"ไทยสงวนฯ หย่าเอ็นอีซี "ทีเอ็น" ยอมแตกเพื่อโต"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมพูดวันนี้เพื่อที่จะอธิบายถึงอีก 5 ปีข้างหน้า" วิกรม ชัยสินธพ ประธานกรรมการเครือไทยสงวนวานิชกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เพื่ออธิบายถึงการเลิกสัญญาการขายสินค้าของเอ็นอีซี แล้วหันมาทำตลาดให้กับซีเมนส์แทนท่ามกลางข่าวเกี่ยวกับการแยกกันของ 2 ค่ายดังกล่าวว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาหลังจากที่เครือไทยสงวน ซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัวของเขาหันมาทำตลาดด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมให้กับเอ็นอีซีตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา นับว่าประสบความสำเร็จมากพอสมควร เพราะเอ็นอีซีสามารถที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดระบบตู้สาขาโทรศัพท์ในประเทศไทยได้ ในระยะเวลาแค่ 4-5 ปีเท่านั้น

การที่ไทยสงวนและเอ็นอีซีแยกทางกัน จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ…!

เหตุที่วิกรมตัดสินใจหย่าขาดกับเอ็นอีซีนั้น ก็เนื่องมาจากการมองแนวโน้มตลาดต่างกัน นั่นก็คือ ไทยสงวนมองว่าอนาคตของโทรคมนาคมในประเทศนั้นยังมีลู่ทางที่สดใสมากจึงควรจะลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (อาร์ แอนด์ ดี) ให้มาก แต่สำหรับเอ็นอีซีแล้ววงเงินดังกล่าวไม่จำเป็นนัก เพราะตลาดที่เอ็นอีซีครอบครองอยู่ ก็ดูจะเป็นที่น่าพอใจที่มากพอจนไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงขนาดนั้น

เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน ไทยสงวนจึงมองว่า พวกเขาควรจะหาผู้ร่วมทุนใหม่ที่กล้าลงทุนในด้านนี้…!

มองไปมองมา ไทยสงวนก็ยอมรับว่าถูกชะตากับซีเมนส์ ยักษ์ด้านอีเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่อันดับ 5 ของโลกและอันดับหนึ่งของยุโรป เพราะสนใจตรงนี้เหมือนกัน

"เขาติดต่อเรามาก่อน" ประธานไทยสงวนวานิชกล่าวพร้อมทั้งย้ำว่า ไทยสงวนกับซีเมนส์นั้นมีความสัมพันธ์กันมานานพอควร นับตั้งแต่การที่ซีเมนส์เข้าเทคโอเวอร์นิกซ์ดอร์ฟเมื่อหลายปีก่อน การเจรจาระหว่างไทยสงวนกับซีเมนส์จึงไม่ยากนัก เพราะเดิมนั้นไทยสงวนกับนิกซ์ดอร์ฟก็มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้วในบริษัท ทีเอ็น.นิกซ์ดอร์ฟคอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยสงวน

วิกรมกล่าวว่า การเจรจานั้น ตนมองว่าซีเมนส์มีสินค้าที่จะซัพพอร์ตการเติบโตของตลาดโทรคมนาคมในไทยอีก 5-10 ปีข้างหน้าได้หรือไม่ และมีเงินที่จะลงทุนในด้านอาร์ แอนด์ ดีเท่าใด ปรากฏว่าเงื่อนไขและตัวเลขดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจ "เฉพาะด้านพีเอบีเอ็กซ์ ซีเมนส์มีงบประมาณอาร์ แอนด์ ดีถึงปีละ 500 ล้านมาร์ค"

นอกจากนี้การที่ซีเมนส์ยอมรับว่าตลาดในไทยและอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ นับเป็นจุดที่สร้างความมั่นใจให้กับไทยสงวนมาก เพราะหมายความว่า ซีเมนส์ย่อมจะทุ่มงบประมาณสำหรับเรื่องอาร์ แอนด์ ดีให้มากขึ้นตามไปด้วย

สิ่งสำคัญของการเจรจาสำเร็จถึงขั้นร่วมหอลงโรงกันของทั้งสองบริษัทด้วยการตั้งบริษัทใหม่คือ ที.เอ็น.คอมมูนิเคชั่น ซีสเท็มส์ขึ้นมานั้น วิกรมกล่าวว่า เป็นเพราะการเปิดใจของทั้งสองฝ่ายที่ต้องการที่จะทำตลาดใหญ่ของระบบโทรคมนาคมในอีก 5 ปีข้างหน้าร่วมกัน

วิกรมโต้โผแห่งไทยสงวนวาดฝันตลาดอีก 5-10 ปีข้างหน้าว่า จากตัวเลขในวันนี้ประเทศไทยมีเลขหมายโทรศัพท์อยู่ประมาณ 1.8 ล้านเลขหมาย แต่นโยบายของทางการที่จะเพิ่มอีก 3 ล้านและ 6 ล้านเลขหมายในอนาคต เป็นสิ่งที่ชี้ว่า ตัวเลขความต้องการสินค้าของซีเมนส์ในไทยมีมากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นระบบตู้สาขาหรือสินค้าตัวอื่นๆ

"หน้าที่ของทางซีเมนส์ก็คือ นำสินค้าดีมีคุณภาพมาขายให้เรา ขณะที่เราจะทำหน้าที่ด้านตลาดและบริการให้" วิกรมกล่าว

ส่วนเบื้องหลังที่เลือกซีเมนส์มาร่วมทุนนั้น เป็นเพราะเข้าข่ายคุณสมบัติผู้ร่วมทุนที่ไทยสงวนแสวงหา โดยมองใน 5 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน คือต้องเป็นบริษัทใหญ่ระดับอินเตอร์ มีสินค้าดีเยี่ยมสามารถประชันในตลาดโลกได้ สนใจที่จะทำตลาดในไทยและอาเซียนและมีเงินที่จะลงทุนในการทำตลาดมากพอ รวมถึงอดทนรอผลในระยะยาวได้

เมื่อคุณสมบัติของซีเมนส์ตรงกับสเป็คที่ไทยสงวนวางไว้บวกกับความเชื่อมั่นในตลาดโทรคมนาคมในไทยที่เขาย้ำว่ากำลังพูดถึงอีก 5 ปีข้างหน้าไม่ใช่แค่ส่วนครองตลาดในตอนนี้ แต่ตัวเลขกำไรที่วิกรมยอมรับว่าหากเขายังคงทำตลาดให้เอ็นอีซี ก็จะมีกำไรปีละกว่า 10 ล้าน ซึ่งก็คือ หากไทยสงวนยังทำตลาดเดิมต่อ สัญญาที่เหลืออีก 3 ปี จะทำกำไรให้บริษัทถึงประมาณ 50 ล้านบาท แต่เพื่อแลกกับอนาคต ไทยสงวนยอมทิ้งเงินจำนวนนี้ไปนับว่ามีความหมายไม่น้อยกับปรากฏการณ์ครั้งนี้

ภาพที่ไทยสงวนยอมหย่าและทิ้งเงินกว่า 50 ล้านบาทเพื่อทำในสิ่งที่เขาบอกว่า กำลังพูดถึงเรื่อง 5 ปีข้างหน้าจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาไม่น้อยกับการเตรียมสร้างตัวให้เป็นศูนย์โทรคมนาคมแห่งอาเซียน

เรียกว่าเป็นการแตกเพื่อโตอีกครั้งโดยแท้ ..แม้จะอีก 5 ปีภายหน้าก็ตาม..!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.