แปลงโฉมนางซินฯ ที่เซ็นทรัล ชิดลม

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับเซ็นทรัล ชิดลม บริการ "เพื่อนนักชอป" จะถูกเรียกขานว่า Personal Shopper ซึ่งที่นี่เปิดให้บริการมาร่วม 9 ปี ตั้งแต่เริ่มเปิดห้าง โดยมีอาจารย์วาริน จันทรเจริญ นักวิชาการ อาจารย์ และที่ปรึกษาทางด้านแฟชั่นของประเทศ เป็นผู้ให้บริการเพียงคนเดียวมาตลอด

กระทั่ง "แต้ม" รุ่งนภา กิตติวัฒน์ นางแบบรุ่นใหญ่ผู้คลุกคลีอยู่บนแคตวอล์กบ้านเรามากว่า 20 ปี เข้ามาเสริมทัพเมื่อราวเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการเชื้อเชิญจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเซ็นทรัล

"เขาคงพิจารณาเลือกเราจากเทสต์และสไตล์การแต่งตัว ร่วมกับความเป็นนางแบบอาชีพมานาน ประกอบกับทุกวันนี้มีคนเข้ามาใช้บริการนี้มากขึ้น" แต้มเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เธอได้เข้ามาอยู่ตรงนี้

ประสบการณ์ในวงการนางแบบทำให้แต้มได้เห็นเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ ได้รู้จักกับดีไซเนอร์หลาย คน ได้เรียนรู้ทักษะ Mix & Match ได้เรียนรู้ว่าสไตล์ ไหนเหมาะกับคนวัยไหนหรือบุคลิกใด และก็ยังรู้ได้ว่าหากจับคู่ผิดก็อาจทำให้พลาดได้เหมือนกัน

"ทุกครั้งที่แต่งตัวออกจากบ้าน เราจะแอบดูว่ามีคนมองเราบ้างหรือเปล่า ถ้าเราแต่งตัวเรียบๆ เฉยๆ ไม่มีจุดเด่นคนก็จะไม่สนใจ แต่ถ้ามีคนมาชมว่าเราแต่งตัวดี อันนี้ก็ถือเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง" แต้มเล่าถึงการสร้างความมั่นใจและความสุขเล็กๆ ของสาวใหญ่วัย 47 เช่นเธอ

งานตรงนี้จึงทำให้แต้มมีความสุขมาก เพราะได้แต่งตัวสวย ได้คลุกคลีกับแฟชั่น และได้ช่วยคนอื่นแต่งตัวให้ออกมาดูเก๋ แต่ถึงจะมีภูมิหลังทางแฟชั่นที่แน่นปึ๊ก แต่เธอก็ยังต้องมาเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกหลาย อย่าง เช่น มีเนื้อผ้าบางอย่างที่อาจทำให้ลูกค้าแพ้ ฯลฯ เพื่อที่ลูกค้าจะได้ชุดที่ใส่สวยและสบายภายในงบ

กระบวนการทำงานของที่นี่ก็คล้ายกับบริการของสยามพารากอน กล่าวคือ หลังจากลูกค้าโทรมา ก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรกลับไปสอบถามข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น จากนั้นก็รอคิวนัด เมื่อถึงวันนัดก็จะมีการพูด คุยเบื้องต้นที่ห้อง Personal Shopper ก่อนจะพาลูกค้า ออกไปเลือกสินค้าที่หมายตาไว้ก่อนแล้ว

เสื้อผ้าที่เลือกไว้ที่ร้านก็จะถูกนำมาแขวนเรียงรายไว้ที่ห้อง Personal Shopper เมื่อลูกค้ากลับมา ก็อาจจะนั่งพักเหนื่อยดื่มน้ำทานขนมให้เรียบร้อยก่อนเข้าไปลองชุดที่เลือกมาเหล่านั้น โดย Personal Shopper จะอยู่ในห้องด้วยตลอด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอาจใช้เวลา 1-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าที่เลือก โดยมีพนักงานคอยช่วยจัดการชำระค่าสินค้าให้ถ้าลูกค้าต้องการซื้อสินค้าชิ้นใด

สไตล์การทำงานของแต้ม เธอชอบช่วยลูกค้าค้นพบสไตล์ใหม่ๆ ที่ก็ดูเหมาะสมกับตัวตนของลูกค้า และเน้นเลือกสินค้าที่เข้ากับสิ่งที่ลูกค้ามีอยู่แล้ว โดยมีหลักสำคัญคือ เธอมักเลือก สินค้าที่สร้างเสน่ห์และความใสสมวัยให้ลูกค้าหนุ่มสาว แต่ถ้าเป็นลูกค้ารุ่นใหญ่ เธอจะเลือกสินค้าที่ช่วยให้เสริมสง่าราศีและดูอ่อนกว่าวัย ซึ่งก็เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับสไตล์แต่งตัวของเธอนั่นเอง

"ในยุคที่คนนิยมลุคที่ดูอ่อนกว่าวัย ผู้หญิงวัย 50 ถ้าแต่งตัวสมวัย 50 ปี มันก็ดูแก่กว่าวัยโดยปริยาย" สำหรับโจทย์ในวันนี้ "น้องเอ็ม" สาวใสวัยเพียง 22 ปี ต้องการหาชุดใส่ไปงานปาร์ตี้ปีใหม่กับเพื่อนที่ทำงาน ซึ่งจัดที่ริมสระน้ำในโรงแรมหรูในยามค่ำคืนของวันที่ 31 ธันวาคม ภายใต้งบจำกัดตามวิสัย ของ First Jobber โดยมีเงื่อนไขส่วนตัวคือ ไม่ชอบใส่ชุดเดรสและชุดกระโปรงเพราะไม่มั่นใจ

