Equilibrium (Conti...)

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร เปลี่ยนแปลงคณะบริหารอำนาจรัฐ ซึ่งมีองค์ประกอบผู้บริหารสำคัญๆ ในโมเดลที่ดูเหมือนคล้ายๆ เคยใช้เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

ผู้อ่านควรจะกลับไปอ่านบทความชิ้นนั้นอีกครั้ง ซึ่งผมมีความประสงค์จะขยายความในบางจุดในบทความชิ้นนั้นในมิติที่น่าสนใจบางประเด็น

"ภาพสังคมธุรกิจไทยหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นภาพที่เป็นปริศนาพอสมควร แต่ดูคลี่คลายไปเอง เมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นหลังจากนั้น 3-4 ปี แต่ในที่สุดความคลุมเครือดูครอบคลุมกลับมาใหม่อีกในช่วงนี้"

"คงไม่มีช่วงใดเท่าวิกฤติครั้งนั้นที่ธุรกิจครอบครัวถูกบั่นทอนมากที่สุด กว้างขวางที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเพียงใด"

"ปฏิกิริยาของสังคมธุรกิจไทยต่อระบบทุนนิยมระดับโลกในเชิงลบครั้งสำคัญครั้งแรก ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 มีนัยว่าเป็นความขัดแย้งโดยพื้นฐานระหว่างธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งเป็นทุนนิยมแบบหนึ่ง กับระบบทุนนิยมที่พัฒนาจากผลประโยชน์ระบบครอบครัวไปสู่ผลประโยชน์ระดับบุคคล (Individual Investor) แล้วความขัดแย้งนี้ถือเป็นแรงเสียดทานของการปรับตัวอย่างหนึ่ง"

สังคมธุรกิจไทยที่กล่าวถึงนี้หมายรวมผู้คนในสังคมที่เกี่ยวเนื่องด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอำนาจดั้งเดิม Technocrat และแวดวงวิชาการ ซึ่งปฏิกิริยาต่อทุนนิยมระดับโลกนั้น ไม่ใช่มองในระดับโลกในเชิงนามธรรมทั่วไป เหมือนการแอนตี้อเมริกาและญี่ปุ่นในช่วงสงครามเวียดนาม หากมองลึกลงไปในลักษณะ "ตัวแทน" ด้วย เนื่องจากกลุ่มทุนนิยมใหม่ในสังคมไทยมีลักษณะเป็น "ตัวแทน" ทุนนิยมโลกมากที่สุดอยู่ด้วย กลุ่มเหล่านี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในปฏิกิริยาที่รุนแรงนี้

ผมไม่จำเป็นต้องระบุชัดเจนว่าเป้าหมายนั้นเป็นใครอย่างไร กลุ่มตัวแทนที่ว่านี้เป็นกลุ่มทุนหรือธุรกิจที่มาใหม่และเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เชื่อว่าผู้อ่านคงเข้าใจดี กลุ่มตัวแทนหมายเลขหนึ่งนั้นเป็นใคร

กลุ่มแวดล้อมสังคมธุรกิจรากฐานเดิม ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เป็นสังคมที่มีการหลอมความปึกแผ่นมากที่สุด กลุ่มอำนาจดั้งเดิม Technocrat และแวดวงวิชาการ ส่วนใหญ่มีความต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกัน มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาในยุคเดียวกัน โดยเฉพาะความคิดในเชิงโครงสร้างที่สอดคล้องกัน

กลุ่มเหล่านี้มีประสบการณ์ที่ความ "คุ้นชิน" กับระบบการเมือง แบบกึ่งประชาธิปไตย มากกว่าระบบการเมืองแบบ "เลือกตั้ง" ในยุคหลังๆ เพราะในช่วงชีวิตคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์กับเหตุการณ์รัฐประหารมากที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมไทย จนอาจจะกล่าวได้ว่าประเมินสถานการณ์ได้ มีความ "คุ้นชิน" กับผู้นำที่มีฐานมาจากกลุ่มเดียวกัน มากกว่ากลุ่มอื่นที่มาใหม่ แม้ว่าในบางช่วงกลุ่มพลังเหล่านั้นต้องต่อสู้กันในความคิดเชิงการเมืองกันอย่างรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่งก็เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างดี ประเมินสถานะของแต่ละฝ่ายได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญ เรียนรู้ที่อยู่ร่วมกันด้วย

