"กนก วงษ์ตระหง่าน" เข้าบริหารแฟมิลี่มาร์ท 1 มีนาคมนี้ ด้านผู้ถือหุ้นสยามแฟมิลี่มาร์ทหยุดเจรจาขายให้กลุ่ม
"เจริญ สิริวัฒนภักดี" ชั่วคราว ชี้รับเงื่อนไขบางเรื่องไม่ได้ พร้อมปฏิเสธไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุน
แต่ข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาสร้างความเสียหายให้แก่แบรนด์ และแฟรนไชซี่เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก
เตรียมเปิดแถลงข่าวเคลีย์ปัญหาทั้งหมดเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวระดับสูงจากเซ็นทรัลกรุ๊ป เปิดเผย"ผู้จัดการรายวัน" ถึงการลาออกของ
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน จากการเป็นประธานบริหารสายปฏิบัติการและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหา ชน) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม
2546 นี้ เนื่องจากศ.ดร.กนกได้รับการทาบทามจากกลุ่มผู้ถือหุ้นของ บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท
จำกัด ให้เข้ามาบริหาร งานนานแล้ว และเมื่อศ.ดร.กนก ดำเนิน ภารกิจในโรบินสันแล้วเสร็จ
จึงตัดสินใจที่จะร่วมงานในแฟมิลี่มาร์ท เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันในเชิงยุทธศาสตร์
และท้าทายความสามารถ
ทั้งนี้ แฟมิลี่มาร์ทนับเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวพันธ์กับโรบินสัน ในฐานะที่โรบินสันเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งใน
บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 13.33% ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นประกอบด้วย
แฟมิลี่มาร์ท ญี่ปุ่น 43%, เอส เอฟ เอ็ม โฮลดิ้ง 21%, สหพัฒนพิบูล 8.33% , ไอ.ซี.ซี.
8.33% และอิโตชู 6%
สำหรับความคืบหน้าของบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ในการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาถือหุ้นนั้น
ซึ่งเคยมีข่าวออกมาว่าทางกลุ่มเซเว่นอีเลฟเว่น และกลุ่ม นายเจริญ สิริวัฒนภักดี
สนใจที่จะเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด นั้น แหล่งข่าวจากผู้ถือหุ้นในสยามแฟมิลี่มาร์ท
กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน"ว่า ข่าวที่เกิดขึ้นสร้างความสับสน เสียหาย ให้แก่แฟมิลี่มาร์ทเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะทางผู้ถือหุ้นฝ่ายญี่ปุ่นรู้สึกงง และไม่พอใจกับข่าวที่ออกมาเป็นอย่างมาก
และที่สำคัญทำให้แฟรนไชซี่ หรือนักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ของแฟมิลี่มาร์ทไปดำเนินกิจการเกิดความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของบริษัท
ในขณะที่กลุ่มซัปพลายเออร์ที่ส่งสินค้าให้แฟมิลี่มาร์ทก็เกิดความระส่ำไปด้วยเช่นกัน
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สยามแฟมิลี่มาร์ท ไม่เคยเจรจากับกลุ่มเซเว่นอีเลฟเว่นแต่อย่างใด
แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เซเว่นฯจะสนใจธุรกิจของแฟมิลี่มาร์ท เนื่องจากแต่ละสาขาของแฟมิลี่มาร์ทจะตั้งอยู่ในทำเลที่ดี
ซึ่งหากซื้อไปก็สามารถ ดำเนินกิจการต่อไปทันที แต่บริษัทก็ยืนยันว่าจะไม่ขายกิจการให้แก่เซเว่นฯอย่างแน่นอน
