|
ชดเชย‘สุวรรณภูมิ’ 7 พันล. "สพรั่ง"ลั่นลุยทุจริต-มาเฟีย
ผู้จัดการรายวัน(22 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“ธีระ” เผยงบชดเชยสุวรรณภูมิทะลุ 7 พันล้าน ด้าน “เกษม” แนะ การท่าฯดูแลปิดพื้นที่หลังประชาชนย้ายออก หวั่นเสียค่าชดเชยรอบสาม เสนอเปิดพื้นที่เมืองใหม่บางพลีเป็นที่อยู่ใหม่ ซัดรัฐบาลทักษิณทิ้งปัญหาให้สุวรรณภูมิเพียบ ขณะที่ปชป.จับตาเร่งเปิดสุวรรณภูมิมีเงื่อนงำจี้ให้ตรวจสอบ “สพรั่ง” รับนโยบายรมว.คมนาคม แก้ปัญหาสุวรรณภูมิ 3 เรื่องด่วน ผู้โดยสารเดือดร้อน ความไม่ปลอดภัยจากภัยความมั่นคง และล้างมาเฟีย แก้ทุจริต
พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม กล่าวหลังการประชุม ครม. ถึงการชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมลภาวะทางเสียงจากการขึ้นของของเครื่องบิน สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งตนได้ลงไปในพื้นที่ ได้สัมผัส พูดคุยกับประชาชนถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของค่าชดเชย ในเรื่องนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของสนามบินสุวรรณภูมิได้ลงไปสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยแล้วเช่นกัน
จากการลงไปในพื้นที่ปรากฏว่า ที่สำรวจไว้เดิมเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่จริงๆมีผลกระทบมากกว่านั้น ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เงินชดเชยจำนวนมากเท่าไหร่ อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกัน จะต้องมีการพอใจกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เรียกร้องกันจนมากเกินไป จนกระทั่งไม่มีขอบเขต
ขณะนี้กระทรวงคมนาคมขออนุมัติตามมติครม.เพื่อขอแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเข้าไปเจรจากับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับการเงินการทองมีรายละเอียดหลายอย่าง
“เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้พยายามทำอย่างจริงจังและพร้อมที่จะแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ เราทราบดีว่ามันเป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบ เดือดร้อนอย่างมากกับประชาชนและจะเป็นปัญหาตลอดไป ถ้าเรายังแก้โดยไม่ให้เป็นผู้ถูกกระทำที่ถาวร”
พล.ร.อ.ธีระ กล่าวอีกว่า เดิมทีได้ประเมินผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 71 ราย แต่ถึงขณะนี้เพิ่มอีก 222 ราย เฉพาะในส่วนของทางด้านเหนือ เนื่องจากว่าขณะนั้นได้ประมาณระดับความดังของเสียงไว้ในอีกระดับแต่จริงๆดังกว่าที่ประมาณไว้ เนื่องจากปริมาณเครื่องบินเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการเข้าไปสำรวจอีกครั้งจะมีผู้เดือดร้อนอีก อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนที่อยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ของสนามบินที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในรัศมี 2 กิโลเมตร ก็จะให้เขารีบเคลื่อนย้ายออกโดยเร็ว โดยได้มีการปรึกษากับการเคหะแห่งชาติเพื่อจะให้ประชาชนส่วนนั้นไปพักชั่วคราวก่อน ซึ่งก็มีประชาชนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบตรงๆก็เริ่มย้ายออกไปจากพื้นที่แล้ว
“เรื่องงบประมาณมันอาจจะต้องใช้มาก คร่าวๆเท่าที่เห็นตัวเลขก็ประมาณ 7 พันกว่าล้านเข้าไปแล้ว ซึ่งการท่าฯจะต้องเจรจากับทางกระทรวงการคลังต่อไปเพื่อจะหาเงินกู้ โดยที่ทางการท่าฯจะต้องมาพิจารณาเรื่องนี้แล้วก็จะต้องใช้หนี้ต่อไป แต่ในรายละเอียดยังไม่ได้คุยกัน ซึ่งต้องรอให้ส่วนต่างๆเข้ามาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เร็วที่สุด เพราะอย่างที่เรียนให้ทราบเราไม่ได้นิ่งนอนใจเราเห็นความเดือดร้อนของประชาชน”
สำหรับบอร์ดการท่าฯขณะนี้เราก็ได้บอร์ดชุดใหม่แล้ว โดยมีพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานบอร์ด ซึ่งตนคิดว่าพล.อ.สพรั่งสามารถทำได้ เพราะท่านมีความตั้งใจสูงอยู่แล้วในการแก้ปัญหา
ก.ทรัพยากรฯยันชดเชยเพิ่ม
นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการที่ได้ประเมินมลพิษทางเสียงเพื่อใช้ในการชดเชย โดยนับตั้งแต่การศึกษาผลกระทบถึงวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้วัดเที่ยวบินจำนวน 46 เที่ยว/ชั่วโมง เพื่อดูขอบเขตของเสียงที่ก่อความรบกวนจำนวนกี่หมู่บ้านทั้งหมดโดยกรมควบคุมมลพิษได้เข้าไปดำเนินการ เพราะฉะนั้นการชดเชยจึงจะเพิ่มไป 250-300 หลัง โดยจะชดเชยให้กับบ้านที่มีอยู่ตั้งแต่ ณ จุดนั้นในการสำรวจเมื่อวันที่ 19 พ.ย.
