นายกฯยันพ.ร.ก.มือถือไม่ล้ม


ผู้จัดการรายวัน(6 กุมภาพันธ์ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทักษิณ" เดินต่อพ.ร.ก.สรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม หยิบเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ด้านสรรพสามิตชี้ รายรับของผู้ประกอบการช่วง 28 -31 ม.ค.ที่ผ่านมาจะต้องชำระภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ภายใน 15 ก.พ.นี้ "สถิตย์" คาดรายได้ภาษีในแต่ละเดือนเกือบ 1,000 ล้านบาท ยันมีกลไกคืนภาษี ผู้ประกอบการหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยขัดต่อรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในการออกพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษี สรรพสามิต นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลนั้นไม่ได้รวบรัดในการออกพระราชกำหนด

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้รวบ รัดในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม เพราะเป็นเรื่องการจัดระบบระเบียบภาษีซึ่งเชื่อว่าประชาชนไม่เกิดความสับสน แต่ฝ่ายค้านสับสน จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งคำวินิจฉัยออกมาก็เป็นไปตามนั้น แต่เมื่อมีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแล้วก็ถือว่ากฎหมาย นี้ใช้ได้ทันที แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างตีความก็ตาม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องพระราชกำหนดต่อไปเพราะเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ

ด้านนายชวน หลีกภัย ผู้นำฝ่ายค้าน ปฏิเสธที่จะตอบโต้กรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เกี่ยวกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยใน การออกพระราชกำหนด การแก้ไข พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต แต่ก็อยากให้รัฐบาลนั้นเข้าใจถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านที่เป็นหน้าที่ ดูแลรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ วิปฝ่ายค้านระบุว่า พระราช กำหนดที่ออกสมัยฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล 20 ฉบับทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน และใน 10 ฉบับนั้นเป็นการออกในสมัยพรรคความหวังใหม่เป็นรัฐบาล

ภาษีธุรกิจโทรคมนาคม เดินเครื่องชำระ 15 ก.พ.นี้

ภายหลังที่กรมสรรพสามิตได้เรียกผู้ประกอบการสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานครเข้ารับฟังถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา วานนี้ (5) ทางกรมฯได้เรียกผู้ประกอบการและตัวแทน ที่ดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมรับฟังถึงการเสียภาษี สรรพสามิต

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ทางกรมฯได้เรียกผู้ประกอบการ และตัวแทนมารับฟังถึงขั้นตอนการชำระภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวกับการให้บริการกิจการโทรคมนาคม โดยหลังจากประกาศลงในราช-กิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา กลไก การเก็บภาษีถือว่าเริ่มต้นในทันที แต่วิธีการจัดเก็บจะเริ่มในงวดแรกเป็นรายได้ในส่วนของเดือน ม.ค ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบเสียภาษีต่อกรมภายในวันที่ 15 ก.พ .นี้

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.252 7 กำหนดไว้ว่ากิจการโทรคมนามคม กำหนดเพดานการจัดเก็บสูงสุดไว้ไม่เกิน 50% แต่อัตราที่จัดเก็บแท้จริงแบ่งเป็นในส่วนของกิจการโทรศัพท์พื้นฐานอยู่ที่ระดับ 2% อัตราภาษีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในอัตรา 10%

"คาดว่าทางกรมจะมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมประมาณ900-1,000 ล้านบาท ต่อเดือน"

ส่วนโอกาสจะมีการปรับภาษีในขณะนี้ยังไม่มีการปรับ เพราะในเบื้องต้นต้องการให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถแข่งขันได้อย่างปกติ แต่ในอนาคตในส่วนของพิกัดอัตราภาษีสามารถ เปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความพร้อมของภาคเอกชนซึ่งต้องให้ผู้ประกอบการอยู่ได้สงบไม่มีปัญหาโดยจะต้องดูเรื่องของราย รับก่อนและทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ITC)

สำหรับประเด็นที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นหนังสือพร้อมด้วยรายชื่อส.ส.จำนวน 115 คน เพื่อให้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินัยฉัยว่าการออกพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.พิกัดอัตรา ภาษีสรรพสามิตและพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตขึ้นโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นั้น

