"เราจะหาคนอย่างดร. ฉลองภพ ไม่ได้อีกแล้ว ! เป็นคนที่รักงานวิจัยเป็นชีวิตจิตใจ"
ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่คนอย่าง ดร. อาณัติ อาภาภิรม จะกล่าวชื่นชมวิถีแห่งการทำงานของบุคคลหนึ่งเช่นนี้
ภายในห้องทำงานอันอัดแน่นไปด้วยหนังสือและเอกสารที่วางกองพะเนิน ชายร่างสันทัด
ผิวขาว ผู้มีลักษณะเด่นที่ดวงตาอันรีเล็กบนใบหน้าขรึมแบบนักคิดนักวิจัย คือ
ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เดี่ยวมือหนึ่งของทีดีอาร์ไอที่วงการนักวิจัยไทยและต่างประเทศต่างยอมรับ
VISION และฝีมือในผลงานเด่นๆ ด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม
ดร. ฉลองภพกำเนิดในชาติตระกูลที่ดี เป็นบุตรชายคนเล็กของ นพ. สมภพ สุสังกร์กาญจน์
ซึ่งเคยมีบทบาทโดดเดก่นในสภาหอการค้าฯ และเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท
ชลประทานซีเมนต์ ยุคสมัยมืออาชีพก่อนที่คุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุลและพวกจะเข้ามาล้างบาง
"ชื่อของผมและพี่ชายเป็นการผสมผสานชื่อของคุณพ่อ-คุณแม่คือชื่อ 'ขอพร'
มาถึงผมก็ไปทางพ่อ ทำให้มีชื่อว่า 'ฉลองภพ'" มีเสียงหัวเราะนิดๆ ที่กลั้วไปกับคำบอกเล่าถึงที่มาของชื่อตัวเอง
ชีวิตในวัยเด็ก ดร. ฉลองภพต้องจากเมืองไทยไปตั้งแต่อายุ 11 ปี หลังจากเรียนจบ
ม. 3 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ก็บินไปเรียนต่อที่เมืองผู้ดีประเทศอังกฤษ เริ่มต้นเรียนอยู่โรงเรียนเตรียม
(PREPARATORY SCHOOL) สองปีก่อนที่สอบเข้า BRYNATON SCHOOL ซึ่งเป็น PUBLIC
SCHOOL (หรือในอเมริกาเรียก 'ไฮสกูล') ที่มีชื่อเสียงมากของอังกฤษ โดยมีเพื่อนร่วมชั้นคือ
ดร. ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ บุตรชายของปรก อดีตรมต. พาณิชย์
จาก BRYANTON SCHOOL สำหรับนักเรียนที่ได้เกรด A สี่ตัวตลอดในวิชาคณิตศาสตร์
ฟิสิกส์ เศรษฐศาสตร์ และ APPLIEDMATH อย่างดร. ฉลองภพ เขาสอบเข้าเรียนต่อได้ที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ซึ่งนับว่าต้องผ่านด่านข้อสอบที่ยากที่สุดในชีวิตวัยเรียน
"การแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ในอังกฤษ เราต้องไปหา PUBLIC SCHOOL
ที่ดี เพราะอย่างที่โรงเรียนผม ครูทุกคนเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแคมบริดจ์ทั้งนั้น
ทำให้นักเรียนพอจะรู้แนวการสอบเข้าได้ คล้ายๆ โรงเรียนเตรียมอุดมของเราที่มีชื่อเสียงว่าเด็กสอบเข้าจุฬาฯ
และธรรมศาสตร์ได้มาก" ดร. ฉลองภพเล่าให้ฟังถึงข้อได้เปรียบที่มีโรงเรียนดีและครูดี
ขณะที่ดร. ฉลองภพสอบเข้าแคมบริดจ์เรียนต่อปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ได้
ดร. ปิยะสวัสดิ์เพื่อนรักก็เข้าออกซ์ฟอร์ดได้เช่นกัน แม้จะห่างกันแต่ทั้งคู่ก็ประสบความสำเร็จสูงสุดทางการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์
"สำหรับคนไทยที่เรียนแคมบริดจ์รุ่นเดียวกับผมคือ อจ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
และบุรินทร์ บริบูรณ์ ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัท H&Q ในเครือบริษัทซิโน-ไทย"
ดร. ฉลองภพเอ่ยถึงเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ที่เดียวกัน
เส้นทางชีวิตที่เลือกแล้วว่าจะมุ่งสู่ความเป็นนักวิชาการ โดยไม่สนใจเส้นทางนักธุรกิจเฉกเช่นพ่อซึ่งยังคงดำเนินกิจการ
"บริษัทรวมแพทย์" ขายอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์และพี่ชายซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายโรงงานของบริษัทไทยพลาสติคและเคมีภัณฑ์
"คนเราก็ทำตามที่เลือก และผมก็ไม่ค่อยเก่งด้านธุรกิจ ขณะที่ลูกผมที่มีอายุเพิ่งสี่ขวบเองมีแววเก่ง
คือธุรกิจมันต้องมี SENSE เซ็งลี้ ผมก็มี แต่ยิ่งเรียนเศรษฐศาสตร์มาก ความเก่งกาจในการเซ็งลี้ก็ยิ่งลดลง
เพราะนักเศรษฐศาสตร์จะคิดมากเกินไป ไม่กล้าตัดสินใจเมื่อถึงเวลา" ดร.
