An Oak by the window...อวสานของดิสก์

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับคนที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในวงการบันเทิงในห้องนั่งเล่นที่บ้านแล้ว ประวัติศาสตร์ของฟอร์แมต การเอ็นโค้ดข้อมูลน่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด ผู้ผลิตที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์เพลงและภาพยนตร์ของตนเข้าสู่บ้านของผู้บริโภคให้ได้นั้นพวกเขาจะต้องคิดค้นสื่อที่สามารถเก็บเพลงและภาพยนตร์เหล่านั้นในสภาพที่เหมือนจริงมากที่สุด นั่นเป็นที่มาของเทคโนโลยีตั้งแต่ไวนิล, เทปคาสเซตต์, เบต้าแมกซ์, วีเอชเอส, ซีดี มาจนถึงดีวีดีที่ปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ชั้นเก็บของข้างโทรทัศน์ที่บ้านเต็มไปด้วยแผ่นพลาสติกและแถบแม่เหล็กมากมาย

ล่าสุด เทคโนโลยีใหม่ที่นำมาเสนอเพื่อความบันเทิงภายในบ้าน ก็คือ วิดีโอความคมชัดสูง หรือ High Definition Video เทคโนโลยีใหม่นี้เพิ่มจำนวนของพิกเซลหรือความละเอียดของภาพให้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ได้ภาพบนหน้าจอที่คมชัดมากขึ้น และเนื่องจาก ภาพความคมชัดสูงนี้เก็บข้อมูลภาพที่ละเอียดขึ้นทำให้ภาพยนตร์ความคมชัดสูงต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บสูงมากขึ้นด้วยและมากกว่าที่แผ่นดีวีดีทั่วๆ ไปสามารถจัดเก็บได้

เทคโนโลยีวิดีโอความคมชัดสูงนี้มีด้วยกันสองรูปแบบด้วยกัน คือ HD-DVD ของโตชิบา และ Blu-ray ของโซนี่

ถ้ายังจำกันได้เมื่อหลายปีก่อนมีมาตรฐานของวิดีโอออกมาสองตัว คือ VHS และ Betamax ซึ่งในตอนนั้นผู้บริโภคจะต้อง ตัดสินใจเลือกหนึ่งในสองมาตรฐานนั้น หรือไม่ก็ต้องซื้อทั้งสองมาตรฐานเลย เพราะทั้งสองมาตรฐานไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ นั่นหมายความว่า ถ้าผู้บริโภคเลือกทั้งสองมาตรฐานก็จะต้องซื้อเครื่องเล่นสองเครื่อง เทคโนโลยีวิดีโอความคมชัดสูงนี้ก็เช่นเดียวกัน โดย HD-DVD ได้รับการสนับสนุนจากโตชิบา และเอ็นอีซี ส่วน Blu-ray มีโซนี่หนุนหลัง อย่างไรก็ตาม เคยมีบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่า สุดท้ายแล้วฮอลลีวูดคงจะต้องเลือกแค่เพียงมาตรฐานเดียว และมาตรฐานที่จะได้รับเลือก ก็จะเป็นมาตรฐานที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากที่สุด ซึ่งนั่นหมายความว่า Blu-ray น่าจะ ชนะไปอย่างฉิวเฉียดในท้ายที่สุด

แผ่นดีวีดีโดยทั่วๆ ไปมีความจุ 4.7 กิกะไบต์ โดยเป็นขนาดความจุที่สามารถเก็บ ภาพยนตร์ขนาดความยาว 135 นาทีได้ในรูปแบบภาพวิดีโอมาตรฐานที่ถูกบีบอัดแล้ว อย่างไรก็ตาม ความจุขนาดนี้แม้จะมากก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเก็บภาพยนตร์ในรูปแบบวิดีโอแบบความคมชัดสูงได้ โดยถ้าต้องการเก็บภาพยนตร์ความยาวเท่ากันในรูปแบบวิดีโอความคมชัดสูงแบบบีบอัดจะต้องการพื้นที่เพิ่มมากถึงห้าเท่า ทำให้ Blu-ray และ HD-DVD ถือกำเนิดขึ้นมาโดยใช้แสงเลเซอร์ที่ใช้ในการอ่านและเขียนแผ่นดิสก์แบบใหม่ซึ่งเป็นแสงสีน้ำเงิน (ถ้าจะพูดจริงๆ คือแสงสีน้ำเงิน-ม่วง)

