Fleet View ถึงรถจะเก่าแต่เทคโนโลยีล้ำยุค

โดย สุชาติ สวัสดิยานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เหตุที่ขสมก.ต้องแบกรับภาระขาดทุนอันหนักอึ้งในทุนวันนี้นั้น นอกจากการบริหารงานที่ไร้ทิศทางแน่นอน การขาดวิธีควบคุมเม็ดเงินที่รั่วไหลขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การขาดแนวทางควบคุมการเดินรถให้ใช้รถได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ก็เป็นข้อสำคัญที่ทำให้ขสมก.ต้องมีสภาพเช่นนี้ ด้วยตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว ในสมัยของผอ.ขสมก.คนปัจจุบันจึงได้มีความพยายามแสวงหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาอุดข้อบกพร่องในส่วนนี้

ระบบสื่อสารระหว่างศูนย์ควบคุมกับรถโดยสารขององค์กรที่เรียกว่า "Fleet View" ที่เป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญจากการรังสรรค์ของบริษัทเรียลไทม์ จำกัด ในเครือของยูคอมกรุ๊ป สร้างความพิศมัยให้กับขสมก.เป็นอย่างมาก จนกระทั่งได้มีการตกลงจะนำมาทดลองใช้กับรถโดยสารขององค์กรในเร็ววันนี้

Fleet View เป็นระบบ Automatic Vehicle System (AVLS) เป็นระบบควบคุมการขนส่งรูปแบบใหม่ ที่ได้มีการนำเอาอุปกรณ์การสื่อสารและเทคโนโลยีชั้นสูงมาผนวกกัน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการขนส่ง โดยสามารถทราบความเคลื่อนไหวของยานพาหนะที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ บนแผนที่ทางจอภาพคอมพิวเตอร์ และมีการนำเทคโนโลยีของดาวเทียมที่เรียกว่า Global Positioning System (GPS) มาเป็นตัวบอกพิกัดว่ายานพาหนะอยู่ในตำแหน่งใด มีการติดตั้ง Base Station ให้กระจายครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ แต่ในระยะแรกจะเน้นเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อนเป็นประเดิมแล้วจึงจะขยายออกไปให้ทั่วราชอาณาจักรในอนาคตอันใกล้

ดร.วีระ ริ้วพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ของเรียลไทม์ ผู้คลุกคลีกับการรังสรรค์ Fleet View มาตั้งแต่ต้น อรรถาธิบายถึงคุณลักษณ์สำคัญของเครื่องมือควบคุมไฮเทคนี้ว่า ด้วยความสามารถของเครื่องมือนี้ที่ใช้ได้ทั้งการติดต่อทางเดียว สองทาง จึงทำให้ทางศูนย์ควบคุมสามารถส่งคำถามและรับคำตอบจากผู้ขับขี่รถโดยสารได้ ทั้งในกรณีของการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการขนส่ง หรือเกิดกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ระบบนี้ยังช่วยให้ทราบถึงตำแหน่งระยะเวลาที่รถจอด การควบคุมความเร็วของรถโดยสารเพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุ และโปรแกรมติดต่ออื่นที่พร้อมจะใส่เพิ่มเติมในอนาคต แล้วแต่ความจำเป็นของอุตสาหกรรมขนส่งแต่ละประเภท

สำหรับขสมก.นั้น หลังจากได้มีการศึกษาร่วมกันกับทางเรียลไทม์แล้ว ในขณะนี้ได้มีการตกลงในระดับหนึ่งที่จะให้มีการทดลอง Fleet View กับรถเมล์ขององค์การแล้ว เพื่อหาข้อสรุปถึงความเป็นไปได้ที่จะนำระบบนี้มาใช้กับทางขสมก. ซึ่งดร.วีระกล่าวว่า แม้ระบบนี้จะสามารถช่วยให้การปล่อยรถออกจากท่า หรือควบคุมการเดินรถของคนขับเป็นไปได้อย่างดีก็ตาม แต่หากขสมก.ไม่สามารถหามืออาชีพเข้ามาจัดการศูนย์ควบคุมให้เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว เครื่องมือนี้ก็จะไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย

"ที่เราสามารถช่วย ขสมก.ได้ก็คือการสนับสนุนด้านเครื่องและอุปกรณ์ เราไม่มีความสามารถไปช่วยควบคุมได้อย่างแน่นอน เพราะข้อมูลและการคลุกคลีด้านนี้ อยู่ที่ขสมก.ทั้งสิ้น"