ขณะเดียวกันก็เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะดูต่อไปจนถึงเวลาที่สนามบินมีการขึ้นลงเต็มที่ถึง 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งเขตของเสียก็จะขยายวงกว้างออกไป ทางกระทรวงคมนาคมจะเข้าไปทำการสำรวจเพิ่มเติมโดยยึดถือบนสมติฐาน 76 เที่ยวบิน ว่าจะต้องเข้าไปชดเชยเพิ่มอีกจำนวนเท่าไร ซึ่งตรงนี้จะได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยที่จะออกไปวัด ไปกำหนดว่าส่วนของเสียงที่ได้รับผลกระทบกี่หลังเรือนกันแน่ ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ที่เป็นห่วงและได้เสนอเข้า ครม.และมีการเห็นชอบคือมาตรการที่เสนอว่า เมื่อมีการโยกย้ายชาวบ้านออกไปแล้ว และมีการชดเชยแล้ว ทางการท่าอากาศยานต้องเข้าไปดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด เพราะเรามีบทเรียนมาแล้วในอดีต
“ผมก็เห็นใจ ทอท.นะครับ เพราะว่ารัฐบาลชุดที่แล้วได้มาเร่งรัด ให้ทอท.เปิดทั้งที่เขาไม่พร้อม เขาไม่เสร็จหลายเรื่องหลายอย่าง ซึ่งอันนี้ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ว่าปัญหานี้มันเกิดขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าอันนี้อย่าไปโทษทอท.เขาเลย ควรจะโทษรัฐบาลชุดที่แล้วมากกว่านะครับ”
นาย เกษม กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการชดเชยคนที่ย้ายออกจากพื้นที่คงมีหลาย ระดับที่ย้ายออก มีทั้งบ้านที่เป็นไม้ ซึ่งเราคงไปติดกระจก ติดแอร์ เพื่อบรรเทา คงทำไม่ได้ เพราะเขาคงไม่มีรายได้พอที่จะไปจ่ายค่าไฟ ซึ่งพวกนี้คงย้ายออกไป แน่นอน และถ้าไม่มีที่ไปเราก็จะขอให้การเคหะแห่งชาติเข้ามาดูในเรืองนี้ ส่วนที่มีฐานะที่ดีเขาก็คงจะไปซื้อบ้านใหม่ หรือสร้างบ้านใหม่ที่หมู่บ้านอื่นที่มันไกลออกไป ซึ่งบางคนเขาอยากได้เงินเราก็ชดใช้ด้วยเงินแล้วเขาก็ไปเลย แต่สิ่งสำคัญก็คืออย่า ให้คนพวกนี้กลับมายึดพื้นที่
ปชป.จี้สอบเรื่องเร่งเปิดสุวรรณภูมิ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการเป็นนักการเมืองที่จะต้องเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนทุกสัปดาห์ ซึ่งจะต้องใช้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นประจำนั้น ได้รับการร้องเรียนและปรับทุกข์จากประชาชนมากมายถึงอุปสรรคและปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ไม่มีความพร้อมในการให้บริการ และได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนจากประธานคณะกรรมการกำกับการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังไม่พร้อมที่จะทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในอีก 6 เดือนข้างหน้า และการแสดงท่าทีของสหภาพรัฐวิสาหกิจบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะออกแถลงการณ์ประจานความพร้อมในการให้บริการของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ และญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่มีความพร้อมที่จะเปิดใช้บริการจริง ๆ แต่รัฐบาล ชุดที่ผ่านมาพยายามที่จะดึงดันที่จะเปิดใช้บริการให้ได้ นับว่าเป็นความผิดพลาดในการตัดสินใจของรัฐบาลชุดที่แล้วอีกเรื่องหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มีกระแสการคัดค้านจากหลายฝ่ายอย่างต่อเนื่อง
แต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่ยอมฟังเสียงจนทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการรีบเปิดใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความเกี่ยวข้องกับค่าคอมมิชั่นของการก่อสร้างสนามบินในงวดสุดท้ายใช่หรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้ คมช.หรือรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.)ต้องเข้าไปตรวจสอบเงื่อนงำการเร่งรีบเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิว่ามีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ และจะต้องรีบแก้ไขปัญหาให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด มิฉะนั้น อาจจะกระทบต่อความมั่นใจของสายการบินต่างๆได้ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อการท่องเที่ยวและชื่อเสียงของประเทศชาติได้
