|

คดีหุ้นชินคอร์ปพบเงื่อนงำ จับ "โอ๊ค-เอม"ขึ้นเขียง แค่มวยล้มต้มคนดู!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
* คดีเรียกเก็บภาษี "โอ๊ค-เอม"จากการขายหุ้นชินคอร์ป พบปริศนาที่ทำให้นักกฎหมายภาษีฟันธง คดีซุกหุ้นภาค 2 "ทักษิณและเครือญาติ"หลุดแน่
* ที่สำคัญเป็นการ "หลุด"ที่เจ้าหน้าที่รัฐจงใจกระทำ!? ทั้งในเงื่อนเวลาและข้อกฎหมายที่ช่วยให้ฝ่าย "ทักษิณ"เป็นต่อทุกประตู
* เกมนี้ "ทีมกุนซือ"ทักษิณ ได้ใช้ความรอบรู้โกงชาติได้แนบเนียมที่สุด ตั้งแต่ขั้น "โอน-ซื้อ-ขาย"หุ้น....รวมไปถึงการสู้ในชั้นศาลภาษี พวกเขาพร้อมพิสูจน์ความเชี่ยวกรากกับฝ่ายครองอำนาจแล้ว !
การตามล่าเก็บภาษีจากการที่ตระกูลชินวัตรขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์ มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท เมื่อ 23 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ที่เดิมกรมสรรพากรออกมาแถลงว่าธุรกรรมดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี ต่อเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป มีการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 พร้อมกับได้รัฐบาลใหม่ กระบวนการในการติดตามภาษีจากการขายหุ้นของบุคคลในครอบครัวชินวัตรจึงเริ่มต้นขึ้น
แม้กระทั่งกรมสรรพากรที่เคยออกมายืนยันเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ว่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี แต่ถึงที่สุด ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากรคนเดิม ก็กลับลำด้วยการทำหนังสือถึงพานทองแท้และพิณทองทา ชินวัตรให้มาชำระภาษีเมื่อ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ระบุว่าพบหลักฐานใหม่ ขัดแย้งกับกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ที่ออกมากล่าวว่าทางกรมสรรพากรไม่ได้มีหลักฐานใหม่แต่อย่างใด
เรียกน้ำย่อยฟัน"บรรณพจน์"
การดำเนินการเพื่อติดตามเงินภาษีอากรจากตระกูลชินวัตร เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หลังจากที่ คตส. มีมติให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้จากบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่ได้ซื้อหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท แต่ไม่ได้ชำระภาษี โดยให้เรียกเก็บภาษีจำนวน 546.12 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพ่วงด้วยการกล่าวโทษพจมาน ชินวัตร บรรณพจน์ ดามาพงศ์และดวงตา วงศ์ภักดี ในฐานะสมคมและแจ้งความอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ดูเหมือนการทำงานของ คตส. จะเริ่มต้นได้ถูกใจบรรดากองเชียร์หลายฝ่าย แต่เรื่องนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน ที่เปิดทางให้ผู้เสียภาษีได้สู้ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาอีก 30 วันที่เปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีมาชี้แจง และหากผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ จากนั้นจึงถึงขั้นตอนทางศาล กว่ากระบวนการจะสิ้นสุดคงต้องใช้เวลาอีกระยะ
อย่างไรก็ดีธุรกรรมของบรรณพจน์ถือว่ามีความซับซ้อนน้อย หากเทียบกับคดีใหญ่อย่างการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์ ซึ่งมีความซับซ้อนทั้งตัวธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับกระบวนการทางภาษี ดังนั้นการดำเนินการที่จะติดตามภาษีจากการขายหุ้น SHIN ของตระกูลชินวัตร อาจจะไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเหมือนกรณีของบรรณพจน์ ดามาพงศ์
