จับตาอนาคตเออาร์ทีลอยเคว้งลุ้นรัฐยุบหรือเอา


ผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

จับตามองอนาคตเออาร์ที จะอยู่หรือจะไป หลังการเมืองเปลี่ยนแปลง เผยเอ็มดีลาออกอีกแล้วเป็นคนที่สอง พร้อมข่าวลือว่าระดับประธานและบอร์ดก็ออก คนวงในระบุ 3 ปัญหาใหญ่ทำเออาร์ทีสะดุด ชี้ขาดเงิน เป็นบริษัทธุรกิจแต่ไม่ให้แสวงหากำไร หัวเรือเปลี่ยนบ่อย ล่าสุดลดต้นทุนด้วยการย้ายสำนักงานไปอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์

บริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด หรือเออาร์ที/ART ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นต้องการที่จะให้บริษัทเออาร์ทีนี้เป็นบริษัทที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกระดับรากหญ้าหรือโชห่วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับโชห่วยในการต่อสู้กับค้าปลีกข้ามชาติที่แทรกซึมเข้ามาในระดับรากหญ้าซึ่งมีเงินทุน เทคโนโลยี อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า

แต่ในช่วงที่ผ่านมาเออาร์ทีเองก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลมาหลายคนแล้ว กระทั่งเมื่อรัฐบาลทักษิณถูกยึดอำนาจ ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่า เออาร์ที อาจจะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งในรัฐบาลชุดใหม่นี้ มีนายเกริกไกร จีระแพทย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องกำกับดูแลโดยตรง

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า สถานภาพของเออาร์ทีทุกวันนี้น่ากลัวยิ่งนักกับการดำรงอยู่ต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่รุนแรงขึ้นทุกวัน และยิ่งต้องมาเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยแล้ว ยังไม่รู้ว่าอนาคตเออาร์ทีจะเป็นอย่างไร ซึ่งปัญหาหลักๆของเออาร์ทีในขณะนี้คือ 1.ขาดเงินทุนที่จะนำมาหมุนเวียน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับมาจากรัฐบาลชุดก่อนในช่วงแรก 395 ล้านบาทนั้นคาดว่าจะใช้หมดแล้ว 2.การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงบ่อยๆทำให้ขาดความต่อเนื่อง 3.ปัญหาของนโยบายบริษัทฯที่ไม่มุ่งเน้นกำไร แต่ต้องช่วยเหลือ ซึ่งขัดกับความสามารถที่จะอยู่รอดได้

“เท่าที่รู้มาตอนนี้ รู้สึกว่า ภายในเองก็จะชะลอการดำเนินงานด้วย จทำอะไรมากก็ไม่ได้ เพราะคงต้องรอดูท่าทีและนโยบายของรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่นี้ว่าจะเอา จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิธีการดำเนินงานหรือไม่อย่างไร”

ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสว่า ระดับกรรมการและผู้บริหารต่างก็ได้ลาออกไปแล้วหลายคน ไม่ว่า จะเป็นนางเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทฯ และนางสาวลักขณา ลีละยุทธโยธิน กรรมการบริษัทฯ ต่างก็ไม่ค่อยมีบทบาทการบริหารเท่าใดแล้ว และมีข่าวลาออกจากบอร์ดไปแล้วด้วย ส่วนอีกคนคือ นายพิทักษ์ ตันพิบูลย์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ ก็ลาออกไปแล้วช่วงประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนายพิทักษ์นี้มาจากค่ายเซ็นทรัลก่อนที่จะมาบริหารที่เออาร์ที ซึ่งถือเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 2 ที่ลาออก เพราะก่อนหน้านี้ กรรมการผู้จัดการคนแรกซึ่งเป็นผู้ชายที่เป็นผู้บริหารมาจากแม็คโคร ก็ได้ลาออกไปแล้วหลังบริหารงานเออาร์ทีได้เพียงปีเศษเท่านั้น

ล่าสุดบริษัทได้แต่งตั้งให้นางสาวอภิญญาณ์ หงษาภรณีบุตร เป็นผู้จัดการบริษัท

ขณะเดียวกัน บริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็งยังได้ย้ายที่ทำการบริษัทจากเดิมที่อยู่ที่ตึกอิตัลไทยทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ย้ายมาอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ นนทบุรี เพื่อเป็นการลดต้นทุนลง จากที่ต้องเช่าพื้นที่ของเอกชนที่มีราคาค่อนข้างสูง

แหล่งข่าวจากกวงการค้าปลีกให้ความเห็นว่า วิธีการดำเนินงานของเออาร์ทีตั้งแต่แรกนั้นก็ผิดแล้ว แม้ว่าจะมีจุดประสงค์ที่ดีก็ตาม เพราะนโยบายที่ว่าจะให้ดำเนินธุรกิจโดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งในทางเป็นจริงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเมื่อเป็นธุรกิจทุกอย่างย่อมต้องมีต้นทุนทั้งนั้น ทั้งค่าจ้างคน ค่าสาธารณูปโภค ค่าดำเนินงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ต่างก็ลงทุนไปจำนวนมาก

ส่วนรายได้นั้นก็แทบจะไม่มี เนื่องจาก เออาร์ที ไม่ได้ใช้ระบบการขายแฟรนไชส์ แต่ใช้วิธีการหาสมาชิก ซึ่งมีรายได้เพียงแค่ 1% จากยอดการสั่งซื้อสินค้าจากสมาชิกเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มากมายอะไร

อย่างไรก็ตาม “ผู้จัดการรายวัน” ได้พยายามติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารของ เออาร์ที แล้ว แต่ก็ได้รับการปฎิเสธโดยเจ้าหน้าที่กล่าวแต่เพียงว่า ยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล

ทั้งนี้แผนการดำเนินงานและเป้าหมายของเออาร์ทีที่ประกาศไว้เมื่อช่วงต้นปีนี้ ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายแต่อย่างใด โดยตั้งเป้าหมายยอดขายจากทั้งระบบไว้สูงถึง 1,052 ล้านบาท ตั้งเป้ามีร้านค้าสมาชิกทั่วประเทศ 18,000 ร้านค้า โดยที่จะมีธุรกิจ 3 แบบที่ทำรายได้คือ 1.ร้านค้าต้นแบบ ตั้งเป้าจะมี 50 แห่งในสิ้นปีนี้ คาดหวังยอดขาย 77 ล้านบาท 2.ร้านค้าสมาชิก จะมีรายได้ประมาณ 900 ล้านบาท และ 3. ส่วนของสินค้าโอทอป คาดหวังรายได้ปีนี้ 75 ล้านบาท

ผู้บริหารของเออาร์ทีเคยกล่าวไว้ว่า ในระยะยาว 3 ปีนับจากนี้ ต้องการที่จะสร้างเครือข่ายสมาชิกของเออาร์ทีให้ได้ถึง 30,000 ร้านค้าทั่วประเทศ พร้อมกับผลักดันยอดขายให้สูงถึง 2,000 ล้านบาท จากเมื่อสิ้นปี 2548 ปีที่แล้วรายได้ของ เออาร์ทีมีการเติบโตที่สูงมากถึง 1,274% มียอดขายประมาณ 660 ล้านบาท ด้วยจำนวนเครือข่ายสมาชิกกว่า 15,000 ร้านค้า เทียบกับปี 2547 ปีแรกที่เปิดดำเนินการมียอดขายประมาณ 53 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.