|

letter from New Zealand...Auckland ร้องสุดเสียง เสี่ยงพอประมาณ
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้เที่ยวบินที่ TG 0989 จากสนามบินสุวรรณภูมิมุ่งหน้าสู่เมือง Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ ในเย็นวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา จะถูกเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไปอีกร่วมชั่วโมงจากเวลาเดิม ด้วยเหตุผลที่ผู้โดยสารก็มิอาจทราบได้ เพราะพนักงานประกาศว่า "เกิดเหตุขัดข้องบางประการ" แต่ท้ายที่สุด ผู้โดยสารหลายร้อยชีวิตที่พิศดูแล้วมีคนไทยแทบไม่ถึงสิบคนก็เดินทางถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัยในอีก 11 ชั่วโมงถัดมา
การเดินทางบนไฟลต์ของสายการบินไทย 11 ชั่วโมง รวดเดียวโดยไม่แวะพักเติมน้ำมันหรือรับผู้โดยสารที่ประเทศอื่น ทำให้คณะสื่อมวลชนไทย 3 ชีวิต ผู้บริหารบริษัท Open Serve (Thailand) และพนักงานจากบริษัทพีอาร์เอเยนซี่ อิดโรยไปตามๆ กันเมื่อมาถึงสนามบินนานาชาติ Auckland
น่าแปลกใจที่การต่อแถวเพื่อผ่านการตรวจคนเข้าเมือง จะปรากฏภาพผู้ร่วมเดินทางเป็นชาวต่างประเทศเสียเกือบครึ่งลำ ขณะที่ผู้เดินทางที่ถือสัญชาติหรือพาสปอร์ตของนิวซีแลนด์เองนั้นกลับมีแถวที่สั้นขนาดที่ว่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดบางแห่งยังมีคนต่อคิวรอซื้ออาหารเยอะเสียกว่าด้วยซ้ำไป
เพราะเหตุใด? และทำไมผู้คนถึงได้หลั่งไหลเข้ามายังเมือง Auckland แห่งนี้มากมายอย่างที่เห็น และมนต์เสน่ห์ของเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของนิวซีแลนด์อยู่ตรงที่ใด? นั่นคือคำถามที่ผุดขึ้นมาในทันทีที่ได้เห็นภาพเหล่านั้น
อาจจะด้วยเหตุผลที่ไม่ซับซ้อนนัก เพราะนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่หากมองจากแผนที่โลก มีสภาพเป็นเกาะ ดูเผินๆ ราวกับขอนไม้ลอยอยู่กลางน้ำก็ไม่ปาน อันเนื่องมาจากการโอบล้อมด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออกและทะเลทัสมันด้านตะวันตก ทำให้ภูมิประเทศของนิวซีแลนด์เต็มไปด้วย ชายหาดมากมาย รวมไปถึงเกาะเล็กเกาะน้อย ด้วยในเวลาเดียวกัน
Auckland ก็เช่นเดียวกัน การที่เป็นเกาะทางเหนือของนิวซีแลนด์ เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ และเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุด และมีชายหาดมากมายทำให้ได้รับการตั้งฉายา พร้อมป้ายประกาศตั้งหราเต็มไปทั่ว สนามบินของที่นี่ว่า "City of Sails" หรือเมืองแห่งการแล่นเรือใบ
