CPFบวกหลังอียูชดเชยนำเข้าไก่ปรุงสุกพร้อมรับอัตราภาษีใหม่ลดลงร้อยละ3


ผู้จัดการรายวัน(28 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หุ้น CPF ขยับต่อ ปิดวานนี้ที่ 5.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หลังไทยได้โควต้าไก่ปรุงสุก รัฐบาลไทยเจรจาโควต้าไก่ปรุงสุกอียู แถมยังเสียภาษีในระดับต่ำเพียงร้อยละ 8 หรือลดลงถึงร้อยละ 3 แจงเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเป็นอย่างมาก เผยขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไก่ของไทยเบนเข็มการผลิตไก่ปรุงสุกส่งออกทั้งสิ้น ทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้น แต่โควต้าจำกัดและไทยต้องหาทางออกในการเจรจาอีกครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ราคาหุ้น CPF หรือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) วานนี้ยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่มีข่าวดีเรื่องไทยได้รับโควต้าการนำเข้าไก่ปรุงสุกไปยังอียู อีกทั้งภาษีนำเข้าก็ถูกลด ส่งผลให้ราคาหุ้น CPF ตอบรับมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นขึ้นไปยืนเหนือ 5 บาทได้สำเร็จ จากก่อนหน้าที่ไต่ระดับอยู่ 4 บาทปลาย ๆ โดยปิดวันดังกล่าวที่ 5.10 บาท

สำหรับราคาหุ้น CPF วานนี้ เปิดตลาดที่ 5.20 บาท ซึ่งเป็นราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นไปสูงสุดช่วงเช้า ขณะต่ำสุดที่ 5.15 บาท ซึ่งราคาหุ้นค่อนข้างสวิงพอสมควรในช่วงเช้า และช่วงบ่ายราคาหุ้นค่อย ๆ ขยับขึ้นไปยืนที่ 5.25 บาท ก่อนปิดที่ 5.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.15บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 2.94% % ด้วยมูลค่าซื้อขาย 188.73 ล้านบาท

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่าจากผลของการเจรจาที่รัฐบาลไทยสามารถเจรจาเรื่องการชดเชยการนำเข้าไก่ปรุงสุกกับสหภาพยุโรปหรืออียูได้ โดยมีข้อตกลงจำนวนโควต้าการนำเข้าไก่ปรุงสุกที่ 160,033 ตัน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 42,833 ตัน และยังลดภาษีนำเข้าของไก่ในโควต้า จากเดิมร้อยละ 10.9 เหลือเพียงร้อยละ 8 แสดงให้เห็นความสามารถในการเจรจาของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน

“การเจรจาครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลไทย ประสบความสำเร็จที่สามารถขอให้ทางอียูชดเชยการนำเข้าไก่ปรุงสุกและไก่หมักเกลือเพิ่มขึ้น และยังสามารถลดอัตราภาษีได้อีก ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในระยะเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากในระยะ 2-3 ปีนี้ ประเทศไทยจะยังไม่สามารถส่งออกไก่ปรุงสุกไปยังอียูได้เต็มโควต้า ซึ่งจะเสียภาษีในระดับต่ำเพียงร้อยละ 8 ลดลงถึงร้อยละ 3 ” นายอดิเรกกล่าว

ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปยืนยันที่จะบริหารและจัดสรรโควต้าการนำเข้ากันเองภายในสหภาพ ซึ่งหมายถึงการคัดเลือกผู้ประกอบการไทยเอง ดังนั้น การแข่งขันเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการผลิต จึงเป็นสิ่งสำคัญ และในส่วนของ CPF ก็เป็นผู้ผลิตไก่ปรุงสุกชั้นนำของไทยที่มีมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก และมีตัวเลขการส่งออกไก่ปรุงสุกไปยังอียู ในสัดส่วน 40-50 % ของทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่าโควต้าการนำเข้าและอัตราภาษีใหม่นี้จะเป็นประโยชน์กับ CPF เป็นอย่างมาก

นายอดิเรกยังกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไก่ของไทย ล้วนเบนเข็มการผลิตไก่เพื่อการส่งออกไปเป็นไก่ปรุงสุกด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณไก่ปรุงสุกจากประเทศไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจไปถึง 200,000 ตันต่อปี ในขณะที่ตลาดสำคัญคืออียู ถูกจำกัดจำนวนเพียง 160,033 ตัน เมื่อถึงตอนนั้น ไทยคงต้องหาทางออกในการเจรจาการค้าใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังการผลิตของประเทศไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.