเที่ยว และรักษาการ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2550 ได้ปรับลดงบประมาณด้านกิจกรรมลงและปรับขนาดกิจกรรมให้เล็กลงด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับมาในปีหน้า 600 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณซึ่งถูกตัดไป 200 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้มี 800 ล้านบาท แต่ขอยืนยันว่าทุกกิจกรรมไม่มีล้มเลิกแน่นอน มีแต่ลดงบและลดขนาด หรือเลื่อนเวลาการจัดงานออกไป

โดยกิจกรรมใหญ่ๆที่มีการปรับลงเช่น การจัดงานบางกอกฟิล์ม เฟสติวัล ใช้งบ 130 ล้านบาท จากปีนี้ที่ใช้ 170 ล้านบาท โดยโครงการนี้ยังไม่ได้อนุมัติ อยู่ระหว่างการเตรียมการ

นอกจากนั้น กิจกรรม เทศกาลมหาสงกรานต์ที่ใช้งบรวม 90 ล้านบาท ก็ถูกลดด้วย ส่วนกิจกรรมเคาน์ดาวน์ ยังคงใช้งบเดิมคือ 20 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นการแข่งขันกอล์ฟ รอยัลโทรฟี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากวงการท่องเที่ยวระบุว่า โครงการนบางกอกฟิล์มเฟสติวัลค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก เพราะถูกตัดงบลง ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า ททท.จะยกเลิกการว่าจ้างเอกชนต่างชาติที่ทำงานนี้ให้ และททท.จะทำเอง

นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ กล่าวว่า ในปีนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในไทยคาดว่า คนไทยจะลดการเที่ยวลงมากกว่า 5% จากเป้าที่ตั้งไว้เดิมอยู่ที่ 79 ล้านคนครั้ง เพราะว่าได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆเช่น ปัญหาการเมือง ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คนไทยไม่มีอารมณ์ท่องเที่ยว และต้องการประหยัดเงินด้วย

***แผนท่องเที่ยวภาคกลางปี2550

นางจุรีรัตน์ คงตระกูล ผู้อำนวยการกองกลยุทธ์การตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยถึงแผนการตลาดการท่องเที่ยวของภาคกลาง ปี 2550 ว่า ททท.ตั้งเป้าหมายของตลาดในประเทศปี 2550 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.35%หรือมีจำนวน 82 ล้านคน และรายได้จากนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 8 % หรือ 377,800 ล้านบาท โดยจะกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาดในประเทศทั้งหมด 4 กลยุทธ์ คือ 1.สร้างกระแสและปลูกฝังให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต โดยจะปลูกฝังตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ 2.รณรงค์ให้ท่องเที่ยวอย่างถูกวิธี 3.ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ สร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม และ 4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัดและภูมิภาค โดยจะรักษาฐานตลาดเดิมแต่จะสร้างจุดขายเฉพาะพื้นที่ให้มีความโดดเด่น ซึ่งจะเป็นการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดในระยะยาวให้ชัดเจนขึ้น

โอกาสทางการตลาดของภาคกลางนั้นมีแนวโน้มในการขยายตัวทางการตลาดค่อนข้างสูง ด้วยระยะทางการเดินทางที่ใกล้กับกรุงเทพฯ จึงสามารถผนวกเป็นจุดขายร่วมเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯได้ และการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิทำให้มีโอกาสในการเสนอขายแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งเน้นที่การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม แต่การท่องเที่ยวแบบนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ว่า แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวของภาคกลางนั้นยังคงพึ่งพิงนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด คนไทย 76% คนต่างชาติ 24% นักท่องเที่ยวที่มาส่วนใหญ่จะมาจากกรุงเทพฯ 27.01% ที่เหลือก็จะเป็นนักท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาคของไทยตามสัดส่วนลดหลั่นกันไป โดยลักษณะการเดินทางส่วนใหญ่ ยังคงเป็นการเดินทางเพื่อทัศนาจร

