"อย่าบอกว่าเราเหมือนกับใคร หรือแข่งกับใคร เราทำตลาดไท เพื่อให้เป็นศูนย์ค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรแห่งแรกของเมืองไทย
พูดได้ว่าที่ผ่านมาไม่มีใครเคยทำมาก่อน การโปรโมตตลาดของเราก็เป็นเรื่องปกติ
เพราะเปิดโครงการใหม่ก็ต้องโฆษณาเพื่อดึงลูกค้า ลูกค้าจะมาจากไหนเราไม่รู้
เพราะทุกคนก็ต้องการสิ่งที่ดีกว่า"
คำอธิบายถึงตลาดไทจาก ศรีธวัฒน์ อิทธิระวิวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยแอ็กโกร
เอ็กชเชนจ์ จำกัด (เทโก้) บริษัทผู้ดำเนินงานบริหารตลาดไท ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายของผู้ค้าสินค้าเกษตรจากตลาดเดิมๆ
ที่มีอยู่ มาสู่ตลาดไทที่มีผลประโยชน์ให้มากกว่าการขายสินค้าที่ตลาดเดิม
ศรีธวัฒน์ เป็นคนที่เทโก้ จัดว่าเป็นผู้บริหารมืออาชีพ และใช้เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาความคิดของบรรดาผู้ค้า
ในเรื่องของผู้บริหารที่มีนโยบายไม่แน่นอนของตลาดค้าส่งที่ได้ศึกษามา เคยทำงานกับแม็คโคร
ในตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสทั่วไป (Senior General Manager) โดยอยู่ในทีมทำตลาดและเป็น
1 ใน 5 ของทีมผู้บริหารแม็คโครที่ถูกส่งไปศึกษางานที่ยุโรปรุ่นแรก
จากนั้นออกมาทำงานด้านที่ปรึกษาธุรกิจพัฒนาที่ดิน และมีบริษัทของตัวเองทำด้านสเปเชียลเอฟเฟค
ตอนนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการตั้งบริษัทอีกหนึ่งบริษัทโดยเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศออสเตรเลีย
ศรีธวัฒน์เริ่มรู้จักกับถนอม ตั้งแต่งานสร้างตึกรัชกาลที่ 4 เป็นเวลา 10
ปี ก่อนจะถูกชวนมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการที่เทโก้
งานของศรีธวัฒน์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการที่รับผิดชอบทุกด้านของเทโก้ เริ่มตั้งแต่การคิดคอนเซ็ปต์ร่วมกันกับบริษัทแปลน
อาคิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบอาคารและโครงการว่า ในส่วนนี้ต้องมีความทันสมัยเพราะจะพัฒนาให้เป็นตลาดค้าส่งระดับโลก
เรียกว่าใครมาประเทศไทยถ้าจะหาตลาดสินค้าเกษตรต้องนึกถึงตลาดไท เป็นอันดับแรก
"ตัวอาคารสินค้าของตลาดไท จะต้องโปร่งสบายตา มีระบบระบายอากาศดี สะท้อนรังสีของดวงอาทิตย์ได้เพื่อป้องกันความร้อน
การออกแบบภายในอาคาร การขนถ่ายและเคลื่อนย้ายสินค้าต้องทำได้สะดวก"
ศรีธวัฒน์ พูดถึงหลักง่ายๆ ของการออกแบบตัวอาคารตลาดไท ที่แล้วเสร็จไปในส่วนของตลาดส้ม
ตลาดผัก และตลาดผลไม้รวม พร้อมกับวางแผนอนาคตที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้กับตัวอาคาร
เพื่อผลทางการรับรู้ข้อมูลสำหรับวิจัยตลาดพืชผลเกษตรด้วยว่า
ประมาณต้นปี 2539 ภายในตัวอาคารสินค้าของตลาดไท นอกจากจะใช้รถไฟฟ้าอเนกประสงค์แล้ว
ยังจะมีการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเช็กปริมาณสินค้า เช่น จำนวนสินค้าและรถเข้าออกของแต่ละอาคารในแต่ละวันให้สามารถรู้ว่ามีสินค้าอะไรส่งเข้ามาบ้าง
พาหนะที่ใช้ส่งสินค้าเป็นรถอะไร ซึ่งคอนเซ็ปต์ของซอฟต์แวร์นี้ดีไซน์ไว้เรียบร้อยแล้ว
และรอการทดลองใช้ ส่วนอาคารแตงโม และห้องเย็นก็คือ ส่วนที่จะก่อสร้างในต้นปี
2539 เช่นกัน
"จากระบบเพื่อสามารถรับรู้ปริมาณสินค้าได้ จะทำให้เราวางแผนการตลาดได้ถูก
และรู้ว่าสินค้าชนิดไหนขายดี มีสินค้าอะไรขาด พอหรือเหลือ สมมติสินค้าเหลือเราก็จะติดต่อโรงงานผู้ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปมาให้
รวมทั้งผู้ส่งออกผลไม้ เรามีแผนประสานงานให้กับลูกค้าเพื่อให้ผู้ค้าในโครงการพัฒนาการค้าของตัวเองได้ด้วย"
สำหรับการโฆษณาตลาดไทของเทโก้ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงลูกค้าเข้าโครงการให้มากเท่าที่ต้องการตามที่ศรีธวัฒน์นั้น
ไม่เจาะจงว่าลูกค้าจะต้องมาจากตลาดไหน อาจจะเป็นจากตลาดเดิมที่มีอยู่ อย่างตลาดสี่มุมเมือง
ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่มีอยู่เดิมและใกล้กับตลาดไทมากที่สุด และในความจริงก็มีลูกค้าจากส่วนนี้มาไม่น้อย
แต่ศรีธวัฒน์ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่การจงใจดึงลูกค้าจากสี่มุมเมือง แต่เป็นการดึงลูกค้าทั่วไป
ไม่เฉพาะจากสี่มุมเมืองมีที่อื่นๆ อีกมากรวมทั้งเกษตรที่จะเป็นผู้ค้ารายใหม่
ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ค้าที่ต้องการเข้ามาหาคุณภาพสินค้า บริการ ความยุติธรรม
และสิ่งที่ดีกว่า รวมทั้งมีอนาคตที่ขยายตัวทางการค้าเองได้
ทั้งนี้เพราะว่าตลาดไทจะเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่ครบวงจร มีห้องเย็น โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร
และจะมีศูนย์ประมูลสินค้าเกษตรเป็นแห่งแรกที่เปิดดำเนินงานก่อนที่รัฐบาลจะสร้างตลาดกลางสินค้าเกษตร
3 แห่งในปี 2540 ลูกค้าที่ต้องการสิ่งเหล่านี้ก็จะเข้ามา บางรายมาเห็นแล้วชอบ
ก็เข้ามา ส่วนผู้บริหารตลาดเดิมที่ผู้ค้าย้ายมา ก็ต้องพัฒนาตลาดของตัวเองให้ดีขึ้น
ตอนนี้ซึ่งเป็นช่วงโปรโมชั่นของตลาดไท นับแต่เปิดตัวมาตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน
2538 นั้น นอกจากผู้ค้าส่งจะเช่าพื้นที่ได้ฟรีในช่วงนี้ เว้นจากเสียค่าบำรุงอื่นๆ
เช่น เก็บขยะ ค่ายาม
ตลาดไทยังมีการช่วยค่าลงสินค้าสำหรับรถบรรทุกแต่ละขนาดอย่างต่ำ 200 บาทขึ้นไปต่อสินค้า
1 เที่ยวแล้ว มีการสมนาคุณค่าน้ำมันรถให้กับผู้ซื้อที่เข้ามาซื้อเช่น รถ
4 ล้อได้ 200 บาท รถ 6 ล้อได้ 600 บาท รถ 10 ล้อได้ 1,000 บาท ไม่คิดค่าจอดรถ