แสงสีน้ำเงินนี้จะมีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงเลเซอร์สีแดงของแผ่นดีวีดีทั่วๆ ไปทำให้สามารถบันทึกข้อมูลลงแผ่นดิสก์ได้มาก กว่าบนเนื้อที่เท่าเดิม โดย Blu-ray สามารถเก็บวิดีโอความคมชัดสูงได้นานถึง 9 ชั่วโมงในแผ่นดิสก์แบบ double-layer และเก็บไฟล์วิดีโอที่บีบอัดตามมาตรฐานที่ใช้ในดีวีดีทั่วๆ ไปได้นานต่อเนื่องถึง 23 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในเรื่องของชั้นเคลือบดิสก์ โดยดิสก์แบบ Blu-ray มีชั้นเคลือบที่มีความหนาเพียงหนึ่งในหกของ ความหนาของดีวีดีทั่วๆ ไปหรือ HD-DVD นั่นทำให้ชั้นข้อมูลของดิสก์แบบ Blu-ray ใกล้ชิดกับผิวหน้าของดิสก์มากขึ้นและทำให้แสงเลเซอร์จากเครื่องเล่นแบบ Blu-ray อ่านข้อมูล ที่ถูกเก็บไว้เป็นชั้น (layer) ชั้นเดียวได้จำนวน มากขึ้น โดยโซนี่เองวางแผนที่จะเพิ่มชั้นของข้อมูลจาก 2 เป็น 4 ชั้นภายในปี 2007 และจะเพิ่มเป็น 8 ชั้นในที่สุด นั่นทำให้ดิสก์แบบ Blu-ray สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้นในแต่ละ ชั้นและเก็บได้หลายชั้นมากกว่า HD-DVD

Blu-ray มีโซนี่เป็นแกนนำภายใต้การสนับสนุนจากบริษัทอีกหลายบริษัท เช่น มัตซึ ชิตะ (พานาโซนิค), ธอมสัน, แอลจี, ฟิลิปส์, ไพโอเนียร์, ชาร์ป และซัมซุง รวมถึงวงการคอมพิวเตอร์อย่างเดลล์และเอชพี ในขณะที่ HD-DVD ถูกพัฒนาโดยโตชิบาและเอ็นอีซีเท่านั้น

นั่นทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการนั่งดูหนังที่บ้านมากขึ้น โดยเป็นภาพยนตร์ความคมชัดสูงในระดับเดียวกับที่สามารถนั่งดูได้ที่มัลติเพล็กซ์

เมื่อเรามองย้อนไปในอดีตจะพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอันมีผลต่อการเสพสิ่งบันเทิงล้วนสร้างความแตกต่างให้กับผู้เสพในเรื่องประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ การถือกำเนิดของโทรทัศน์ที่กลายเป็นเครื่องใช้ประจำบ้านไปแล้วและเป็นอุปกรณ์ที่เกือบมาทำให้ธุรกิจภาพยนตร์ต้องถึงกาลอวสานโดยทำให้จำนวนผู้ออกไปชมภาพยนตร์ นอกบ้านในปี 1948 ที่มีจำนวน 90 ล้านคนต่อสัปดาห์เหลือเพียง 20 ล้านคนต่อสัปดาห์ในปี 1966 และเมื่อคนอเมริกันมีโทรทัศน์สีใช้แล้วก็ทำให้คนดูอีกกว่า 70 ล้านคนต่อสัปดาห์ เลิกไปโรงภาพยนตร์ และทำให้ฮอลลีวูดต้องหันมาลงทุนโฆษณาจำนวนมหาศาล เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ผ่านโทรทัศน์เพื่อดึงคนกลับไปดูภาพยนตร์อีกครั้ง เมื่อมีวิดีโอและดีวีดี รวมถึงการสามารถทำสำเนาวิดีโอและดีวีดีเถื่อนได้ก็ส่งผลให้โรงภาพยนตร์แทบจะหายไปจากทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออกเลย

นี่หมายความว่า Blu-ray รวมถึง HD-DVD กำลังจะมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้งต่อวงการฮอลลีวูด

