|
อนุมัติปรับเพดานดบ.บัตรเครดิตคาดแบงก์มีกั๊กขยับขึ้นหวังชิงลูกค้า
ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติได้ฤกษ์อนุมัติเพิ่มเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตอีก 2% เป็น 20% พร้อมผ่อนเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติผู้ถือให้ดูจากเงินฝากหรือพันธบัตรที่ผู้ถือบัตรมีครอบครองอยู่ด้วย แต่ยังไม่ปรับเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล เหตุอยู่ในอัตราที่สูงอยู่แล้ว เชื่อแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตโตได้ และจะไม่สร้างปัญหาเอ็นพีแอลให้ระบบเศรษฐกิจ คาดผู้ประกอบการบางรายอาจยังไม่ปรับดอกเบี้ย หวังใช้เป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน
นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับธุรกิจบัตรเครดิตใหม่ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตสามารถปรับเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการบัตรเครดิตอีก 2%ต่อปี ทำให้ปัจจุบันเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ระดับไม่เกิน 20%ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตและผู้บริโภคด้วย โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม นี้ เป็นต้นไป
“ตั้งแต่ปี 45 แบงก์ชาติได้กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการบัตรเครดิตไว้ที่ 18%ต่อปี ซึ่งในช่วงปลายปี 46 เป็นช่วงที่เริ่มมีผลใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติอยู่ที่ระดับ 3.75% อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์เฉลี่ยอยู่ที่ 2% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนเฉลี่ยของแบงก์พาณิชย์ไทยรายใหญ่ 5 แห่งอยู่ที่ 2.50% แต่ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการพุ่งสูงขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับอยู่ที่ 5% อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ 7.75% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 เดือนเฉลี่ย 3.50% แบงก์ชาติจึงตัดสินใจเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยอีก 2% แม้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะแสดงต้นทุนการเงินที่ขอมายังแบงก์ชาติมากกว่า 2%ก็ตาม แต่เราก็ต้องดูแลทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบไปในขณะเดียวกันด้วย”
สำหรับผู้ที่ถือบัตรเครดิตที่มีหนี้จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือจากการเบิกถอนเงินสดที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งกรณีที่ผู้ถือบัตรได้มีข้อตกลงชำระหนี้เต็มจำนวนหรือผ่อนชำระบางส่วน ผู้ประกอบการบัตรเครดิตจะเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมได้ไม่เกิน 18%ต่อปีตามสัญญาเดิมไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2550 เพื่อให้ลูกค้ามีการปรับตัวได้ภายใน 7 เดือน ก่อนจะมีการประกาศใช้จริง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้ของผู้ถือบัตรรายเก่าก่อนวันที่ 1 เม.ย.2547 ที่จะต้องเพิ่มการชำระขั้นต่ำในแต่ละงวดจาก 5%เป็น 10%ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2550
ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตสามารถให้ผู้ถือบัตรเครดิตทั้งลูกค้ารายเก่าและรายใหม่ คิดดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราไม่เกิน 20%ต่อปี ภายใต้กรอบของสัญญาที่ทำกันไว้เดิม
“ปัจจุบันธุรกิจบัตรเครดิตในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ถือว่าอัตราการเติบโตลดลงบ้าง คือ ไม่ถึง 40% ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่เป็นแบงก์พาณิชย์ก็ยังมีการเติบโตเท่าเดิม จึงเชื่อว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากนัก และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 24-36% โดยเฉพาะญี่ปุ่นคิดถึง 29% ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตไม่เกิน 20% เชื่อว่าผู้บริโภคจะรับได้ และขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแลผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตด้วย เพื่อให้สามารถรับได้กับต้นทุนทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย”
ทั้งนี้ ธปท.ยังแนะให้ผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องมีความระมัดระวังการก่อหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากหากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้น อาจมีผลต่อภาระการชำระหนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะตามสัญญาผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ โดยแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า 1 เดือนเท่านั้น
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิต โดยให้ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตสามารถพิจารณาจากการมีเงินฝากไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทอย่างน้อย 6 เดือน หรือการลงทุนตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งได้หรือมีพันธบัตรได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนเช่นกัน จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะผู้ถือบัตรเครดิตต้องมีรายได้เกินกว่า 15,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตยังสามารถพิจารณาคุณสมบัติของผู้ถือบัตรองค์กร(Corporate Card) จากฐานะทางการเงินของบริษัทที่จะขอมีบัตรเครดิตแทนการพิจารณาคุณสมบัติรของผู้ถือบัตรรายบุคคล
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ในอนาคตธปท.จะไม่เข้าไปควบคุมจำนวนบัตรเครดิตของผู้ถือบัตร เพราะเชื่อว่าแต่ละบุคคลย่อมมีความจำเป็นและความต้องการใช้จ่ายแตกต่างกัน ดังนั้นขึ้นกับรายบุคคลมากกว่าที่จะควบคุมดูแลการใช้จ่ายของตัวเอง ส่วนสินเชื่อบุคคลก็เช่นกันธปท.คงจะไม่มีการปรับเพดานดอกเบี้ย เพราะในปัจจุบันการคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลที่ระดับ 28%ต่อปี ถือว่าสูงอยู่แล้ว และครอบคลุมค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการอยู่แล้ว
สำหรับแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปีหน้า แม้จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็ตาม เชื่อว่ายังคงมีการเติบโตที่ดีอยู่และไม่กระทบต่อหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิต เพราะผู้ประกอบการมีการตั้งสำรองที่ดีรองรับไว้แล้ว โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลของธุรกิจบัตรเครดิตต่ำกว่า 3% ขณะที่ยอดหนี้คงค้างลดลงอย่างต่อเนื่องจากในช่วงปี 45 อยู่ที่ระดับ 40%ของมูลค่าการใช้บัตร แต่เมื่อถึงปี 46 อยู่ที่ระดับ 33% และปี 47 ลดลงอยู่ที่ 20% ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตคงอยู่ในระดับนี้ตลอด
“แม้ธปท.จะอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสามารถปรับเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตได้ แต่เชื่อว่าอาจมีผู้ประกอบการบางรายไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันในการดึงฐานลูกค้าเข้าบริษัท นอกจากนี้มองว่าระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบการบางรายอาจยังไม่สามารถแยกได้ยอดเก่าหรือใหม่ของลูกค้าได้อยู่ เพราะหากคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 20%ใหม่หมดก็จะส่งผลเสียไปยังลูกค้ารายเก่าด้วยที่ยังไม่ควรยังไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์ใหม่”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|