Funding For Future City


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงแม้ว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์ปาร์ค หรือ FUTUREPF ซึ่งมีมูลค่ากองทุนมีขนาดค่อนข้างกะทัดรัดคือราวกว่า 4,733 ล้านบาท จะเปิดตัวล่ากว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ควอลิตี้ เฮ้าส์ หรือ QHPF ที่มีมูลค่าโครงการ 7,970 ล้านบาท ราวๆ 18 วัน แต่ก็ยังคงได้รับความสนอกสนใจจากสื่อมวลชนและนักลงทุนไม่แพ้กัน

พิมพ์ผกา หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังสิต พลาซ่า จำกัด ให้ข้อมูลว่า เงินที่ได้มาจากการระดมทุนในครั้งนี้จำนวน 2,600 ล้านบาท ส่วนอีก 600 ล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อลงทุนปรับปรุงห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต ตามแผนที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี

ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ บริษัทรังสิต พลาซ่า ได้ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อเข้าปรับปรุงจัดแบ่งโซนพื้นที่ให้บริการใหม่ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จนบรรยากาศภายในโซนบริการดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนโฉมจนกลายไปเป็น lifestyle shopping center แล้วในปัจจุบัน

ส่วนเงินที่เหลือในกองทุน FUTUREPF อีก 1,600 ล้านบาทนั้น จะเป็นส่วนการลงทุนของบริษัทรังสิต พลาซ่า ในสัดส่วน 33% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กำหนด

ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในหน่วยลงทุนของ FUTUREPF นั้น คาดหมายกันว่าในปีแรกซึ่งเริ่มจากปี 2550 กองทุนจะให้ผลตอบแทนได้ราว 9.6% แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10-11.3% ในปีที่ 2-5 และเมื่อถึงปีที่ 6-10 ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 11.8-14.1% และในปีที่ 11-15 จะมีผลตอบแทนอยู่ที่ 14.75-17.63% และในปีที่ 16-20 กองทุนจะให้ผลตอบแทนที่ 18.48-22.17% ทั้งนี้หากคิดเป็นอัตราเฉลี่ย หรือ IRR กองทุน FUTUREPF จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้ราว 12.8%

สำหรับการเติบโตในการทำธุรกิจของฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิตนั้น กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังสิต พลาซ่า ประมาณว่าเมื่อสิ้นปี 2549 น่าจะเติบโตได้ 5.66% เพิ่มขึ้นจากการเติบโตย้อนหลังไปในปีก่อนๆ ที่เคยมีเฉลี่ย 4-5%

ปัจจุบันฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต เน้นจุดขายในเรื่องจำนวนผู้ใช้ บริการเฉลี่ยวันธรรมดา 130,000 คน แต่เพิ่มเป็น 140,000-150,000 คนในวันหยุด พร้อมทำเลที่ตั้งแวดล้อมไปด้วยสถาบันการศึกษา 22 แห่ง ซึ่งมีนิสิตนักศึกษารวมกันราว 170,000 คน และเป็นแหล่งที่มีโครงการบ้านจัดสรรขยายตัวมากที่สุดในประเทศ โดยช่วง 3 ปีที่ผ่าน มามีบ้านเรือนเกิดใหม่จากโครงการต่างๆ จำนวน 160,000 หลังคาเรือน

รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายด้านการคมนาคมให้เป็น Gate-way ของถนนพหลโยธินที่สามารถเดินทางไปยังภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ได้อย่างสะดวกสบายและคล่องตัวมากขึ้น โดยการขยายพื้นที่ถนนพหลโยธิน 10 ช่องทางการจราจร และเชื่อมโยงโครงข่ายหลักหลายสายที่รายล้อม เช่น ดอนเมืองโทลล์เวย์ที่จะถูกขยายเชื่อมเป็นหนึ่งในสะพานยกระดับ 4 ชั้น โดยส่วนทางลงของดอนเมืองโทลล์เวย์นั้นจะมาลงจอดตรงหน้าฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิตพอดิบพอดี และยังมีโครงการรถไฟฟ้าสีแดงบางซื่อ-รังสิต ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.