นายเทพไท กล่าวว่า สำหรับการใช้บริการของสนามบินดอนเมือง ซึ่งเปิดใช้บริการเฉพาะเที่ยวบินเหมาลำ ซึ่งมีการใช้บริการที่น้อยมาก แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาประมาณเดือนละ 30 ึ 40 ล้านบาท นั้น เป็นการไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จึงอยากจะให้รัฐบาลได้รีบตัดสินใจเรื่องการใช้สนามบินดอนเมืองว่า มีแนวทางอย่างไร แต่อยากจะเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาใช้สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น
1.ไม่ต้องสร้างอาคารของสายการบินต้นทุนต่ำที่สนามบินสุวรรณภูมิอีก เป็นการประหยัดงบประมาณของแผ่นดิน
2.ทำให้ต้นทุนการบินของสายการบินต้นทุนต่ำลดลง ไม่เป็นการผลักภาระค่าโดยสารแก่ผู้ใช้บริการ
3. เป็นการประหยัดค่าเดินทางของประชาชนที่จะไปใช้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งต้องเสียค่าบริการของแท็กซี่ ในอัตราราคาสูง 400-500 บาทต่อเที่ยว หากเป็นสนามบินดอนเมือง ผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถเมล์และรถแท๊กซี่ทั่วไปได้
4.สนามบินดอนเมืองใช้เวลาในการขึ้นเครื่องหรือออกจากเครื่องเพียง 15 นาที แต่สนามบินสุวรรณภูมิต้องใช้เวลานานครั้งละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะมีความกว้างขวางมากเหมาะกับการให้บริการสายการบินระหว่างประเทศมากกว่า
นายเทพไท กล่าวว่า จะจับตามองท่าทีของรัฐบาลต่อเรื่องนี้ว่าได้ตัดสินใจอย่างไรหากไม่มีความชัดเจนและความคืบหน้าก็จะทำจดหมายเปิดผนึกยื่นให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในจดหมายเปิดผนึกจะมีการรวบรวมรายชื่อของอดีต ส.ส.ที่ได้รับการร้องเรียนความเดือดร้อนจากประชาชนแนบ
สพรั่งรับ 3นโยบายแก้ปัญหาสุวรรณภูมิ
พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและนายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า ได้รับนโยบายการทำงานให้เข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน สนามบินสุวรรณภูมิใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนและผู้โดยสารที่ได้มีการร้องทุกข์ 2.ทำให้สนามบินมีความปลอดภัยจากการก่อการร้าย และ 3. แก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับกิจการและการดำเนินการของ ทอท.
“ภาระที่บอร์ด ทอท.ชุดใหม่จะต้องเข้ามารับผิดชอบ คือเข้าไปสะสางความไม่ชอบมาพากล ทุกเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งในส่วนที่เป็นความปลอดภัยตั้งแต่ระดับต่ำไปถึงระดับวิกฤต และสิ่งที่ประชาชนคาดหวังว่าจะได้รับจากการใช้บริการในสนามบิน จะเน้นการทำให้ทุกคนเกิดศรัทธาและทำงานให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์และเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ”
ส่วนการเข้าไปกวาดล้างกลุ่มมาเฟียหรือกลุ่มอิทธิพลคนมีสีเข้าที่เข้าไปหาผลประโยชน์ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น พลเอกสะพรั่งประกาศชัดเจนว่า การทำความชั่วไม่มีสี แต่มาจากพฤติกรรม ดังนั้นเป็นภาระที่จะต้องเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป โดยไม่คำนึงว่าเป็นคนมีสีหรือทหารกลุ่มใด แต่กลุ่มมาเฟียจะต้องไม่มีในพื้นที่ของสาธารณะหรือพื้นที่ของรัฐ
ในส่วนของการสอบสวนเรื่องต่างๆนั้น หากมีการตรวจสอบและพบว่ามีการกระทำความผิดจริงก็จะต้องได้รับโทษ ส่วนการชดเชยค่าเสียหายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเสียงเครื่องบินขึ้นลงบริเวณใกล้เคียงสนามบินนั้นยังไม่ได้พูดถึง แต่จะรีบเข้าไปติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|