ท่ามกลางธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยังซบเซา อนาคตของสวนสามพรานหรือโรงแรมโรสการ์เด้นท์ทุกวันนี้
ขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารของสุชาดา ยุวบูรณ์ ธิดาคนโตของชำนาญและคุณหญิงวลี
ในช่วงปี 2532 ธุรกิจที่ดินในเมืองไทยบูมสุดขีด นายทุนต่างชาติจ้องจะซื้อโครงการนี้ตาเป็นมัน
เพราะเป็นโรงแรมเล็กในสวนกว้างริมแม่น้ำนครชัยศรีที่สวยงามเงียบสงบ และเป็นที่ดินแปลงใหญ่ที่สามารถเอามารังสรรค์เป็นโครงการต่างๆ
ได้มากมาย
โชคดีที่ครอบครัวยุวบูรณ์ ไม่เห็นแก่เงินก้อนโตในช่วงนั้น แต่ยืนยันที่จะพัฒนากันเองโดยรักษารูปแบบโรงแรมของครอบครัวในพื้นที่สวนที่ปราศจากมลพิษ
แต่กว่าจะถึงวันนี้ โครงการสวนสามพรานผ่านอุปสรรคต่างๆ มานานัปการ จุดเริ่มต้นของ
"โรสการ์เด้นท์" เกิดขึ้นเมื่อคุณหญิงวลี ได้มีความคิดที่จะปลูกดอกกุหลาบขายในพื้นที่ดินแปลงนี้
ซึ่งชำนาญได้ไปซื้อไว้ประมาณ 60 ไร่ริมแม่น้ำนครชัยศรีด้วยความตั้งใจว่าเอาไว้สร้างบ้านพักผ่อนหลังเกษียณราชการ
ในตอนแรกไร่กุหลาบใช้ที่ดินประมาณ 10 ไร่ เนื่องจากเป็นที่ดินสวนเก่าประกอบกับการดูแลอย่างใกล้ชิด
กุหลาบในสวนนี้จึงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในแง่ของความสวยงาม เมื่อปี
2508 สวนสามพรานจึงได้เปิดให้แขกภายนอกเข้าชมบริเวณสวน รวมทั้งมีบริการห้องพักและร้านอาหาร
ต่อจากนั้นก็เลยทยอยซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเกือบ 170 ไร่ คุณสุชาดาเล่าว่าแปลงสุดท้ายเพิ่งซื้อมาเมื่อ
4 ปีนี้เอง ในขณะที่ราคาเพิ่มขึ้นจากไร่ละไม่ถึงหมื่นบาทเป็นไร่ละล้าน
จากการทำไร่กุหลาบ มีร้านอาหารเพียง 1 ร้าน ที่พักเพียงไม่กี่ห้อง คุณหญิงวลีได้ซื้อบ้านไม้สักทรงไทยประมาณ
8 หลังมาประกอบและตกแต่งภายในให้มีความสะดวกสบายแบบโรงแรม เมื่อเรื่องของธุรกิจเข้ามา
ความจำเป็นที่ต้องมีรายได้ประจำเข้ามาจุนเจือก็เกิดขึ้น
สุชาดา ต้องลาออกจากการเป็นพนักงานสำรองที่นั่งและขายบัตรโดยสารบริษัทสายการบิน
KLM เข้ามาช่วยงานของครอบครัวในช่วงนี้
โครงการหมู่บ้านไทยเรียนแบบศูนย์วัฒนธรรมจากฮาวายเลยเกิดขึ้นเมื่อปี 2513
โดยได้มีการนำชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงมาฝึกสอนศิลปวัฒนธรรมและนาฏศิลป์ไทย
โดยจ้างครูจากกรมศิลป์มาทำการฝึกสอน โดยมีที่นั่งชมการแสดง 250 ที่นั่ง สุชาดาหวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่า
โครงการนี้จะดึงลูกค้ากรุ๊ปทัวร์จากต่างชาติเข้ามามากขึ้น
แต่ผลปรากฏว่าในช่วงแรกของการเปิดการแสดงในหมู่บ้านไทยนั้นไม่มีกรุ๊ปทัวร์กลุ่มไหนให้ความสนใจเลย
"กลัวคนมีสตางค์ เขาทำเล่นๆ" นั่นคือความคิดจากบรรดาเจ้าของบริษัททัวร์ต่างๆ
และไม่มีใครกล้าพาแขกฝรั่งเข้ามาชม เพราะกลัวจะเป็นที่ไม่พอใจ
"ในช่วง 6 เดือนแรก เรามีแขกแค่ 20-30 คนต่อวันที่เข้ามาชมการแสดง
วันไหนมีถึง 70 คนนี่จะดีใจมาก" สุชาดาเล่าย้อนหลังให้ฟัง เธอเริ่มลุยหาตลาดเองในช่วงแรก
โดยอาศัยพวกแท็กซี่ป้ายดำและพวกไกด์ให้ช่วยแนะนำแขกฝรั่ง รวมทั้งบรรดาพวกเมียเช่าของทหารอเมริกัน
เรียกว่าพยายามทุกวิถีทาง
มาในวันนี้มีที่นั่งเพื่อให้ชมการแสดงเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ที่นั่งมีแขกฝรั่งที่เข้าไปชมการแสดงในหมู่บ้านไทยโดยเฉลี่ยต่อวันประมาณ