ฉลองภพให้เหตุผลถึงทางเลือกวิถีชีวิต
ดร. ฉลองภพได้เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเบอร์กเล่ย์สองปี และไปทำงานเป็นเศรษฐกรประจำที่ธนาคารโลกอีกหกปี
ก่อนที่จะเข้ามาทำงานทีดีอาร์ไอ
"ตอนที่ผมอยู่ธนาคารโลก ผมกลับมาที่นี่ประมาณปี 1982 (2525) เพราะธนาคารโลกมีโครงการวิจัยร่วมกับสภาพัฒน์ฯ
เพื่อจะพัฒนาเครื่องมือในการทำแผนระดับ MACRO ผมก็ร่วมช่วยเขาในโครงการนั้นและได้พบกับ
อจ. ดร. เสนาะ ท่านก็พูดว่าพยายามจัดตั้งสถาบันวิจัยและหากเป็นไปได้อยากจะชวนให้กลับมาทำงาน"
นี่คือจุดเริ่มต้นของการกลับสู่มาตุภูมิของดร. ฉลองภพในเวลาต่อมา
ในที่สุดหกเดือนให้หลังจากที่ตั้งทีดีอาร์ไอขึ้นมา ดร. ฉลองภพก็รับข้อเสนอที่ดร.
ปิยะสวัสดิ์ เพื่อนรักซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่สภาพัฒน์ชักชวนให้กลับมาทำงานเมืองไทย
ด้วยเหตุผลที่เล่าให้ฟังว่า
"ตั้งแต่ผมกลับมาทำงานที่ทีดีอาร์ไอจนย่างเข้า 8 ปีแล้ว ผมคิดว่าดีมาก
ถ้าอยู่ที่เวิร์ลแบงก์เราได้เพียงประสบการณ์เพราะเขาเป็นสถาบันพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่เราเรียนรู้ได้มาก
แต่ว่างานส่วนใหญ่เป็นระดับอินเตอร์ เราอาจจะไปวิจัยที่อินเดีย มันคงมีประโยชน์
แต่ไม่ตรงต่อประเทศไทย
แต่เมื่อเรากลับมา เราได้ใช้ประสบการณ์ช่วยประเทศโดยตรง และทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันที่เราไม่ต้องปรับตัวมากเกินไป
หลายคนอยู่เมืองนอกมาทำงานราชการไทย ต้องปรับตัวมาก แม้แต่ในวงธุรกิจก็ลำบาก
แต่ที่ทีดีอาร์ไอนี้เราทำคล้ายๆ กับที่เราเคยทำ"
ตำแหน่งแรกเริ่มในฐานะ RESEARCH FELLOW ของดร. ฉลองภพในฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม
(MACROECONOMICS PROGRAM) ซึ่งมีที่ปรึกษานายกฯ เปรมอย่าง ดร. วีรพงษ์ รามางกูร
เป็นผู้อำนวยการฝ่ายฯ นับว่า เป็นงานที่ท้าทายกลุ่มคนหนุ่มไฟแรงซึ่งคาดหวังอย่างสูงกับวิจัยเชิงนโยบาย
"ดร. ฉลองภพเข้ามาทำงานที่นี่ คุณหมอสมภพยังมาหาผมเลยว่า 'อาจารย์ทำอะไรอยู่?
