อุ๋ยรับรองศก.ไทยไม่ร่อแร่จีดีพีเกิน5%-เน้นลอจิสติกส์ช่วยเอกชน


ผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หม่อมอุ๋ยรับประกันเศรษฐกิจไทยไม่ร่อแร่ เล็งขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่ 5.1% เน้นสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน พร้อมเจรจาลดอุปสรรคทางการค้า มุ่งพัฒนาระบบขนส่งเพื่อลดต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม พัฒนาทรัพยากรน้ำและแก้ปัญหาอุทกภัยแบบยั่งยืน ตั้ง 3 อนุกรรมการฯ ทำยุทธศาสตร์ แจงปี 50 มีงบฯ แก้ปัญหา 3 หมื่นล้าน

ในงานสัมมนาประจำปี 2549 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจหลังปฏิรูป...ร่อแร่หรือรุ่งเรือง” ที่สหประชาชาติ วานนี้ (23 พ.ย.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เศรษฐกิจไทยในอนาคตก็จะไม่มีทางร่อแร่ แต่จะรุ่งเรืองแค่ไหนต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เป็นหน้าที่ของรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ต้องสร้างความมั่นใจและดูแล

ทั้งนี้ ระยะเวลาการทำงานที่จำกัดเพียง 1 ปี รัฐบาลจะต้องผลักดันให้ภาคเอกชนโดดเด่น รัฐบาลจะมีหน้าที่เพียงการกำกับดูแลให้มีความราบรื่นไม่ควรรับบทบาทนำในระบบเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากสิ่งที่เอกชนทำอยู่แล้ว

"รัฐบาลมีหน้าที่ดำเนินนโยบายการคลังให้ถูกต้องตามระบบเศรษฐกิจเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ รัฐบาลไม่มีหน้าที่ไปยุ่งเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศเพราะเอกชนมีศักยภาพในจุดนี้อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการเจรจาเพื่อลดข้อกีดกันและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ไม่ใช่ไปจี้ให้เอกชนเร่งการลงทุนแต่เร่งสร้างพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไม่ไปทำในสิ่งที่ภาคเอกชนทำได้ดีอยู่แล้ว"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุว่า เศรษฐกิจในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายเหลือเพียง 4.1% เพราะการชะลอการลงทุนภาคเอกชน ทำให้การบริโภคในประเทศลดลง เป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การเมืองมีความไม่แน่นอน จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีก่อนที่ระดับ 5.1% รัฐบาลจึงทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2550

นอกจากนี้ รัฐบาลจะพยายามผลักดันให้เริ่มประมูล และสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 3 สาย ในสมัยรัฐบาลนี้ ส่วน 2 สายที่เหลือก็จะดำเนินการไว้เพื่อให้สามารถเริ่มต้นเดินหน้าได้ภายในรัฐบาลชุดหน้า โดยจะพยายามทำโครงสร้างพื้นฐานขนส่งมวลชนไปยังรอบนอกกรุงเทพฯ ให้โดยเร็วที่สุด ทั้งรังสิต สมุทรปราการ ตลิ่งชัน เพื่อลดความแออัดในเมือง และประหยัดการเดินทางของประชาชนด้วย

พัฒนาลอจิสติกส์ลดต้นทุนผลิต

ด้านภาคขนส่งหรือลอจิสติกส์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมขนส่งสินค้าทางน้ำและระบบรางมากขึ้น เพื่อลดการใช้น้ำมันและลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เตรียมแผนปรับโครงสร้างระบบลอจิสติกส์ไว้แล้ว โดยปัญหาที่มีอยู่ไม่ใช่แผนที่สศช.มีอยู่ไม่ดี แต่เกิดจากจะทำอย่างไรให้การขนส่งสินค้าทางน้ำและทางรถไฟเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ท่าเรือ และเส้นทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีเพียงพอแต่มีความนิยมใช้งานน้อย ต้องหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้ให้การขนส่งทั้ง 2 วิธีรวดเร็วและง่ายรวมทั้งมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับการขนส่งด้วยรถบรรทุก โดยแนวคิดในเบื้องต้นจะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งทางน้ำและทางรถไฟ โดยใช้ท่าเรือและรางรถไฟที่มีอยู่แล้วพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถใช้งานได้ทันที

“ต้องทำให้การขนส่งทั้ง 2 ระบบมีการขนถ่ายรวดเร็ว โดยทางน้ำจะเชื่อมภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศโดยอาศัยท่าเรือแหลมฉบังที่ชลบุรี และท่าเรือในภาคใต้ 2 แห่งที่สงขลาและสุราษฎร์ธานีให้เป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนทางรถไฟจะใช้จุดใหญ่ 2 จุดเป็นแหล่งกระจายสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งหากสามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพได้แล้วเอกชนก็จะนิยมใช้และการรถไฟแห่งประเทศไทยก็จะขยายไปสู่จุดอื่นเองในอนาคต”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้จะดูแลภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างเต็มที่ โดยจะใช้มาตรการการส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี นั้น จะให้มีการแข่งขันและเชื่อมโยงแหล่งเงินกับทางธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ให้มากขึ้น โดยให้สามารถเจรจาเรื่องเงินกู้กับทางศูนย์ส่งเสริมเอสเอ็มอีในแต่ละส่วนได้ เพื่อรองรับการเพิ่มการลงทุนของเอสเอ็มอี เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเต็มที่

เดินหน้าจัดการทรัพยากรน้ำ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรถึงการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศว่า มีปัญหามาตลอดโดยในช่วงฤดูฝนก็เกิดปัญหาน้ำท่วมขณะที่ฤดูแล้งก็มีปัญหาขาดน้ำเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องเริ่มทำโครงการเพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในอนาคต โดยการจัดหาพื้นที่รองรับน้ำหรือทำเขื่อนขนาดเล็กระหว่างพื้นที่ตอนบนและตอนกลางของประเทศก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่ทะเล