"ลูกค้าอยู่ในวัยสาวใส ค่อนข้างทันสมัย มีไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างหรูหราสักหน่อย" แต้มอธิบายตรรกะที่เธอใช้เลือกสินค้า แล้วใช้เวลาครุ่นคิดเพียงครู่เดียวก่อนพาออกไปเดินชอป

แม้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการนี้จะค่อนข้างเปิดใจรับฟังคำแนะนำจาก Personal Shopper อยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและเชื่อใจในความหวังดีอย่างเต็มร้อย เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น ในช่วงเวลาที่นั่งคุยและเดินชมสินค้าด้วยกัน ซึ่งก็เห็นชัดว่า แต้มพยายามพูดคุยอย่างสนุกสนานและเป็นกันเองกับลูกค้า เพื่อสร้างบรรยากาศการชอปปิ้งราวกับเพื่อนสนิทกันจริงๆ

เพียงเวลาไม่ถึงชั่วโมง แต้มมีตัวเลือกให้น้องเอ็มเป็นเสื้อผ้าหลากชุดหลายสไตล์ ทั้งเสื้อกล้ามหรู กับยีน กระโปรงและแจ็กเกตแนวเรียบร้อย และเดรสหรู เป็นต้น มาพร้อมกับรองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับเก๋ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกจัดส่งไปรอในห้อง Personal Shopping ระหว่างที่แต้มค้นหาสไตล์ การแต่งหน้าที่เหมาะจะไปงานให้กับน้องเอ็ม

หลังจากลองเสื้อผ้าและฟังคำแนะนำจากแต้มร่วมชั่วโมง สุดท้ายน้องเอ็มก็ตัดสินใจเลือกเดรสสีดำ เก๋ เซ็กซี่เล็กๆ สมวัยสาว และกระเป๋าหนังใบเล็กเท่คู่กับรองเท้าสานส้นเตี้ยทรงบัลเลต์ที่กำลังอินเทรนด์

"ปกติเวลาไปงานก็จะแต่งตัวลำลอง ใส่กางเกงเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ใส่เดรส นี่เป็นครั้งแรกที่ใส่ชุดเดรสที่ดูสาวขนาดนี้ แต่พอได้ลองใส่แล้วก็รู้สึกว่าดูสวยดีเหมือนกัน ดูไม่ทางการมาก แต่ก็หรูพอจะไปงานกลางคืน" น้องเอ็มให้เหตุผล

ขณะที่ฝั่งของแต้มก็แอบยินดีมีความสุขที่ลูกค้าเลือกเดรสชุดนี้ เพราะนั่นหมายถึงว่า เธอสามารถ โน้มน้าวให้คนที่ไม่เคยมั่นใจเวลาใส่เดรสเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมา และทำให้ลูกค้าได้ค้นพบว่าตัวเองมีศักยภาพในการแต่งเดรสแล้วดูสวยได้ขนาดไหน

"ความยากที่สุดของงานตรงนี้ก็คือ การเปลี่ยนทัศนคติลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้ารุ่นใหญ่ซึ่งมักจะมากับความเชื่อว่าต้องทำทรงผมนี้หรือใส่สไตล์นี้เท่านั้นถึงจะดูดี และความเชื่อผิดๆ ของคนทั่วไปที่มักคิดว่าใส่สินค้าราคาแพงแล้วจะดูดีมีสไตล์เสมอไป"

แต้มให้ข้อคิดในฐานะนักชอปตัวยงว่า นักชอปที่ดีต้องเลือกซื้อของแล้วเอาไปใช้ได้หลายโอกาส ใช้ได้นาน ราคาสมเหตุสมผล แต่เมื่อใส่แล้วกลับเสริมบุคลิกหรือลุคให้ดูดีและ "ดูแพง" กว่าราคาที่จ่ายจริง และที่สำคัญคือเอาไปจับคู่สิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วได้

และทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นหน้าที่หลักของ Personal Shopper อย่างเธอที่จะต้องคอยช่วยลูกค้า

"บริการตรงนี้จะช่วยประหยัดเวลาและพลังงาน เพราะลูกค้าไม่ต้องเดินทั่วห้างเพื่อค้นหาสินค้า และ ที่สำคัญยังช่วยประหยัดเงิน บ่อยครั้งที่พอมาชอปคนเดียว เวลาเดินเหนื่อยแล้ว เราก็มักจะตัดสินใจไม่ได้ก็เลยซื้อๆ ไป ยิ่งถ้าเจอคนขายยุ บางทีก็ซื้อไปเพราะเกรงใจ เราจะช่วยลูกค้าเซฟเงินตรงนี้และไม่ต้องซื้อพลาด"

ปัจจุบัน บริการ Personal Shopper ของเซ็นทรัล ชิดลม เปิดให้บริการทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยมีอาจารย์วารินให้บริการวันพฤหัสบดีและศุกร์ ส่วนแต้ม ให้บริการในวันอังคาร พุธ เสาร์ และอาทิตย์ โดยลูกค้า เกือบ 90% เป็นผู้หญิงตั้งแต่รุ่นเด็กสาวจนถึงรุ่นป้าๆ มีทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารรุ่นใหม่ และ First Jobber


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.