|
เริ่มทำประกันชีวิตอย่างไรดี
โดย
สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้เป็นเรื่องดีที่ว่าผลิตภัณฑ์ด้านการประกันชีวิตได้พัฒนาขึ้นมาอย่างหลากหลายจำนวนมากมายจากค่ายผู้ให้บริการในประเทศนั้น จะช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการเลือกหาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตัวมากขึ้นก็ตาม
แต่บางครั้งความหลากหลายนั้นยังทำให้คนสับสนไม่แน่ใจว่าควรจะตัดสินใจเลือกซื้อประกันแบบใดจึงจะเหมาะกับตน
สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ออกตัวว่า เขาไม่อาจชี้ชัดได้ถึงความเหมาะสมในการเลือกทำประกันสำหรับแต่ละคนนั้นควรเป็นเช่นไร เพราะการตัดสินใจว่าแบบไหนจึงจะเหมาะนั้น เป็นเรื่องความต้องการระดับปัจเจกบุคคล และความจำเป็นของชีวิตในแต่ละช่วงเวลา
กระนั้นก็ตาม สาระได้ให้คำแนะนำเป็นหลักการกว้างๆ ที่พอใช้เป็นแนวทางวางแผนการออมที่ดีและอาจทำได้ไม่ยาก
สำหรับคนหนุ่มสาวที่เรียนจบและทำงานมาได้ช่วงหนึ่ง แต่เพิ่งจะเริ่มต้นคิดถึงการทำประกัน สิ่งแรกที่ควรคำนึงก่อนการซื้อประกันคือ จำนวนเงินส่วนเกินที่ต้องการจะเก็บออม หลังหักรายได้และค่าใช้จ่ายในการครองชีพและจากปัจจัยสี่ รวมถึงเงินสดที่ต้องมีเป็นทุนสำรองฉุกเฉินกรณีที่ตนเองหรือบุคคลอันเป็นที่รักเจ็บไข้ไม่สบาย จำเป็นต้องใช้เงินในการรักษา
คนหนุ่มสาวที่เลือกการออมผ่านวิธีทำประกันนั้น จะเป็นกลุ่มคนที่มีความได้เปรียบในเรื่องอายุ และการจ่ายเบี้ยประกันที่ต่ำกว่าคนที่เลือกออมโดยทำประกันในตอนที่มีอายุมากขึ้น
สาระจึงให้คำแนะนำว่ากลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีอายุยังไม่มาก การซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างจะดี เพราะภาระเบี้ยประกันผลิตภัณฑ์นี้จะอยู่ในระดับต่ำ และหากออมไปได้เรื่อยๆ แล้ว พวกเขาจะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นในระยะยาว
แต่หากพิจารณาให้กว้างขึ้น จะพบว่าในปัจจุบันการเสนอแบบประกันของค่ายประกันนั้น จะเป็นการเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบการสะสมทรัพย์ที่ควบคู่กับตัวความคุ้มครอง ซึ่งสาระบอกว่าตรงนี้จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนของผู้ทำประกันกระโดดขึ้นไปได้อีกมากจากทุนประกันเริ่มต้นที่ซื้อไว้ เพราะผลตอบแทนนี้จะปรับตัวไปตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละปีจนกว่าจะสิ้นสุดอายุสัญญากรมธรรม์
โดยสาระยกตัวอย่างว่าในบางกรณีผู้ซื้อประกันอาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นถึง 1,200,000 บาท ภายในเวลา 5 ปีจากการซื้อทุนประกันเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท ในกรมธรรม์ที่มีอายุ 20 ปี
"มันมีความหลากหลายในเรื่องระยะเวลาให้เลือก อันนี้ผมสมมุติที่ 20 ปีนะ แต่บางกรณีผลตอบแทนมันวิ่งขึ้นไปที่ 200% ก็ยังมีเลย เท่ากับว่าเขาแทบจะไม่ต้องซื้อประกันตัวอื่นเพิ่มจากการเลือกซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ซึ่งมีทุนประกันเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท คนอายุน้อยๆ นี่ ผมมองว่าการซื้อแบบประกันที่เป็นการออมเงินจะดี เพราะเขาจะได้เปรียบในแง่ผลตอบแทน และยังมีสิทธิที่จะซื้อประกันตัวอื่นต่อเนื่องได้อีก"
แต่หากเป็นกลุ่ม young family หรือคนหนุ่มที่แต่งงาน และเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องทำงานเพียงคนเดียวเพื่อหารายได้เลี้ยงดูทั้งภรรยาและลูกเล็กๆ แล้ว สาระแนะนำให้เริ่มต้นที่แบบประกันซึ่งให้ความคุ้มครองตัวเองเป็นหลัก เพื่อจะได้แน่ใจหากวันหนึ่งวันใดที่หัวหน้าครอบครัวต้องจากไปก่อนเวลาอันควร พวกลูกๆ ที่อยู่ข้างหลัง จะมีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตจนกว่าจะเรียนจบ เติบโตยืนอยู่ได้บนลำแข้งของตัว
"บางคนก็อาจจะซื้อกรมธรรม์ไว้ที่ 30 ล้านบาท แต่ทุนประกัน 30 ล้านบาทนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องจ่ายเบี้ยแพงนะ เพราะเบี้ยที่ชำระจริงๆ แล้วอาจจะอยู่ที่ 8%"
การประกันแบบคุ้มครองตัวเองนี้ จะเป็นแบบกรมธรรม์ที่มีค่าเบี้ยประกันถูกกว่าแบบสะสมทรัพย์ เพราะเป็นกรมธรรม์ที่ให้น้ำหนักในแง่ความคุ้มครองมากกว่าเสนอผลตอบแทนในอัตราสูงๆ
สาระได้สำทับไว้ว่า ก่อนที่ตัดสินใจเลือกซื้อต้องถามตัวเองว่าต้องการอะไรจากการทำประกัน เพราะต้องเข้าใจด้วยว่าการทำประกันในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องการคุ้มครองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป็นเรื่องของการออมและการให้ผลตอบแทนด้วย
"บางครั้งผู้บริโภคก็ต้อง be fair กับตัวเอง ไม่ใช่มาบอกว่าเขาขายคุณผิด ตอนเดินไปหาเขาตอนแรกคุณบอกเขาว่าคุณอยากอะไร หากบอกว่าอยากจะได้ผลตอบแทน ถ้าไปพูดแบบนี้ คนขายประกันเขาก็หยิบประกันแบบสะสมทรัพย์มาให้ อันนี้เขาไม่ผิดนะครับถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง"
ทั้งนี้ สินค้าประกันของเมืองไทยประกันชีวิตในปัจจุบันหลักๆ จะมีอยู่ 4 ตัว คือประกันแบบให้การคุ้มครองตลอดชีพ, ประกันแบบคุ้มครองช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง, ประกันแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบชำระเบี้ยระยะสั้น 1 ปี ไปจนถึงระยะยาว 20 ปี โดยมีผลตอบแทนทยอยกลับคืนให้แก่ผู้ถือเป็นระยะๆ ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการออมเงินและมีการคุ้มครอง
ส่วนตัวสุดท้ายคือ Universal Life ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างจะมีความซับซ้อน เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้า high-end ที่ต้องการทั้งในเรื่องการคุ้มครอง การออม และการลงทุนที่ได้รับการคุ้มครองเงินต้นและผลตอบแทนขั้นต่ำ (ดูรายละเอียดจากตาราง : กรมธรรม์เมืองไทยประกันชีวิต)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|