เวิล์ดแบงก์ประเมินภาพศก.ปีหน้าลดน้ำหนักส่งออกหันพึ่งการลงทุน


ผู้จัดการรายวัน(16 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"หม่อมอุ๋ย"เผยเศรษฐกิจปี 50 จะขยายตัว 4.5-5% ขณะที่การส่งออกโตแค่ 11.2% สอดคล้อง"เวิล์ดแบงก์" คาดจีดีพโต 4.6% ขณะที่การส่งออกขยับเพิ่ม 11%และจะไม่ใช่ตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หันพึ่งการลงทุนภาครัฐ-เอกชนเป็นหัวจักรต่อ แนะภาครัฐบาลผ่อนคลายข้อจำกัดของการทำธุรกิจทางด้านกฎระเบียบ ทักษะฝีมือแรงงาน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดแคลนอยู่ หวั่นผู้ประกอบการมองเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ถึงกรณีที่ธนาคารโลกประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีหน้าจะขยายตัวลดลงว่า ทุกวันนี้นักลงทุนมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และดัชนีตลาดหุ้นก็ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งการส่งออกในปีหน้า ที่ธปท.คาดว่าจะอยู่ที่ 11.2% ในอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.5-5.5% นั้นคิดว่าสามารถทำได้อย่างแน่นอน

ด้านนางกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารโลก กล่าวคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีประเทศไทยปีหน้า ว่า จะเติบโตร้อยละ 4.6 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2549 โดยมีแรงผลักดันจากการลงทุนของภาครัฐที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตกว่าปีนี้ เพราะมีการเบิกจ่ายทั้งปี เมื่อเทียบกับปี 2549 ที่การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายภาครัฐล่าช้าในไตรมาส 4 ประกอบกับภาคเอกชนก็จะมีการลงทุน แต่ยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน ซึ่งธนาคารโลกคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ลดลงจากปี 2549 ที่มีราคาเฉลี่ย 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2549 ลดลงเหลือ 60 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550 แต่ราคาในไทยจะไม่ลดลงมากนัก และความไม่มั่นใจนโยบายของภาครัฐ ส่วนภาคการส่งออกปีหน้าจะไม่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยเหมือนกับปี 2549 ที่การส่งออกโตร้อยละ 16

“ปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะโตได้ 4.6% โดยภาคการส่งออกไม่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนอย่างปีนี้ แต่แรงผลักดันในปีหน้าน่าจะมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนมากกว่า” นางกิริฎา กล่าว

ทั้งนี้ในปีหน้าธนาคารโลกประเมินว่าการส่งออกจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 11 แม้ว่าการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ จะช่วยทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น และการลงทุนของภาครัฐมีการเบิกจ่ายเป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็ตาม แต่ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่สูงขึ้น การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท และความไม่แน่นอนของนโยบาย ล้วนไม่สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน อีกทั้งในปี 2550 ตลาดโลกจะเกิดการชะลอตัวของอุปสงค์ลง ในขณะที่สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของไทย (จีเอสพี) ที่เคยได้รับจากสหรัฐจะหมดลง ก็จะทำให้สินค้าของไทยมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 1-3 ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกจนทำให้ภาคการส่งออกไม่ได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อีก ขณะเดียวกันเชื่อว่าในปีหน้าดุลการค้าของไทยจะขาดดุลประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ในปีนี้ไทยขาดดุลการค้าประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวไม่มากไปกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2549 เนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ผู้ประกอบการยังคงต้องปรับตัว เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น และอีกสิ่งที่เป็นอุปสรรคของนักลงทุนในขณะนี้คือ การควบคุมราคาสินค้าโดยกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรลดลง และจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจครั้งล่าสุดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังพบว่าผู้ประกอบการระบุว่า การไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ เป็นหนึ่งในสามข้อจำกัดที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ และการควบคุมราคา ยังส่งผลกระทบต่อผลิตภาพของบริษัทธุรกิจให้ลดลง

ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่า จะเร่งตัวขึ้น แต่การเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่อาจล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากจะมีการเบิกจ่ายตลอดทั้งปี โดยปีงบประมาณ 2550 งบประมาณการลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11 และรัฐวิสาหกิจจะอนุมัติงบประมาณการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ด้านการลงทุนภาคเอกชนในปีหน้า คาดว่าจะไม่ขยายตัวมากไปกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2549 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและการแข็งค่าขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง

นางกิริฎา กล่าวต่อว่า หากมองแนวโน้มไปข้างหน้าจะพบว่า ภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวจากราคาน้ำมันที่สูง ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ระยะปานกลางที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและทำให้กำไรส่วนเพิ่มของบริษัทลดลง ประกอบกับยังต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านการส่งออกที่รุนแรงขึ้น ทั้งสินค้าที่ใช้แรงงาน และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีจากประเทศจีนและประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางอื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาในระดับผู้ประกอบการและมหาวิทยาลัยอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดทางด้านอุปทานที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตได้กลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ฉะนั้นการจะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเร่งแก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีอยู่

“รัฐบาลควรต้องผ่อนคลายข้อจำกัดของการทำธุรกิจทางด้านกฎระเบียบ ทักษะฝีมือแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดแคลนอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการลงทุน และการเพิ่มผลิตภาพ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องนำนวัตกรรมและความรู้มาใช้ เพราะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพในภาคบริการ เพราะภาคบริการมีขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 45 ของจีดีพีของไทย ซึ่งภาคบริการประกอบด้วย ภาคการเงิน การสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ โลจิสติกส์ และบริการธุรกิจ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยลดต้นทุนการประกอบการของบริษัท และช่วยเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าไทยได้” นางกิริฎา กล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยจะเติบโตร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกที่ขยายตัวค่อนข้างมาก ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยรวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดลง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐในปี 2549 ชะลอตัวลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.