ศาลสั่งบีทีเอสจ่ายหนี้เพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(27 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วานนี้ (27 พ.ย.) ศาลล้มละลายกลางได้นัดฟังคำสั่งคำร้องของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ยื่นคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยคำร้องของ บสท. ต้องการให้ผู้ทำแผนฯ เพิ่มหลักประกันให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 คือเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน ด้วยการโอนสิทธิบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่ได้จากการดำเนินธุรกิจและมูลค่าสิทธิสัมปทานกิจการเดินรถไฟฟ้าที่เหลืออยู่อีก 23 ปี นอกเหนือจากจำนวนรถไฟฟ้า 35 ขบวน

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ยื่นคัดค้านเรื่องหนังสือค้ำประกันหนี้ที่ถูกจัดเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยให้จัดหนังสือค้ำประกันหนี้ดังกล่าวของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กับบีทีเอส เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีมูลหนี้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากบีทีเอสมีการชำระค่าไฟมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบตามที่บสท.และธนาคารไทยพาณิชย์ได้ยื่นคำคัดค้านมา นอกจากนี้ ยังได้นัดฟังคำสั่งคำร้องของธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะเจ้าหนี้ ที่ยี่นขอให้ปิดบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงเทพแล้วโอนเงินฝากไปยังธนาคารไทยพาณิชย์แทน โดยนัดฟังคำสั่งใน วันที่ 25 ธ.ค.นี้

นายประเสริฐ เอื้อกมลสุโข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจบริหารสินทรัพย์ บสท. กล่าวว่า บีทีเอสจะนำรถไฟฟ้า 35 ขบวนมาเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้กลุ่ม 1 นั้นไม่เพียงพอ ต้องนำเงินในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากสิทธิสัมปทานรถไฟฟ้ามาด้วย ส่วนข้ออ้างคำสั่งศาลฎีกาก่อนหน้านี้ที่ห้ามไม่ให้มีการโอนสิทธิสัมปทานและบัญชีเงินฝากเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้ เห็นว่าเป็นคนละประเด็นกัน ซึ่งการที่ศาลฯ มีคำสั่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหากไม่มีการนำมูลค่าสิทธิสัมปทานที่เหลือและบัญชีเงินฝากที่ได้จากการดำเนินกิจการมาเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้เชื่อว่าจะไม่มีใครกล้าปล่อยกู้ให้โครงการสัมปทานของรัฐอีกต่อไป

จากคำสั่งศาลครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะทำให้เจ้าหนี้มีหลักประกันจำนวน 8 รายได้รับการชำระหนี้เงินเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-5 พันล้านบาทจากแผนฯเดิมที่นายคีรีทำไว้ โดยเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันจะได้รับชำระหนี้เงินสดถึง 2.1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เจ้าหนี้มีหลักประกันที่มีมูลหนี้เงินต้น 3.1 หมื่นล้านบาท จะได้รับชำระหนี้เงินสดแค่ 7.3 พันล้านบาท

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้มีจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ตามคำร้องของเจ้าหนี้ ทำให้บริษัทต้องปรับปรุงแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ก่อนที่จะเสนอต่อเจ้าหนี้ และต้องหารือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ก่อน ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการที่ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนฯในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 นี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ทำแผนฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ใหม่ รวมทั้งเพิ่มหลักประกันให้เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เจ้าหนี้เห็นชอบกับแผนฯใหม่ โดยไม่มีการยื่นคำร้องเพิ่มเติมอันจะทำให้การฟื้นฟูฯล่าช้าออกไป

ด้านทนายความของบีทีเอส กล่าวว่า คำสั่งของศาลฯดังกล่าวทำให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันแทบไม่เหลืออะไรเลยเนื่องจากหลักประกันต่างๆ ถูกโอนไปให้เจ้าหนี้ที่มีหลักกันทั้งหมด

ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะยับยั้งการขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 นั้น นายคีรี กล่าวว่าคงต้องหารือกับกทม.ถึงเหตุผลการไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าว ซึ่งความจริงเป็นการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ถือว่าอยู่ในกรอบที่จัดเก็บได้มาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากกทม. และทุก 2 ปี บีทีเอสสามารถปรับค่าโดยสารได้แต่บริษัทเปิดให้บริการถึง 7 ปีก็ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าโดยสารแต่อย่างใด

