|

โหมโปรโมชั่นยั่วลูกค้าบัตรเครดิตวางเป้าเปลี่ยนลูกค้าดีสู่ผ่อนชำระ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ออกบัตรเครดิตโหมโปรโมชั่นยั่วใจ กระตุ้นผู้ถือบัตรใช้จ่าย ระวังติดกับดอกเบี้ยปีหน้ามีสิทธิปรับเป็น 20% คนในยอมรับต้องทำเพราะถูกแบงก์ชาติบีบ จากนี้ไปรายการกระตุ้นใช้จ่ายจะมากขึ้น ขณะที่ใช้เงินสดซื้อสินค้าเสียเปรียบจ่ายราคาเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่บัตรเครดิตได้ส่วนแบ่ง 3%
ในช่วงปลายปีธุรกิจบัตรเครดิตเริ่มกลับมาแข่งขันกันอย่างดุเดือดอีกครั้ง โดยเฉพาะปลายปี 2549 นี้ ค่ายใหญ่ ๆ มีรายการส่งเสริมการใช้จ่ายกันชนิดที่ผู้ถือบัตรอาจอดใจไม่ไหว ซึ่งเป็นวิธีการหาสมาชิกใหม่ไปในตัว ที่มีทั้งของแถมของสมนาคุณและการเพิ่มแต้มสะสม เนื่องจากในช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปีใหม่ ถือเป็นเทศกาลจับจ่ายใช้สอยของผู้คนทั่วไป
แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังนั่นคือในปี 2550 จะเป็นปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ต้องใช้เกณฑ์ผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% ในเดือนเมษายน 2550 และความเห็นชอบของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่เห็นชอบในเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยจากเพดาน 18% เป็น 20%
แม้จะยังไม่มีผลบังคับใช้แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับขึ้นในปีหน้า เนื่องจากอดีตผู้ว่าการฯ มีแนวคิดที่จะลดหนี้สินภาคครัวเรือนลง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะเป็นการสกัดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยของคนไทยได้ในระดับหนึ่ง
สะสมลูกค้า
แน่นอนว่าช่วงนี้ผู้ให้บริการบัตรเครดิตทุกค่ายต้องทำการหาสมาชิกให้ได้มากที่สุด พร้อมกับกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรใช้จ่ายมากที่สุด เนื่องจากข้อเสนอที่จะขอลดสัดส่วนการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ไม่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย แถมนับตั้งแต่ต้นปีประเทศไทยประสบปัญหาจากราคาน้ำมันแพง อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง เห็นได้จากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร 9 เดือนปี 2549 ลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการ
"เมื่อผู้ให้บริการถูกล้อมกรอบให้หารายได้จากการดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2% ก็ต้องเร่งกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรใช้จ่ายผ่านบัตรมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะผู้ให้บริการจะมีรายได้จากผู้ค้าราว 3% ของราคาสินค้า หากผู้ถือบัตรไม่สามารถชำระยอดใช้จ่ายได้ตามเงื่อนไขจนต้องผ่อนชำระก็จะได้ผลตอบแทนอีก 20% ในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 เดือน" แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการกล่าว
กรณีนี้แตกต่างจากการลดการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ที่จะสร้างรายได้ให้กับผู้ออกบัตรได้ยาวนานกว่าบนอัตราดอกเบี้ยที่แม้จะคิดเพียง 18% ถือว่าคุ้มค่ากว่าการคิดดอกเบี้ยที่ 20%
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการต่าง ๆ จะมีการส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านบัตรด้วยกลวิธีต่าง ๆ เช่น บัตรเครดิตโรบินสัน วีซ่า ที่ให้ส่วนลดจากการเติมน้ำมันสูงถึง 5% แต่เงื่อนไขดังกล่าวสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2549 นี้เท่านั้น โดยก่อนหน้านี้บัตรเครดิตเทสโก้ วีซ่า ได้ให้ส่วนลดน้ำมันสูงถึง 3% แต่บัตรนี้ให้สิทธิจนถึงสิ้นปี 2550 ถือว่าคุ้มค่ากว่า
นอกจากนี้เกือบทุกบัตรมักหากลยุทธ์ในการให้ส่วนลดกับผู้ถือบัตรในการซื้อสินค้า ด้วยการจับมือกับห้างสรรพสินค้า ดิสเคาท์สโตร์ หรือร้านอาหารชั้นนำ เป็นต้น แถมในบางช่วงยังมีการการลดแล้วลดอีก จากราคาขายที่ประกาศลดไว้แล้ว หากใช้บัตรเครดิตบางแห่งยังสามารถลดราคาลงได้อีก