เนื่องจากก่อนการเสนอขายให้กับนักลงทุนสิงคโปร์รายนี้ คณะทำงานของตระกูลชินวัตรย่อมเตรียมการในเรื่องเหล่านี้มาอย่างดี เพื่อไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดที่จะตามมาภายหลัง และแม้ว่าหัวหน้าครอบครัวอย่างทักษิณ ชินวัตร จะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลุ่มที่ต้องการเช็คบิลย้อนหลังก็ไม่สามารถเอาผิดกับธุรกรรมนี้ได้
ฟันลูกทักษิณไม่หมู
นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงและผู้บริหารระดับสูงในเครือชินคอร์ป กล่าวว่า การติดตามภาษีจากกรณีการขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาทนั้นคงทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากการขายเมื่อ 23 มกราคม 2549 มีการวางแผนและศึกษาถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ มาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบในการขาย ที่เทมาเส็กไม่เสนอซื้อโดยตรงจากแอมเพิลริช เนื่องจากแอมเพิลริชเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจ โดยมิได้มีการประกอบกิจการในประเทศไทย จะเข้าข่ายของอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15%
ดังนั้น คณะทำงานของพ.ต.ท.ทักษิณ จึงเสนอเปลี่ยนรูปแบบโดยให้แอมเพิลริชขายหุ้นให้กับพานทองแท้และพิณทองทา ชินวัตรที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแอมเพิลริชในราคาพาร์ 1 บาท จากนั้นให้เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ มาซื้อต่อจากพานทองแท้และพิณทองทา เนื่องจากการขายหุ้นของบุคคลธรรมดาในตลาดหลักทรัพย์แม้จะมีส่วนต่างกำไรก็ได้รับการยกเว้นเรื่องภาษี
เช่นเดียวกันในฝั่งของผู้ซื้อ ที่อาจติดเงื่อนไขทางกฎหมายในเรื่องของสัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศสูงเกินกว่า 49% จากการเข้ามาถือครองหุ้นใหญ่ในชิน คอร์ป จึงมีการออกแบบให้มีการตั้งบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์และแอสเพน โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย โดยในซีดาร์ โฮลดิ้งส์ได้ออกแบบให้กุหลาบแก้วและธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาแสดงสถานะของความเป็นผู้ถือหุ้นคนไทย
โครงสร้างการขายในครั้งนั้นเกิดขึ้นมาได้จากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศเข้ามาประกอบเป็นรูปคณะทำงานซึ่งมีทั้งนักกฎหมายมือดี นักการเงิน วาณิชธนากรชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจากกรมสรรพากรบางคน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เข้ามามีส่วนร่วมในการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย
"ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าอำนาจของคุณทักษิณที่มีอยู่ในขณะนั้น เป็นใครก็ยากที่จะปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือ ถึงแม้ว่าวันนี้คุณทักษิณจะถูกยึดอำนาจแล้วก็ตาม แต่หากพิจารณาจากโครงสร้างและเงื่อนไขของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เหลือระยะเวลาทำงานอีกราว 10 เดือน และยังมีความไม่แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมาได้อีกหรือไม่"
3 ช่องทางหลุดคดี
แหล่งข่าว ระบุว่า สิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้คือขั้นตอนแรกของกระบวนการในการต่อสู้ ที่ คตส.เปิดฉากรุกเพื่อเอาผิดครอบครัวชินวัตร และมีความเป็นไปได้สูงว่าท้ายที่สุดของการต่อสู้คดีอาจไม่พบความผิดจากการหลีกเลี่ยงภาษีของตระกูลนี้
"คดีนี้มีองค์ประกอบหลายด้านที่เอื้อต่อการต่อสู้ของตระกูลชินวัตร ที่สามารถพลิกกลับมาสู้คดีได้โดยไม่เสียเปรียบ ทั้งจากข้อต่อสู้ทางกฎหมาย ที่มีเอกสารและหลักฐานชัดเจน เงื่อนเวลาและสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ระหว่าง 5 ปีของการบริหารประเทศ ทักษิณ ชินวัตรได้ปูฐานไว้อย่างหนาแน่น"
