Sinosphere over Africa

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงเวลาหลายปีที่เรียนอยู่ในเมืองจีน มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่งที่ผมผูกพันอยู่กว่า 4 ปีเต็ม คล้ายกับเป็น "จุดผ่านทาง" ของนักศึกษาจากหลากหลายชนชาติ หลากหลายภาษา เป็น "จุดเริ่มต้น" ของนักศึกษาในการเข้าใจประเทศจีน เพราะที่นี่เป็นสถาบันการศึกษาที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางด้านภาษาและวัฒนธรรม อันเป็นศาสตร์ขั้นต้น ศาสตร์จำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจกับประเทศจีน-สังคมจีน-คนจีน

ปีแรกๆ ของการเรียนที่มหาวิทยาลัยภาษา และวัฒนธรรมปักกิ่งผมรู้จักกับเพื่อนชาวแอฟริกันหลายคน แม้หลายคนรูปร่าง-หน้าตาจะดูน่าสะพรึงกลัวไปบ้าง สำหรับคนเอเชีย แต่ถ้าลองได้พูดคุยก็จะรู้ว่าเพื่อนชาวแอฟริกันส่วนใหญ่เป็นคนนิสัยใช้ได้ และเรียนเก่งอย่างเหลือเชื่อ

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยจะต้องตกใจ หากได้ยินคนแอฟริกันผิวดำ "จ้อจีน" แบบน้ำไหลไฟดับ แถมบางคนยังข้ามขั้นไปจีบเอานักศึกษาจีนเป็นแฟนอีกด้วย...

นักเรียนแอฟริกันส่วนที่มาเรียนเมืองจีน แทบจะร้อยทั้งร้อยเป็นนักเรียนทุน โดยส่วนใหญ่ จะมาศึกษาต่อด้านภาษาจีน การแพทย์จีน การ ไปรษณีย์ การคมนาคม หรือศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับ สาธารณูปโภคต่างๆ เนื่องด้วยระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในทวีปแอฟริกันส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นด้อยพัฒนา และศาสตร์ต่างๆ นี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างชาติในระยะแรกๆ

แน่นอนเหล่าสมาชิกแห่งทวีปแอฟริกาย่อมคาดหวังว่า "จีน" จะเป็นต้นแบบหนึ่งในการพัฒนาชาติของพวกเขา

เมื่อรับทราบข่าวการประชุมสุดยอดความร่วมมือจีน-แอฟริกา (China-Africa Summit) ที่ปักกิ่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2549 ซึ่งมีชาติแอฟริกาเข้าร่วมประชุมกว่า 48 ชาติ หลายคนแสดงความประหลาดใจ บ้างถามว่าจีนไปมีความสัมพันธ์อะไรกับแอฟริกา? จีนหวังจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนกาฬทวีปใช่หรือไม่? จีนต้องการจะขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ เพื่อขูดรีดทรัพยากรจากแอฟริกาหรือเปล่า?

จริงๆ จีนกับแอฟริกามีความสัมพันธ์กันมายาวนาน อย่างน้อยๆ ก็คือความสัมพันธ์ในฐานะ "ประเทศโลกที่สาม" หรือประเทศที่ด้อยพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมด้วยกัน โดยเฉพาะจีนในยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมาปกครองประเทศ คือภายหลังปี 2492 (ค.ศ.1949) เป็นต้นมา พรรคคอม มิวนิสต์จีนพยายามสร้างภาพลักษณ์ต่อชาวโลกว่า

"จีนให้เกียรติแก่ประเทศเล็กที่มหาอำนาจส่วนมากไม่ให้ความสำคัญ"

แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นแนวคิดที่ผูกติดอยู่กับอุดมการณ์ในการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่พยายามจะให้เกียรติแก่ชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งต่อมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานา ประเทศว่า จริงๆ การผูกมิตรกับแอฟริกาของจีนนั้นเพียงความต้องการช่วงชิงพรรคพวก ขณะ ที่จีนก็โต้ว่าจีนกับแอฟริกานั้นเป็นสัมพันธมิตรโดยธรรมชาติ คือในฐานะของประเทศที่เคยถูกจักรวรรดินิยมข่มเหง