1,500 คน
"ตอนนั้นเราทำงานแบบคนบ้านเดียวกัน เมื่อรายได้มีน้อยก็ต้องช่วยเหลือกัน
แม่บ้านอาจจะต้องออกมาช่วยแจกผ้าเย็นเมื่อมีแขก บ๋อยก็อาจจะต้องไปช่วยเล่นอังกะลุงในหมู่บ้านไทย"
เมื่อกิจการเริ่มดีขึ้นก็ได้มีการสร้างโรงแรมและบังกะโลอีกประมาณ 100 ห้องเมื่อปี
2515
ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งที่หวังว่าได้เข้ามาช่วยเสริมกิจการโรงแรมก็คือสนามกอล์ฟสามพรานในที่ดิน
470 ไร่ ซึ่งสมัยนั้นมีเพียงสนามกอล์ฟนวธานีที่เปิดตัวพร้อมๆ กัน
สุชาดาคาดการณ์ผิด สนามกอล์ฟสามพรานต้องบอกขายด้วยราคา 110 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีใครซื้อ
สาเหตุเป็นเพราะการเล่นกอล์ฟยังไม่เป็นที่นิยม ฉุดรายได้ที่มีไม่มากอยู่แล้วของบริษัทให้ขาดทุนจมลึกลงไปอีก
เมื่อยังขายไม่ได้ก็จำเป็นต้องขายที่ดินแปลงอื่นๆ มาค้ำจุนกิจการไว้ แต่โชคดีประมาณ
ปี 2530 กิจการสนามกอล์ฟก็เริ่มบูมขึ้นจนปัจจุบันก็เป็นรายได้หลักที่สำคัญตัวหนึ่ง
อุปสรรค์ต่างๆ ในสวนสามพรานยังไม่หมดไป มรสุมลูกแรกเกิดขึ้นในช่วงปี 2533
ซึ่งเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียซึ่งส่งผลให้แขกต่างประเทศที่เข้ามาใช้บริการลดลงกว่าครึ่งจากที่เคยมีวันละประมาณ
1,000 คนเหลือเพียงแค่ 300 คนเท่านั้น จนเวลาผ่านไปกว่าครึ่งปีแขกก็ไม่เคยเกิน
500 คน
มรสุมลูกที่ 2 ก็คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ซึ่งทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับโรงแรมที่สร้างเสร็จแล้วพร้อมกันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัญหารถติดก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้บรรดาแขกทัวร์ที่มีคุณภาพและมีกำลังซื้อลดลง
การออกมาเที่ยวสวนสามพรานเพื่อกินข้าวและดูการแสดงมันยากขึ้น
สุชาดากลับตัดสินใจสร้างโรงแรม โครงการใหม่ในปีนี้ด้วยความมั่นใจว่าเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น
ธุรกิจท่องเที่ยวต้องกลับมาบูมใหม่แน่นอน และที่สำคัญเวลานี้คนไทยมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะของครอบครัวมากขึ้น
ตลาดครอบครัวคนไทยคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของโครงการ
เมื่อเดือนมีนาคม 2538 อาคารโรงแรมริมแม่น้ำนครชัยศรีแห่งใหม่ได้เปิดบริการแขกเป็นครั้งแรก
มีห้องพักระดับ DELUXE เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 83 ห้อง ห้องอาหารทั้งหมด 9 แห่ง
ห้องประชุมสัมมนาพร้อมอุปกรณ์การประชุมอันทันสมัยจำนวน 8 ห้องและสนามจัดเลี้ยงสำหรับคณะตั้งแต่
50-1,300 คน
นับเป็นเวลาเกือบ 35 ปีที่สวนสามพรานยังอยู่คู่เมืองไทย การบริหารโครงการแบบครอบครัวเล็กๆ
กลับเป็นผลดีในการดำเนินธุรกิจ สุชาดายืนยันว่า ไม่มีการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯแน่นอน
"ถ้าเราจะเข้าสู่ระบบสากล เราต้องเข้าเชน ต้องขยายงานครั้งใหญ่ แต่เราไม่เลือกวิธีนี้
เราตั้งใจจะไม่ขยายงานอีก 10 ปี นอกจากกิจกรรมเสริมต่างๆ จนกว่าคนที่จะมาดูแลรุ่นต่อๆ
ไปจะมีความคิดเป็นของตัวของเขาที่จะรับผิดชอบกันไป"
ความคิดของคนรุ่นลูกรุ่นหลานนั้น สุชาดากล่าวว่าห้ามไม่ได้ถ้าเขาจะรักษาสมบัติชิ้นนี้ของบรรพบุรุษไว้ไม่ได้
แต่อย่างน้อยตนก็สบายใจว่าได้รักษาสมบัติของครอบครัวไว้ได้ในรุ่นนี้แล้ว