"ทีเอส แอลิแกนซ์ ก้าวใหม่ของไทยซิน"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยซินอุตสาหกรรม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2493 หรือกว่า 40 ปีที่แล้ว ด้วยการร่วมทุนของนักธุรกิจไทยและญี่ปุ่น สินค้าตัวแรกที่ไทยซินเริ่มทำตลาดคือ เครื่องสำอาง "คาเนโบ" ซึ่งเป็นเครื่องสำอางรุ่นแรก ๆ ที่มีใช้กันในเมืองไทย ถัดจากนั้นก็มาถึงแชมพู "แฟซ่า" หรือยาย้อมผม "บีเง็น" แป้ง และครีมบำรุงผิว "อีมูน" ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ต่างเป็นที่รู้จักกันไม่น้อยในหมู่ผู้บริโภคคนไทย

และเมื่อมาถึง พ.ศ. ปัจจุบัน ที่ไทยซินมีบริษัทในเครืออยู่ถึง 9 บริษัท และมีสินค้าหลากหลายที่แตกแขนงออกไปมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะยังคงเน้นไปที่สินค้าเพื่อสุภาพสตรีเป็นสำคัญ แต่ด้วยปรัชญาในการหาช่องว่างทางการตลาดที่ยึดถือมาตลอด ได้บอกไทยซินว่าเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ เป็นสินค้าที่จะฉีกแนวสินค้าเดิม ๆ ของไทยซิน และหาขอบข่ายทางการตลาดซึ่งมีอยู่อย่างมหาศาลให้กับไทยซินได้อย่างมากมาย

ดังนั้น หลังจากศึกษาและสำรวจความต้องการของตลาดโดยพบว่ายังไม่มีค่ายหนึ่งค่ายใดที่มุ่งทำตลาดเสื้อผ้าสุภาพบุรุษอย่างจริงจังและครบวงจร ให้เหมือนกับร้านค้าเสื้อผ้าสุภาพสตรีที่มีอยู่อย่างดาษดื่น รวมถึงการเจรจาหาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสุภาพบุรุษที่มีศักยภาพพอเพียงจะมาเปิดตลาดให้กับไทยซินได้อย่างฮือฮาพอสมควรโดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็ได้ตกลงใจร่วมมือกับอีฟ แซงส์ โรลองส์และเคนโซ่ของฝรั่งเศส นำผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสากลและเสื้อผ้าลำลองจากทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ มาเปิดตัวในนามของบริษัทใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ทีเอส แอลิแกนซ์ จำกัด

การนำผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสุภาพบุรุษ เข้ามาทำตลาดโดยหวังจะเข้าไปในช่องว่างตลาดซึ่งมีอยู่สูงนั้น ทางทีเอส แอลิแกนซ์ จะต้องมีกลยุทธ์ในการดำเนินการพอสมควร เริ่มตั้งแต่การกำหนด POSITIONING ทางการตลาดของตนเองให้ถูกต้องว่า จะต้องมุ่งสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเอถึงเอบวกเป็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นผลพวงมาถึงกลยุทธ์ที่สอง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากคือการออกแบบและตกแต่งจุดขาย (OUTLET) ทุกจุดของทีเอส แอลิแกนซ์ ให้เลิศหรู สมบูรณ์แบบ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง และแน่นอนว่าต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันกับของอีฟส์ แซงต์ฯ ที่ฝรั่งเศสด้วย

กชกร กัณหะวัฒนะ ผู้จัดการฝ่ายของทีเอส แอลิแกนซ์ อรรถาธิบายถึงกลยุทธ์ข้อสำคัญนี้ว่า เมื่อมีการวางกลุ่มเป้าหมายไปที่ลูกค้าระดับบนการตกแต่งหน้าร้านจะต้องดูภูมิฐาน และต้องดูดีสมฐานะลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ดังนั้น OUTLET ทุกที่ของทีเอส แอลิแกนซ์ ทั้งที่อัมรินทร์ พลาซ่าซึ่งเป็นจุดแรก หรือที่โรงแรมดุสิตธานี รวมถึงที่ไทยไดมารูศรีนครินทร์ และที่เซ็นทรัลชิดลม ซึ่งจะเปิดในช่วงต่อไปรวมเป็น 4 แห่งภายในปีนี้ จะต้องอยู่ในสไตล์เดียวกัน เพื่อเป็นการยกระดับร้านค้าเสื้อผ้าสุภาพบุรุษให้เป็นจุดขายได้ด้วย

"ที่ผ่านมา เราจะพบว่ามีแต่ร้านค้าเสื้อผ้าของผู้หญิงเท่านั้น ที่จะมีการตกแต่งให้เลิศหรูและค่อนข้างจะแข่งขันกันหนัก เพื่อดึงดูดใจให้ลูกค้ามาเข้าชม เราจึงคิดว่าเราน่าจะมาบุกเบิกลองใช้ในร้านค้าของสุภาพบุรุษดูบ้าง เพื่อสร้างให้เกิดจุดขายให้มีการแข่งขันให้มากขึ้นในตลาดนี้"