ดังนั้น คดีนี้จึงมีโอกาสหลุดประการแรกคือเรื่องของเงื่อนเวลา ที่แน่นอนว่าผู้ถูกล่าวหาคือครอบครัวชินวัตรย่อมต้องสู้อย่างแน่นอน ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลชุดนี้มีระยะเวลาในการทำงานอีกไม่ถึงปี ซึ่งไม่ยาวพอที่จะอยู่ถึงจนคดีถึงที่สุด เช่นเดียวกับอำนาจของ คตส. ดังนั้นอำนาจในการเร่งรัดคดีหลังจากรัฐบาลชุดนี้พ้นไปแล้วย่อมลดลง
ที่สำคัญเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามปกติพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ไทยรักไทยจะกลับมาได้หรือไม่ หากกลับเข้ามาได้ก็ถือได้ว่าคดีนี้จบแล้ว หรือพรรคการเมืองอื่นเข้ามาเป็นรัฐบาล จะดำเนินคดีต่อเนื่องและจริงจังหรือไม่ เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ทั้งนั้น
ประการต่อมา ที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่าคดีนี้จะหลุดหรือไม่ นั่นคือกรมสรรพากรในฐานะต้นเรื่อง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการฟ้องร้องเพื่อเรียกภาษีคืน อธิบดีกรมสรรพากรคือคุณศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ คนเดิมกับที่เคยออกมาร่วมแถลงข่าวว่าการขายหุ้นชิน คอร์ป ไม่ต้องเสียภาษี แถมวันนี้ยังได้รับความไว้วางใจจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ทำหน้าที่ต่อ
แม้จะมีการกลับลำของอธิบดีกรมสรรพากร ทำหนังสือเรียกให้พานทองแท้และพิณทองทา ชินวัตร มาชำระภาษี แต่ขั้นตอนนี้ยังวัดอะไรไม่ได้ ต้องวัดกันที่การฟ้องดำเนินคดีว่าฟ้องในมาตราใด ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นเรื่องการใช้เทคนิคทางกฎหมายเป็นองค์ประกอบสำคัญ
โดยสรรพากรให้เหตุผลว่าการขายหุ้นระหว่างแอมเพิลริชกับพานทองแท้และพิณทองทา ส่วนต่างราคานั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 ในประมวลรัษฎากร ที่หมายถึง เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษี หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเทศต่าง ๆ
เงินได้ตามมาตรา 39 คำจำกัดความค่อนข้างกว้างเกินไป เมื่อเทียบกับมาตรา 40 ที่จะระบุลักษณะของเงินได้พึงประเมินที่เจาะจงลงไปมากกว่า เช่น มาตรา 40(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่นบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่น เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว หรือ มาตรา 40(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้
เนื่องจากมาตรา 40(2) และ (8) จะระบุได้ชัดเจนกว่ามากกว่ามาตรา 39 ขณะนี้นักกฎหมายภาษีต่างจับตากรมสรรพากรอยู่ว่าเมื่อถึงขั้นตอนของการฟ้องร้องกันแล้ว ทางกรมสรรพากรจะฟ้องบังคับคดีด้วยมาตราใด เพราะมาตรา 40 ทั้ง 2 วงเล็บแม้จะเสียภาษีเท่ากัน แต่มีข้อแตกต่างกันคือ มาตรา 40(2)ไม่ต้องยื่นภาษีกลางปี หากเข้าข่ายมาตรานี้ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีและเบี้ยปรับตามระยะเวลาที่ไม่ยื่นรายการภาษี
ขณะที่มาตรา 40(8)ต้องยื่นภาษีกลางปีคือสิ้นเดือนกันยายน 2549 ดังนั้นระยะเวลาจากเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนถือเป็นการเปิดช่องให้พานทองแท้และพิณทองทาอ้างได้ว่าลืมยื่นภาษี ดังนั้นการเดินเรื่องของกรมสรรพากรจึงมีความสำคัญมากต่อการเอาผิดในกรณีดังกล่าว หากต้องการช่วยเหลือกันก็เลือกใช้มาตรา 40(8) แทนมาตรา 40(2)
"ตอนนี้นักกฎหมายภาษีมีการคุยกันแล้วว่า กรมสรรพากรจะใช้มาตรา 40(8) ซึ่งเริ่มไม่รู้ว่าผู้บริหารคิดกันอย่างไร ซึ่งถ้าฟ้องมาตรานี้เมื่อสู้กันในชั้นศาล ฝ่ายคุณทักษิณ ได้เปรียบแน่"
