"TAX HAVENS"

โดย ปฏิภาณ คำเงิน สมิทธ์ โชติอุดมพันธ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

การไหลเวียนของกระแสเงินในโลกธุรกิจ ปัจจุบันมีขอบเขตขยายออกไปอย่างกว้างขวางตามการพัฒนาของระบบการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ จากแหล่งเงินทุน ณ มุมโลกหนึ่งไปยังจุดอื่นๆ ของโลกเงินตราเดินทางไปอย่างสะดวกรวดเร็วแทบจะในพริบตาเดียว ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินลงทุนจากบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูกในต่างประเทศ หรือการโอนเงินกำไรจากบริษัทลูกมาบริษัทแม่ การออกตราสารทางการเงินเพื่อระดมเงินทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการไหลเวียนของกระแสเงินทุนระหว่างประเทศจะรื่นไหลมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่ทำให้ต้องสะดุดทางเดินอยู่บ้าง นั่นก็คือเรื่องของภาษี

ภาษีทำให้ต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศสูงขึ้น จึงมีการค้นคิดหาวิธีที่จะประหยัดรายจ่ายทางภาษีโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายความก้าวหน้าทางด้านวาณิชธนกิจ และสนธิสัญญการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งกิจการที่จะดำเนินการได้จะต้องเป็นกิจการข้ามชาติที่มีการโอนเงินข้ามประเทศเป็นประจำ และมักจะมีรายจ่ายทางด้านภาษีของการโอนเงินเข้า-ออกประเทศค่อนข้างสูง

ทางออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางด้านนี้ที่นิยมกันมากก็คือการไปจดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศซึ่งมีลักษณะที่เรียกกันว่า TAX HAVENS

TAX HAVENS หมายถึงสถานที่ซึ่งไม่มีการเก็บภาษีทางตรง เช่น CAYMAN ISLAND หรือมีการเก็บภาษีเฉพาะกิจการที่มีรายได้จากประเทศ และอาจจะเก็บภาษีรายได้ที่มาจากต่างประเทศในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เช่น HONG KONG, PANAMA หรือ มีการลดภาษีให้กับกิจการบางประเภท เช่น CHANNEL ISLAND, LIECHTENSTEIN

นอกจากนี้ TAX HAVENS ยังมีลักษณะเด่นอื่นๆ อีกเช่น การเปิดให้มีการนำเงินเข้า-ออกได้โดยอิสระ, รักษาความลับของผู้ที่ฝากเงินในธนาคารใน TAX HAVENS, การควบคุมของรัฐบาลที่มีน้อยมาก, การให้สิทธิในการถือครองที่ดินแก่คนต่างชาติ, การที่ผู้ประกอบการไมม่จำเป็นต้องเปิดเผยงบบัญชีหรือรายนามของผู้ถือหุ้น เป็นต้น เมื่อต้นปี 2536 ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไทยหลายธนาคารได้ขยายเครือข่ายเข้าไปในเกาะเคย์แมน นอกจากธนาคารต่างๆ แล้วยังมีบริษัทอื่นที่ดำเนินการในรูปแบบนี้ เช่น บริษัทบางกอกแลนด์ ดังนั้นจึงมีข้อสงสัยว่า "บริษัทต่างๆ เหล่านี้ไปเพื่ออะไร และทำไมต้องเคย์แมน?"

