|
คตส.จับหุ้นชินขึ้นเขียงวันนี้
ผู้จัดการรายวัน(20 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) ซึ่งภายหลังได้แปลงร่างมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เวลานี้ล่วงเลยมาถึง 2 เดือนแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสังคมยังมองไม่เห็นรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงตามที่คปค.ยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ โดยเฉพาะการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นในระบอบทักษิณ ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังควานหาหลักฐานมัดให้ถึงอดีตนายกฯ และรัฐมนตรีที่อยู่เบื้องหลังการทุจริต เอื้อประโยชน์พวกพ้อง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลงานของ คตส. และ ป.ป.ช. จะยังไม่ถึงขั้นเอาผิดใครในเวลานี้ แต่การตรวจสอบก็มีความคืบหน้าและใกล้งวดในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันกับครอบครัวอดีตนายกรัฐมนตรี เช่น ภาษีหุ้นชินคอร์ป, การซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ขณะที่กรณีอื่นๆ กำลังทยอยสรุปผลการสอบสวน เช่น การจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000, โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงของกรุงเทพฯ ฯลฯ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนชี้มูลความผิด ก่อนนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาล
นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. อธิบายถึงการทำงานของคตส. ที่ถูกมองว่าล่าช้าว่า ต้องใช้เวลาสืบสวนสอบสวนเพื่อหาหลักฐานมามัดผู้กระทำความผิดให้ได้ ซึ่งบางโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบไปแล้วนั้น ยังต้องสอบสวนเพิ่มเติม เช่น เส้นทางเงิน ธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้อง
หากจะประมวลกรณีทุจริตที่คตส. ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2549 นั้น เรื่องการซื้อขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดูเหมือนจะมีความคืบหน้าและอยู่ในความสนใจของสังคมมากที่สุด
กรณีนี้ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ คตส. หนึ่งในคณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบ ชี้ว่า ขอบเขตการตรวจสอบการเสียภาษีของชินคอร์ปจะสาวไปถึงการเสียภาษี การโอนหุ้นของบุคคลในตระกูลชินวัตร ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่ง คตส. จะตรวจสอบทุกกรณีและทุกคนที่เกี่ยวข้อง
การกระทำที่หลบเลี่ยงภาษีการซื้อขายและโอนหุ้นชินคอร์ปตลอดเวลาร่วมสิบปีที่ผ่านมานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภริยา เคยโอนและขายหุ้นให้แก่บุคคลในครอบครัวในราคาต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่จ่ายภาษีมาแล้วหลายครั้ง โดยกรณีที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบเวลานี้คือ
1) การขายหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ ของ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ของคุณหญิงพจมานให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 164 บาท เป็นเงิน 738 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 หากเสียภาษีจะคิดเป็นเงิน 273 ล้านบาท เรื่องนี้ ป.ป.ช.ตรวจพบว่า นายบรรณพจน์ ไม่ได้ซื้อหุ้นดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางเพราะเช็คที่สั่งจ่ายเงินค่าหุ้นเป็นของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
2) เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ – คุณหญิงพจมาน ขายหุ้นให้ลูกชายคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร 73.4 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาในตลาดหุ้นอยู่ที่ 150 บาท นายพานทองแท้ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นทันที 10,275 ล้านบาท หากต้องจ่ายภาษีจะคิดเป็นเงินประมาณ 3,800 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน คุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปให้นายบรรณพจน์ จำนวน 26,825,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท นายบรรณพจน์ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้น 3,755 ล้านบาท หากต้องจ่ายภาษีจะคิดเป็นเงิน 1,390 ล้านบาท
ในวันเดียวกันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขายหุ้นชินคอร์ปให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาตลาด 150 บาท ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นเป็นเงิน 280 ล้านบาท ถ้าต้องจ่ายภาษีคิดเป็นเงิน 104 ล้านบาท
3) เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2549 มีการขายหุ้นชินคอร์ปผ่านตลาดหลักทรัพย์ให้กองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์ ในราคา 7.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่เสียภาษี กรณีนี้ เริ่มจากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 49 บาทต่อหุ้น ให้แก่นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ทำให้บุคคลทั้งสองได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้น 15,800 ล้านบาท หากต้องจ่ายภาษีจะคิดเป็นเม็ดเงิน 5,846 ล้านบาท จากนั้นนายพานทองแท้กับ น.ส.พิณทองทาขายหุ้นทั้งหมดให้กองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์
การซื้อขายและโอนหุ้นชินคอร์ปข้างต้น ล่าสุดคณะอนุกรรมการ คตส. ที่มีนายสัก กอแสงเรือง นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ นายกล้านรงค์ จันทิก และนายจิรนิติ หะวานนท์ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ตรวจสอบพบความผิดในกรณีการเลี่ยงภาษีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ซื้อหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ที่ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ทั้งนี้ นายบรรณพจน์ ต้องเสียภาษีและค่าปรับย้อนหลังจากการรับซื้อหุ้นและโอนหุ้นดังกล่าว เป็นเงิน 546 ล้านบาท