กลยุทธ์ที่มีความสำคัญไม่น้อยหน้าไปกว่านี้ที่ร้าน ทีเอสแอลิแกนซ์ จะเน้นเป็นพิเศษคือกลยุทธ์ด้านบริการ ซึ่งในจุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ร้านค้าเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ จะไม่ค่อยได้เน้นนับตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลลูกค้าเข้าระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเรียกใช้เมื่อลูกค้ามาติดต่อได้ทุกเมื่อ ว่าลูกค้ามีรสนิยมประการใด การจัดเก็บข้อมูลลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ยังรวมถึงการจัดเก็บที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าอีกด้วย เผื่อถ้ามีคอลเลคชั่นใหม่ของเสื้อผ้าอีฟ แซงต์ฯ หรือเคนโซ่ทาง ทีเอส แอลิแกนซ์ ก็พร้อมจะโทรศัพท์หรือจดหมาย ไปเชื้อเชิญ ให้มาเยี่ยมชมสินค้าอีกในโอกาสหน้า

"สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเสน่ห์ของร้าน ที่ร้านเสื้อผ้าของผู้หญิงระดับเลิศหรู เขาจะมีกันเกือบทุกร้าน ในขณะที่ยังไม่มีใครคิดจะเริ่มอย่างจริงจังในร้านเสื้อผ้าของบุรุษบ้าง ดังนั้นเราคิดว่าจะเป็นจุดขายที่นำเสนอให้ลูกค้ามาเป็นลูกค้าประจำของเราง่ายขึ้น" กชกรกล่าว

ลูกค้าขาประจำดูจะเป็นสิ่งที่ทีเอส แอลิแกนซ์ หวังจะสร้างให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังโดยกชกรได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอย่างน้อยใน 1 เดือน แต่ละ OUTLET จะต้องเพิ่มลูกค้าขาประจำให้ได้อย่างน้อย 10 คน ซึ่งจะต้องพัฒนาจำนวนลูกค้าขาประจำที่เข้ามาในร้านให้ได้ไม่ต่ำกว่า 40% ของลูกค้าทั้งหมดของร้านจึงจะน่าพอใจ ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดทีเอส แอลิแกนซ์นี้ กชกรได้ตั้งเป้าหมายไว้อย่างถ่อมตัวที่สุดเพียง 15-20% ด้วยยอดขายประมาณ 30 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การกระโจนเข้ามาทำตลาดเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ ซึ่งไม่ใช่ของถนัดของไทยซินเช่นนี้ แน่นอนว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องของปัญหา และอุปสรรคทางการตลาดรูปแบบต่าง ๆ แต่สิ่งที่ทีเอส แอลิแกนซ์ เป็นห่วงกลับไม่ใช่อุณหภูมิการแข่งขันในตลาด ซึ่งนับวันจะสูงขึ้น เนื่องด้วยกำลังจะมีค่ายใหม่อีกหลายค่ายจะเปิดตัวเข้ามาทำตลาดเสื้อผ้าสุภาพบุรุษด้วยเช่นกันเพราะทีเอส แอลิแกนซ์เล็งเห็นว่า ยิ่งมีใครเข้ามาจุดพลุทำตลาดในสินค้าตัวนี้มากเท่าไร ตลาดตรงจุดนี้ก็จะยิ่งคึกคักมากขึ้นเท่านั้น

แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคแท้จริงของการทำตลาดเสื้อผ้านำเข้าของสุภาพบุรุณคือ ภาษีนำเข้าของสินค้าตัวนี้นั่นเอง ที่ยังอยู่ในอัตราที่สูงมากระหว่าง 60-72% ซึ่งหากจะทำให้ตลาดเสื้อผ้าสุภาพบุรุษนำเข้าขึ้นล่องคล่องตัวกว่านี้แล้ว อัตราภาษีในจุดนี้น่าจะลดลงมาบ้าง
"เราเข้าใจว่าทางภาครัฐก็คงต้องปกป้องผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศตามสมควร แต่เรามองว่า ในปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศเองก็มีความแข็งแกร่งที่จะผลิตเสื้อผ้าออกไปตีตลาดต่างประเทศได้แล้ว ดังนั้นจึงควรจะลดภาษีนำเข้าใจจุดนี้ลงมาบ้างเพื่อให้ผู้ใช้สินค้าได้มีโอกาสเลือกใช้สินค้าได้หลากหลายมากขึ้นด้วย"

กชกรได้เสริมความเห็นว่าจุดนี้ จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้นำเข้าเสื้อผ้าสุภาพบุรุษรายอื่นที่หวังจะทำตลาดสินค้าตัวนี้และหวังจะได้มาตรฐานสากลนั้น คงต้องชะงักไปบ้างตามพอสมควร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปัญหานี้ กับอุปสรรคการปลอมแปลงสินค้า ซึ่งมีการกระทำกันเกลื่อนตลาดแล้ว โดยเฉพาะในเมืองไทย กชกรยังมองว่าปัญหาหลังนี้ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะลูกค้าผู้เลือกใช้สินค้าซึ่งมีระดับ จะทราบดีอยู่แล้วว่า การเลือกซื้อสินค้าให้เหมาะสมกับตนได้ที่ใด

ประสบการณ์ในการเลือกช่องทางตลาดให้ฉีกแนวออกไป เพื่อหามุมมองใหม่ทางการตลาด ผนวกกับความรู้ความเข้าใจในการบริการ ดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ซึ่งไทยซินสามารถนำมาเลือกใช้ได้อย่างเหมาะเจาะนี้ คงจะบอกได้ว่าโอกาสย่อมเปิดเสมอสำหรับผู้ตั้งใจจริงและมีความสามารถ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.