จริงๆ แล้วดีวีดีแบบ Blu-ray น่าจะเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโซนี่ โดยการที่ดีวีดีแบบนี้จะมีชั้นของการเก็บข้อมูล หลายชั้น ซึ่งนอกจากสามารถเก็บข้อมูลดิจิตอลจำนวนมากๆ ได้แล้วยังสามารถใช้ใน การบันทึกข้อมูลที่ดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ตได้ด้วย โดยเป็นโปรโมชั่นของเว็บไซต์ของ โซนี่เองที่สามารถเพิ่มเกม, มิวสิกวิดีโอ รวมถึง อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ที่สามารถนำมาเพิ่มให้เต็มครบชุดได้

อย่างไรก็ตาม ความคิดของสตูดิโอภาพยนตร์และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มองว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้สามารถเพิ่มตลาดบันเทิงภายในบ้านให้กว้างขวางมากขึ้นนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ผิดก็ได้ ไม่ใช่เป็นเพราะการ ที่ผู้บริโภคต้องมาเดิมพันเลือกข้างของเทคโน โลยีเหมือนสมัยสงครามระหว่าง VHS กับ Betamax เพราะอย่างน้อยภายในปีหน้าก็จะมีเครื่องเล่นที่สามารถสนับสนุนมาตรฐานทั้งสองได้ แต่จะเป็นเพราะอาจจะถึงคราวสิ้น สุดยุคของดิสก์แล้วก็ได้ โดยมีสี่เหตุผลสำคัญ ที่มาสนับสนุน ได้แก่

หนึ่ง อินเทอร์เน็ต ไมโครซอฟท์กำลังเปิดบริการให้เช่าภาพยนตร์และบริการดาวน์โหลดผ่านเครื่องเล่น Xbox Live ของตัวเอง โดยเป็นบริการแรกที่รวมเอาการดาวน์โหลดภาพยนตร์ที่มีความคมชัดสูงด้วย ซึ่งถือเป็น การตัดหน้าเพลย์สเตชั่น 3 ของโซนี่ซึ่งจะรวมเอาเทคโนโลยี Blu-ray เอาไว้ด้วย โดยเครื่อง Xbox 360 สามารถเล่นได้เพียงแค่ดีวีดีทั่วๆ ไปเท่านั้น บริการให้เช่าวิดีโอผ่านการดาวน์โหลดถือเป็นการข้ามความจำเป็นที่ต้องใช้มีเดียหรือดิสก์ไป รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาที่ iTunes ต้องเผชิญในการขายภาพยนตร์โดยเฉพาะภาพยนตร์ความละเอียดสูง โดยเมื่อเราดาวน์โหลดภาพยนตร์เข้ามาไว้ในเครื่อง Xbox แล้วซึ่งปกติเครื่อง Xbox ต้องต่อกับโทรทัศน์อยู่แล้วก็ทำให้สามารถดูผ่านโทรทัศน์ได้เลย แต่ข้อเสียก็คือ ต้องมีเครื่อง Xbox ด้วย

สอง Cable on-demand เครื่องมืออย่าง Comcast Box เป็น การนำภาพยนตร์ความคมชัดสูงมาเจอกับจอแบบ HDTV นอกจากนี้การ ดูแบบออนดีมานด์สามารถเปิดดูได้ทันทีโดยไม่ต้องมานั่งรอดาวน์โหลดให้เสร็จอีก แต่สตูดิโอโดยส่วนใหญ่ก็พยายามไม่เอาภาพยนตร์ที่เพิ่งลง โรงมาให้ดูผ่านบริการแบบออนดีมานด์ แต่ทุกวันนี้สถานการณ์กำลังจะ เปลี่ยนแปลงไป และมีการลองนำภาพยนตร์ที่เพิ่งลงโรงมาฉายบ้างแล้ว ที่สำคัญเทคโนโลยีป้องกันการทำซ้ำของบริษัทเคเบิลทั้งหลายน่าจะทำให้ ผู้ผลิตภาพยนตร์เบาใจลงบ้าง เช่นเดียวกับบริการให้เช่าภาพยนตร์ของ Xbox ที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ จะหมดอายุภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังจาก การดาวน์โหลด