ลูกชายผมถึงจะมาทำงานด้วย' ผมก็ต้องอธิบายยาวและบอกว่าถ้าหากชอบงานวิจัยแล้วละก้อ
อยู่ที่นี่มันดีมีอนาคต" ดร. อาณัติ อาภาภิรม เล่าให้ฟังถึงยุคต้นๆ
ที่บทบาทของทีดีอาร์ไอยังไม่เป็นที่รู้จัก
หลังจาก ดร. วีรพงษ์ลาออก ดร. ฉลองภพ ก็ได้เป็นผู้อำนวยการฝ่าย MACROECONOMIC
POLICY ควบคู่กับฝ่ายวิจัยทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมตั้งแต่เดือนมกราคม
2530 จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งบทบาทของ ดร. ฉลองภพ เด่นชัดมากขึ้นเนื่องจากมีผลงานวิจัยเชิงนโยบายที่สำคัญๆ
ออกมาเป็นที่ยอมรับ
"ในส่วนฝ่ายของผมเอง ทำงานให้กับสภาพัฒน์มากในแผน 7 โดยมีโครงการวิจัยเชิงนโยบายใหญ่ๆ
3 โครงการ คือหนึ่ง-โครงการความสัมพันธ์ประชากรกับการพัฒนาประเทศ ที่เป็น
INTEGRATED PLANNING ที่อยากให้เกิดมีการศึกษาเรียนต่อ ป. 6 มากขึ้นเพื่อเด็กจะเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลงและมีคุณภาพแรงงานในอนาคตที่ดีขึ้น
สำหรับโครงการที่สองเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการ
โดยเน้นงานจำพวกช่างหรือเทคนิเซียน และสาม-โครงการวิจัยเกี่ยวกับกรอบการพัฒนาเมือง"
ดร. ฉลองภพเล่าให้ฟัง
แม้งานจะหนัก แต่ยามว่างของ ดร. ฉลองภพก็มีกีฬาที่โปรดปรานมากๆ คือ "ตีกอล์ฟ"
และเป็นสมาชิกชมรมกอล์ฟอยู่หลายแห่ง อาทิเช่น ชมรม R.Y.B และชมรม GOLF DIGEST
"กอล์ฟเป็นกีฬาที่ทำให้เราลืมโลก ไม่คิดถึงเรื่องอื่นๆ ความสนใจจะอยู่กับลูกขาวๆ
เล็กๆ แม้จะใช้เวลานานแต่ก็สัมผัสธรรมชาติที่เดินป่าและบรรยากาศดี ผมพยายามเล่นทั่วทุกสนาม
โดยตั้งเป้าไว้ว่า ก่อนที่จะตีไม่ไหว ผมอยากจะเล่นทุกสนามในประเทศไทย อย่างน้อยหนึ่งครั้ง"
ความสดชื่นจากเสียงหัวเราะออกจากปาก ดร. ฉลองภพบ่งบอกถึงการตีกอล์ฟเป็นความสุขส่วนตัว
นอกจากกอล์ฟแล้ว ดร. ฉลองภพยังรักการถ่ายรูป ล้างและอัดรูปขาวดำ ซึ่งให้อารมณ์มากกว่างานภาพสีซึ่งใช้เทคนิคที่ทางร้านทำได้ดีกว่า
บนเส้นทางชีวิตอันเรียบง่ายของคนที่รักงานวิจัยอย่างดร. ฉลองภพจึงเป็นที่น่าจับตาว่าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง
PRESIDENT คนใหม่ของทีดีอาร์ไอแทนที่ดร. อัมมาร์ สยามวาลา ผู้จะหมดวาระตำแหน่งในราวเดือนกันยายนปีหน้าหรือไม่?
"ตำแหน่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือว่า ดร. อัมมาร์และผมอยู่ที่นี่
ตั้งแต่ที่ยังไม่มีอะไรเลย ไม่มีใครรู้จัก เราพยายามสร้างความเข้าใจทั้งภาคราชการ
เอกชนและสาธารณชนให้รู้จักเรา ในที่สุดผมคิดว่าเราได้ MAINTAIN MOMENTUM
ไว้ได้ ผมคิดว่าอันนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของทีดีอาร์ไอ" ดร.
ฉลองภพกล่าวทิ้งท้าย