ขณะเดียวกันกลุ่มพลังดั้งเดิมนี้ยังเรียนรู้อย่างไม่มากพอ สำหรับกลุ่มทุนนิยมใหม่ หรือกลุ่มพลังอำนาจใหม่ ในบางช่วงพวกเขาประเมิน "ตัวแทน" ทุนนิยมโลกกลุ่มนี้ต่ำเกินไป แล้วมาจุดหนึ่งก็สวิงประเมินอย่างสูงเกินไป แสดงให้เห็นว่ากลุ่มพลังเดิมเหล่านี้ยังไม่ "คุ้นชิน" ทุนนิยมใหม่ เท่ากับ อำนาจดั้งเดิม

ว่ากันว่า Technocrat บางคนในคณะผู้บริหารอำนาจชุดปัจจุบัน จึงมีโครงสร้างอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ เคยถูกทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทุนนิยมใหม่ก็ปฏิเสธไม่ร่วมวงด้วย แต่กลับมีความยินดีที่จะร่วมกันชุดปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจของสังคมไทย จึงเป็นเรื่องประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบที่น่าสนใจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา ความคิด และเรื่องราวตัวบุคคล ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมองเฉพาะเพียงระบอบการปกครองที่ชอบอ้าๆ กันเท่านั้น

ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุกครั้ง ในอำนาจทางสังคม มักจะมาจากการปรับสมดุลของโครงสร้าง ซึ่งบางครั้งรุนแรง บางครั้งราบรื่น และบ่อยครั้งไม่สามารถปรับอย่างรุนแรงครั้งเดียว ก็จะเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ ประวัติศาสตร์บอกไว้เช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้ ผมเชื่อว่า มิใช่การปฏิเสธ หรือการล้มล้างการดำรงอยู่อย่างมีพลังของกลุ่มทุนนิยมใหม่ และไม่ใช่การกลับมาของกลุ่มดั้งเดิม เข้าสู่ภาวะแห่งอำนาจมั่นคงเช่นเดิม เช่นเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างสมบูรณ์ หากเป็นกระบวนการยอมรับอย่างเป็นทางการของการมีอยู่ และอยู่ร่วมกันกับกลุ่มพลังสำคัญของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจดั้งเดิมกับกลุ่มอำนาจใหม่ที่มีลักษณะเป็นทุนนิยมใหม่ เป็น "ตัวแทน" ของทุนนิยมโลก ซึ่งมีบุคลิกของความก้าวร้าว และครึกโครมเกินพอดี เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอำนาจดั้งเดิมที่มีบุคลิกของความลงตัว และดูดีมากกว่า

นอกจากนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้กลุ่มใหม่ ด้วยการปฏิบัติจริงครั้งใหญ่ ความจริงแล้ว กลุ่มพลังเดิมโดยเฉพาะแวดวงวิชาการ ควรจะศึกษากลุ่มใหม่มาตั้งนานแล้ว ด้วยความระแวดระวัง ตั้งแต่หลังสงครามเวียดนาม ซึ่งถือเป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทย ทว่า กลับไม่มีการศึกษาอย่างดีเพียงพอ ในที่สุดต้องมาศึกษากันอย่างเร่งรีบจากเอกสารกองเท่าภูเขาเลากา ในห้องทำงานคณะกรรมการตรวจสอบชุดต่างๆ ด้วยความเครียด และความกดดันเกินความจำเป็นในขณะนี้ อะไรเทือกนี้

ในกระบวนการยอมรับสมาชิกใหม่นี้ก็ย่อมจะมีต้นทุน หรือมีค่าสมาชิกใหม่ด้วยเสมอ สมาชิกที่มาทีหลัง ย่อมจ่ายแพงกว่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.