เกาะเคย์แมนตั้งอยู่ทางตะวันตกของทะเลแคริเบียนซึ่งอยู่ทางตอนล่างของทวีปอเมริกา ในปี 1992 มีธนาคารกว่า 540 แห่งจาก 40 กว่าประเทศเข้าไปเปิดสาขาและมีบริษัทเข้าไปจดทะเบียนอีกประมาณ 23,000 บริษัท และบริษัทประกันภัยอีกกว่า 400 บริษัท การจดทะเบียนธนาคาร, บริษัท, ทรัสต์ และบริษัทประกัน สะดวกและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่มีการเก็บภาษีจากรายได้, กำไร หรือเงินปันผลเมื่อมีผลกำไร และมีระยะปลอดภาษีเป็นเวลา 15-50 ปีโดยได้รับการรับรองจากรัฐบาล ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะธนาคารสนใจที่จะเข้ามาเปิดสาขาใน TAX HAVENS นี้ เนื่องจากว่ามีการควบคุมการหมุนเวียนของเงินตรา, ไม่จำเป็นต้องมีเงินสดสำรอง และอนุญาตให้มีการนำเงินเข้าและออกได้โดยปราศจากข้อจำกัด ประกอบกับไม่มีการจำกัดการถือครองที่ดินของคนต่างด้าว และมีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ปลายปี 1988 ธนาคารใหญ่สุดของโลก 24 ใน 25 แห่ง มีสาขาที่เกาะเคย์แมนและในปลายปี 1987 มีรายงานว่าธนาคารในเกาะมีเงินฝากจากต่างประเทศทั้งสิ้น 250 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจากสถิติของ IMF เกาะเคย์แมนมี FOREIGN LIABILITIES ติดอันดับ 6 และ FOREIGN ASSET อยู่ในอันดับ 7

โดยปกติการเลือกใช้ TAX HAVENS ของบริษัทข้ามชาติจะมีหลักในการเลือก เช่น ข้อตกลงในเรื่องการเก็บภาษีเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะต้องเสียภาษีซ้อน คือแทนที่จะต้องเสียภาษีน้อยลงกลับต้องเสียมากขึ้นเพราะต้องเสียภาษีทั้ง 2 แห่ง

การเลือกที่จะจดทะเบียนบริษัทนั้นก็ต้องพิจารณาอีกว่าควรจะเป็น ณ ที่ใดระหว่างดินแดนที่ไม่ต้องเสียภาษีเลยกับดินแดนที่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำ เพราะเมื่อนำเงินกลับเข้าประเทศแล้วอาจจะส่งผลกระทบต่างกัน คือบางบริษัทเลือกที่จะไปจดทะเบียนในดินแดนที่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำ เมื่อนำเงินกลับสู่ประเทศจะไม่ต้องเสียภาษีอีกหรือเสียในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ

ในขณะที่การไม่ต้องเสียภาษีเลยในประเทศที่ทำให้เกิดรายได้ เมื่อนำเงินกลับเข้าสู่ประเทศอาจจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า หรืออาจจะเลือกจดทะเบียนในประเทศที่มีสนธิสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่ นอกจากบริษัทลูกจะได้ลดภาษีหรือยกเว้นภาษี (ในกรณีที่บริษัทลูกตั้งอยู่ใน TAX HAVENS) แล้วอาจจะไม่ต้องเสียภาษีเวลาส่งผลกำไรมาให้บริษัทแม่ หรือเสียในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงความสะดวกในการติดต่อ, ความมั่นคงทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ, การรับประกันถึงอัตราภาษีในอนาคต, การรักษาความลับของผู้ประกอบการใน TAX HAVENS เป็นต้น

จากในรูป บริษัท P ตั้งอยู่ในประเทศ C ได้รับรายได้จากบริษัทลูกคือ บริษัท R ในประเทศ D แต่เนื่องจากไม่มีข้อตกลงทางด้านภาษีระหว่างประเทศ C และ D สมมติให้ประเทศ D เก็บภาษีเป็นจำนวน 25% และประเทศ C เก็บภาษีเป็นจำนวน 25% ดังนั้นจำนวนภาษีโดยรวมเป็น 43.75% เพื่อเลี่ยงภาษีนี้ บริษัท P ได้ตั้งบริษัท S ใน TAX HAVENS ประเทศ E ซึ่งมีสนธิสัญญาภาษีซ้อนทั้งกับประเทศ C และ D ภายใต้ข้อตกลงนี้ บริษัท S จะได้รับการยกเว้นภาษีจากประเทศ D บริษัท S เพียงต้องเสียเงินจำนวน 5% เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมแก่ประเทศ E จากนั้นก็โอนไปให้บริษัท P ในรูปของเงินปันผล แต่เนื่องจากสนธิสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศ C-E ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน ดังนั้นจำนวนเงินที่จะต้องเสียทั้งหมดจะต่ำกว่า 10% ซึ่งเห็นได้ว่าลดลงเป็นจำนวนมาก