ไม่ว่าใครจะพูดว่าอย่างไร นับตั้งแต่วันที่นาสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ประธานา ธิบดีแห่งอียิปต์ รับรองว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ปักกิ่งนั้นเป็นรัฐบาลที่แท้จริงของจีน (อียิปต์ถือเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่แสดงยอมรับรัฐบาลปักกิ่ง แทนรัฐบาลไต้หวัน) จนกระทั่งวันนี้ ปี 2549 ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแอฟริกานับวันจะยิ่งแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ

ณ วันนี้ ในวันที่โลกของอุดมการณ์ทาง การเมืองถูกโถมทับด้วยโลกแห่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ประเทศจีนได้กลายเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่อันดับที่ 3 ของแอฟริการองจากสหรัฐ อเมริกา และฝรั่งเศส โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาตัวเลขการค้าระหว่างจีน-แอฟริกานั้นเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ขณะที่ในปี 2548 ที่ผ่านมา ตัวเลขการค้านั้นสูงถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระหว่างงานประชุมนักธุรกิจจีน-แอฟริกา ณ มหาศาลาประชาชนกรุงปักกิ่ง เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรี จีนได้กล่าวยืนยันถึงความสัมพันธ์ด้วยว่า นับถึงสิ้นปี 2548 จีนนำเงินไปลงทุนในแอฟริกามากถึง 6,270 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว นอกจากนี้ในปีนี้ตัวเลขการค้าระหว่างจีนกับแอฟริกา น่าจะสูงแตะ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และภายใน 5 ปีข้างหน้าตัวเลขการค้าดังกล่าวน่าจะแตะ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

การแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ-การค้าของจีนเข้าไปในทวีปแอฟริกา ถูกนักวิชาการตะวันตกจำนวนหนึ่งให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ Sinosphere เข้าปกคลุมกาฬทวีป

เดิมที Sinosphere หรือ Chinese world หรือ Chinese cultural sphere นั้นหมายถึงกลุ่มประเทศ/ภูมิภาค ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่จำนวนมากพอสมควร หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางภาษาและวัฒนธรรมของจีน โดยประเทศในกลุ่มนี้นั้นหมายความรวมถึงไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ-ใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม เป็นต้น

เมื่อนักวิชาการตะวันตกเริ่มนำคำว่า Sinosphere มาดัดแปลงใช้ในทางเศรษฐกิจ และนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนการรุกคืบเข้าไปแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในทวีปแอฟริกา ก็ยิ่งทำให้ภาพของการเป็น "เจ้าอาณานิคม" นั้นเด่นขึ้นมา (เหมือนกับการใช้คำว่า Anglosphere กับอังกฤษ)

ขณะที่ฝรั่งก็กำลังพยายามตั้งคำถามกับ "ความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างจีน-แอฟริกา" สามสี่ประการ...

คำถามแรก คือ การที่จีนเข้าไปทำทีว่าจะช่วยเหลือชาติแอฟริกาต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า การเพิ่มการลงทุน การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การสร้าง สาธารณูปโภค หรือการยกหนี้ให้กับประเทศในแอฟริกา 31 ประเทศ เป็นเงินกว่า 10,900 ล้านหยวน เป็นต้นนั้นเป็นการส่งเสริมให้ชาติแอฟริกาเป็นหนี้ต่อไปหรือไม่?

คำถามที่สอง คือ สาเหตุที่จีนเร่งกระชับ ความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจกับชาติแอฟริกาก็เพื่อจุดมุ่งหมายหลักในการแสวง หาความต้องการทางทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แร่ พลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันในแอฟริกา ใช่หรือไม่? เนื่องจากปัจจุบันน้ำมันดิบราวหนึ่ง ในสี่ที่จีนนำเข้านั้นมาจากชาติในแอฟริกา เช่น แอลจีเรีย, แองโกลา, ชาด, ซูดาน, ไนจีเรีย ทั้งนี้น้ำมันดิบที่จีนนำเข้าจากแองโกลาในแต่ละปีนั้นมีปริมาณมากกว่าที่นำเข้าจากซาอุดีอาระเบียเสียอีก