ด้วยสภาพพื้นที่ของ Auckland ที่ไม่เอื้ออำนวยหรือเหมาะสมกับการใช้เพาะปลูกพืชไร่ พืชสวนมากนัก พื้นที่ที่ดูเป็นเนินต่ำสูง ไม่ใช่ภูเขา บางครั้งถูกเจ้าของปล่อยให้หญ้าขึ้นเป็นลานกว้าง ให้วัวและแกะเดินแทะเล็มหญ้าอยู่ตลอดฤดู หรือใช้เป็นโลเกชั่นในการถ่ายหนัง ในภายหลังเพิ่งจะมาค้นพบว่าเป็นข้อได้เปรียบในการสรรหาความโดดเด่นให้กับประเทศของตัวเอง นอกเหนือจากการท่องเที่ยวไปตามสถานที่สำคัญและสวยงามต่างๆ และจุดเด่นที่กลายมาเป็นจุดขายทำเงิน เข้าประเทศก็คือ "กิจกรรมเสี่ยงภัยภายนอกสถานที่ กิจกรรมกลางแจ้งหรือกีฬา out door" นั่นเอง
แม้ไวน์ของนิวซีแลนด์หรือใน Auckland จะขึ้นชื่อถึงขนาดได้รับการจัดอันดับโลก และกลายเป็นสถานที่นักเดินทางซึ่งโปรดปรานการชิมไวน์ตามไร่องุ่น หรือที่เรียกว่า Vineyard Tour จะต้องมาเยือนสักหน หรือผลเชอรี่และสตรอเบอร์รี่ของที่นี่ได้รับการขนานนามว่าอร่อย และคุณภาพน่าประทับ ใจผู้ชิมก็ตามที (มีเรื่องเล่าว่า ผู้ผลิตสตรอเบอร์รี่รายใหญ่ที่สุดของที่นี่ที่แท้เป็นคนไทยที่ย้ายมาอยู่ที่นิวซีแลนด์นานนับ 100 ปีเลยทีเดียว) แต่กีฬากลางแจ้งก็กลายเป็นที่ดึงดูดใจให้คนมาเยือนที่นี่ได้มากไม่แพ้กัน
เริ่มต้นด้วยกิจกรรมคุ้นหูคุ้นตาคนไทย อย่าง "บันจี้จัมพ์" กีฬายอดฮิตที่เปิดบริการให้ผู้พิชิตความกลัวและความสูงปีนป่ายขึ้นไปยืนอยู่บนกระเช้าที่มีความกว้างเพียงไม่กี่ตารางเมตร
มีอาวุธคือเชือกที่ผู้ให้บริการโฆษณาเอาไว้ว่าแข็งแรงและรองรับน้ำหนักคนเล่นได้เพียงพอ ผูกติดข้อเท้าสองข้างไว้ด้วยกัน มีจัมพ์มาสเตอร์ คอยปลดโซ่ให้สัญญาณนับตัวเลข ก่อนให้กระโดดจากท้องฟ้าลงสู่เบื้องล่างตามความสูงเกินครึ่งของร้อยเมตร ปล่อยตัวผู้กระโดดให้หมุนติ้วไปมาตามจังหวะและความยาวของเส้นเชือกเท่าที่แรงโน้มถ่วงจะปล่อยให้ตัวปลิวกวัดแกว่งไปมาบนอากาศ
ถือเป็นความท้าทายที่หลายคนไปเยือน Auckland จะต้องสัมผัสสักครั้ง โดยเฉพาะนักผจญภัยที่มุ่งหน้ามาที่นี่ เพื่อปรารถนาจะเสาะแสวงหาความเสี่ยงที่หัวใจเรียกร้องหามาตลอดเวลา
ด้านล่างของป้ายชักชวนเล่นกีฬาโลดโผนเหล่านี้ เมื่อขึ้นต้นด้วยบันจี้จัมพ์ก็มักตาม ด้วยกีฬาที่ชื่อว่า "Swoop" กีฬาที่อาศัยความสูง และความเสี่ยงเป็นตัวช่วยให้เกิดความตื่นเต้น
ถือเป็นกีฬาน้องๆ บันจี้จัมพ์ที่ทำเอาผู้ไปเยือนลืมเลือนเรื่องราวอื่นๆ ในหัวสมองไปชั่วขณะ และคงมีแต่เสียงกรีดร้องและเสียงของจังหวะหัวใจที่เต้นแรงเท่านั้นที่ขยันทำงานในเวลานั้น
