เป๊ปซี่ได้ประกาศจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนในการเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทเสริมสุข
เมื่อปลายปี 2537 ที่ผ่านมาว่า เพราะต้องการมีอำนาจเด็ดขาดในไทย เพื่อจะได้วางกลยุทธ์ใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการรุกธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ
แถบอินโดจีน
หลังจากที่เป๊ปซี่เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ไม่นาน ทั้งเสริมสุขและเป๊ปซี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในส่วนของเป๊ปซี่มีการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เรียกว่า เกือบจะถอนรากถอนโคนทีเดียว
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเสริมสุขครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่มากมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
กล่าวคือ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเป๊ปซี่โคล่าได้มีการส่งผู้บริหารระดับสูง
2 คนเข้าไปช่วยงานที่เสริมสุขจำนวน 2 คน
เริ่มจากการส่งนายบี.ที.เล้า ซึ่งเคยทำงานที่เป๊ปซี่-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนล
สาขาสิงคโปร์ เข้ามานั่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ทั้งนี้เพื่อทดแทนสมุห์บัญชีคนเก่าของเสริมสุขที่ถึงคราวเกษียณอายุไป
นอกจากนี้เป๊ปซี่ยังส่งมร.โทนี่ แพง มาเป็นผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดที่เสริมสุขด้วย
เพื่อดูแลรับผิดชอบด้านการขายควบคู่ไปกับการตลาด โดยต้องทำงานประสานกับนายสุทธิ
ศุภโชติ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและนายปริญญา เพิ่มพานิช ผู้จัดการฝ่ายการตลาด
ที่ผ่านมาทั้งสองคนก็ดูแลทั้งฝ่ายการตลาดและการขายควบคู่ไปด้วยกันอยู่แล้ว
นายปริญญา เพิ่มพานิชกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า การที่เป๊ปซี่-โคล่าส่งผู้บริหารของตนเองเข้ามาร่วมบริหารงานที่เสริมสุข
นับว่าเป็นผลดีกับบริษัท เพราะจะได้มีโอกาสเรียนรู้โนว์ฮาวใหม่ๆ จากบริษัทแม่
แต่ฝ่ายเป๊ปซี่จะคิดอย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่ภาพที่มองเห็นก็คือ จุดที่เป๊ปซี่ส่งคนเข้าไปดูแลนั้นอยู่ในขั้นมีความสำคัญมาก
ในส่วนการเปลี่ยนแปลงของเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้งนั้น แม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเงียบๆ
และค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อย
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อต้นปี 2537 เป๊ปซี่ได้แต่งตั้งนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์
ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซึ่งต้องดูแลรับผิดชอบด้านการตลาดให้กับเป๊ปซี่
มิรินด้า และเซเว่นอัพ แทนนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งถูกโยกย้ายไปเป็นกรรมการผู้จัดการ
บริษัทเป๊ปซี่ โค ฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
แต่ปรากฏว่าสุรินทร์รับตำแหน่งดังกล่าวอยู่ไม่กี่เดือน ก็ถูกย้ายให้ไปดูแลด้านผลิตภัณฑ์ประเภท
Non-Cabornate และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้กับประเทศไทยและอินโดจีน แม้ว่าตำแหน่งสุรินทร์จะยังคงเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเหมือนเดิม
แต่ถ้าพูดถึงบทบาทแล้ว ออกจะแตกต่างกันอยู่มาก เพราะถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว
ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์ประเภท Non-Carbonate ให้สุรินทร์ดูแลแม้แต่ตัวเดียว
ขณะที่เป๊ปซี่ มิรินด้า และเซเว่น-อัพล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของเป๊ปซี่ทั้งสิ้น
แต่ถ้าจะมองอีกแง่หนึ่ง สุรินทร์อาจจะเหมาะกับงานผลักดันสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดมากกว่า
เพราะสมัยที่อยู่กับลิเวอร์ ผลงานที่โดดเด่นของเขา คือ การนำไอศกรีมวอลล์เข้าสู่ตลาดเมื่อปี
2531 และเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจที่ลีเวอร์ด้วย
"PCI มองว่าตลาด Non-Carbonate จะมาแรงและมีศักยภาพสูงมาก จึงต้องการให้มีผู้บริหารเข้ามาดูแลรับผิดชอบอย่างจริงจัง
ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาให้เห็น แต่ตอนนี้ยังเป็นความลับอยู่"
แหล่งข่าวของเป๊ปซี่เล่าให้ฟัง
ตัวสุรินทร์เองเคยพูดถึงแผนการนำสินค้าใหม่ๆ ของเป๊ปซี่-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนลเข้าสู่ตลาดประเทศไทยว่า
จะเป็นสินค้าระดับพรีเมียมประเภทสปาคกิ้ง และนอนสปาคกิ้ง ซึ่งจะมีรสชาติคล้ายโซดา
โดยอาจจะเป็นน้ำดื่ม น้ำผลไม้ หรือสปอร์ตดริ้งค์ก็ได้ ซึ่งคงต้องรอดูต่อไปว่า
สินค้าใหม่ที่สุรินทร์จะเข็นออกมานั้นจะเด็ดขนาดไหน
สำหรับงานที่สุรินทร์เคยดูแลนั้น เป๊ปซี่ โคล่า อินเตอร์ฯ ได้ส่งนายเอส.ไอ.
