เบื้องหลังการเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนของผู้นำประเทศอาเซียนเมื่อวันที่
14-15 ธันวาคม 2538 คือบรรดาท่านผู้หญิงที่ร่วมเดินทางมาร่วมเป็นเกียรติด้วย
"กุสุมา โยธาสมุทร" จาก "ผู้จัดการรายเดือน" ได้รับเกียรติจากภริยาท่านผู้นำ
2 ประเทศให้เข้าพบและสนทนาในแง่มุมของชีวิตและความหลังแห่งความสำเร็จ
ตันศรีดาติน ซาติ ฮัสมะห์ (TANSRIDATIN SATI HASMAH) สตรีร่างเล็กผิวขาวที่แม้ในวัย
69 ปี เค้าโครงความงามยังฉายให้เห็นได้อย่างเด่นชัด และที่สำคัญ สตรีมนุษย์สัมพันธ์ดีผู้นี้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนายกรัฐมนตรีคนที่
4 ของมาเลเซีย ดาโต๊ะเสรี ดอกเตอร์มหาเธร์ โมฮัมหมัด
เบื้องลึกความรักระหว่างนายแพทย์มหาเธอร์ โมฮัมหมัดกับแพทย์หญิงซาติ ฮัสมะห์
เบ่งบานขึ้นที่วิทยาลัยแพทย์คิงเอ็ดเวร็ด ที่สิงคโปร์ โดยที่คุณหมอซาติไม่ได้ฉงนใจแม้แต่น้อยถึงความมุ่งมั่นทางการเมืองของคุณหมอมหาเธร์เมื่อการสมรสเกิดขึ้นในวันที่
5 สิงหาคม 2499
ความที่เป็นสตรีมาเลย์ทันยุคทันสมัย ตันศรีดาติน ฮัสมะห์ จึงเห็นว่าสตรีในกลุ่มประเทศอาเซียนทุกวันนี้
แม้จะมีบทบาทมากมายขึ้นมาก แต่ก็ควรจะก้าวหน้าไปไกลมากกว่านี้ และควรที่จะเข้าไปอยู่ในระดับบริหารประเทศให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับบทบาทของตนเองในฐานะภริยาผู้นำประเทศ ท่านผู้หญิงบอกว่า "ในทางการเมือง
แม้ดิฉันจะไม่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาล แต่ดิฉันก็เป็นสมาชิกของพรรคอัมโน ดิฉันจะให้การสนับสนุนสามีทุกอย่าง
ทุกประการ และจะเคียงคู่ไปเป็นกำลังใจ ออกงานกับสามีทุกที่ ทุกครั้งก็จะไป"
มั่นคงด้วยรักนิรันดร์ ในฐานะภริยาคู่ยากของผู้นำประเทศ ท่านผู้หญิงฮัสมะห์แม้ห่วงใยในการที่สามีมิได้พักผ่อนเท่าที่ควรจะได้รับ
เนื่องเพราะ 3 วันประชุมที่ลังกาวี 2 วันที่มาเลเซีย 5 วันที่โน้นและที่นี่
ก็ไม่อาจทัดทานความมุ่งมั่นของนายกฯ มหาเธร์ลงได้ แม้สุขภาพของท่านนายกฯ
จะยังคงไม่มีปัญหาหลังการผ่าตัดหัวใจมาหยกๆ แล้วก็ตาม
ทุกวันนี้ ทั้งท่านผู้หญิงฮัสมะห์และนายกมหาเธอร์ โมฮัมหมัดมีทายาทเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง
4 คน ซึ่งก็โตๆ กันไปสร้างครอบครัวมีหลานให้ตายาย ผู้นำมาเลเซียทั้งสองอีก
6 คน แต่ท่านผู้หญิงก็บอกว่า
"พอทุกคนโตกันหมด บ้านก็โหรงเหรง เราจึงเหงาและฉุกคิดกันขึ้นมาได้ว่า
เราควรจะหาเด็กๆ มาเลี้ยง
และนั่นก็คือที่มาของการขอลูกชาวบ้านที่ป่วยไข้ผู้หนึ่งมาเลี้ยง หลังจากที่นายแพทย์มหาเธร์ให้การรักษาจากคลินิกส่วนตัวตั้งขึ้น
เมื่อสมรสได้หนึ่งปีที่เมืองอารอว์สตาร์ จนหายจากอาการเจ็บป่วย และรับเป็นแม่ทูลหัวเด็ก
ตามความเชื่อว่า เด็กจะหายจากการป่วยไข้ ถ้ามอบให้คนอื่นเป็นพ่อแม่ทูลหัว
ในที่สุดก็รับเลี้ยงไว้ 3 คน
ท่านผู้หญิงอัสมะห์ในวัยนี้ ดูปราดเปรียว แข็งแรง เธอบอกว่า นอกจากกีฬาแบดมินตันที่เล่นอาทิตย์ละ
3 ครั้งแล้ว ยังหล่อหลอมตัวเองด้วยคติประจำใจว่า อบอุ่น อดทน อดกลั้น เป็นภรรยาที่ดี
และที่สำคัญนึกถึงพระผู้สร้างที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่เธอทุกวันนี้อย่างสม่ำเสมอ
เมื่อถามถึงอุปนิสัยของนายกมหาเธร์ในฐานะผู้ที่ใกล้ชิดที่สุด แน่นอนท่านผู้หญิงบอกว่านายกมหาเธร์อารมณ์เย็น
มีเมตตา น่ารัก และขี้สงสาร และจากการเป็นคนขี้สงสารนี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้นายกมหาเธร์ลาออกจากราชการไปรักษาคนไข้ชาวนายากไร้
พบเห็นกับความยากลำบากของผู้คนมากขึ้น จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่ชื่ออัมโนมากขึ้นไปด้วย
จนได้รับสมญานามว่า "คุณหมออัมโน" (Dr. UMNO)
มิน่าล่ะ ! ทำไม ตันศรีดาติน ชาติน อัสมะห์ แห่งมาเลเซีย จึงไม่ยอมบอกว่าเพลง
"อีฟ ไอ กีฟ มาย ฮาร์ด ทู ยู" (ถ้าฉันมอบดวงใจฉันให้กับคุณ) ที่ขึ้นไปครวญให้บรรดาภรรยาเจ้าหน้าที่สถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยฟังบ่ายวันนั้นมีความหมายลึกซึ้งอย่างไร