|
อย่าลืมพกกล้องดิจิตอลก่อนออกจากบ้าน
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้านับโทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของร่างกาย กล้องถ่ายภาพดิจิตอลก็กำลังจะกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 34 ในเร็วๆ นี้ เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้เริ่มมีการพกใส่กระเป๋ากันมากขึ้น พร้อมหยิบออกมาใช้ทันทีเมื่อต้องการ
ต้องยกผลประโยชน์ให้กับกล้องดิจิตอลเจ้าแรกๆ ที่เข้ามาสร้างความรู้จักให้กับผู้ใช้ในบ้านเรา จากนั้นตลาดกล้องดิจิตอลก็กลายเป็นสินค้ายอดนิยมไปในทันที
ไม่ต้องใช้ฟิล์ม ไม่ต้องล้าง เปิดดูได้ทันที แค่นี้ลูกค้าก็ไม่ไหนไม่รอดแล้ว
เจ้าตลาดหมายเลขหนึ่ง และหมายเลข 2 คงไม่ต้องทำอะไรมากนักเพราะติดตลาดอยู่แล้ว แต่หมายเลข 3 หมายเลข 4 ที่ตามหลังมาก็ต้องรับภาระหนัก อย่างกล้องโอลิมปัส ที่มีบริษัทเจ๊บเซ่น แอนด์ เจ๊บเซ่น มาร์เกตติ้ง (ที) เป็นผู้จัดจำหน่ายต้องฝ่าฟันไม่น้อยทีเดียว
"พอบอกว่ากล้องโอลิมปัส คนก็เข้าใจว่าเป็นยี่ห้อโทรศัพท์หรือไม่ก็เครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นพิมพ์ดีด เพราะมีชื่อคล้ายกัน" จรัสพงษ์ เจนจรัสสกุล ผู้จัดการทั่วไป ผลิตภัณฑ์ดิจิตอล ไลฟ์สไตล์ บริษัทเจ๊บเซ่น แอนด์ เจ๊บเซ่น มาร์เกตติ้ง (ที) เล่าให้ฟังถึงการสำรวจว่าคนทั่วไปรู้จักกล้องโอลิมปัสหรือไม่
ช่วงที่ผ่านมา มีผู้ผลิตกล้องดิจิตอลเข้ามาเปิดตลาดในบ้านเราอย่างคึกคัก ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะขณะนี้ตลาดกล้องดิจิตอล ที่มีอัตราการเติบโตอย่างน้อย 20% มีอยู่แค่ 2 ประเทศเท่านั้น คือจีน และไทย นอกนั้นเริ่มลดความร้อนแรงแล้ว
เฉพาะปี 2549 ยอดขายกล้องดิจิตอลทุกประเภท ในบ้านเรา คาดว่าประมาณ 8 แสนตัว เจ้าตลาดอย่างโซนี่ และแคนนอน ก็น่า จะมีส่วนแบ่งมากกว่าครึ่งของตลาดรวมแล้ว ส่วนโอลิมปัส จรัสพงษ์ บอกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ขอ 4% ก็พอใจแล้ว เพราะในปี 2548 เขามีส่วนแบ่งตลาดแค่ 1% เท่านั้น
ธรรมชาติของตลาดกล้องดิจิตอล ราคาจะลดลง 10% ทุกปี ทำให้กล้องรุ่นใหม่ๆ ออกมาคุณภาพดีขึ้น แต่ราคาถูกลง ส่วนนี้จะถูกทดแทนด้วยกลุ่มลูกค้าที่กลับมาซื้อกล้องใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งประเภท เป็นกล้องตัวที่ 2 หรือไม่ก็ทดแทนกล้องตัวเก่าที่ความละเอียดน้อยกว่ากล้องรุ่นใหม่ ซึ่งลูกค้าที่กลับมาซื้อใหม่มีสูงถึง 30%
ส่วนความต้องการของลูกค้าในยุคต่อไป แนวคิดแบบคลั่งเมกะ พิกเซล (Pixels) จะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะกล้องรุ่นใหม่จะเริ่มต้นกันที่ 8-9 ล้านพิกเซล แต่ผู้ผลิตจะหันไปแข่งขันกันในแง่ของลูกเล่น โปรแกรมใช้งาน ทำให้กล้องรุ่นใหม่มีคุณสมบัติใหม่ๆ มากขึ้น
ความหวังของจรัสพงษ์ก็คือ ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของกล้องโอลิมปัสจาก 4% ขยับขึ้นมาเป็น 20% แค่นี้ก็ทำให้เขามีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งแล้ว แต่เขาไม่ได้ระบุว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน เท่านั้นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|