นายสถิตย์ระบุเพียงว่าหากผลทางกฎหมาย เกี่ยวกับความรับผิดชอบไม่มีตรงนี้ทางกรมสรรพสามิตจะต้องคืนเงินที่เรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการไป ซึ่งในส่วนนี้ทางกรมมีกลไกในการชำระคืนอยู่แล้ว

นางสิรินุช พิศลยบุตร รองอธิบดี กล่าวอย่างชัดเจนว่ารายรับของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมนับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมาให้ถือว่าต้องเสียภาษี โดยภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ รายรับในช่วงวันที่ 28-31ก.พ.ที่ผ่านมาจะต้องชำระภาษีให้กับทางกรมฯส่วนรับของเดือน ก.พ. ให้ยื่นภายในวันที่ 15 มี.ค.

"คิดว่าผู้ประกอบการสามารถยื่นเสียภาษีของเดือนมกราคมได้ทันหลังจากรับฟังคำชี้แจงจากกรมไปแล้ว"

ตรวจผู้ประกอบการผลักภาระให้ประชาชน

ด้านตัวแทนจากกิจการโทรคมนาคม กล่าว ว่าในเรื่องกระบวน การชำระภาษีให้กับกรมสรรพสามิตตรงนี้คิดว่าไม่มีปัญหาเพราะเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังมีหลายๆประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน อย่างเช่น ทางกรมสรรพสามิตจะเรียกเก็บภาษีจากราคาจริง แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้ประกอบการจะมีบริการการคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายซึ่งหากผู้ประกอบ การไม่ใช่ราคาจริงจะใช้แบบราคาเหมาจ่ายจะได้หรือไม่ หรือแม้แต่การบริการเสริมจะใช้เป็นรายรับได้หรือไม่

นายวรุธ สุวกร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายผลประโยชน์ บริษัท ทศท คอร์เปอเรชั่น จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า จากการที่เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงว่า ยังมีข้อสงสัยในหลายเรื่อง ซึ่งคงจะต้องหารือร่วมกับกรมสรรพสามิตอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่มีการหักค่าสัมปทานบางส่วนมาเป็นภาษีสรรพสามิตซึ่งทำให้รายได้ของทศท. ลดลงนั้น คิดว่า ในเรื่องนี้ ทศท. และรัฐไม่เสียประโยชน์ เนื่องจากกลไกส่วนแบ่งรายได้จากค่า สัมปทานยังคงมีอยู่ และการแข่งขันในตลาดก็ยังคงเป็นในรูปแบบเดิม จึงขอยืนยันว่า จะไม่มีการผลักภาระไปสู่ประชาชนเป็นอันขาด

นายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพ แรงงาน บริษัท ทศทฯ กล่าวว่า โดยปกติการจ่ายสัมปทานจะคิดจากรายได้บริษัทที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งกรมสรรพสามิตจะเรียกเก็บรายได้แค่จากค่าบริการรายเดือน และการใช้งาน ซึ่งเป็น การจัดเก็บที่น้อยลงกว่าค่าสัมปทานที่คำนวณจากรายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว ก็ปล่อยให้การเมืองว่ากันให้จบไปก่อน

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมสำหรับประเด็นข้อสงสัยของผู้ประกอบการว่ากรมสรรพสามิตจะใช้เกณฑ์รายได้แบบใดในการจัดเก็บภาษีนั้น ในเรื่องนี้ของอธิบายว่าภาษีสรรพสามิตจะยึดเกณฑ์การจัดเก็บจากฐานรายได้ทั้งหมดในการให้บริการจริงซึ่งเป็นรายได้ที่มีการตกลงในสัญญาสัมปทานเดิมของคู่สัญญาแต่ละราย ส่วนรายได้ที่นอกเหนือจากในสัญญา กรมจะไม่จัดเก็บเพราะถือเป็นรายอื่นๆ

ขณะเดียวกันหากมีภาคเอกชนรายได้ลักลอบผลักภาระให้กับประชาชน กรมก็มีวิธีการตรวจสอบย้อนหลัง ตามวิธีการภาษี ซึ่งมีความรัดกุม จึงยืนยันว่า ผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.