ในขณะที่ตลาดเก่าบางแห่งมีปัญหาเรื่องนี้ และเท่าที่ผ่านมาตลาดไท มีการซื้อขายที่ค่อนข้างคึกคัก
จึงไม่ต้องว่าจะไปได้ดีเพียงไร มีผู้ค้าจากทั้งจังหวัดใกล้เคียงอย่างนครปฐม
สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ยังมีจากภาคเหนือและอีสานอีกมาก รวมผู้ค้าตอนนี้นับได้
2,000 ราย มีทั้งเกษตรกรผู้ผลิตเองและพ่อค้าคนกลางในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
ไม่นับรวมรถเร่ซึ่งเรียกเป็นผู้ค้าเสริม และถ้าเป็นผู้ค้าผลไม้ตามฤดูกาลจะมีผู้ค้าเพิ่มในส่วนนี้อีกประมาณ
1,000 ราย
เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการบริหารงานอย่างที่พูดไว้ บริษัทจึงเป็นผู้บริหารงานเองทั้งหมด
ดังนั้นจะไม่มีปัญหาการเก็บเงินกินเปล่าอย่างแน่นอนภายใน 2 ปี และค่าเช่าก็ยังไม่กำหนดว่าจะเก็บเมื่อไร
ทำให้รายได้ของเทโก้ ณ ปัจจุบัน จึงมาจากเงินประกันพื้นที่ 3,000 บาทต่อก้อน
(หน่วยเรียกพื้นที่ภายในอาคารของตลาดไท) และค่าเก็บขยะ ยาม ซึ่งตอนนี้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการเก็บเงิน
ค่าประกันและอื่นๆ ที่เก็บในตอนนี้ของตลาดไท พอแค่ค่าดอกเบี้ย เพราะการดำเนินงานของธุรกิจนี้จะใช้เวลาคืนทุนมาก
ที่ผ่านมาจึงยังไม่มีเอกชนรายใดที่ทำอย่างจริงจังมาก่อน ทั้งที่อนาคตของตลาดประเภทนี้มีมาก
บริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ โดยถนอม อังคณะวัฒนา เริ่มคิดจะทำโครงการนี้ตั้งแต่
พ.ศ.2536 แล้วส่งทีมงานไปศึกษาระบบจากประเทศต่างๆ ผู้ถือหุ้นรายอื่นมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย
จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) และบริษัทนิกโก้แคปปิตอล
บริษัทการเงินจากประเทศญี่ปุ่น
ตลาดไท พัฒนาขึ้นบนเนื้อที่ 500 ไร่ ซึ่งแบ่งที่ดินมาจากโครงการโมเดอร์นโฮมซิตี้
ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 42 ถ.รังสิต-องครักษ์ ประกอบด้วย 8 ตลาด คือตลาดส้ม
ผลไม้รวม ผัก ผลไม้ฤดูกาล แตงโม-มะพร้าว-สับปะรด-กล้วย-ขนุน-ถั่ว-เผือก-มัน-ข้าวโพด
และตลาดค้าปลีก แต่ละตลาดมีพื้นที่ 6-9 ไร่ และในอนาคตจะมีตลาดพืชไร่ ตลาดไม้ดอกไม้ประดับ
ห้องเย็น ศูนย์ประมูล และโรงงานแปรรูป เพื่อที่จะเป็น "ตลาดกลางค้าส่งแห่งเดียวที่ครบวงจร"
เมื่อถึงเวลานั้น (ประมาณ พ.ศ.2540) ตลาดไทจะมีรายได้ที่แน่นอนเพิ่มขึ้น
จากค่าเช่าพื้นที่ในแต่ละอาคาร ทั้งประเภทประจำและตามฤดูกาล รวมถึงอาคารพาณิชย์ที่มีแผนจะก่อสร้างบริเวณด้านหน้า
หรืออาคารชุดที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงตอนนั้นแผนการนำโครงสร้างตลาดไทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พร้อมกระจายการสร้างตลาดไทสู่ทุกภูมิภาคของถนอม อังคะวัฒนา ก็คงจะเป็นผลตามที่คาดหมายไว้