การเล่น Swoop เริ่มต้นจากการที่ตัวของผู้เล่นครึ่งท่อนจะถูกขังไว้ในใต้ถุงกระสอบ มิดชิด แขนทั้งสองข้างถูกรั้งเอาไว้ด้วยสายพลาสติกสองเส้น ดูๆ แล้วเหมือนกับกำลังสะพายเป้ มีพนักงานชายตัวใหญ่ล่ำบึ้ก เป็นผู้คอยทำหน้าที่ติดสายสลิง (Sling) รั้งกลางถุงที่ขังตัวผู้เล่นเอาไว้ให้ติดกับด้านล่างของกระเช้าลอยฟ้าเดียวกับที่ใช้ในการกระโดดบันจี้จัมพ์ เพียงแต่ใช้ความสูงที่มากกว่าเป็นเท่าตัว
สิ้นเสียงพนักงานให้สัญญาณนับ 1 2 และ 3 ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งจะทำหน้าที่ปลดสายสลิงหนึ่งเส้นกลางหลังให้หลุดออก และเสียงกรีดร้องก็ดังก้องไปทั่วบริเวณทุ่งกว้าง เมื่อผู้พิชิตความสูงหล่นลงมา และหมุนติ้วอยู่บนท้องฟ้าอยู่นานหลายนาที ก่อนมาหยุดที่เบื้องล่าง ให้พนักงานปลดตัวออกจากถุง
ตามมาด้วย "Zorb" กิจกรรมหวาดเสียวที่ใส่คน 1-3 คน เข้าไปในลูกบอลพลาสติกพองโตขนาดใหญ่ยักษ์พร้อมน้ำอุ่นจำนวนเล็กน้อยที่พนักงานปล่อยใส่เข้าไปด้านในตัวลูกบอล เพื่อช่วยป้องกันการกระแทกจากลูกบอลกับตัวผู้เล่น และกลิ้งจากเนินเขาด้านบนลงสู่เบื้องล่าง เป็นระยะทางนับร้อยเมตร โดยที่ด้านในไม่มีอะไรให้เกาะหรือจับแต่อย่างใด
หรือจะเป็น "Luge" รถบังคับด้วยมือขนาดเล็กที่ผู้เล่นต้องโยกไปข้างหน้าเพื่อให้รถแล่นไปข้างหน้า และโยกมาข้างหลังเพื่อเบรกหรือชะลอความเร็วเอาไว้ โดยที่นักเล่นทั้งชายและหญิงจะถูกขนด้วยกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปยอดเขา และขับ Luge ด้วยตนเอง บนเส้นทางคดเคี้ยว แคบ และลงเขา สร้างความหวาดเสียวได้ไม่น้อย ก่อนทยอยขึ้นไปด้านบนอีกครั้งด้วย chair lift เพียงลำพัง หรือนั่งคู่ตามอัธยาศัย เพื่อเล่น Luge อีกหลายรอบตามจำนวนของบัตรหรือแพ็กเกจที่ซื้อเอาไว้ตั้งแต่แรก
ไม่นับรวมกับกิจกรรมแล่นเรือใบ เรือคะยัก เข้าชมการตัดขนแกะ การต้อนแกะของสุนัข หรือแม้แต่สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้ตัวเองด้วยการไปทดลองขับรถแทรกเตอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่น่าสนใจและดึงดูดนักผจญภัยได้แทบทั้งสิ้น
สิ่งที่สูญเสียไปคือเสียงกรีดร้อง และพลังงานในร่างกายที่ใช้ไปกับออกแรงบ้างในบางกิจกรรม แต่สุดท้ายก็ได้ความเร้าใจเป็นของกำนัลปิดท้ายจากกิจกรรมหวาดเสียวตื่นเต้นที่ว่าอยู่ตลอดทุกครา
นี่ละเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมคนถึงได้หลงใหล และหลั่งไหลมาที่ Auckland แห่งนี้กันอยู่ตลอดฤดูกาล นั่นเป็นเพราะที่นี่เป็นดินแดนสวรรค์ของนักผจญภัยนั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|