|

AIS พลิ้วรุก ดีแทค-ทรูฯ ชูแปรสัญญาสัมปทาน
ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เอไอเอสเสนอ 3 แนวทางแก้ความเหลื่อมล้ำสัญญาสัมปทาน อัดกลับดีแทค ทรูมูฟ พูดความจริงครึ่งเดียว เปิดแผลดีแทคร้อง กทช.จัดการเรื่องความถี่ที่มีถึง 50 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมเรียกร้องไต่สวนสาธารณะผลประโยชน์ตกหล่นในช่วงเซ็งลี้ความถี่ “สมประสงค์” เตรียมดำเนินการด้าน กม. ฐานทำให้เอไอเอสเสียหาย ด้านไอซีทีจะทำให้ปัญหาจบภายใน 1 ปี
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของสัญญาสัมปทานจนนำมาสู่ข้อพิพาทและการกล่าวหาจากทรูมูฟและดีแทคว่า แนวทางแก้ปัญหาสามารถทำได้ 3
แนวทางคือ 1.การให้ทุกโอเปอเรเตอร์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเรกกูเรเตอร์เดียวคือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หมายถึงต้องมีการแปรสัญญาสัมปทานเปลี่ยนเป็นใบอนุญาต แต่ต้องพิจารณาในทุกองค์ประกอบหากจะเกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนแบ่งรายได้ การจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นธรรม
ต้องมองภาพใหญ่ทั้งหมดไม่ใช่มองเฉพาะส่วน 2.ยุบรวมบริษัท ทีโอที และ กสท โทรคมนาคมเข้ากัน เท่ากับทำให้คู่สัญญาของเอกชนเป็นนิติบุคคลเดียว ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาทำได้ง่ายขึ้น 3.โอนสัญญาสัมปทานของดีแทคและทรูมูฟที่อยู่ภายใต้กสท เข้ามาอยู่ภายใต้ทีโอที และทำสัญญาในลักษณะเดียวกับที่เอไอเอสทำกับทีโอทีก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน
ขณะเดียวกันเอไอเอสจะทำเรื่องขอความเป็นธรรมไปยังกทช.กรณีที่ดีแทคได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งแรกมากถึง 75 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมากจนทำให้สามารถแบ่งให้บริษัท WCS และบริษัท สามารถ รายละ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งภายหลังคือทรูมูฟ และดีพีซี (ปัจจุบันเป็นของเอไอเอส) เนื่องจากดีแทคถือเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่ได้ความถี่มากขนาดนี้
เนื่องจากความถี่เป็นทรัพยากรของชาติควรได้รับการบริหารและจัดการที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมเนื่องจากทรูมูฟที่ได้รับความถี่เพียง 12.5 เมกะเฮิรตซ์ยังสามารถให้บริการได้ หากมีการนำความถี่ดีแทค 50 เมกะเฮิรตซ์มาจัดสรรใหม่จะทำให้มีโอเปอเรเตอร์ใหม่เพิ่มอีก 3 ราย
“ความถี่ดีแทค 50 เมกะเฮิรตซ์ ควรเรียกกลับคืนมาหรือไม่ เพื่อจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจใช้วิธีเฉลี่ยตามฐานลูกค้า ซึ่งเอไอเอสจะขอความเป็นธรรมกทช.ในเรื่องนี้”
นอกจากนี้ เอไอเอสยังเรียกร้องให้เกิดการไต่สวนสาธารณะ กรณีการโอนสิทธิและความถี่จากดีแทคไปให้เอกชนอีก 2 รายดังกล่าว ว่ามีการเรียกร้องค่าโอนสิทธิเพิ่มเติมจากผู้รับสิทธิหรือไม่ และถ้าหากมีการเรียกร้องรายได้จากค่าโอนสิทธิดังกล่าวมีการแบ่งให้กสทหรือไม่ ซึ่งในส่วนของดีพีซีนั้น อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการถึงประเด็นดังกล่าวทำให้เอไอเอสไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะเกรงกระทบกับกระบวนการอนุญาโตฯ
“แต่ละสัญญาเกิดต่างกรรมต่างวาระ ต่างคู่สัญญา ต่างเวลาและต่างเงื่อนไข ซึ่งข้อมูลจากดีแทคและทรูมูฟ ถือว่าเป็นการกล่าวหาเอไอเอสทำให้เกิดความเสื่อมเสียและเป็นการวาดภาพทำให้ดูเหมือนองค์กรที่มีอำนาจมาเอื้อประโยชน์เอไอเอสและไม่เอื้อประโยชน์ให้ดีแทค ผมขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลไม่ครบถ้วน อะไรที่เป็นประโยชน์ของตนก็เก็บไว้ อะไรที่ต้องการประโยชน์ก็เรียกร้องออกมา”
เอไอเอสได้โต้แย้งข้อกล่าวหาทั้ง 4 ประเด็นเริ่มจาก1.สัญญาสัมปทานที่แตกต่างกันเนื่องจากสัญญาของเอไอเอสกับทีโอทีนั้น (27 มี.ค.33) ทีโอทีต้องรับผิดชอบในเรื่องโครงข่าย เลขหมายและความถี่ในขณะที่เอไอเอสรับภาระเรื่องส่วนแบ่งรายได้ ในขณะที่สัญญาสัมปทานดีแทคกับกสทนั้น ตั้งแต่เซ็นสัญญา (14 พ.ย.33) ดีแทคก็รู้ว่ากสทไม่มีโครงข่ายในประเทศ ทำให้เมื่อให้บริการมาระยะหนึ่ง ดีแทคจึงเสนอไปยังทีโอทีว่าต้องการเชื่อมโยงใช้โครงข่ายทีโอที จึงทำให้เกิดข้อตกลงเรื่องการเชื่อมโครงข่ายหรือแอ็คเซ็สชาร์จเมื่อวันที่ 22 ก.พ.37