นายวันเสด็จ ถาวรสุข ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์ตลาดท่องเที่ยวของภาคกลางในประเทศปี 2550 ว่า กลยุทธ์กระตุ้นตลาดในประเทศ แบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ การสร้างแรงจูงใจให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสร้างกิจกรรมให้สอดคล้องกับ Lifestyle เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวในชีวิตจริงๆ มีเป้าหมายอยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยว 82 ล้านคน และรายได้ 377,800 ล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวไทย อายุ 15-70 ปี และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย (EXPAT) โดยจะสร้างกระแสให้เป็น “Talk of the Town” ให้การท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทย ภายใต้แคมเปญ “Thailand Unforgettable”

แผนงานการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ ปี 2550 มีวัตถุประสงค์หลักคือ กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศให้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนด เพิ่มความถี่ในการท่องเที่ยว และกระจายการท่องเที่ยวไปทั่วทุกภูมิภาค ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงภูมิภาค โดยจัดเส้นทางที่มีศักยภาพ พร้อมการขาย กระตุ้นให้เกิดการซื้อ

ทั้งนี้ จากผลการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย “INSIGHT CONSUMER” เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อการท่องเที่ยวในเมืองไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป ชาย หญิง พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ท่องเที่ยวอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง มีรายได้ต่อครอบครัว 50,000บาท ต่อเดือน จากผลการวิจัยพบว่า ความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ 4-5 ครั้งต่อปี 3-4 วันต่อครั้ง โดยไปกับครอบครัวบ่อยที่สุด รองลงมาเป็นเพื่อน เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว 84% เครื่องบิน 8% รถทัวร์ 7% และรถไฟ 1% ซึ่งเป็นการเดินทางด้วยตนเอง 81% และเดินทางกับบริษัททัวร์ 19%

นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลางได้กล่าวถึง แผนงานโครงการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวภูมิภาคภาคกลาง ปี 2550 ว่า ภาพโดยรวมของทางตลาดภาคกลางสินค้าการท่องเที่ยวจะค่อนข้างคล้ายกัน ดังนั้นจึงแบ่งการท่องเที่ยวหลักของภาคกลางออกเป็น 9 โซนโดยแต่ละโซนจะเน้นที่ ความพิเศษของแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดของโซนนั้นๆ โซนที่ 1 จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และหมู่เกาะต่างๆ คอนเซ็ปคือ สีสันตะวันออก เน้นที่ หาดทราย ความบันเทิง และงานอีเวนท์ต่างๆ โซนที่ 2 แดนสวรรค์ตะวันตก มีจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี การท่องเที่ยวหลักคือ ล่องแพ ขี่ช้าง เดินป่า ชมพระราชวังสนามจันทร์ พระปฐมเจดีย์ และงานสะพานข้ามแม่น้ำแคว โซนที่ 3 มนต์เสน่ห์...ทะเลวัง จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชมหาดทราย ชายทะเล สปา และ งานอีเวนท์ โซนที่ 4 เที่ยวท่องล่องแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร เน้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ดูวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

โซนที่ 5 เที่ยวเมืองเก่า...เล่าประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรปราการ เน้นการชมวัง ฟังดนตรี ไหว้พระ ท่องเที่ยวเขตทหาร โซนที่ 6 เที่ยวท่องล่องเจ้าพระยา จังหวัดกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ปทุมธานี นนทบุรี ชมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน โซนที่ 7 ผจญภัยหัวใจสีเขียว จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี การท่องเที่ยวหลักๆคือ ล่องแก่ง โรยตัว ชมโลมา ชิมปลากะพง โซนที่ 8 ชายแดนเบื้องบูรพา จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ตราด เน้นชมธรรมชาติและตลาดชายแดน และโซนที่ 9 กรุงเทพฯ สุขหรรษา เที่ยววัด วัง ศูนย์การค้า และงานอีเวนท์สำคัญต่างๆ โดยในทุกโซนมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ เยาวชน-ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.