สิงคโปร์ส่ง GIC ดอดเก็บหุ้น อสมท เจอมรสุมรัฐเร่งจัดสรรคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กองทุน GIC ของรัฐบาลสิงคโปร์เดินหน้าเก็บหุ้น MCOT เพิ่ม แม้หลังทักษิณ ถูกยึดอำนาจ เพิ่มสัดส่วนจาก 0.51% เป็น 3.24% แม้อาจดูน้อยแต่มีนัยยะทางด้านการลงทุนหากเทขายทั้งยวง ขณะที่กระแสคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์เป็นสมบัติของชาติ ตามด้วยรัฐมนตรีประจำสำนักเร่งจัดสรรคลื่นภายใน 1 ปี เป็นปัจจัยลบ

ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT กับบอร์ดชุดใหม่ จากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องผังรายการที่อาจกระทบต่อรายได้ของ อสมท หลังจากการแปรสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อาจทำให้หลายฝ่ายลืมหันมามองว่ามีนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่เข้ามาสะสมหุ้น MCOT อย่างต่อเนื่อง

จากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ MCOT ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2547 กระทรวงการคลังถือหุ้น 531 ล้านหุ้น 77.28% และพนักงานและผู้บริหาร 703,556 หุ้น คิดเป็น 0.102% ที่เหลือกระจายหุ้นให้นักลงทุนทั่วไป โดยมีนักลงทุนต่างประเทศ 56 ราย ถือหุ้น 39.431 ล้านหุ้น หรือ 5.74%

เมื่อสำรวจรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือหุ้นมากกว่า 0.5% ในวันที่ 12 ธันวาคม 2547 พบรายชื่อ GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPORATION หรือ GIC กองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN ถือหุ้นใน MCOT 3.497 ล้านหุ้นหรือ 0.51%

ถัดมา 7 เมษายน 2548 GIC เข้ามาถือ MCOT 2 รายการ รวม 12.28 ล้านหุ้น หรือ 1.78% และเพิ่มสัดส่วนเป็น 2.47% ในวันที่ 14 กันยายน 2548 ต่อมาลดลงเล็กน้อยเหลือ 2.45% ในวันที่ 3 เมษายน 2549 จากนั้นลดลงเหลือ 2.29% ในวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.24% หรือ 22.29 ล้านหุ้น

สัดส่วนไม่มากแต่มีนัยยะ

จะเห็นได้ว่า GIC มีการเก็บหุ้น MCOT อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการปรับพอร์ตบ้างในจังหวะ แต่ในภาพรวมแล้วยังคงตามเก็บหุ้นตัวนี้ โดยในช่วงหลังการเข้ายึดอำนาจจากทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 กันยายน GIC ก็เก็บหุ้นเพิ่มจนมีสัดส่วนที่ 3.24%

สัดส่วนดังกล่าวแม้จะไม่มาก เนื่องจาก MCOT มีข้อกำหนดในเรื่องของการถือหุ้นของกระทรวงการคลังต้องถือเกิน 70% ที่ผ่านมาได้นำเอาหุ้นตัวนี้ไปจำนำกับธนาคารออมสินเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย จนต่ำกว่าเงื่อนไขที่กำหนด แต่รัฐบาลชุดที่แล้วก็ได้แก้กฎเกณฑ์ไว้รองรับ ส่วนต่างประเทศกำหนดให้ถือหุ้นไม่เกิน 15%

หากพิจารณาในแง่ของหลักการลงทุนแล้วอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องกันทางการเมืองระหว่างผู้นำประเทศในขณะนั้นกับกองทุนจากสิงคโปร์แล้ว การเข้ามาถือหุ้นดังกล่าว แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ MCOT ได้ แต่การถือหุ้นในลักษณะนี้นโยบายหลายอย่างทางด้านการนำเสนอข่าวในช่วงที่เปลี่ยนผู้นำประเทศ เขาก็ทราบว่าจะเดินไปในทิศทางใด เสนอข่าวที่เป็นคุณหรือเป็นโทษกับนักลงทุนต่างประเทศหรือไม่

การถือหุ้นในลักษณะที่เป็นการถือเพื่อกลยุทธ์อย่างนี้มีการทำกันมาตลอด แต่ที่ผ่านมามักเป็นภาคธุรกิจต่อภาคธุรกิจ แต่ GIC เป็นมากกว่าภาคธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ GIC ถือหุ้นกับกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ การซื้อหุ้นเพิ่มของ GIC ถือว่ามีนัยยะและหากมีการขายหุ้นออกมาทั้งหมดหรือเป็นจำนวนมากก็มีนัยยะเช่นกัน นอกจากจะเป็นการส่งสัญญาณให้กับนักลงทุนต่างประเทศรายอื่นแล้ว ข้อมูลบางส่วนอาจถูกนำไปขยายต่อยังต่างประเทศ

"วิทยุ-โทรทัศน์" สมบัติชาติ

นอกจากนี้หาก MCOT กำลังถูกทดสอบจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่สามารถคัดค้านในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ของวิทยุกระจายเสียและวิทยุโทรทัศน์ที่รัฐธรรมนูณเดิมกำหนดให้เป็นสมบัติของชาติ ที่มอบหมายให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เข้ามาเป็นผู้จัดสรร

แม้ว่าขั้นตอนดังกล่าวจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดย ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พยายามผลักดันให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากมี กสช.เข้ามาทำหน้าที่แล้วตรงนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับ MCOT ซึ่งในหนังสือชี้ชวนการซื้อหุ้นก็ได้ระบุเอาไว้

กรณีของ MCOT นั้นได้มีการเทียบเคียงกับกรณีของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เรื่องท่อก๊าซ ซึ่งเป็นสิทธิเหนือพื้นดินรัฐต้องใช้เงินเพื่อเวนคืนจากประชาชน แต่ ปตท.ไม่ได้ทำตามสัญญาที่จะแยกกิจการนี้ออกจากกันหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี (ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ปลายปี 2544) แต่ได้แยกกิจการออกในปี 2549 ที่มีการร้องเรียน

แม้ว่าผังรายการ อสมท ยังคงยึดแนวคิดสังคมอุดมปัญญาเหมือนเดิม ไม่ปรับเปลี่ยนรายการช่วงเวลาไพร์มไทม์ แต่ชัดเจนว่ามีการนำเสนอรายการข่าวและสาระร้อยละ 70 และบันเทิงร้อยละ 30 ดังนั้นศักภาพในการสร้างรายได้ของ MCOT อาจลดลง จากนี้ไปคงต้องพึ่งส่วนที่ให้สัมปทานคลื่นกับผู้ประมูลรายอื่น โดยเฉพาะสถานีวิทยุ เพราะในส่วนของช่อง 3 ได้มีการต่อสัญญากันไปก่อนหน้านี้แล้ว

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อสมท เวลานี้ กำลังเป็นต้นแบบของรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ ภายใต้รัฐบาลใหม่ บอร์ดชุดใหม่และความร่วมมือของพนักงาน สามารถที่จะสร้างได้ทั้งผลกำไร สังคมที่ดีและสมานฉันท์ของคนทั้งประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.