|
จี้แบงก์ปรับตัวรับเปิดเสรีทางการเงินพรบ.ใหม่เปิดทางธปท.คุมอำนาจกำกับ
ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบพรบ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ ธปท.เน้นการกำกับในแนวทางของกลุ่มธุรกิจการเงินมากขึ้น พร้อมเข้มงวด-คล่องตัวในการกำกับดูแลมากขึ้น ระบุเป็นการเตรียมความพร้อมให้สถาบันการเงินในการบังคับใช้กฎหมายการเงินฉบับอื่นๆต่อไป ย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบ Universal Banking เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต เตือนนอน-แบงก์เตรียมปรับตัวคาดแบงก์ชาติคุมเข้มทั้งดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม และเงินเดือนขั้นต่ำในการทำบัตร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบจากพรบ.ธุรกิจสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจะยื่นร่างให้ครม.เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในสัปดาห์นี้ว่า ประเด็นจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินนั้น จะเป็นเรื่องของการกำกับดูแล ซึ่งคาดว่าพรบ.ธุรกิจาถบันการเงินฉบับใหม่จะให้อำนาจธปท.เต็มที่ในการดูแลความเสี่ยงทุกประเภท และสามารถออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับจรรยาบรรณ พร้อมบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน แทนที่จะเป็นเพียงการสนับสนุนให้ปฎิบัติตาม (Moral Persuasion) แบบในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ร่างพรบ.ธุรกิจสถาบันการเงินใหม่ ยังอาจเปิดโอกาสให้มีเงินกองทุนประเภทอื่นๆได้เพิ่มเติมจากเงินกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 รวมทั้ง อาจเปิดช่องให้ธปท.สามารถกำหนดอัตราส่วนที่สำคัญให้อ่อนไหวต่อความเสี่ยงของสถาบันการเงินแต่ละแห่งมากขึ้น พร้อมกันนั้น ยังเพิ่มอำนาจให้ธปท.สามารถดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ ในกรณีที่ได้รับความยินยอมจากเจ้ากระทรวงที่ทำหน้าที่ดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้นๆ โดยอาจทำเป็นบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) หรือสัญญาระหว่างกัน
รวมถึงให้อำนาจธปท.สามารถดูแลและควบคุมธุรกิจนอนแบงก์ (Non-Bank) ได้ชัดเจนขึ้น โดยหากธปท.เห็นว่าการประกอบธุรกิจการเงินใดของนอนแบงก์ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ก็สามารถกำหนดรายละเอียดของการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้นได้ในอนาคต ขณะที่ในปัจจุบัน ธปท.จะต้องอาศัยอำนาจทางอ้อมผ่านประกาศคณะปฏิวัติ (ปว.) ฉบับที่ 58 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านการควบคุมการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล รวมทั้ง เงินเดือนขั้นต่ำของผู้สมัครบัตรเครดิต
ด้านการดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาทางการเงินจะรวดเร็ว และมีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น โดยอาจให้อำนาจธปท.ในการเข้าแทรกแซงการดำเนินงานของสถาบันการเงินดังกล่าว ได้โดยไม่ต้องรอให้เงินกองทุนติดลบดังเช่นกฎหมายปัจจุบัน และหากอัตราส่วนเงินกองทุนดังกล่าวลดลงมากต่ำกว่าระดับใดระดับหนึ่งที่ธปท.คิดว่าจะเป็นระดับอันตราย ธปท.ก็อาจพิจารณาให้ปิดกิจการได้ เพื่อยับยั้งความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลและผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ คาดว่าร่าง พรบ.ธุรกิจสถาบันการเงินใหม่ จะเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการตัดสินใจสั่งการในเรื่องที่สำคัญต่างๆ เช่น การสั่งปิดกิจการ/เพิกถอนใบอนุญาต หรือการควบคุม/เข้าแทรกแซงการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ด้วยการระบุเป็นจำนวนวันที่ชัดเจน จากเดิมที่มักใช้เวลานานหลายเดือนในการตัดสินใจดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ซึ่งเคยก่อให้เกิดผลกระทบตามมาในวงกว้างและสร้างภาระจำนวนมหาศาลต่อเงินภาษีของประชาชน
ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าวศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดถึงผลกระทบเบื้องต้นต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อว่าการกำกับดูแลของทางการไทย จะมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นลักษณะกลุ่มธุรกิจการเงินมากขึ้น นอกจากนี้ ในกรณีที่สถาบันการเงินประสบปัญหาทางการเงิน การกำหนดกรอบระยะเวลาและวิธีการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนขึ้น คงจะช่วยให้ทางการสามารถจัดการกับปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบลงมาก
นอกจากนี้ เนื่องจากในปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจหลายแห่ง ประกอบธุรกิจในลักษณะที่แข่งขันโดยตรงกับธนาคารพาณิชย์เอกชนมากขึ้น ทั้งในแง่ของสินเชื่อและผลิตภัณฑ์เพื่อการระดมทุน ดังนั้น การมอบอำนาจให้ธปท.สามารถกำกับดูแล และกำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดังกล่าว ใช้มาตรฐานการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้นนั้น คงจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงินในภาพรวม ขณะเดียวกัน ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันมากขึ้นด้วย
ขณะที่การให้อำนาจทางตรงในการกำกับดูแลธุรกิจนอนแบงก์ อาจสร้างข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจดังกล่าวมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหากธปท.เห็นว่ามีการประกอบธุรกิจในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรืออาจสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ
ดังนั้น แม้รายละเอียดที่ชัดเจนของร่าง พรบ.ธุรกิจสถาบันการเงินใหม่ คงจะขึ้นอยู่กับการเปิดเผยเพิ่มเติมในอนาคต แต่การประมวลข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อธุรกิจสถาบันการเงินที่ค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่ทั้งสถาบันการเงินและธปท.ได้ดำเนินการไปแล้วตามแนวทางของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับแรก และหลักเกณฑ์ที่ธปท.เพิ่งประกาศออกมา อาทิ เกณฑ์การกำกับดูแลแบบรวมกลุ่ม หรืออีกนัยหนึ่งคือ การออกกฎหมายดังกล่าว คงจะช่วยทำให้การปรับตัวต่างๆของสถาบันการเงิน มีผลชัดเจนขึ้นทางกฎหมาย และทำให้สถาบันการเงินมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับการบังคับใช้กฎหมายการเงินฉบับอื่นๆ ที่กำลังจะตามมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นร่างพรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจะต้องอาศัยรากฐานของระบบสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอเสียก่อน
ที่สำคัญร่างพรบ.ธุรกิจสถาบันการเงินใหม่ดังกล่าว ยังย้ำถึงเจตนารมย์ของธปท.ที่ชัดเจนในเรื่องของการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบของ Universal Banking การเสริมสร้างมาตรฐานในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของสากล รวมทั้งความเข้มงวดในการกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้นมาก
นอกจากนี้ จากประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นที่จับตามองในปัจจุบัน อันได้แก่ การเปิดเสรีทางการเงิน และการกระตุ้นให้มีการควบรวมกิจการระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ คงจะกดดันรัฐบาลไทยในเรื่องการเปิดเสรีทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางการไทยคงจะหลีกเลี่ยงการเจรจาได้ลำบาก ดังนั้น สถาบันการเงินไทยและธปท.คงจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันที่จะเข้ามาอย่างรุนแรงเมื่อมีการเปิดเสรีทางการเงินขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|