บลจ.ไอเอ็นจี บุกตลาดตราสารหนี้


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในภาวะผันผวน และซบเซาจนถึงปัจจุบัน ตรงข้ามกับตลาดตราสารหนี้ ที่กำลังเติบโตเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดจากหลายฝ่ายเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ต่ำ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการระดมทุนเงินผ่านตราสารหนี้ ที่มีต้นทุนต่ำกว่า

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) หันมาออกกองทุนประเภทตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) หลังจาก ที่ไม่เคยเน้นกองทุนตราสารหนี้โดยเฉพาะมีเพียงแต่กองทุนประเภทลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุน ภายใต้กองทุนไอเอ็นจีบาลานซ์ฟันด์

กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทยแคชแมเนจเม้นท์ (ING TCMF) เป็นกองทุนเปิดตราสารหนี้ ที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งบลจ.ไอเอ็นจีมองว่ามีความเสี่ยงต่ำ และได้รับผลตอบแทน ที่แน่นอนกว่ากองทุนประเภทหุ้นทุน (Equity Fund) โดยกองทุน ING TCMF มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท

"กองทุนนี้มีนโยบาย ที่จะระดมเงินจากผู้ลงทุน ที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ และเงินฝากระยะสั้น ที่มีความมั่นคง และมีสภาพคล่องตัวสูง" มาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าว

วัตถุประสงค์ของกองทุน ING TCMF นั้น จะเน้นช่วยเหลือการบริหารเงินให้กับบริษัทต่างๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุน ดังนั้น จึงต้องพยายามเน้นเรื่องสภาพคล่อง ที่ค่อนข้างสูง การลงทุนทั้งหมดจึงเป็นการลงทุน ที่ค่อนข้างมีอายุสั้น (average duration) ประมาณ 1-1.5 ปี

นอกจากนี้ กองทุน ING TCMF พยายามเน้นการสร้างผลตอบแทน ที่สูงกว่าให้กับเงินสดหมุนเวียนของบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของกองทุน ซึ่งลูกค้า ที่เป็นบริษัทต่างๆ หากนำเงินไปฝากกับธนาคารพาณิชย์ อาจจะได้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ

"หากเขาสนใจซื้อหน่วยลงทุน เราสามารถสามารถช่วยบริหารเงินของเขาได้ และสิ่งที่เราคาดว่าจะสร้างผลตอบแทนน่าจะอยู่ระหว่าง 3.5-4% นั่นคือ เราจะเอาชนะดอกเบี้ยเงินฝากได้" มาริษบอก

ดังนั้น กองทุน ING TCMF จึงเหมาะสมสำหรับเงินลงทุนระยะสั้นหรือเงินทุนหมุนเวียน โดยจุดเด่นของกองทุน คือ มีสภาพคล่องสูงใกล้เคียงบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และให้อัตราผลตอบแทนคุ้มค่า

"กองทุนนี้จึงเหมาะกับลูกค้า ที่ต้องการอัตราผลตอบแทนจากเงินทุนหมุนเวียน ที่คุ้มค่าโดยเงินลงทุนยังมีสภาพคล่องสูง" มาริษกล่าว

รูปแบบการลงทุนของกองทุน ING TCMF ดังกล่าว เป็นกลยุทธ์การลงทุน ที่ยังคงยึดหลักอนุรักษ์นิยม (conservative) "ปรัชญาการบริหารกองทุนเรา คือ ผู้บริหารจะต้อง active มากกว่า passive" เอ็ดดี้ เบลแมนส์ (Eddy Belmans) ผู้จัดการภูมิภาคเชียใต้แห่งไอเอ็นจี อินเวสเม้นท์ แมเนจเม้นท์กล่าว และว่า "เราใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นตัวขับเคลื่อนในการบริหารกองทุน และมองการลงทุนระยะปานกลางถึงยาว 3-5 ปีที่สำคัญการควบคุมความเสี่ยงจะต้องเข้มงวด"

การกลับมาของบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) หลังจากเงียบหายไปจากตลาดกว่า 2 ปีครั้งนี้น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะบลจ.อื่นๆ ต่างเริ่มเบนเข็มหันมาจับตลาดตราสารหนี้มากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.