“สามารถ”เล็งขยายฐานวางระบบไอทีตปท.


ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มสามารถเตรียมขยายฐานการวางระบบไอทีออกสู่ต่างประเทศ หลังประสบความสำเร็จจากโครงการที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นใบเบิกทาง ขณะเดียวกันก็พร้อมกอดคอกับพาร์ตเนอร์เก่าลุยเฟส 2 และบุกระบบ CUTE ตามสนามบินต่างจังหวัดหัวเมืองหลัก

นายไพโรจน์ วโรภาษ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถเทลคอม ในเครือสามารถคอร์ป กล่าวว่า หลังจากที่กลุ่มสามารถที่คว้าสิทธิในการวางระบบไอทีที่เรียกว่า AIMS (Airport Information Management System) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เข้าไปดำเนินการโดยสามารถคอมเทค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทในสายธุรกิจไอซีที โซลูชันของกลุ่มสามารถ กับกลุ่มพันธมิตรในลักษณะคอนซอร์เตี้ยม โดยใช้เวลาในการดำเนินงานไม่ถึง 3 ปี นับจากวันเซ็นสัญญาเมื่อเดือนพ.ย. 2546 ติดตั้งระบบไอทีเพื่อการบริหารในสนามบินสุวรรณภูมิทั้งการวางแผน การควบคุม การตัดสินใจ การจัดสรรทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการเชื่อมโยงระบบย่อยรวม 45ระบบให้เกิดการอินติเกรตได้อย่างสมบูรณ์

ระบบไอทีที่สามารถคอมเทคดูแลและวางระบบให้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครอบคลุม 3 ส่วนคือ 1.กลุ่มระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติการสนามบิน หรือ AODB (Airport Operation Database) ที่เชื่อมโยงไปยังระบบย่อยต่างๆ ในสนามบิน ซึ่งเป็นฟอนต์ ออฟฟิศทั้งหมด 2.กลุ่มระบบฐานข้อมูลบริหารสนามบิน หรือ AMDB (Airport Management Database) เป็นงานหลังบ้าน หรือแบ็กออฟฟิศ ทั้งในส่วนงานบัญชีการเงิน งานธุรการ บุคคล การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น 3.กลุ่มระบบเช็คอิน หรือ CUTE ซึ่งสามารถรองรับการออกบัตรโดยสาร และบัตรติดกระเป๋าของสายการบินที่มีการบินเข้า-ออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้

หลังจากวางทุกระบบเสร็จสิ้น สามารถคอมเทคยังมีสัญญาต่อกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.) อีก 2 ปี ในการรับประกันระบบและสัญญาอีก 1 ปี ในส่วนของการสนับสนุนการดำเนินงาน

นอกจากโครงการวางระบบไอทีในเฟสแรก สามารถคอมเทคยังมีแผนจะเข้าประมูลโครงการขยายระบบไอทีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ซึ่งสามารถขยายต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องสร้างใหม่ และใช้งบลงทุนไม่มาก เนื่องจากระบบที่วางไว้เป็นโครงสร้างที่พร้อมรองรับการขยายบริการในอนาคต ซึ่งเฟสแรกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน และจะมีการขยายงานอย่างต่อเนื่องอีกหลายเฟส จนสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 120 ล้านคน ภายในปี 2569

“การเข้าประมูลเฟสสองในสุวรรณภูมิเราคงร่วมมือกับพันธมิตรเดิม เพราะเคยทำงานร่วมกันมาแล้ว”

สำหรับพันธมิตรที่ร่วมดำเนินงานในสนามบินสุวรรณภูมิประกอบด้วย สามารถคอมเทค, ซีเมนส์, Stayam Computer Service, ABB และ ABB Airport Technologies

นายไพโรจน์กล่าวว่า นอกจากโครงการที่สุวรรณภูมิแล้ว สามารถคอมเทคยังมีแผนจะรุกไปในสนามบินต่างจังหวัดโดยใช้ระบบ CUTE ในการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นสนามบินเชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต อุดรธานี อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหัวเมืองหลัก ที่ปัจจุบันแต่ละที่ใช้ระบบที่ต่างกัน แต่ระบบ CUTE ของกลุ่มสามารถเป็นระบบเปิดที่สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกระบบ พร้อมกันนี้ กลุ่มสามารถยังมีแผนที่จะใช้ระบบ CUTE รุกเข้าไปในสนามบินประเทศอื่นๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย

“ปีหน้าเราจะเริ่มจากในประเทศก่อน ส่วนต่างประเทศหากเป็นไปได้ก็จะเริ่มเลย ส่วนจะเป็นประเทศไหนคงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการ แต่ที่น่าจะง่ายจะเป็นที่กัมพูชา เพราะทำแอร์ทราฟิกอยู่แล้ว”

การที่กลุ่มสามารถพร้อมที่จะรุกตลาดในต่างประเทศ เพราะมีประสบการณ์จากโครงการที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ซึ่งมีความยากและซับซ้อนเป็นใบเบิกทาง ขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนจำหน่ายหลักในการขายและให้บริการไอที โซลูชัน เพื่อบุกสนามบินในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนจาก SITA Information Network Computing ผู้ให้บริการไอทีแอปพลิเคชันกับสนามบินชั้นนำทั่วโลก ทำให้สามารถคอมเทคได้เรียนรู้ระบบการทำงานกับพันธมิตรทั่วโลก รวมถึงได้รับการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีความพร้อมที่จะให้บริการในการวางระบบโครงการใหญ่ๆ ต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.