อเมริกันในวงล้อมญี่ปุ่น

โดย สันทิฎฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดรถยนต์เมืองไทยในยุคนี้ ดูมีสีสันอย่างมาก เมื่อรถยนต์จากทุกมุมโลก แห่เข้ามาให้คนไทยได้สัมผัส

ยิ่งในอีกปีสองปีข้างหน้าด้วยแล้ว ยังไม่รู้ว่าสภาพจะออกมาอย่างไร

ญี่ปุ่น จะทนแรงเสียดทานและยึดครองตลาดส่วนใหญ่ได้อีกต่อไปหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด

และยิ่งบิ๊กทรีจากสหรัฐอเมริกา เดินเครื่องเต็มที่ด้วยแล้ว น่าเป็นห่วงแทนไม่น้อย

พูดถึงบิ๊กทรี ในปัจจุบันล้วนเข้าสู่เมืองไทยอย่างเต็มตัวและเต็มที่ทุกราย มิหนำซ้ำยังประกาศกร้าวถึงความต้องการ ที่จะได้ใหญ่ในเมืองไทย และมุ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก นั่นย่อมหมายถึงการยึดตลาดในปริมาณที่มากต้องเกิดขึ้นตามไปด้วย

บิ๊กทรีจากสหรัฐอเมริกานี้ ไม่อาจจะกล่าวสรุปได้ว่า ใครมีอนาคตกว่าใครในระยะยาว

แต่ ณ ขณะนี้ มองได้ว่า ทั้งฟอร์ดและไครสเลอร์ เดินหน้าไปมาก โดยเฉพาะไครสเลอร์ เพราะผลงานที่เป็นรูปธรรมได้ออกมาโดดเด่นในตลาดแล้ว

สำหรับจีเอ็มนั้น ความชัดเจน ความโดดเด่น และความคืบหน้ายังไม่มีให้เห็นมากนัก แม้โอเปิลจะเปิดตัวและได้รับความสนใจในระดับที่นักลงทุนท้องถิ่นอย่างค่ายพระนครยนตรการจะพอใจก็ตาม

แผนการรุกคืบของพระนครยนตรการ ที่มีจีเอ็มเป็นผู้เกื้อหนุนอยู่ข้างหลังนั้น ดูจะเนิ่นนานและล่าช้ามาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งรถยนต์นั่ง หรือปิกอัพ รุ่นต่างๆ ที่จีเอ็มมีอยู่มากมายเข้ามาทำตลาดเมืองไทย

กว่า 4 ปีมาแล้วที่ข่าวการรุกเข้าตลาดเมืองไทย โดยการร่วมมือกับค่ายพระนครยนตรการของจีเอ็ม เปิดเผยออกมา

จนวันนี้ ทุกอย่างก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่กลุ่มทุนท้องถิ่นแห่งนี้ มีพร้อมเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการตลาด โรงงาน และความชำนาญ แต่ดูเหมือนจะขาดไปบางอย่างเท่านั้น

การตัดสินใจที่เฉียบคมและกล้าลงทุน

สำหรับฟอร์ด สถานการณ์ที่ไม่คืบหน้าในเรื่องประสานความร่วมมือระหว่างตัวแทนจำหน่ายหลักในไทย ทั้งสองแห่งคือ นิวเอร่า ไซเคิล แอนด์ แคเรจ และกลุ่มยนตรกิจ ทำให้ต้องตัดสินใจเข้ามาอย่างเต็มตัวทางด้านการตลาด หลังจากประกาศแผนการร่วมทุนของบริษัทกับมาสด้า มอเตอร์ เพื่อก่อตั้งโรงงานประกอบปิกอัพในไทยด้วยงบประมาณ 12,500 ล้านบาท

ฟอร์ดได้ตัดสินใจที่จะตั้งบริษัทเพื่อเป็นศูนย์การประสานงานด้านการผลิต และการตลาดขึ้นในไทย โดยจะใช้ชื่อว่า ฟอร์ดไทยแลนด์

ฟอร์ด ไทยแลนด์ จะมีส่วนเข้าไปดูแลบริษัทร่วมทุนกับมาสด้า คือ ออโต แอลแลนซ์ ไทยแลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ประกอบรถในไทย และอีกด้านหนึ่งก็คือ การดูแลการจัดจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ดทั้งหมดในไทย รวมทั้งการให้นโยบายต่อตัวแทนจำหน่ายหลักทั้ง 2 ราย

ในส่วนของการผลิตรถยนต์นั่ง ฟอร์ดวางแผนว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่โรงงานปิกอัพเริ่มก่อสร้างในปี 2539 และเริ่มเดินเครื่องผลิตในกลางปี 2541 โดยสายการผลิตรถยนต์นั่งอาจเกิดขึ้นในอีก 1-2 ปีต่อมา

เกณฑ์การตัดสินใจหลักในการขึ้นไลน์การประกอบรถยนต์นั่งในไทย ซึ่งจะใช้ร่วมกับโรงงานประกอบปิกอัพก็คือ คุณภาพ หากคุณภาพการประกอบปิกอัพดี ไลน์การผลิตรถยนต์นั่งก็จะเกิดขึ้นตามมา โดยฟอร์ดเองก็มีความตั้งใจที่จะเน้นด้านคุณภาพและการถ่ายโอนเทคโนโลยีมายังไทยอยู่แล้ว

ฟอร์ดยังได้คาดคะเนความเป็นไปได้ของตนเองว่า สำหรับไทยนั้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี เพื่อสร้างส่วนครองตลาดให้ได้ถึง 10% ของตลาดรถยนต์รวมของไทย เพราะรถญี่ปุ่นมีส่วนครองตลาดอยู่ถึง 90%

แต่ฟอร์ดก็พยายามหาแนวทางลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด โดยยึดหลักการรุกตลาดด้วยคุณภาพ ราคา และภาพพจน์ เพื่อสร้างความคุ้มค่าให้กับตลาด ด้วยความหวังที่ว่า

แม้ จีเอ็ม โตโยต้า ฮอนด้า จะมีรถจำหน่ายอยู่ทุกมุมโลก แต่ก็ไม่เชื่อว่าคนที่ใช้รถโตโยต้าจะใช้รถโตโยต้าไปตลอด

ในส่วน ไครสเลอร์ หลังจากเข้ามาร่วมทุนกับ บริษัท สวีเดนมอเตอร์ส จำกัด (มหาชน) เมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ากิจกรรม จะออกมาตามแผนงานเป็นระยะ แม้จะล่าช้าในบางเรื่อง แต่ก็ถือว่า ยังไม่ถึงกับล้มเหลว

และเมื่อมองถึงศักยภาพของนักลงทุนท้องถิ่น อย่าง สวีเดนมอเตอร์ส ที่มีความพร้อมและความชำนาญรอบด้านด้วยแล้ว นับว่าไครสเลอร์ ดูมีแนวโน้มที่ดีไม่ด้อยไปกว่าฟอร์ดแม้แต่น้อย

บิ๊กทรีในไทย ณ วันนี้ คงมีเพียง ฟอร์ด และไครสเลอร์เท่านั้นที่เจิดจรัสขึ้นมา ส่วนจีเอ็มยังคงเก็บตัวเงียบอยู่มาก

แต่กระนั้นก็ตาม เส้นทางเดินของบิ๊กทรีในเมืองไทยยุคโลกไร้พรมแดนเช่นนี้

ญี่ปุ่นคงต้องทำงานหนักขึ้นอีกหลายเท่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.