ประการสุดท้ายของโอกาสในการหลุดคดีมาจาก 2 เหตุผลแรก แต่น้ำหนักจะไปอยู่ที่กรมสรรพากรมากที่สุด หากสรรพากรเลือกบังคับดีด้วยมาตราที่ไม่ตรงกับฐานความผิด รวมถึงไม่สามารถหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงเจตนาในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีได้ โอกาสหลุดคดีในชั้นศาลก็มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากเป็นการฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมาย
แนะตั้งทีมเฉพาะกิจ
ขณะเดียวกันนักกฎหมายชื่อดังอีกราย กล่าวว่า หากคมช.หรือรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการให้คดีนี้หลุดเพราะการยึดอำนาจครั้งนี้ เพื่อปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น ไม่ควรปล่อยให้กรมสรรพากรดำเนินการแต่เพียงลำพัง และควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาประเด็นในการฟ้องร้องและสามารถดำเนินการกับผู้ที่กระทำความผิดให้รอบคอบว่าจะใช้มาตราใดที่จะฟ้องร้อง และโอกาสในการหลุดคดีจากการใช้มาตราดังกล่าวมีมากน้อยเพียงใด
"การปล่อยให้กรมสรรพากรทำหน้าที่โดยลำพัง อันเนื่องมาจากหน่วยงานนี้มีหน้าที่ในการติดตามเงินภาษีอากรโดยตรงนั้น อาจไม่เป็นผลดีต่อคดี เพราะไม่มีใครรู้ว่าคนในสรรพากรคนใดยังมีความจงรักภักดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีอยู่หรือไม่ และถ้ามีการฟ้องผิดมาตราจะด้วยความจงใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม คดีนี้จะหลุดทันที"
เมื่อมีคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาในเรื่องประเด็นการฟ้องร้อง โดยหารือร่วมกับกรมสรรพากร กำหนดกรอบและประเด็นการฟ้องร้องให้รัดกุมโอกาสที่คดีนี้จะหลุดก็มีน้อย
จับตากระบวนการ "ซูเอี๋ย"
นอกจากนี้ด้วยเงื่อนไขของระยะเวลาบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน คดีเรียกภาษีจากการขายหุ้นชิน คอร์ป ทั้งของบรรพจน์ ดามาพงศ์และพานทองแท้ พิณทองทา ชินวัตร สามารถออกมาได้หลายรูปแบบ
เพราะนี่คือเกมที่ต่างคนต่างเล่นกัน อาจจะหลุดทั้ง 2 คดีหากรัฐบาลปัจจุบันหมดวาระ หรือเพื่อให้ทุกฝ่ายสมประโยชน์ด้วยกัน เช่น คดีของบรรณพจน์อาจโดนเรียกเก็บภาษี เพราะเงินแค่ 546.12 ล้านบาทเป็นเรื่องเล็กมากและถือว่าไม่ใช่คนของตระกูลชินวัตรโดยตรง
ส่วนคดีแอมเพิลริชกับพานทองแท้และพิณทองทานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จะต่อสู้กันจนหลุดคดี เพราะเขาปรารภกับคนใกล้ชิดว่าถ้าคดีนี้แพ้เท่ากับคนในตระกูลชินวัตรโกงภาษี ซึ่งจะส่งผลลบต่อการกลับมาสู่เส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร
"ถ้าต้องเสียภาษีในส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องของการเสียดายเงิน แต่เป็นเรื่องศักดิ์ศรีและวงตระกูลของเขาต้องถูกตราหน้าว่าเป็นคนโกงชาติ สังคมก็เชื่อและเหยียดหยันในทันที แต่ถ้าเขาหลุดคดีก็แปลว่าเขากระทำถูกต้องชอบธรรม ชื่อเสียงที่เสียไปจากการถูกยึดอำนาจจะกลับมาทันที" แหล่งข่าว ระบุ และย้ำว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มั่นใจมากว่าคดีนี้เขาเป็นฝ่ายชนะแน่ เพราะมี "กุนซือ"ที่เจนจัดและยังมีรัฐมนตรีบางคน และข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลังให้ความร่วมมือ
ดังนั้น หากการตัดสินออกมาในลักษณะนี้ ถือว่าทุกฝ่ายไม่เสียหาย เพราะกรมสรรพากรก็ถือว่าได้ทำตามหน้าที่ระดับหนึ่งสามารถติดตามเงินของชาติกลับคืนมาได้ คตส.และรัฐบาลก็ได้ผลงานระดับหนึ่งที่มีความตั้งใจจริงที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ส่วนครอบครัวชินวัตรก็แค่ยอมเสียแค่ 546 ล้านบาทเท่านั้น ดีกว่าต้องเสียกว่าหมื่นล้านบาทจากคดีของพานทองแท้และพิณทองทา
**************
ทุนสิงคโปร์ แฮปปี้เมืองไทย 10 เดือน BOI อนุมัติกว่า1.3 หมื่นล้าน !
