|
แอร์อันดามันพร้อมเชิดหัวขึ้นฟ้า“จักร จามิกรณ์”ถือหุ้นใหญ่คุมบริหาร
ผู้จัดการรายวัน(17 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แอร์อันดามัน ประกาศแต่งตั้ง จักร จามิกรณ์ เข้าเป็นผู้บริหารแผน ดีเดย์ 1 ธันวาคมนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยลดทุนจดทะเบียนและเพิ่มใหม่เป็น 206.5 ล้านบาทแล้ว ด้านนายจักรเข้าถือหุ้นใหญ่ 99.88% พร้อมทั้งดึงกัปตันสุรเดช นภินธากร จากไทยอินเตอร์เข้าร่วมบริหารด้วย ผู้ใกล้ชิดจักรเผยมั่นใจศักยภาพองค์กรและพื้นฐานที่แข็งแกร่งของผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร ทำให้แอร์อันดามันกลับมาผงาดได้แน่
บริษัท แอร์อันดามัน จำกัด ประกาศแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการใหม่คือ นายจักร จามิกรณ์ เป็นผู้บริหารแผนบริษัทฯ โดยคำสั่งเห็นชอบของศาลล้มละลายกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไป ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และทุนใหม่ โดยลดทุนจดทะเบียนจาก 145 ล้านบาท เป็น 145,000 บาท พร้อมกับเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 206.5 ล้านบาท ซึ่งนายจักร เข้าถือหุ้นจำนวน 99.88% โดยมีพลเอกไพบูลย์ เอมพันธุ์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ และ กัปตันสุรเดช นภินธากร เป็นกรรมการบริษัท
แหล่งข่าวในกลุ่มธุรกิจของนายจักร จามิกรณ์ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า ขณะนี้ทางกลุ่มของนายจักรมีความพร้อมอย่างมากแล้ว ซึ่งบริษัทฯมีความมั่นใจในธุรกิจของแอร์อันดามันอย่างมาก เนื่องจากเป็นบริษัทฯที่มีพื้นฐานเดิมดีอยู่แล้ว แต่อาจจะเผชิญกับปัญหาและภาวะที่ร้ายแรงไปหน่อยในอดีตหากได้มีการแก้ไขแล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้น ซึ่งตามแผนฟื้นฟูนั้นจะมีระยะเวลานานประมาณ 5 ปี แต่คาดว่าด้วยศักยภาพของแอร์อันดามันแล้วน่าจะฟื้นฟูสถานภาพให้ดีขึ้นเร็วกว่าแผนแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า อุตสาหกรรมการบินไทยในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปอย่างมากจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากทั้งสายการบินทั่วไป และสายการบินต้นทุนต่ำ ที่เล่นเรื่องราคาเป็นหลัก
ทั้งนี้ทางกลุ่มมองว่า ธุรกิจการบินนั้น ประเด็นหลักที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้และเติบโตมี 2 ปัจจัยคือ 1.เรื่องของเงินทุนที่ต้องมีพร้อม และ 2.บุคลากรต้องเป็นมืออาชีพ และมีพื้นฐานทางด้านธรกิจนี้จริงๆ ซึ่งทางกลุ่มเองมีพร้อมทั้งสองปัจจัยนี้ โดยเฉพาะเงินทุน ซึ่งธุรกิจในกลุ่มของนายจักรเองนั้น ก็มีมากมายทั้ง อสังหาริมทรัพย์ที่มีหลายบริษัท หรือธุรกิจมีเดียที่มีบริษัท เบรฟฮาร์ท เป็นแกนหลัก ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเวลานี้ประมาณ 200 ล้านบาท
ส่วนเรื่องบุคลากรนั้นล้วนแต่เป็นมืออาชีพทั้งนั้นและเกี่ยวข้องกับการบินมาตลอด เช่น พลเอกไพบูลย์ เอมพันธุ์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ ก็เป็นประธานในกลุ่มธุรกิจของนายจักรมาตลอดกว่า 8-9 ปีแล้วและมีประสบการณ์ด้านการบินด้วย หรือกัปตันสุรเดช นภินธากร ก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี ที่ไทยอินเตอร์ ขณะที่ตัวของนายจักรเองนั้น ในอดีตก็เคยเป็นนักบินมาก่อนเช่นกัน และเรียนรู้มาทางด้านการบินด้วย
“การเข้ามาของนายจักรครั้งนี้มีความตั้งใจจริง เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นโอกาสของบริษัทฯที่จะเติบโตได้ และโอกาสของตลาดที่ยังมีอีกหากมีการวางแผนการดำเนินงานและการตลาดอย่างดีที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ก็จัดการโครงสร้างผู้ถือหุ้น และโครงสร้างองค์กรไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือได้ว่าธุรกิจของแอร์อันดามันตอนนี้สะอาดสดใสมาก” แหล่งข่าวกล่าว
โดยแนวทางการบริหรงานของนายจักรนั้น ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา เมื่อเข้าไปลงทุนหรือถือหุ้นในธุรกิจอะไรแล้ว มักจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 90% และจะบริหารงานเองในช่วง 1-2 ปีแรก เพื่อวางรากฐานและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจก่อน หลังจากนั้นเมื่อธุรกิจอยู่ตัวแล้วก็จะถอยตัวเองออกมาเหลือเพียงการถือหุ้นใหญ่เท่านั้น แล้วก็ไปหาโอกาสสร้างธุรกิจอื่นใหม่ๆเพิ่มอีก ล่าสุดก็คือ แอร์อันดามัน
ย้อนอดีตขาดทุนต้องฟื้นฟู
สำหรับบริษัท แอร์อันดามัน จำกัด ก่อตั้งเมื่อช่วงปี 2543 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 40 ล้านบาท เป็นของกลุ่มตระกูลอรรถกวีสุนทรและตระกูลจิราธิวัฒน์ และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 145 ล้านบาท ในเวลาต่อมา โดยให้บริการเส้นทางการบินเส้นทางรองและเส้นทางย่อยร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2544 ซึ่งมีเส้นทางการบินทั้งสิ้น 12 เส้นทาง
แต่เนื่องจากมีผู้โดยสารต่ำกว่าประมาณการ และในปี 2546 รัฐบาลในสมัยนั้นมีนโยบายให้สายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาดำเนินการ พร้อมยกเลิกเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำ ประกอบกับการจ่ายเบี้ยประกันขั้นพื้นฐานมีการปรับตัวขึ้นอย่างมาก แต่ผู้โดยสารก็ยังต่ำกว่าประมาณการอย่างมาก ซึ่งบางเส้นทางการบินมีผู้โดยสารลดลงถึง 50% ส่งผลให้บริษัทฯต้องประสบกับภาวการณ์ขาดทุนทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีผลขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2544 – 2547 ทั้งสิ้น 439.7 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯต้องหยุดให้บริการการบินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547
โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและผู้บริหารเดิม ต้องนำบริษัทฯเข้าสู่ กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อปรับโครงสร้างทุนและหนี้สิน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 จนศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการตามมติของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|