นอกจากควบคุมการเดินรถแล้ว เครื่อง Fleet View ยังสามารถช่วยควบคุมพฤติกรรมของคนขับ และการรั่วไหลภายในขสมก.ได้อีกด้วย รวมถึงการตรวจจับพฤติกรรมที่คนขับแอบออกนอกเส้นทางเพื่อไปถ่ายน้ำมันออกจากถังไปขาย หรือการคำนวณอัตราใช้บริการของผู้โดยสารในแต่ละวัน เพื่อให้ทราบตัวเลขรายได้แท้จริงนั้น Fleet View สามารถสนองตอบความต้องการในจุดนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในจุดนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้บริหารขสมก. จะต้องหาหนทางนำเครื่องมือไปติดโดยได้การยอมรับของพนังานปฏิบัติงานด้วย เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งภายในองค์กรตามมา ซึ่งที่ผ่านมาทางเรียลไทม์ก็เคยมีประสบการณ์มาก่อนกับรถขนน้ำมัน หรือรถขนเงินซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้ Fleet View อยู่ด้วย โดยเกิดปฏิกริยาต่อต้านจากผู้ปฏิบัติงานด้วยการรื้อเครื่องมือออกไปเป็นจำนวนมาก

การนำ Fleet View เข้าไปเปิดศักราชให้ขสมก.สามารถควบคุมการเดินรถได้ครั้งนี้ แม้ว่าจะหวังผลไม่ได้มากว่า จะเป็นการลดต้นทุนลงมาได้อย่างฮวบฮาบทันทีก็ตาม แต่ก็เป็นการสร้างความตระหนัก และสร้างวินัยให้พนักงานขสมก.เริ่มปฏิบัติการลดการขาดทุนอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก

สำหรับเครื่อง Fleet View นี้ เป็นการทุ่มเทครั้งสำคัญของกลุ่มยูคอม ที่จะเนรมิตรเครื่องควบคุมการเดินทางของยานพาหนะ ซึ่งยังไม่มีค่ายสื่อสารค่ายใด โดดลงมาผลิตและจำหน่ายสินค้านี้เลย แม้แต่ในย่านอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ก็ยังไม่มีโครงการที่จะผลิตหรือจำหน่ายสินค้านี้แต่อย่างใด ทางเรียลไทม์ใช้เวลาในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ถึง 1 ปี และเพิ่งจะทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว ใช้งบประมาณในการพัฒนาสินค้านี้ถึง 40 ล้านบาท ในปัจจุบันมีภาคราชการอื่นเช่น การสื่อสารแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานราชการเอกชนนำไปใช้บ้างแล้ว ได้มีการตั้งเป้าหมายว่า ภายในปีหน้าจะทำยอดขายได้อย่างน้อย 2,400 เครื่อง ซึ่งราคาตกเครื่องละ 4,500 บาท เป็นราคาที่รวมคอมพิวเตอร์ในการดำเนินการด้วย

"แม้ว่าในช่วงแรกเราจะค่อนข้างเสี่ยงอย่างมาก ในการเข้ามาผลิตและจำหน่ายสินค้าตัวนี้ ทั้งที่เครื่องมือสื่อสารอื่น จะเป็นการซื้อมาขายไปเสียส่วนใหญ่ แต่เราก็สามารถเข้ามาสู่ตลาดสินต้าที่มีช่องว่างอีกมหาศาลให้เราทำอีกมากมาย ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีค่ายอื่นโดดเข้ามาทำตลาดในจุนี้แต่อย่างใด และหากเขาจะโดดเข้ามาในตอนนี้แล้ว เขาจะต้องช้ากว่าเราอย่างน้อย 1 ปีแน่นอน"

ดร.วีระกล่าวถึงทิศทางพัฒนาของ Fleet View ในอนาคตว่า จากแรกเริ่มที่ Fleet View เป็นเพียงเครื่องบอกทิศทางขนาดใหญ่เท่ากับกระเป๋าใส่เสื้อผ้า จนถึงปัจจุบัน ที่มีขนาดเล็กเท่ากับกล่องอุปกรณ์ธรรมดา จึงได้วางโครงการไว้ว่า ด้วยเครือข่ายอุปกรณ์การสื่อสารที่มีอยู่ เช่นโทรศัพท์ไร้สาย โทรศัพท์ติดตามตัวฯ จะเป็นช่องทางที่ Fleet View เข้าไปเพิ่มศักยภาพได้ในอนาคต และมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ต่อไป Fleet View จะบุกเบิกเข้าไปใช้ในบุคคลทั่วไป จนเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นอย่างหนึ่งในอนาคต

คุณสมบัติของ Fleet View ที่จะสามารถเสริมประสิทธิภาพในการเดินรถได้นี้ จะช่วยองค์กรเช่นขสมก.ได้อย่างเต็มที่ เพียงแต่ขสมก.จะต้องมีสำนึกและจะนำเครื่องมือไปใช้งานอย่างจริงจัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.