|

ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยไตรมาส3ลดผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ขายถูก
ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติเผยช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทุกประเภทลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะราคาบ้านเดี่ยวราคาต่ำสุดในรอบ 4 ปี สอดคล้องกับตัวเลขยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงินในระบบเพิ่มขึ้นเกือบ 4 หมื่นล้าน เหตุผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ปรับกลยุทธ์ขายราคาถูกลง จูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเร็วขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอและการแข่งขันที่รุนแรง
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ฝ่ายวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธปท.ได้รายงานดัชนีราคาที่อยู่อาศัยล่าสุดในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทุกประเภทลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยเฉพาะดัชนีราคาบ้านเดี่ยวขยายตัวลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 0.9% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่เป็นขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.9% ถือว่าราคาบ้านเดี่ยวลดลงมากที่สุดครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปลายปี 2545 เป็นต้นมา
ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ขยายตัวอยู่ที่ 2.5% ซึ่งก็ยังชะลอลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่เป็นขยายตัวเป็นถึง 6.6% ขณะที่ดัชนีราคาที่ดินขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 4.7% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 5.6% ทำให้ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินอยู่ที่ 2.5% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 4.9% นอกจากนี้ในส่วนของดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินชะลอตัวอยู่ที่ 3.8% เทียบกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ 6%
ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ ที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทุกประเภทปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเกิดจากการปรับตัวของผู้ประกอบการในช่วงที่ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลง ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจนี้รุนแรงขึ้น จึงจำเป็นให้ผู้ประกอบการต้องมีการควบคุมต้นทุนการประกอบธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้ราคาที่อยู่อาศัยอยู่ในระดับที่ถูกลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น
ขณะที่เมื่อพิจารณายอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงินในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้อยู่ที่ 1.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 3.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.90% โดยแบ่งยอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 6.76 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.21 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.39% จากไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ยังเป็นยอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีก 965 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนถึง 245 ล้านบาท หรือลดลงถึง 20.25% ถือเป็นสถาบันการเงินประเภทเดียวในระบบเศรษฐกิจที่มียอดคงค้างลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสนี้ ขณะเดียวกันบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ก็มียอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 51 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 60.71% จากยอดคงค้างที่มีอยู่ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 135 ล้านบาท
ขณะเดียวกันในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมียอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยธนาคารออมสินมียอดคงค้างอยู่ที่ 1.19 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.50 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.27% และธนาคารอาคารสงเคราะห์มียอดคงค้างอยู่ที่ 5.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.35 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 2.68%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(เอ็มแอลอาร์) ยังคงอยู่ในระดับ 7.50-8.00% ถือว่ายังคงสูงอยู่ แต่ด้วยกลยุทธ์การตลาดของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แต่ละค่ายต่างลดต้นทุนในการดำเนินงานและประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถกำหนดราคาที่อยู่อาศัยลดลงกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกันเป็นการกระตุ้นยอดขายที่อยู่อาศัยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเร็วขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงินยังขยายตัวได้ดีอยู่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|