สาม การปรากฏของรูปแบบของดิสก์แบบใหม่หมายถึงเงินลงทุน เรื่องฮาร์ดแวร์ที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าหลังจากลงทุนซื้อ HDTV (ราคาประมาณ 3,000 เหรียญ) รวมถึงเครื่องเสียงอีกจำนวนหนึ่ง คงไม่มีใครอยากจะลงทุนอีกมากมายนักแน่นอน และเครื่องเล่นวิดีโอความ คมชัดสูงก็ไม่ใช่ถูกๆ (เครื่องเล่น HD-DVD ราคาประมาณ 350-600 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่เครื่องเล่น Blu-ray ราคาอยู่ระหว่าง 750-1,000 เหรียญสหรัฐ) การตัดสินใจที่จะให้เครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น 3 ของโซนี่ เองสนับสนุนเทคโนโลยี Blu-ray ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญและยอดเยี่ยม ในการเพิ่มอุปสงค์ต่อภาพยนตร์ที่ใช้เทคโนโลยี Blu-ray อย่างไรก็ตามถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของโซนี่ด้วยเพราะถ้ามาตรฐานนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากตลาดก็จะทำให้เครื่องเพลย์สเตชั่นของโซนี่กลายเป็นเครื่องพิกลพิการไปด้วย

สี่ การกลับมาอีกครั้งของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ การดาวน์โหลดภาพยนตร์ต่างจากดีวีดีตรงที่เพียงต้องการพื้นที่ที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์เท่านั้น โดยสามารถเก็บได้นานเท่าที่ต้องการ โดยอาจจะเก็บไว้ดูเพียงครั้งสองครั้ง หรือเก็บไว้ตลอดกาลก็ได้เช่นกัน เมื่อเทียบกับการโหลดเพลงผ่าน iTunes ซึ่งมีราคาถูกกว่าการซื้ออัลบั้มจริงๆ 8-10 เหรียญสหรัฐ ตามร้านขายปลีกทั่วไป และเมื่อพิจารณาว่าราคาฮาร์ดดิกส์ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในขณะที่ขนาดความจุกลับเพิ่มขึ้นอย่าง ก้าวกระโดดเช่นกัน ก็ยิ่งเห็นประโยชน์ของฮาร์ดดิสก์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการดาวน์โหลดภาพยนตร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็คือ การนำไปใช้งานที่ยังยากอยู่เมื่อเทียบกับดูผ่าน แผ่นดีวีดีทั่วๆ ไปเพราะจำเป็นต้องมีทักษะในระดับหนึ่ง นอกจากนี้การที่ต้องนั่งรอดาวน์โหลดให้เสร็จถึงจะดูได้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน

ดิสก์จะถึงกาลอวสานตามการคาดการณ์หรือไม่ก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงคือสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์ที่ใครก็ตามที่ก้าวเข้ามาสู่โลกของเทคโนโลยีหรือโลกใดๆ ก็ตามแต่ไม่สามารถข้ามพ้นมันไปได้

อ่านเพิ่มเติม

1. Austen, I. (2004), 'How it works ; Dueling Visions of a High-Definition DVD,' The New York Times, April 29, 2004.

2. Epstein, E. J. (2005), 'The Next Big Thing : Sony's Blu-Ray DVD,' The Hollywood Economist, Aug 22, 2005, http://www.slate.com/id/2124883/

3. 'HD World-HD Wars สงครามทีวียุค High Definition,' ผู้จัดการรายสัปดาห์ 30 ตุลาคม 2549

4. Cooper, S. (2006), 'The Death of the Disc : Why HD-DVD and Blu-Ray are Dead on Arrival,' Technology, Nov 16, 2006, http://www.slate.com/id/2153877

5. Epstein, E. J. (2005), 'Hollywood's Death Spiral : The Secret Numbers Tell the Story,' The Hollywood Economist, July 25, 2005, http://www.slate.com/id/2123286/

6. Boutin, P. (2004), 'HD-DVD Must Die,' GIZMOS, Dec 8, 2004, http://www.slate.com/id/2110495/

7. Captain, S. (2006), 'How to Download a DVD : New Web Services Let You Log in and Burn One Yourself,' Technology, Aug 7, 2006, http://www.slate.com/id/2147168/


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.