|
IAM + New Media = New Money
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากอาร์เอสเริ่มเดินตามโมเดลธุรกิจใหม่อย่างจริงจังในปีนี้ หน่วยงาน IAM และ New Media เป็น 2 ธุรกิจที่โดดเด่นขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้กับอาร์เอสรวมกันได้หลายร้อยล้านบาท
IAM (Image and Asset Management) และ New Media เป็นธุรกิจที่มีอยู่แล้วในอาร์เอส เพียงแต่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้มีการผลักดันอย่างจริงจังมากนัก เนื่องจากในเวลานั้นรายได้หลักของอาร์เอสยังมาจากการขายเทปและซีดี แต่เมื่อเฮียฮ้อกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับ อาร์เอส เขามองทะลุว่า 2 หน่วยงานนี้จะมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของอาร์เอส จึงเริ่มมองหาผู้บริหารจากภายนอกที่จะมารับผิดชอบสร้างความคิดของเขาให้เป็นจริง
เฮียฮ้อชักชวน ประสงค์ รุ่งสมัยทอง มาจากอีจีวี เพื่อมาดูแลงาน IAM ตั้งแต่เริ่มต้น เช่นเดียวกับยรรยง อัครจินดานนท์ ซึ่งในเวลานั้นเป็น CEO อยู่ที่ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ ทั้ง 2 คน มีจุดเหมือนกันตรงที่ต่างก็เป็นมือการตลาด ทำงานในสายการตลาดมาทั้งคู่ และถึงแม้จะอยู่กันคนละอุตสาหกรรมแต่ก็เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก (mass) เหมือนกัน
ก่อนที่จะมาร่วมงานที่อีจีวี ประสงค์เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาจากสามารถ คอร์ปอเรชั่น เมเจอร์ กรุ๊ป และแกรมมี่ ในขณะที่ ยรรยงเคยทำงานอยู่ที่เอไอเอสนานถึง 12 ปี ตำแหน่งสุดท้ายของเขาที่นั่นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสายการตลาด
หน้าที่หลักของ IAM คือการต่อยอดธุรกิจให้กับอาร์เอส โดยสินค้าที่อาร์เอสผลิตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ ทีวี หรือแม้แต่ตัวศิลปินจะถูกนำมาหาช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ บางกิจกรรมที่แต่เดิมเคยถูกมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อสนับสนุนยอดขาย แต่เมื่อมาถึง IAM กิจกรรมเดียวกันนั้นกลับมีโอกาสในการสร้างรายได้แฝงอยู่
"เมื่อก่อนเรามองว่าคอนเสิร์ตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนยอดขายเทป ถือเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนเพื่อหวังผลจากยอดขายแผ่น แต่ IAM มองว่าคอนเสิร์ตก็เป็นคอนเทนต์อีกประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวมันเอง เพราะฉะนั้นตัวคอนเสิร์ตต้องมีคุณภาพ เพื่อที่จะขายบัตรขายสปอนเซอร์" ประสงค์เล่าถึงวิธีคิดของธุรกิจ IAM
ปีนี้จึงเป็นปีที่อาร์เอสมีคอนเสิร์ตใหญ่หลายครั้งด้วยกัน ทั้งฟิล์ม รัฐภูมิ แดน-บีม จนถึงโปงลางสะออน ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งนอกเหนือรายได้จากการขายบัตรและสปอนเซอร์แล้ว อาร์เอสยังนำเอาคอนเสิร์ตมาลงแผ่นสร้างยอดขายได้อีกครั้งหนึ่งด้วย โดยในเดือนนี้จะออกวาง จำหน่ายวีซีดีบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตของวงโปงลางสะออน ซึ่งเฮียฮ้อประเมินว่าน่าจะสร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่าครั้งที่แล้วคือ 1 ล้านแผ่น คิดเป็นรายได้ราว 160 ล้านบาท และเป็นกำไรเฉพาะส่วนนี้อย่างน้อย 20 ล้านบาทเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่ IAM โดดเด่นอย่างมากในเวลานี้กลับเป็นการบริหารตัวศิลปิน (Artist Management) เพื่อหาโอกาสและช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
จากเดิมศิลปินคนหนึ่งเมื่อออกอัลบั้มจะมีรายได้จากยอดขายซีดี ตามมาด้วยงานคอนเสิร์ต และโชว์ตัวต่างๆ รวมไปถึงงานพรีเซ็นเตอร์ หลังจากนั้นก็รอจนกว่าจะออกอัลบั้มใหม่เพื่อให้มีงานอีกครั้ง แต่การที่อาร์เอสมีธุรกิจบันเทิงครบวงจร จึงสามารถหางานเพิ่มให้กับศิลปินเพื่อไม่ให้หายไปจากการรับรู้ของผู้บริโภคได้ โดยเริ่มจากออกอัลบั้ม เมื่ออัลบั้มเริ่มซาก็หางานพิธีกรหรืองานแสดงละคร ต่อไปอาจเป็นดีเจในคลื่นวิทยุของสกาย-ไฮเน็ตเวิร์ค หรือแม้แต่เข้าร่วมทีมฟุตบอลของอาร์เอส ซึ่งจะมีนัดเตะอยู่เป็นประจำ
ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ทำให้ศิลปินของอาร์เอสไม่หายไปจากหน้าจอหรือความรับรู้ของผู้บริโภคเลย อาร์เอสสามารถใช้ประโยชน์จากความดังของศิลปินคนหนึ่งได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ตัวศิลปินเองก็มีงานและรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ IAM จะจับเอาความดังของศิลปินมาสร้างรายได้จาก 3 ช่องทางหลักด้วยกัน ได้แก่ การขายลิขสิทธิ์ศิลปินเพื่อไปผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย (Merchandizing License) การขายลิขสิทธิ์ศิลปินเพื่อผลิตเป็นของพรีเมียม (Promotional License) และการเป็นพรีเซ็นเตอร์ (Presenter License)
ศิลปินที่ IAM เข้ามาดูแลอย่างเต็มตัว แล้วในเวลานี้มีหลายคนด้วยกัน อาทิ ฟิล์ม รัฐภูมิ แดน-บีม ศรราม เทพพิทักษ์ โฟร์-มด และลิเดีย งานพรีเซ็นเตอร์ทุกชิ้นของฟิล์ม แดน-บีมกับแป้งตรางู และลิเดียกับวัน-ทู-คอล เป็นผลงานเพียงบางส่วนของ IAM โดยนอกจากจะช่วยหางานให้แล้วยังช่วยดูแลภาพลักษณ์ให้กับศิลปินเหล่านี้อีกด้วย
"เราต้องบอกคนที่ดูแลศิลปินไปว่า น้องคนนี้ต้องดูแลแบบนี้ อย่างแดนเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้เป๊ปซี่อยู่ เพราะฉะนั้นชีวิตแดนนับจากนี้ไปหยิบยี่ห้ออื่นไม่ได้ คนที่ไปกับแดน ก็ต้องดูเวลาไปไหนมีใครหยิบเครื่องดื่มส่งให้แดน ต้องคอยดูแล ไปออกรายการทีวีก็ต้องเช็กสปอนเซอร์ของรายการ ไม่ใช่ไปแล้วป้ายข้างหลังเป็นโค้ก อย่างนี้ไม่ได้"
การเปลี่ยนวิธีคิดในการมองหาช่องทางสร้างรายได้เช่นนี้ ทำให้รายได้ของ IAM เพิ่มขึ้นชนิดก้าวกระโดด ปีที่ผ่านมา IAM มีรายได้ 130 ล้านบาท แต่สำหรับปีนี้ประสงค์ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 450 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่เขาคิดว่าทำได้ไม่ยาก
ในส่วนของธุรกิจนิวมีเดียก็มีอัตราการขยายตัวชนิดก้าวกระโดดไม่ต่างจาก IAM ปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งขึ้นมีรายได้ 140 ล้านบาท ปีที่แล้วรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 207 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่าจะทำได้ราว 250 ล้านบาท
ธุรกิจหลักของนิวมีเดียคือการนำคอนเทนต์ของอาร์เอส หรือพันธมิตรมาต่อยอดเกิดเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ที่ขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ บริการที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันประกอบด้วย เสียงเรียกเข้า (ringtone) เสียงเพลงระหว่างรอสาย (ring back tone) การดาวน์โหลดเพลง (full song download) วิดีโอ คลิป และคาราโอเกะ ตามลำดับ
"ธุรกิจของเราเรียกง่ายๆ ว่าหากินจากมือถือกับอินเทอร์เน็ต แต่ทุกวันนี้ตลาดโทรศัพท์มือถือมันโตกว่า ระบบชำระเงิน ระบบฐานข้อมูลก็พร้อมกว่าตลาดโทรศัพท์มือถือ ก็เลยโตกว่า แต่ธุรกิจบรอดแบนด์จะมีอัตราขยายตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ" ยรรยงกล่าว
นอกจากการขายเพลงด้วยวิธีดาวน์โหลดผ่าน mixiclub.com แล้ว การจับมือกับพันธมิตรที่มีอยู่ยังเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างรายได้ จากอัลบั้มที่ผลิตออกมานอกเหนือจากการขายตามปกติ ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อาร์เอสเปิดตัวอัลบั้มใหม่ของศิลปินกลุ่ม Girly Berry ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์เอเซอร์ อัลบั้มใหม่ชุดนี้จะยังไม่มีวางจำหน่ายในขณะนั้น แต่จะมีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กของเอเซอร์เท่านั้น โดยมีให้ทั้งเพลง มิวสิกวิดีโอ และภาพเบื้องหลังต่างๆ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้อาร์เอสได้เงินไปกว่า 10 ล้านบาท
"Girly Berry ผมไม่ต้องรอให้เพลงฮิตถึงจะมีมูลค่า วันแรกที่เปิดตัวก็มีมูลค่าแล้ว เพราะมูลค่าของเขาอยู่ที่คำว่า Girly Berry และตัวเขา ถ้าเพลงฮิตด้วย ก็ยิ่งดี ถ้าไม่ฮิตก็ไม่เป็นไร ฟิล์มก็เหมือนกัน ผมมีรายได้จากฟิล์มตั้งแต่วันแรกที่ออกอัลบั้ม" เฮียฮ้ออธิบาย
ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ อาร์เอสไม่มีความจำเป็นต้องออกอัลบั้มจำนวนมากในแต่ละปี แต่เน้นเฉพาะรายที่จะโดนและดังจริงๆ เท่านั้น โดยรายได้หลักไม่จำเป็นต้องมาจากยอดขายแผ่น แต่ใช้การต่อยอดจากทั้ง IAM และนิวมีเดีย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแทน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|