BOI ชี้ดีลฯเทมาเส็กกระทบนักลงทุนสิงคโปร์แค่ระยะสั้น พร้อมเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย เผยยอด10เดือน ทุนสิงค์โปร์ได้บีโอไอกว่า 1.3หมื่นล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่สาขาอิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า ดึงดูดนักลงทุนมากที่สุด
กรณีเทมาเส็กซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์เข้าซื้อหุ้นชินคอร์ปเมื่อเดือนม.ค.2549 ที่ผ่านมาจนเกิดกระแสต่อต้านจากหลายภาคส่วนว่าเป็นการซื้อขายที่ไม่โปร่งใส แต่ปัญหาดังกล่าวมิได้กระทบต่อภาคการลงทุนของนักธุรกิจสิงคโปร์ในไทย ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากข้อมูลทางสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย และการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา
ครึ่งปีแรก ธปท.ยกสิงคโปร์ลงทุนอันดับหนึ่ง
จากสถิติธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือน มกราคม-มิถุนายน ปี2549 ระบุว่ามีการไหลเข้าของเงินลงทุนจากสิงคโปร์มากเป็นอันดับหนึ่งจํานวน 93,839.68 ล้านบาท เนื่องจากมีบริษัทของสิงคโปร์เขามาซื้อหุ้นในกิจการโทรคมนาคมเป็น มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท และจากสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม BOI ปี2549 (มกราคม-มิถุนายน) ในแง่ของมูลค่าการลงทุนสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 4 รองจากประเทศ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไต้หวัน
สำหรับปริมาณการลงทุน ( จำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น ) สิงคโปร์ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในปี 2549 (ม.ค. - มิ.ย.) มีทั้งสิ้น 42 โครงการเพิ่มขึ้นจากปี2548 ( มกราคม - มิถุนายน ) จำนวน 3 โครงการ หากคิดมูลค่าการลงทุนในขั้นคำขอทั้งสิ้น 18,504.2 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่าเท่าตัว โดยคำขอนักลงทุนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ลงทุนในโครงการขนาดกลางที่มีมูลค่าการลงทุน 100-499 ล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไปที่BOI อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนได้แก่โครงการลงทุนผลิต Hard Disk Drive ของบริษัท MAGNECOMPPRECISION TECHNOLOGY PLC. มีมูลค่าการลงทุน 2,361.9 ล้านบาทส่งออกร้อยละ100 มีกำลังการผลิต 300 , 643 , 200 ชิ้นและเพิ่มการจ้างแรงงานไทย 2,473 คน
หากพิจารณารายสาขาที่ชาวสิงคโปร์สนใจลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้านักลงทุนสิงคโปร์ยื่นคําขอรับการส่งเสริมการลงมากเป็นอันดับหนึ่งโดยมูลค่าทั้งสิ้น 12,195.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65.9 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด อย่างไรก็ตามแนวโน้มการลงทุนโดยตรงสูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อยซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่านักลงทุนสิงคโปร์หันกลับมาให้ความสนใจมาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง
BOI อนุมัติทุน ' สิงคโปร์ ' มากกว่าปีที่แล้ว !