ลี เข้ามารับผิดชอบแทน ในตำแหน่งผู้นวยการฝ่ายขายและการตลาด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ตำแหน่งนี้ตกไปเป็นของผู้บริหารจากต่างประเทศ
ถ้าจะหาเหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะเป๊ปซี่กำหนดให้ทุกประเทศใช้แผนแม่บททางการตลาดที่บริษัทแม่กำหนดไว้ให้
ดังนั้น เมื่อนโยบายเป็นระดับโลกเช่นนี้ ผู้บริหารก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทยก็ได้
นอกจากนี้เป๊ปซี่ยังดึง แมทธิว กิจโอธาน อดีตผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นผม
บริษัท ลีเวอร์ บราเธอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มานั่งเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด
ดูแลผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่และเป๊ปซี่แม็กซ์ อันเป็นตำแหน่งเก่าที่สุรินทร์เคยนั่งก่อนที่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
ในปีที่ผ่านมาเช่นกันที่เป๊ปซี่มีการเพิ่มตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโพสต์มิกซ์ขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง
โดยผู้ที่เข้ามารับผิดชอบในฐานะผู้จัดการคือ ฐิติวุฒิ บุลสุข ลูกชายคนโตของสมชาย
บุลสุข ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านการเงินมาจากสหรัฐอเมริกานั่งเอง
"ตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก เพราะช่องทางการจำหน่ายของฝ่ายโพสต์มิกซ์
ถือว่าเป็น High Growth Channel ที่ทั้งเสริมสุขและเป๊ปซี่ให้ความสำคัญมาก
และในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถเจาะลูกค้ารายใหม่ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าจำพวกสวนสนุกอย่างลีโอแลนด์
ฟาสต์ฟูดใหม่ๆ อย่างลองจอห์น ซิลเวอร์และคันทรี่ สไตล์ โดนัท ศูนย์การค้าแฟชั่น
ไอส์แลนด์ โรงหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า เป็นต้น" ผู้บริหารระดับสูงของเสริมสุขเล่าให้ฟัง
โดยฐิติวุฒิต้องทำงานประสานกับปริญญาของเสริมสุขที่ดูแลรับผิดชอบตลาดโพสต์มิกซ์ด้วยเช่นกัน
ในขณะที่ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาช่องทางการขายพิเศษของมกร พฤฒิโฆสิต ที่ลาออกไปร่วมงานกับมีเดีย
ออฟ มีเดียส์ เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมานั้น ไม่มีการแต่งตั้งใครมาดูแล แต่มีส่วนหนึ่งที่โอนมาให้ฐิติวุฒิดูแล
มกรเคยกล่าวกับผู้จัดการถึงสาเหตุการลาออกว่า เพราะงานการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายที่เขาทำมาหลายปีที่เป๊ปซี่นั้น
ส่วนใหญ่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงต้องการเปลี่ยนไปทำงานที่อื่นที่ท้าทายความสามารถมากกว่าแทน
จะเห็นว่ามีเพียงแบรี่ เช ซึ่งเป็นประธานกรรมการและวีณา อรัญเกษม ที่เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด
ดูแลผลิตภัณฑ์น้ำสีเท่านั้นที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเกิดขึ้น แต่เสริมสุขก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
จะเห็นได้จากตัวเลขกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2538 ที่เพิ่มขึ้น 69.14 ล้านบาท
รวม 3 ไตรมาสแล้วมีกำไร 307.42 ล้านบาท
ทั้งนี้เนื่องมาจากเสริมสุขสามารถทำรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง
13.05% รวมกับยอดการจำหน่ายสินค้าอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น 9.06% รวมทั้งมีรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ประกอบกับการปรับปรุงกิจการภายในอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงเป็นที่น่าพอใจ
เป็นผลให้บริษัททำกำไรได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 107 ล้านบาท
หรือ 53.58%
ที่สำคัญผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่ยังสามารถทำส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำดำเพิ่มขึ้นจาก
57% เมื่อปีที่แล้วเป็น 59% ในปีนี้อีกด้วย ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดรวมของบริษัทก็เพิ่มจาก
42% เป็น 43% ด้วย
การโยกย้ายในเป๊ปซี่และเสริมสุขอาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ และอาจต้องติดตามให้ดี
เพราะเปลี่ยนกันเกือบจะเป็นเก้าอี้ดนตรีไปแล้ว
แต่ถ้าเปลี่ยนบ่อยๆ แล้วยอดขายกับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นก็น่าอยู่หรอก