คำถามที่สาม คือ การเข้าไปสร้างความ สัมพันธ์ของรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐโจร (Rouge State) ทั้งหลายในทวีปแอฟริกาเพื่อดูดซับทรัพยากรธรรมชาติ มองในแง่มุมของประชาชน ในชาติเหล่านี้ ผลได้จากการผูกสัมพันธ์ทำการค้ากับจีนนั้นมากกว่าหรือน้อยกว่าผลเสีย? ยังมิต้องกล่าวถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องสิทธิมนุษยชนอีก

คำถามที่สี่ คือ การค้าระหว่างจีนกับชาติแอฟริกานั้น ครอบคลุมไปถึงสินค้าจำพวก "อาวุธสงคราม" โดยอาวุธสงครามเหล่านี้จำนวนหนึ่งถูกนำไปใช้เพื่อปราบปราม-สังหาร กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศของแอฟริกา การส่งออกอาวุธของจีนจะยิ่งเป็นตัวเพิ่มความขัดแย้ง เร่งปฏิกิริยาของสงครามในประเทศเหล่านี้หรือไม่? นอกจากนี้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลจีนที่ปกครองภายใต้พรรคการเมืองเดี่ยว คือ พรรคคอมมิวนิสต์นั้นจะเป็นต้นแบบให้ชาติแอฟริกาไม่ยอมพัฒนา ตัวเองสู่ลู่ทางของการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่?

เห็นได้ชัดว่า คำถามข้างต้นเป็นคำถามที่จู่โจมโดยมุ่งเป้าตรงไปยัง "การแผ่อิทธิพล" ของรัฐบาลปักกิ่งไปยังกาฬทวีป ทวีปเดียวในโลก ที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติหลงเหลืออยู่อย่างเหลือเฟือ

ท่านผู้อ่านหลายท่านที่พอทราบประวัติ ศาสตร์การเมือง-เศรษฐกิจโลก หรือเคยหยิบ หนังสือ Confessions of an Economic Hit Man หนังสือเศรษฐศาสตร์ขายดีติดอันดับในสหรัฐฯ ของปี 2548 ก็คงทราบดีอยู่แล้วว่า แท้จริงแล้วในปัจจุบัน "รัฐบาลปักกิ่ง" กำลังเลียนแบบพฤติกรรมในปัจจุบันและในอดีตของ "รัฐบาล" ชาติไหนอยู่บ้าง? และคำถามต่างๆ นี้ถูกตั้งขึ้นอย่างมีอคติหรือไม่?

ประเด็นปัญหาเหล่านี้หากมองในองค์รวม แล้วก็คือ ความพยายามหาเหตุผลเพื่อจำกัด อิทธิพลของจีนไม่ให้เติบโตเร็วจนเกินไป จนไปทับซ้อนกับผลประโยชน์ของชาติตะวันตก...

สำหรับคำตอบของคำถามสามสี่ข้อข้างต้นนั้น Ngozi Okonjo-Iweala อดีตรัฐมนตรีคลังและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศหญิง ผู้โด่งดัง ของประเทศไนจีเรียได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าคิดว่า ซึ่งผมจะสรุปย่อทิ้งท้ายไว้ดังนี้

ปัจจุบันชาติตะวันตกกำลังตื่นตระหนกกับบทบาทของจีนในทวีปแอฟริกา ถึงขนาดที่ชาวตะวันตกเริ่มเรียกจีนว่า "นักล่าอาณานิคมคนใหม่" แต่สิ่งที่แอฟริกากำลังต้องการในขณะนี้ก็คือ การลงทุนในสาธารณูปโภค เธอกล่าวว่า สาธารณูปโภคเป็นสิ่งขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศ

ขณะที่ประเทศต่างๆ มองว่าการลงทุนในสาธารณูปโภคในชาติแอฟริกามีความเสี่ยงสูงเกินไป แต่จีนนั้นมองในมุมที่ต่างออกไป จีนยินดีที่จะร่วมมือกับชาติแอฟริกา และชาติตะวันตกก็ควรเรียนรู้ที่จะแข่งขันบ้าง!!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.