"หลังจากที่มีข่าวออกมาว่าเซเว่นฯจะซื้อแฟมิลี่มาร์ทนั้น ทางผู้บริหารของแฟมิลี่มาร์ทก็ได้ต่อว่าทางเซเว่นฯไปแล้ว
ซึ่งทางผู้บริหารของเซเว่นฯชี้แจงว่า เพียงแต่พูดว่าสนใจเท่านั้น ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดเรื่องใหญ่โต"
สำหรับการเจรจากับกลุ่ม นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มสุราแสงโสมนั้น ได้เคยเจรจาตั้งแต่แต่ปีที่ผ่านมา
เนื่องเพราะทางกลุ่ม นายเจริญสนใจธุรกิจร้านแฟมิลี่มาร์ท แต่ขณะนี้ทางสยามแฟมิลี่มาร์ทขอหยุดการเจรจาลงชั่วคราว
เนื่องจากการเจรจาที่ผ่านมายังไม่สามารถหาจุดที่ลงตัวได้ เช่น เรื่องของบุคลากรที่จะเข้ามาบริหารงานและขอเงื่อนไขอื่นๆอีกหลาย
เรื่อง ซึ่งสยามแฟมิลี่มาร์ทยังรับข้อเสนอเหล่านั้นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การหยุดเจรจาระหว่างสยาม แฟมิลี่มาร์ท กับกลุ่มนายเจริญในครั้งนี้
มิใช่ปิด ประตูตายเสียทีเดียว ซึ่งแหล่งข่าวบอกว่าเพียงแค่หยุดเจรจาเท่านั้น ซึ่งในอนาคตหากทั้งสองกลุ่มกลับไปทำการบ้านกันใหม่อีกครั้ง
อาจจะนัดกลับมาเจรจากันใหม่อีกครั้งหนึ่งก็ได้
สำหรับกรณีของข่าวที่ออกมาว่าสยามแฟมิลี่มาร์ทขาดเงินทุนในการขยายธุรกิจนั้นก็ไม่เป็นความจริง
เพราะสยามแฟมิลี่มาร์ทมีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งสามารถเจรจากู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆมาขยายสาขาได้อย่างไม่มีปัญหา
ส่วนทิศทางของสยามแฟมิลี่มาร์ทในอนาคตนั้น คงต้องเน้นการขยายสาขาให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสาขาทั้งหมด
มีจำนวนสาขาเพียง 246 สาขา ซึ่งยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเชนร้านสะดวกซื้อรายอื่นที่มีจำนวนสาขามากกว่า
2,000 สาขาแล้ว
"ในเร็วๆนี้สยามแฟมิลี่มาร์ทจะออกมาแถลงข่าว ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ทราบโดยทั่วกัน
เพื่อให้เรื่องราวทุกอย่างคลี่คลาย และไม่เป็นที่เข้าใจผิดของคนทั่วไปอีกต่อไป"
ผู้ถือหุ้นในสยามแฟมิลี่มาร์ท กล่าว แต่เมื่อผู้จัดการสอบถามกลับไปว่าจะแถลงข่าวถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานด้วยหรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่ายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก ให้ความเห็นว่า การเข้ามาบริหารงานของ
ศ.ดร. กนก ในสยามแฟมิลี่มาร์ท น่าจะเป็นผลดี เพราะจะทำให้การบริหารงานสามารถเข้าใจพนักงานและกลุ่มผู้บริโภคได้ดีมากขึ้น
เนื่องจากมีผลงานในการแก้วิกฤตของโรบินสันจนกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้งหนึ่งแล้ว
ในขณะที่ปัจจุบันผู้บริหารระดับสูงของสยามแฟมิลี่มาร์ทเป็นคนญี่ปุ่น จึงอาจไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรของไทย
และหากพิจารณาถึงธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่นที่เข้ามาขยายสาขาในประเทศไทยและบริหารงานโดยคนญี่ปุ่น
ก็พบว่าม้วนเสื่อกลับบ้านไปแล้วหลายราย ดังนั้นการตัดสินใจดึงผู้บริหารคนไทยเข้ามาบริหารในครั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มสยามแฟมิลี่มาร์ทยังต้องการขยายธุรกิจในประเทศไทยต่อไป