เมื่อดูข้อมูลการขอรับส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนชาวสิงคโปร์ในรอบ10เดือนที่ผ่านมาพบว่า เดือนมกราคม 2549 มีชาวสิงคโปร์มาของรับการส่งเสริมการลงทุน 7 รายจำนวนเงิน 5, 259 ล้าน และอนุมัติจริงจำนวน 5 รายเงินลงทุนจำนวน 1,142 ล้าน เดือนกุมภาพันธ์ขออนุมัติส่งเสริมฯ เพิ่มเป็น13รายจำนวนเงินที่ขอ10,360 ล้านแต่อนุมัติจริง 8 ราย และอนุมัติให้ส่งเสริมฯเพิ่มเป็น 1,246 ล้านบาท เดือนมีนาคมเพิ่มจำนวนเป็น 17 รายและขออนุมัติเงินที่ขอส่งเสริมการลงทุนจำนวน 12 ,741ล้านแต่อนุมัติจริง 12 ราย เงินที่อนุมัติ 1,825 ล้าน ต่อมาเดือน เมษายนขอรับการส่งเสริมฯเพิ่มเป็น 23 รายจำนวนเงินที่ขอ 14, 002 ล้านแต่อนุมัติจริง 14รายและอนุมัติเงินส่งเสริมลงทุนเพิ่มเป็น 1,843 ล้าน
ขณะที่เดือนพฤษภาคมมาขอรับส่งเสริมฯอีก 35 ราย จำนวนเงิน 17,709 ล้านแต่อนุมัติจริงแค่ 23 ราย จำนวนเงินที่อนุมัติให้การส่งเสริมฯ 6,569 ล้าน เดือนมิถุนายนมาขอรับการส่งเสริมฯจำนวน 42 รายจำนวนเงินลงทุน 18,504 ล้าน แต่อนุมัติจริงจำนวน 26 รายงบประมาณที่ให้การส่งเสริมเพิ่มเป็น 6,649 ล้าน ส่วนเดือนกรกฎาคมมีนักลงทุนชาวสิงคโปร์มารับการขอส่งเสริมเพิ่มเป็น 46 รายจำนวนเงินที่ขอ 19,198 ล้านแต่ได้อนุมัติจริง 34 รายจำนวนเงิน 9,976 ล้าน
เดือนสิงหาคมขอรับการส่งเสริมเพิ่มเป็น 55 รายจำนวนเงินที่ขอรับส่งเสริมฯ19,837 ล้านแต่อนุมัติจริงเพิ่มเป็น 44 รายจำนวนเงินที่อนุมัติคือ 13,241ล้าน ขณะที่เดือนกันยายนเพิ่มขึ้นเป็น 63รายจำนวนเงินที่มาขอรับการส่งเสริมเป็น22,063ล้าน แต่ได้อนุมัติจริง48 รายจำนวนเงินอนุมัติคือ 13,619 ล้าน และเดือนตุลาคม มีคนสิงคโปร์มาขอรับส่งเสริมฯเพิ่มเป็น 74 รายจำนวนเงิน24,055 ล้านแต่อนุมัติจริง 50รายและจำนวนเงินที่อนุมติมาตั้งแต่มกราคม ถึงตุลาคมเพิ่มเป็น 13,637 ล้าน แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี2548 (ม.ค.-ต.ค.)ที่อนุมัติไปจำนวน 56 รายส่วนเงินที่ได้รับการอนุมัติไปจำนวน 11,418 ล้าน ซึ่งปี2549 BOI ยังให้การสนับสนุนนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์มากกว่ากว่าปี่ที่แล้ว
ดีลฯเทมาเส็กกระทบแค่ระยะสั้น!