สนทนานักลงทุน

มนทิพา รัศมีมงคล ผู้จัดการสำนักบริหารการเงินธนาคารเอเชีย

ทำไมถึงเลือกเปิดสาขาที่ CAYMAN

มีหลายแห่งที่ให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีคล้ายกับ CAYMAN แต่จะมีกฎเกณฑ์ต่างกันเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งในที่สุดเราก็ได้ข้อสรุปว่าที่ CAYMAN นี้จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดไม่มีเรื่องปลีกย่อย เงื่อนไขน้อยมาก ภาษีไม่มีเลย ไม่จำเป็นต้องรายงานกิจกรรมทางธุรกิจที่ได้ทำไป
ขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยากหรือไม่

ไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์อะไร หากทางการไทยและทางนั้นอนุมัติก็เรียบร้อย แต่กว่าจะขอได้ก็ใช้เวลากว่า 6-7 เดือน โดยจะใช้ธนาคารต่างชาติที่ CAYMAN เป็นคนดำเนินเรื่องคือ NOVA SCOTIA ของแคนาดาเป็น TRUSTEE เดินเรื่องให้

วัตถุประสงค์ของการไปตั้งสาขาใน CAYMAN ISLAND

เราต้องการที่จะมีสาขาต่างประเทศเพื่อการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศ ทำได้สะดวกขึ้น และสิทธิประโยชน์อีกอันหนึ่งคือเรื่องของภาษี

สมมุติว่าเรากู้เงินตราต่างประเทศโดยตรงจากไทย อัตราดอกเบี้ย 4% เขาคิดกำไร 1% เป็น 5% เมื่อเรานำเงินเข้าประเทศจะเสียภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศ 15% เราก็ต้องบวกเพิ่มเข้าไปอีก .75% แต่ถ้าหากเรามีสาขาอยู่ใน CAYMAN และใช้สาขา CAYMAN เป็นผู้ BOOK คือยังกู้ในนามของธนาคารเอเชีย สาขา CAYMAN แล้วส่งกลับมาในรูปของเงินโอนระหว่างสาขาเราจะไม่เสียภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ ต้นทุนเราก็จะตกประมาณ 5%

มีโครงการที่จะออกตราสารทางการเงินที่ CAYMAN หรือไม่

เรากำลังจะออก FRCB, FRN มีโครงการจะออกโดยใช้สาขา CAYMAN เป็นผู้ออก ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ากว่าการออกในประเทศไทย

คิดว่าการใช้ BEBF จะทำให้ความจำเป็นของ CAYMAN ลดลงหรือไม่

ถ้าหากยังมีภาษีดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ การออกไปตั้งสาขาที่ CAYMAN ก็ยังคงมีความจำเป็นแต่ถ้าหากภาษีนี้ถูกยกเลิกไป ความจำเป็นของ CAYMAN ก็ลดลง เหมือนกับธนาคารใหญ่ๆ เช่นกรุงเทพหรือกสิกร เขากู้ไม่เสียภาษีโดยผ่านสาขาในนิวยอร์ค ทำให้ต้นทุนเขาถูก หากเรากู้แล้วต้องเสียภาษีก็เสียเปรียบเขา ถ้าหากโอนเงินจาก CAYMAN มาไทยก็ไม่ต้องเสียภาษีเลยเพราะถือว่าเหมือนกับเงินโอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.