ธปท.ผงาดเหนือคลัง คุมแบงก์เบ็ดเสร็จเว้นไลเซ่นส์ให้ขุนคลัง


ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน แบงก์ชาติได้อำนาจเบ็ดเสร็จ กำกับดูแลแบงก์ครบวงจร เมื่อพบสถาบันการเงินมีปัญหา เข้าแทรกแซงทันที ยกเว้นกรณีเป็นภาระงบประมาณ รมว.คลังเป็นผู้อนุมัติ เผยคงอำนาจ รมว.คลังออกและยึดไลเซ่นส์แบงก์ ส่วนเกณฑ์คุมเข้มเงินกองทุนแบงก์ กรณีที่ลดเหลือ 3-2.5% แบงก์ชาติสั่งปิดได้ แต่ต้องโอนให้สถาบันประกันเงินฝากเข้าดูแลแทนทันที ครม.ยังอนุมัติลดภาษีธุรกิจเฉพาะแบงก์เหลือ 0.01%

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 พ.ย.)มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอ เพื่อให้สถาบันการเงินที่รับฝากเงินจากประชาชน ในลักษณะ Deposit Taking Institution อยู่ภายใต้การกำกับในมาตรฐานเดียวกัน กระบวนการต่อจากนี้จะส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น การวางรูปแบบและขอบเขตของสถาบันการเงิน การนิยามประเภทของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ดำเนินการแล้วเมื่อปี 2547 เช่น ธนาคารพาณิชย์ คือธุรกิจที่รับฝากเงิน หรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนด และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย คือ ธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการแก่ประชาชนรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นหลัก

โดยมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทั้งเรื่องของเงินตราต่างประเทศ ทั้งเรื่องตราสารอนุพันธ์และและธุรกรรมอื่นที่มีความซับซ้อน ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีต่างชาติถือหุ้นอยู่เกินกว่า ร้อยละ 95 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของธนาคารนั้น และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ หมายถึงสาขาธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในประเทศไทย เป็นต้น จะมีเรื่องการวางรูปแบบขอบเขตของสถาบันการเงิน เรื่องการขยายขอบเขตธุรกิจธนาคารพาณิชย์ให้ครบวงจร เป็นลักษณะยูนิเวอร์เซล แบงก์

***ให้อำนาจ ธปท.ครบวงจร

นางพรรณีเปิดเผยว่า ธปท.มีอำนาจพิจารณาขยายขอบเขตธุรกิจสถาบันการเงินได้ เช่น ธุรกิจประกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ มีเรื่องหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลทั้งสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน และสถาบันที่มิใช่สถาบันการเงิน เกณฑ์ในการกำกับดูแลต่างๆ การกำกับแบบรวมกลุ่ม ต้องพิจารณาประเด็นการจัดตั้งกลุ่มธุรกิจการเงินเรื่องของขอบเขตธุรกิจ และอำนาจกำกับธุรกิจ กลุ่มธุรกิจการเงินในเรื่องต่างๆ รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ธปท.จะมีอำนาจกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติในเรื่องการทำธุรกรรมพื้นฐาน เช่น รับฝากเงิน ให้สินเชื่อ และธุรกรรมอื่นที่ได้รับอนุญาตเพิ่มเติม ตลอดจนการทำสัญญาค้ำประกัน และการเปิดเผยข้อมูล

แหล่งข่าว ธปท.เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการยุบรวม พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 กับ พ.ร.บ.บริษัทเงินทุนฯ พ.ศ.2522 เข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ซึ่งให้อำนาจ ธปท.เบ็ดเสร็จในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อรองรับโครงการประเมินระบบสถาบันการเงิน(FSAP) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยการกำกับดูแลทั้งหมดจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ธปท. และเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา สามารถเข้าแทรกแซงทันที อย่างไรก็ตามการอนุมัติ การเพิกถอนในอนุญาตสถาบันการเงินให้เป็นอำนาจของ รมว.คลัง ภายใต้การแนะนำของ ธปท.

"แบงก์ชาติมีอำนาจในการสั่งปิดและสั่งควบคุมสถาบันการเงิน แต่ รมว.คลังยังคงมีอำนาจในการปิดสถาบันการเงิน หากทำให้รัฐมีภาระงบประมาณ"

ร่างกฎหมายดังกล่าวยังสร้างระบบป้องกันความมั่นคงของสถาบันการเงินไว้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ เมื่อเงินกองทุนของสถาบันการเงินต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 8.5%ของการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง กฎหมายจะกำหนดให้ ธปท.ต้องสั่งให้สถาบันการเงินดำเนินมาตรการบางอย่างหรือต้องแก้ไขฐานะ

หากเงินกองทุนลดเหลือ 5% ของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ธปท.จะต้องใช้มาตรการควบคุมสถาบันการเงินแห่งนั้น และกรณีที่เงินกองทุนลดเหลือ 3 – 2.5% ของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ธปท.จะต้องใช้มาตรการสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินแห่งนั้น จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของสถาบันประกันเงินฝากที่จะเข้ามาดูแลเงินฝากของประชาชนต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้น ด้วยงบประมาณเบื้องต้น 1,000 ล้านบาทเพื่อเข้ามาดำเนินการวางระบบการดูแลเงินฝาก และจัดอันดับเครดิตของสถาบันการเงิน โดยคาดว่าร่างกฎหมายทั้งแพ็คเกจของ ธปท.จะสามารถผ่านสภานิติบัญญัติได้ภายในปี 2550

"เราจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ธปท.และร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ให้กับกระทรวงการคลังพิจารณาเป็นลำดับต่อไป โดยสาระสำคัญในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารการจัดการรวมถึงการพิจารณาตั้งแต่งถอดถอนผู้ว่าแบงก์ชาติ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาที่มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ในการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ และประธานบอร์ดแบงก์ชาติเพื่อความเป็นอิสระในการทำงาน ปลอดจากการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท.จะมีวาระอยู่ในตำแหน่ง 5 ปีโดยจะรับตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ และขณะรับตำแหน่งจะต้องมีอายุไม่เกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ ส่วนคณะกรรมการบอร์ด หากเป็นโดยตำแหน่งคือผู้ทรงวุฒิจากภาครัฐประกอบด้วย ผู้ว่าการ ธปท. , รองผู้ว่าการ ธปท. , ตัวแทนสภาพัฒน์ และตัวแทนกระทรวงการคลัง รวม 6 คน จะดำรงตำแหน่งกระทั่งเกษียณอายุ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจำนวน 6 คนมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 3 ปีและรับตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ

***ลดภาษีธุรกิจเฉพาะแบงก์เหลือ 0.01%

ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร โดยให้ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ จาก 3% เหลือ 0.01% ให้แก่ธนาคารพาณิชย์, บริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์, บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ โดยมีผลบังคับใช้ถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมกันนี้ยังให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร ฉบับที่ 388 พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินสามารถนำผลขาดทุนการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือตราสารหนี้ มาหักออกจากกำไรที่เกิดจากการซื้อขายตั๋วเงินตราสารหนี้ในเดือนภาษีเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.