“ตอนไปเซ็นสัญญา ใครบังคับหรือไม่ และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนหรือไม่ เชื่อว่าสัญญาทั้งหมดเป็นไปด้วยความเต็มใจของดีแทค เชื่อว่าไม่มีใครบังคับขู่เข็ญให้ทำสัญญา ส่วนเรื่องการใช้โครงข่ายก็เป็นเรื่องของดีแทค ทีโอทีและกสท เอไอเอสไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องแต่อย่างใดเหมือนไปเช่าบ้าน ก็ต้องจ่ายค่าเช่า”
2.เรื่องส่วนแบ่งรายได้พรีเพดก็เป็นดีแทคเองที่เริ่มเป็นคนแรกที่ยื่นเรื่องไปทีโอที เพื่อขอปรับจากแอ็คเซ็สชาร์จเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนเป็น 18% โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นสินค้าใหม่หากคิดค่าใช้จ่ายเหมือนกับโพสต์เพดจะเป็นการขัดกับการดำเนินธุรกิจซึ่งทีโอทีก็เห็นกับประโยชน์ผู้ใช้บริการในอนาคตก็เห็นชอบ กับดีแทคและมีการทำข้อตกลงเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 44 ในขณะที่เอไอเอสจึงได้ยื่นเรื่องไปบ้าง ซึ่งทีโอทีก็อนุมัติบนหลักการเดียวกับที่อนุมัติดีแทค โดยเอไอเอสต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ 20% และมีการแก้ไขสัญญาเมื่อ 15 พ.ค. 44
การแก้ข้อตกลงกับทีโอที ทำให้ดีแทคได้รับประโยชน์จากสิทธิดังกล่าวเป็นเงินถึง 7,762 ล้านบาทจนถึงขณะนี้ และถ้าคำนวณตามฐานลูกค้าปัจจุบันที่มีอยู่ ดีแทคจะได้รับสิทธิประโยชน์จนสิ้นสุดอายุสัมปทานถึง 2 แสนล้านบาท ส่วนทรูมูฟได้สิทธิประโยชน์แล้ว 21,311 ล้านบาทและมากถึง 1 แสนล้านบาทจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน
3.เรื่องอำนาจกดดันคู่แข่ง เอไอเอสขอปฏิเสธเนื่องจากนโยบายและแนวคิดเอไอเอสมุ่งจะแข่งขันด้านคุณภาพการให้บริการ คุณภาพเครือข่าย ไม่ได้มุ่งเน้นการตัดราคาคู่แข่ง ทั้งๆ ที่คู่แข่งเป็นคนเริ่มการตัดราคาก่อน แต่เอไอเอสเพียงแต่คิดราคาเท่าคู่แข่งเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด และ4.เรื่องการคงเลขหมายโทรศัพท์ เอไอเอสสนับสนุนเรื่องนี้มาตลอด เนื่องจากเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค และเอไอเอสเตรียมความพร้อมมาตลอด
ถ้ากทช.ออกกฎเกณฑ์บังคับใช้เมื่อไหร่ เอไอเอสก็พร้อมปฏิบัติตาม การที่คู่แข่งออกมาพูดให้ประชาชนเข้าใจผิดพลาดถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายกาจที่สุด
“เอไอเอสกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการด้านกฎหมายอย่างไรกับการแถลงข่าวของดีแทคและทรูมูฟ”
**ดีแทคไม่เคยขายคลื่นความถี่ให้ใคร
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทคกล่าวว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 ไทยต้องการให้มีการแข่งขันการให้บริการโทรคมนาคม ดีแทคจึงคืนคลื่นความถี่ 1800 จำนวน 25 เมกะเฮิร์ทซ์ให้กับ กสท. ในขณะที่เอไอเอสไม่เคยคืนคลื่นความถี่ในระบบ 900 ให้กับรัฐ หลังจากได้รับคลื่นความถี่คืนจากดีแทค กสท. ได้นำคลื่นนั้นไปให้สัมปทานต่อกับโอเปอเรเตอร์รายใหม่ 2 ราย ได้แก่ ดับบลิวซีเอส และดีพีซี ต่อมาดีพีซี ขอทำสัญญากับดีแทคเพื่อขอใช้เครือข่ายทั่วประเทศในการให้บริการ โดยดีพีซีจะจ่ายค่าใช้เครือข่ายทั้งในรูปแบบอัตราประจำและตามการใช้งานจริงเป็นการตอบแทน
หลังจากเอไอเอสซื้อดีพีซีไป เอไอเอสได้หยุดจ่ายค่าใช้เครือข่ายของดีแทคโดยที่ไม่ได้มีการยกเลิกสัญญา ซึ่งขณะนี้ข้อพิพาทนี้ได้ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของคณะนุญาโตตุลาการ จากรายงานสถานภาพการเงินของเอไอเอสฉบับล่าสุด เอไอเอสระบุว่ายังคงติดหนี้ดีแทคอยู่ 4,739 ล้านบาท
**ไอซีทีคาดใช้เวลา 1 ปีจบปัญหา
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.เทคโนโลยีสานสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารดีแทค และกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่นว่า ปัญหาดังกล่าวกระทรวงไอซีที จะหาแนวทางให้เกิดความชัดเจนด้านความเหลื่อมล้ำด้านต้นทุนให้บริการ มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งส่วนของ ทีโอที กสท ประกอบการ รวมถึงประชาชนที่จะได้รับประโยชน์ คาดว่าจะเร่งแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ยังอยู่ในตำแหน่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|