"เราลงทุนมา 15 ปี แต่ไม่เคยได้เงินสักบาท เพราะเงินที่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจเท่าใดก็ชำระคืนหนี้ทั้งหมด ขณะที่คนอื่นมีการปรับขึ้นค่าโดยสารได้ แต่เวลาเราขอขึ้นกลับมีปัญหาทั้งที่ต้นทุนค่าไฟขึ้นมา 30-40% และการขึ้นค่าโดยสารดังกล่าวก็อยู่ภายใต้กรอบสัญญาที่ทำได้เลย คือ อัตราการจัดเก็บค่าโดยสารที่ 15-40 บาทมาตั้งแต่เปิดเริ่มบริการ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกทม. เพียงแต่ครั้งนั้นบริษัทปรับลดการจัดเก็บเริ่มต้นที่10 บาท และมีโปรโมชั่นอื่นๆ เพิ่มด้วย"

ด้านแหล่งข่าวจากเจ้าหนี้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับราคาค่าโดยสาร เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน แต่บีทีเอสควรที่จะมีการปรับปรุงบริหารจัดการภายในบริษัทที่ดีมากกว่านี้ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัท เนื่องจากการตรวจสอบงบการเงินของบีทีเอส งวด 12 เดือน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2549-2547 พบความไม่โปร่งใสระหว่างบีทีเอส กับบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (วีจีไอ ) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่โฆษณาของบีทีเอส ซึ่งมีนายกวิน กาญจนพาสน์ ลูกชายนายคีรีเป็นผู้บริหาร

โดยได้มีการตั้งข้อสังเกตความไม่โปร่งใสไว้ 4 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก รายได้พื้นที่เช่าโฆษณาที่บีทีเอสได้รับจากวีจีไอฯ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 32% จากการเปรียบของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาโดยรวมของประเทศไทย

ประเด็นที่ 2. บีทีเอส ควรที่จะมีการทวงหนี้ที่ค้างชำระจากวีจีไอฯ จำนวน 172 ล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้ที่ค้างชำระ 82% มาเป็นเวลาหลายปี ทั้งที่ วีจีไอ มีรายได้จากพื้นที่ให้เช่า โฆษณา และร้านค้า จำนวน 211 ล้านบาท ในงบการเงินงวดบัญชีสิ้นสุด มีนาคม 2549 ซึ่งสามารถที่จะชำระหนี้ได้

ประเด็นที่ 3. วีจีไอฯ ได้นำเงินไปปล่อยกู้ให้กับกรรมการบริษัทจำนวน 404 ล้านบาท คือ ปล่อยเงินกู้ให้นายกวิน จำนวนกว่า 374 ล้านบาท แทนที่จะนำมาชำระหนี้คืนบีทีเอส ประเด็นสุดท้าย บีทีเอส ยอมให้มีการแก้ไขสัญญาลดเงื่อนไขการจ่ายชำระหนี้ให้แก่บีทีเอส คือ การปรับลดค่าตอบแทนขั้นต่ำซึ่งวีจีไอฯ จะต้องจ่ายให้บีทีเอสเป็นรายปีลดลง แต่นำเงินไปปล่อยกู้ให้แก่กรรมการเพิ่มขึ้นทุกปี

นอกจากนี้ การที่บีทีเอสไม่สามารถที่จะมีการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ร้านของวีจีไอฯ กีดขวางทางเข้าออกของผู้โดยสาร ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารในจำนวนที่มากได้ และบีทีเอสไม่สามารถที่จะมีการระบายผู้โดยสารเข้าออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้เป็นเพราะ จำนวนผู้โดยสารมีน้อยเกินไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากบีทีเอสได้รับค่าเช่าพื้นที่โฆษณาและร้านค้าที่ได้รับจากวีจีไอมากขึ้น และมีการเรียกเก็บหนี้จากวีจีไอ และมีการปรับปรุงในเรื่องพื้นที่รองรับผู้โดยสารเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มากขึ้น จะทำให้บีทีเอส ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการขึ้นค่าโดยสารกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม จากการตั้งข้อสังเกตดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่าบีทีเอส ไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินงาน และมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกับ ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทของลูกชายของประธานกรรมบริหารของบีทีเอส แต่กลับเลือกวิธีแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มรายได้โดยการผลักภาระให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น กทม.ในฐานะผู้ให้สัมปทานแก่บีทีเอส จะต้องมีการตรวจสอบในเรื่องความสมเหตุสมผลในการขึ้นค่าโดยสารของบีทีเอส และผลประโยชน์ที่มีการซ่อนเร้นดังกล่าว

"หากบีทีเอสต้องการที่จามีการปรับขึ้นค่าโดยสารก็สามารถทำได้ตามกฎหมายสัมปทานที่ดี แต่หากบีทีเอส สามารถมีการปรับปรุงในเรื่องการบริหารงานเพื่อที่จะได้มีการรายได้เพิ่มขึ้นนั้นจะดีกว่าการปรับขึ้นค่าโดยสารต่อประชาชน "แหล่งข่าวกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.