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูง BOI มองถึงการเข้ามาลงทุนของชาวสิงคโปร์ในช่วง10เดือนที่ผ่านมาถือว่ายังไปได้ดีหากดูจากยอดการขอรับการส่งเสริมจาก BOI ก็สูงขึ้นหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกัน (ม.ค. -ต.ค.)เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็อาจจะมีนักลงทุนบางกลุ่มลังเลว่าคนไทยจะต้อนรับเขาหรือไม่เป็นในแง่จิตวิทยาที่กระทบต่อนักลงทุนในระยะสั้นๆเท่านั้น
" ปฏิกิริยานักลงทุนชาวสิงคโปร์ต่อกรณีเทมาเส็กมีผลกระทบน้อยมากเพราะหากนักลงทุนเหล่านี้เข้ามาลงทุนแบบถูกกฎหมายไทยเขาจะไปกลัวอะไร แต่พวกที่กลัวจะได้รับผลกระทบคงต้องดูว่าเขากลัวอะไร หรือกลัวเพราะทำผิดกฎหมายแบบเดียวกับกรณีเทมาเส็กใช่หรือไม่ "
ส่วนการร่วมทุนระหว่างสิงคโปร์กับไทย นั้น เขาเชื่อว่า สิงคโปร์ยังมีความหวังกับไทยมาก โดยไม่มีความเป็นห่วงเรื่องความสามารถในการดำเนินธุรกิจของไทย เพราะภาคธุรกิจของไทยยังแข็งแรง เห็นได้จากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของไทยอาจจะสิ้นสุดหรือใกล้สิ้นสุดแล้วทำให้ไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นต่ออีกหรือไม่
**************
"เทมาเส็ก"แก้ลำลดสัดส่วนบริษัทลูก
เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ทำทุกวิถีทางลดแรงกดดัน พยายามแก้ทุกเปราะที่เป็นปัญหา ทั้งไทยแอร์เอเชีย กุหลาบแก้ว แคปปิตอลโอเค ที่เหลือรอแก้ที่ตัวชิน คอร์ป รอขายให้กลุ่มคนไทยได้ทุกอย่างจบ แต่ฝั่งไทยรอของถูกหลังปมปัญหาเริ่มปูด
ภายหลังการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN จำนวน 1,487 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.595% ที่ราคาหุ้นละ 49.25 บาท ของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์ มูลค่า 7.32 หมื่นล้านบาท จนนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง แม้ว่าขั้นตอนในการเตรียมการจะดีแล้วก็ตาม
โดยเฉพาะในฝั่งผู้ซื้อที่มีการวางโครงสร้างให้กับบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัดและบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เพื่อให้ผู้ซื้อดังกล่าวมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51% เนื่องจากกิจการของชิน คอร์ป เกี่ยวข้องกับธุรกิจสัมปทานที่กำหนดให้มีสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศไม่เกิน 49%
เมื่อถูกท้วงติงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในซีดาร์ โฮลดิ้งส์ ที่มีบริษัทกุหลาบแก้ว ถือหุ้นใหญ่โดยคนไทยอย่างพงส์ สารสินและศุภเดช พูนพิพัฒน์ ที่เหลือเป็นสิงคโปร์ และอำนาจในการลงมติต่าง ๆ ตกอยู่ที่ฝ่ายสิงคโปร์เป็นหลัก ทำให้ต้องมีการแก้เกมด้วยการเพิ่มทุนแล้วดึงเอาสุรินทร์ อุปพัทธกุล เข้ามาร่วมถือหุ้นเพื่อลดสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศ
แต่เมื่อขั้นตอนการซื้อหุ้นเดินหน้าถึงขั้นทำ Tender offer ทำให้กลุ่มเทมาเส็กถือครองหุ้นชิน คอร์ป กว่า 96% ดังนั้นจึงถูกแรงกดดันทั้งจากภาคสังคมและภาคการเมืองในประเทศไทย จนกลุ่มเทมาเส็ก ได้ออกมาแสดงเจตนาที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้น SHIN ลง
ที่ผ่านมามีนักลงทุนไทยประเภทสถาบันหลายแห่งให้ความสนใจ แต่ทุกฝ่ายต่างรอให้สถานการณ์ทุกอย่างชัดเจนกว่านี้ และรอให้ราคาเสนอขายต่ำมากที่สุด
อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 19 กันยายน 2549 หลังจากนั้นเทมาเส็กได้เปิดชื่อของ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ ที่ระว่าเป็นรองราชเลขาธิการและที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เข้ามาเป็นที่ปรึกษา แต่สุดท้ายก็ต้องถอนตัวไปหลังจากกองกิจการในพระองค์ แจ้งถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ ม.ร.ว.ทองน้อย
