"ปริญญาตรีภาษาอังกฤษ สินค้าใหม่ตลาดการศึกษา"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

หลักสูตรปริญญาตรีภาคภาษาอังกฤษที่เปิดสอนโดยมหาวิทยาลัยของรัฐ กำลังกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการศึกษาที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากผู้ปกครอง ที่มีกำลังซื้อและปรารถนาที่จะสร้างความพร้อมต่อการแข่งขันในอนาคตให้กับบุตรหลานของตน

แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าหลักสูตรปกติในภาคภาษาไทยถึง 15 เท่าตัว แต่ยอดผู้สมัครที่สูงเกินกว่าคาดหมายก็เป็นเครื่องชี้ทิศทางความสำเร็จในอนาตของหลักสูตรประเภทนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว และทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสนใจ

มองกันในแง่มุมของธุรกิจแล้ว ถือว่านี่คือการขยายโปรดักส์ไลน์ใหม่ ต่อจากหลักสูตรเอ็มบีเอที่มีอยู่ในแทบทุกสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนจนกลายเป็นสินค้าโหลๆ ไปแล้ว แถมยังเป็นสินค้าที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่ภาษาอังกฤษ และหลักสูตรการศึกษาที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศคือความได้เปรียบในการแข่งขัน

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจหรือเอแบคเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จนได้รับการยอมรับในความสำเร็จที่วัดจากตำแหน่งหน้าที่การงานของบรรดาศิษย์เก่า

"ความพยายามตลอด 22 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความไม่เป็นที่สองรองใครของเราได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า รู้สึกหนาวเหมือนกันที่ได้ยินข่าวการเปิดโครงการแบบเดียวกันของมหาวิทยาลัยของรัฐ ทั้งนี้เพราะเรื่องค่านิยมที่ยึดติดกับความเป็นธรรมศาสตร์หรือจุฬา อย่างไรก็ตามไม่คิดว่าจะมีผลกระทบต่อเอแบคมากนักเพราะผมไม่เคยประมาท" วินธัย โกตระกูล คณบดีคนปัจจุบันของคณะบริหารธุรกิจของเอแบคกล่าว

มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐสถาบันแรก ที่เปิดหลักสูตรปริญญาตรีภาษาอังกฤษในนามของวิทยาลัยนานาชาติ แต่ที่เปรียบได้กับคู่แข่งโดยตรงของเอแบคก็คือ หลักสูตรของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือบีบีเอซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2535

แม้ค่าหน่วยกิตจะสูงถึง 1,200 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 280,000 บาทสำหรับเวลา 4 ปี แต่ก็ถูกกว่าการข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนที่ต่างประเทศหลายเท่าตัว ปีแรกของโครงการจึงมีผู้สมัครเกือบ 2,000 คน ในขณะที่รับได้เพียง 80 คนเท่านั้น

ผู้สมัครส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนที่ฟังแค่ชื่อก็พอการันตีถึงความมีฐานะได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเซ็นต์คาเบรียล มาแตร์ฯ หรือสวนกุหลาบ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นบุตรหลานชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย

"กว่าร้อยละ 50 เป็นเด็กที่สอบเอ็นทรานซ์ได้แต่สละสิทธิเพื่อมาเรียนในโครงการนี้" กุลภัทรา สิโรดม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโครงการบีบีเอกล่าว

ส่วนปีนี้คาดว่ายอดผู้สมัครจะไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว โดยสามารถรับเพิ่มได้เป็น 90 คน สำหรับการเปิดสอนในสาขาการบัญชี และการเงินการธนาคาร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออสติน แห่งเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

ลักษณะการสอบเข้าที่นี่ แยกเป็นเอกเทศไม่ได้ขึ้นกับทบวง ไม่เพียงเป็นการเพิ่มทางเลือก หรือโอกาสในการศึกษาต่อในมหาวิทยลัยของรัฐเท่านั้นแต่ค่าหน่วยกิตที่ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยระเบียบทางราชการเหมือนเช่นหลักสูตรปกติ เป็นแหล่งที่มาของรายได้จำนวนไม่น้อยที่คณะสามารถนำไปใช้จ่ายได้โดยอิสระ เพราะถือว่าเป็นรายได้นอกงบประมาณ

"โครงการนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการหาเงินเข้าคณะเหมือนโครงการ MINI MBA หรือ EX-MBA แต่เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคมที่การทำธุรกิจจะต้องมีการติดต่อกันทั่วโลก ภาษาอังกฤษจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นสื่อกลาง" กุลภัทรายังยืนยันถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของโครงการ

และน้องใหม่ล่าสุดที่กระโจนเข้ามาร่วมกับตลาดทางการศึกษาใหม่ในปีนี้ก็คือ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษเป็นปีแรก โดยรับเพียง 70 คน แต่มีผู้สมัครกว่า 700 คน ที่ยินดีจะจ่ายค่าหน่วยกิตหน่วยละ 1,600 บาท

ปัทมาวดี ซูซูกิ ด็อกเตอร์สาวไฟแรงจากประเทศญี่ปุ่นในฐานะรองประธานโครงการของคณะเศรษฐศาสตร์ ไม่ปฏิเสธว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการหารายได้เข้าคณะ แต่นั้นไม่ใช่สาเหตุหลัก "ความพร้อมในด้านบุคลากร ประกอบกับความต้องการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเข้ามีบทบาทอย่างมากในอนาตคต เป็นจุดกำเนิดของแนวคิดในการพัฒนาโครงการ และเงินที่ได้เราก็นำมาใช้ปรับปรุงคณะ ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา"

เมื่อเทียบจำนวนนักศึกษาซึ่งแต่ละโครงการจะรับได้ไม่ถึง 100 คน กับยอดผู้สมัครที่สูงกว่าหลายเท่าตัวแล้ว จากนี้ไปหลักสูตรภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะในสาขาบริหารธุรกิจจะเป็นโครงการยอดนิยมสำหรับสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนอย่างแน่นอน เช่นที่หลักสูตรเอ็มบีเอเคยกลายเป็นแฟชั่นในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.