“เราจะหาทางดูแลในเรื่องน้ำให้มากขึ้น ให้มีการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ได้มากขึ้น มีการบริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนให้สามารถเก็บกักนำได้ในอัตราส่วนที่สูงก่อนไหลลงสู่ทะเล ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อาจไม่เสร็จใน 1 ปี แต่ก็จะวางระบบเตรียมพร้อมไว้ก่อน เพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถสานต่อได้ทันที” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

รัฐฯ ตั้งอนุกรรมการ 3 ชุดลุยน้ำ

วานนี้ (23 พ.ย.) นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฐ์ รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2549 ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดงาน “งานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติรพะบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีมหามงคล 2550 ที่ทรงพระเจริญพรรษาครบ 80 พรรษา โดยกำหนดให้ดำเนินการจัดงานในเดือนมีนาคม 2550

ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยเฉพาะการบรรเทาอุทกภัยระยะกลางและระยะยาว ประกอบด้วย1.การป้องกันและฟื้นฟูสภาพป่า 2.การอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ป่า/แหล่งน้ำ/ทางน้ำ/พื้นที่ชุ่มน้ำ 3.การชะลอน้ำโดยใช้แก้มลิงและอ่างเก็บน้ำ 4.การใช้ประโยชน์ที่ดิน 5.การพยากรณ์เตือนภัย/ประกันความเสี่ยง 6.การป้องกันชุมชนเมือง และ7.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศและ 25 ลุ่มน้ำหลัก

นายรุ่งเรือง อิศรางกูร ณ อยุธยา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เห็นชอบในหลักการให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 3 ชุด เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการด้านการใช้ที่ดินและการป้องกันน้ำท่วม มอบหมายให้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช.เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และ 25 ลุ่มน้ำหลัก มีนายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานและ 3. คณะอนุกรรมการด้านการเกษตรและชลประทาน นายรุ่งรือง จะเป็นประธาน เพื่อดำเนินตามติ ครม.เมื่อ 7 พ.ย. 49 โดยจะต้องจัดทำแผนแม่บทในกรอบการบรรเทาอุทกภัยระยะกลางและระยะยาวให้แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2550

“กรอบใหญ่ในการบริหารจัดการน้ำนั้นได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว อย่างน้อยก็จะมี 3 เรื่อง ที่รัฐบาลชุดนี้อยากจะทำจากกรอบใหญ่ โดยตั้งเป็น 3 ชุดนี้ และจะดูว่าจะจัดลำดับความสำคัญอะไรก่อน และเสนอให้ทันปีงบประมาณ 2551 โดยเน้นเรื่องการป้องกันการพังทลายของดิน การปรับระบบการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับสภาวะน้ำ เช่นจะดูว่าการทำนาในภาคกลางจะปรับฤดูกาลอย่างไรหรือปรับพันธุ์พืชอย่างไรให้สู้น้ำให้ได้ เป็นต้น”

นายศิริพงศ์ หังสระพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า รองนายกฯ เร่งให้ดำเนินการแนวทางการบรรเทาอุทกภัยระยะกลางและระยะยาว สำหรับโครงการเมกกะโปรเจกส์น้ำทั้งระบบที่รัฐบาลชุดที่แล้วเห็นชอบให้ดำเนินการในงบประมาณ 2 แสนล้านบาทในวันนี้ไม่มีการพิจารณา ส่วนที่ว่าจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ขณะนี้รัฐบาลได้ให้นโยบายในการดำเนินการแบบเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่จะผันน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมไปยังเขื่อนลำตะคอง หรือข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นจะมีการพิจารณาศึกษาเปรียบเทียบเพื่อเป็นทางเลือกที่ทำได้อย่างรวดเร็วและประหยัด โดยบางโครงการอาจจะอยู่ท้าย ๆที่คณะอนุกรรมการจะพิจารณา โดยโครงการเมกะโปรเจกต์ระบบน้ำกระทรวงเกษตรฯจะเป็นผู้พิจารณาทั้งหมด

“ส่วนเรื่องงบประมาณที่ที่ประชุมขอให้ดำเนินการร่างเพื่อดำเนินการในปี 2551 นั้น เชื่อว่าจะดำเนินการได้ทันโดยเราจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน การจะพิจารณาพื้นที่ไหนเพื่อดำเนินการก็จะต้องไปสอบถามประชาชนด้วย ส่วนการบริหารทรัพยากรน้ำทั้งหมด โดยทั่วไปจะมีงบประมาณเพียง 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในปี 2550 แจกแจงไว้ที่สำนักงบประมาณแล้ว โดยเชื่อว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาได้พอสมควร” นายศิริพงศ์กล่าว

เชื่อ"อุ๋ย-โฆสิต"พาศก.ไทยรุ่ง

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่ารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจคือนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จะสามารถแก้ไขปัญหาและทำให้เศรษฐกิจดีกว่าช่วงก่อนมีการยึดอำนาจ

"เศรษฐกิจไทยไม่ร่อแร่แน่ แต่จะให้ถึงกับรุ่งเรืองหรือรุ่งโรจน์เลยก็คงจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ดีกว่าที่ผ่านมาแน่ๆ เพราะรัฐบาลชุดนี้มีข้อจำกัดอยู่หลายเรื่อง ทั้งด้านเวลา แล้วก็ดูจะอ่อนซ้อมอยู่บ้าง แม้จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง จึงไม่ควรที่เราจะคาดหวังอะไรที่สูงเกินไป"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.