ดังนั้น เรื่องการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SHIN ยังคงค้างอยู่ ที่รอผู้สนใจจากฝั่งไทยให้เข้ามาซื้อ แน่นอนว่าการซื้อด้วยราคา 49.25 บาทและทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์อีกใช้เงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท เมื่อต้องขายในราคาตลาดที่ราว 30 บาทเทมาเส็กย่อมขาดทุนไปไม่น้อย ขณะที่ผู้สนใจก็ต้องการซื้อในราคาที่ต่ำกว่านี้ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในธุรกิจของกลุ่มชิน คอร์ป อีกหลายเรื่องหลังจากที่ทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจ
อย่างไรก็ตามภายหลังจากการขายหุ้นให้เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ปัญหาหลายด้านก็ตามมาจากกิจการที่เป็นบริษัทย่อยของชิน คอร์ป ซึ่งทางฝ่ายของเทมาเส็กต่างพยายามเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศที่ถือหุ้นเกินกว่า 51% เพราะกิจการของเครือชิน คอร์ป หลายบริษัทเป็นลักษณะของบริษัทร่วมทุนที่มีต่างชาติร่วมถือหุ้นอยู่แล้ว 49%
กิจการที่ประเดิมต้องแก้ลำด้วยการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่คือ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ด้วยการตั้งบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ถือหุ้นแทนชิน คอร์ป ซึ่งบริษัทนี้ ชิน คอร์ป ถือหุ้นร้อยละ 49 และสิทธิชัย วีระธรรมนูญ ร้อยละ 51 เพื่อแก้ปัญหาจนสามารถทำการบินได้
นับเป็นการแก้เกมทางกฎหมายเพื่อลดข้อครหาสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศเกินกว่ากฎหมายไทยกำหนด ซึ่งในช่วงที่ยังไม่ตั้งเอเชีย เอวิเอชั่น ทางไทยแอร์เอเชียก็ยังคงบินได้ตามปกติ ภายใต้การกำกับดูแลของพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลูกพรรคไทยรักไทย
จากในวันที่ 2 ตุลาคม 2549 บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN ได้ทำการซื้อหุ้นในบริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด ต่อจากดีบีเอส แบงก์ ลิมิเต็ด(DBS) ในสัดส่วน 24.69% โดยให้เหตุผลว่า เป็นไปตามเงื่อนไขที่สอดคล้องกับสัญญาระหว่างกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และเอื้อให้แคปปิตอล โอเค ได้ประโยชน์จากกลุ่มบริษัทชิน คอร์ป ได้อย่างเต็มที่
เดิมแคปปิตอล โอเค เป็นการร่วมทุนระหว่างชิน คอร์ปกับดีบีเอส แบงก์ ในสัดส่วน 60:40 ที่ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ต่อมาได้มีการเพิ่มทุนอีกเป็น 4,050 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนของดีบีเอส แบงก์ เหลือเพียง 24.69% โดยการซื้อหุ้นต่อจากดีบีเอส แบงก์ ในครั้งนี้เสนอซื้อที่ราคา 66.50 บาทต่อหุ้นเป็นเงิน 665 ล้านบาท จากราคาที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท เท่ากับว่าดีบีเอส แบงก์ขายขาดทุน 335 ล้านบาทขาดทุนไปหรือ 33.5%
อย่างไรก็ตามเนื่องจากดีบีเอส แบงก์ เป็นธนาคารพาณิชย์ของสิงคโปร์ที่เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ 28% เท่ากับการขายครั้งนี้ เป็นการจัดโครงสร้างของแคปปิตอล โอเค กันใหม่ ทำให้ชิน คอร์ปถือหุ้นโดยตรง 99.99% ลดข้อครหาเรื่องสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศในแคปปิตอล โอเค ได้ระดับหนึ่ง
แม้ว่ากิจการอื่นที่ยังคงติดปัญหาเรื่องสัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศ เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) หรือ SATTEL บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) หรือ ITV และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด(มหาชน) หรือ CSL รวมถึงแคปปิตอลโอเค ตรงนี้หากทางเทมาเส็ก สามารถหาผู้ซื้อคนไทยได้สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศในบริษัทเหล่านี้จะลดลงไปโดยอัตโนมัติ
นี่คือการแก้เกมของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ที่ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการลงทุนครั้งใหญ่ ที่ขาดทุนจากการเข้าซื้อชิน คอร์ป ไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|