อีกด้านหนึ่งการหาสมาชิกถือบัตรใหม่ ของแจกของแถมของแต่ละค่ายก็งัดกันออกมาดึงดูดใจ อาจเพิ่มเติมด้วยแต้มสะสมเพื่อแลกสินค้า การเว้นค่าแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปีต่าง ๆ รวมถึงเจ้าโปรโมชั่นก็เป็นตัวเร่งในการหาสมาชิกใหม่ได้อีกทางหนึ่ง
สร้างลูกค้าผ่อนชำระ
ทั้งนี้ผู้ให้บริการทุกแห่งต้องการรายได้ 2 ทาง คือ จากส่วนแบ่งราคาขายสินค้า และพยายามที่จะสร้างรายได้จากดอกเบี้ยผ่อนชำระให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ถือบัตรเครดิตมีทั้งประเภทที่ชำระเงินทั้งหมดที่ซื้อสินค้าได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และกลุ่มที่จ่ายไม่ไหวยอมผ่อนชำระ
ดังนั้นหากต้องการสร้างรายได้ให้มากขึ้นก็ต้องทำให้กลุ่มที่ชำระค่าสินค้าได้ตามกำหนดนั้นกลายมาเป็นลูกค้าผ่อนชำระ วิธีการก็ต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายให้มากที่สุด แล้วรอให้สถานะทางการเงินของลูกค้ากลุ่มนี้สะดุด ผู้ออกบัตรก็จะคิดดอกเบี้ยผ่อนชำระจากลูกค้ากลุ่มนี้ได้
ผู้ให้บริการบัตรเครดิตกล่าวเพิ่มเติมว่า เราถูกบีบให้ต้องทำ ไม่อย่างนั้นบริษัทเราก็จะมีปัญหาเรื่องรายได้ เพราะแบงก์ชาติเลือกวิธีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแทน นับจากนี้ไปผู้ถือบัตรจะพบเป็นโปรโมชั่นที่ยั่วยวนให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรมากยิ่งขึ้น หากสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ก็แล้วไป แต่หากไม่สามารถชำระได้เต็มจำนวนก็จะต้องยอมเสียดอกเบี้ยจากการผ่อนชำระ
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าผ่อนชำระที่ 20% จะยังไม่มีผลบังคับใช้ หรือถ้าบังคับใช้ก็จะเกิดขึ้นสำหรับการซื้อสินค้านับตั้งแต่วันที่กำหนดบังคับใช้ แต่ทุกค่ายก็ต้องเร่งสร้างฐานลูกค้าให้ใหญ่ขึ้นไว้ก่อน หากมีการบังคับใช้จริงโอกาสในการสร้างรายได้จากลูกค้าผ่อนชำระที่ดอกเบี้ย 20% ย่อมมีมากขึ้น
พร้อมทั้งให้คำแนะนำว่า ระยะนี้ผู้ให้บริการต่างเร่งหาสมาชิกบัตรเครดิตใหม่มาก ดังนั้นผู้ที่ต้องการทำบัตรเครดิตจะต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี โดยเฉพาะเรื่องของค่าธรรมเนียมรายปีว่าฟรีจริงหรือไม่ มีเงื่อนไขอย่างไร โปรโมชั่นมีระยะเวลานานแค่ไหน เงื่อนไขของการได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นการทำบัตรเครดิตใหม่ก็อาจไม่เกิดประโยชน์ แถมจะมาสร้างปัญหาในภายหลังได้
จ่ายเงินสดเสียเปรียบ
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า ผู้ที่ใช้เงินสดในการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการต่าง ๆ ทั้งตามห้างหรือดิสเคาท์สโตร์ ถือว่าต้องจ่ายแพงกว่าผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตราว 3% เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าราคา 5,000 บาท ในส่วนนี้เจ้าของบัตรจะได้ส่วนแบ่งราว 3% จากราคาสินค้า นั่นคือราคาจริงของเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนี้ไม่ถึง 5,000 บาท
"จ่ายผ่านบัตรก็ 5,000 บาท จ่ายเงินสดก็ 5,000 บาท ถือว่าคนจ่ายเงินสดเสียเปรียบ ตรงนี้ผู้บริโภคหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยเข้ามาตรวจสอบในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าหากต้องการควรมาซื้อที่ร้านค้าทั่วไปจะได้ราคาต่ำกว่า ส่วนใหญ่จะลดให้ 5% จากราคาที่ตั้งไว้ซึ่งเป็นราคาเดียวกับห้างสรรพสินค้าหรือดิสเคาท์สโตร์"
เขากล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลบางแห่งหากผู้ป่วยชำระเป็นเงินสดจะให้ส่วนลด 3% หากชำระด้วยบัตรเครดิตจะต้องจ่ายเต็มตามใบแจ้งราคา เรื่องเหล่านี้ผู้บริโภคคนไทยไม่ค่อยให้ใส่ใจ เน้นที่ความสะดวกสบายเป็นหลัก ที่สำคัญยอมที่จะเสียเปรียบให้กับผู้ประกอบการ
ดังนั้นการเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตควรต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า โดยเฉพาะผู้ที่สามารถชำระค่าสินค้าและบริการได้ตรงตามเงื่อนไข ที่มีเงินสดพร้อมจ่ายอยู่แล้ว เพราะสินค้าบางชนิดหากซื้อจากร้านค้าภายนอกอาจได้ราคาที่ถูกกว่า
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|