นอกจากนั้น คณะอนุกรรมการ คตส. ยังมีความเห็นว่า จะต้องดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 5 คน ฐานมีส่วนรู้เห็นกับการเลี่ยงภาษีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
ในวันจันทร์นี้ (20 พ.ย.) ที่ประชุมใหญ่ คตส. จะพิจารณาเรื่องภาษีหุ้นชินฯ ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1)การเสนอตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิดในคดีดังกล่าว ซึ่งมีข้อเท็จจริงชัดเจนแล้วว่า นายบรรณพจน์ ต้องเสียภาษีตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร
2) ทำหนังสือถึงกรมสรรพากร ให้ดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งหากกรมสรรพากร ไม่ดำเนินการจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และ 3) การพิจารณาดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากเสียงของคณะอนุกรรมการในประเด็นนี้ยังไม่เห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด
สำหรับความคืบหน้าของคดีภาษีหุ้นชินฯ ที่อยู่ในมือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยนั้น น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรกรณีการโอนหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ ระหว่างนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี จะสรุปสำนวนชี้มูลความผิดในวันที่ 24 พ.ย. และส่งให้ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ พิจารณาในวันที่ 30 พ.ย. นี้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. ชุดที่มีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน มีการสอบคดีซุกหุ้นภาค 1 เมื่อปี 2546 โดยตรวจสอบภาษีการรับโอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน จากนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 มูลค่า 738 ล้านบาท พบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากร คือ
1) นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ รองอธิบดีกรมสรรพากร (ตำแหน่งขณะนั้น) 2) นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภาษี 3) นางสาวจำรัส แหยมสร้อยทอง ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย 4) นางสาวโมรีรัตน์ บุญญศิริ นิติกร 6 ว 5) นางสาวกุลฤดี แสงสายันห์ นิติกร 7 ว และ 6) นางสาวปราณี สกุลพจน์วัย นักวิชาการกรมสรรพากร ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรที่ถูก ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนครั้งนั้น เป็นผู้บริหารชุดเดียวกับที่กำลังถูก สตง., คตส. และ ป.ป.ช. กำลังสอบสวนในคดีหุ้นชินคอร์ป ในขณะนี้
การเข้ามาตรวจสอบการเสียภาษีการซื้อขายและโอนหุ้นชินคอร์ป ของคตส. และ ป.ป.ช. ยังก่อให้เกิดแรงกดดันต่อกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ที่เคยยืนยันเสียงแข็งว่า ดีลชินคอร์ปขายหุ้นให้เทมาเส็ก ไม่ต้องเสียภาษี
ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนคือการกลับลำของ นายศิโรฒน์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ที่เพิ่งทำหนังสือเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2549 สั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของกรมสรรพากร ออกหมายเรียกการเสียภาษีของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา เนื่องจากกรมสรรพากร ตรวจสอบพบว่า การที่บริษัทแอมเพิลริชฯ ขายหุ้นให้แก่บุคคลทั้งสอง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2549 ในราคาหุ้นละ 1 บาท และทั้งสองนำไปขายต่อแก่เทมาเส็ก ในราคา 49 บาท/หุ้น ทำให้ได้กำไรส่วนต่างราคาหุ้น 15,800 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากส่วนต่างราคาหุ้นถือเป็นรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 39 ของประมวลรัษฎากร คิดเป็นเม็ดเงิน 5,846 ล้านบาท โดยกรมสรรพากร ขีดเส้นให้นายพานทองแท้ และน.ส. พิณทองทา ติดต่อเพื่อเสียภาษีกับกรมสรรพากร ภายในวันที่ 6 ธ.ค. นี้
ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากร โดยนางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ลงลายมือชื่อหนังสือตอบข้อหารือของน.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ว่าไม่ต้องเสียภาษีเพราะเป็นการซื้อขายหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันเอง ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
นอกจากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการคลัง มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ในประเด็นที่บริษัทแอมเพิลริชฯ ขายหุ้นชินคอร์ป 329.2 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 1 บาท ให้แก่นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร และทั้งสองนำมาขายต่อให้กับกองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์ ในราคา 49 บาท/หุ้น มีนายอรัญ ธรรมโน อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม ฟากฝั่งของครอบครัวชินวัตร นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยืนยันจะสู้คดีกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร โดยจะยึดข้อหารือที่กรมสรรพากร ที่ระบุว่าไม่ต้องเสียภาษีมาชี้แจง และหากจะเสียภาษีก็จะยืนยันกำหนดเวลาที่ต้องเสียภาษีภายในเดือน มี.ค. 2550 ไม่ใช่เดือน ก.ย. 2549 ที่ผ่านมา และท้าพิสูจน์ในชั้นศาลให้ถึงที่สุด และล่าสุด นายนพดล ยืนยันว่า ทางครอบครัวชินวัตรจะไปชี้แจงกรณีหุ้นแอมเพิลริชกับกรมสรรพากรในวันที่ 27 พ.ย.นี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|