"ที่ผ่านมายอมรับว่าเราลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว ยังไม่มีเวลามองย้อนกลับไป
แต่ผมมีความเชื่อมั่นว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เราเริ่มมีผลผลิตกลับคืนมาจากเงินที่เราลงไป"
เป็นประโยคที่ประภาส อดิสยเทพกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล
โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัดหรือทีไอพี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
การที่นักธุรกิจวัย 42 ปีผู้นี้เชื่อมั่นว่าปี 2539 จากสิ่งที่เขาเก็บเกี่ยวเข้ามาไว้ในอุ้งมือจะเริ่มมีผลผลิตกลับสู่กระเป๋า
เพราะแนวคิดในเรื่องการแสวงหาโอกาสและนำมาผสมผสาน (SYNERGY) ให้เกิดความแข็งแกร่งขึ้นกับองค์กร
เนื่องจากวันนี้เขามีแบ็กอัพที่สมบูรณ์พร้อมทั้งฐานการผลิต การจัดจำหน่าย
และการเงิน
เมื่อปลายปีที่ผ่านมาประภาสเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่ม ภายใต้โครงสร้างใหม่ซึ่งเริ่มถูกนำมาใช้ในปีนี้
ทีไอพีได้ถูกกำหนดบทบาทใหม่ให้เป็นโฮลดิ้ง คอมปะนี ทำหน้าที่ในฐานะบริษัทด้านการตลาดเพียงอย่างเดียว
และเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เขาได้จัดตั้งบริษัทใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก 1 แห่งคือบริษัท
ดาราเหนือ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อดำเนินธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายสินค้าของทุกกลุ่มธุรกิจในเครือโดยมีทีไอพีและดาราเหนือเป็นผู้ถือหุ้น
ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการต้นปี 2539
ดาราเหนือ อินเตอร์เนชั่นแนล แม้จะเป็นบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทีมงานขายของบริษัทแห่งนี้ก็คือฝ่ายขายของทั้งดาราเหนือและทีไอพีที่แยกออกมาและนำมาซินเนอยี่กันนั่นเอง
"ผมคิดว่าเป็นการซินเนอยี่ที่จะช่วยลดความซับซ้อน ลดต้นทุนแต่เพิ่มประสิทธิภาพ
และโดยวิธีนี้จะทำให้ดาราเหนือ อินเตอร์เนชั่นแนลกลายเป็นบริษัทจัดจำหน่ายที่แข็งแรงที่สุดแห่งหนึ่ง"
ประภาสกล่าวซึ่งตรงกับเป้าหมายโดยรวมที่เขาต้องการจะเติบโตในธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม
ภายใต้เงื่อนไขคือ ดำเนินงานแบบครบวงจร คือ มีฐานด้านการผลิต การตลาด และการกระจายสินค้า
การผนึกฝ่ายขายของดาราเหนือเข้ากับทีไอพีในครั้งนี้ นับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก
2 ตัวคือทำให้จำนวนสาขาในการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 30 แห่งจากเดิมทีไอพีมีสาขาทั่วประเทศเพียง
12 แห่ง
อีกทั้งยังเป็นวิธีแก้ปัญหาในส่วนของการรวบเอาฝ่ายขายของดาราเหนือเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
และคงบทบาทดาราเหนือไว้เพียงบริษัทที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้าเท่านั้น
หากมองย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาทีไอพีจัดเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทจัดจำหน่ายที่ค่อนข้างโลว์โปรไฟล์
และต้องตกอยู่ในวังวนเดียวกันกับบริษัทจัดจำหน่ายอื่นๆ คือสินค้าหลุดมือบ่อยครั้ง
มียอดขายเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท
แต่ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ประภาส อดิสยเทพกุลกลับสร้างความฮือฮาให้กับคนในวงการคอนซูเมอร์
ด้วยการลุกขึ้นสวมบทนักร่วมทุนและนักเทคโอเวอร์ที่ลุยไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่การร่วมทุนกับอ.ส.ค.จัดตั้งบริษัท นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค
(นมตราวัวแดง) การเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายบัดไวเซอร์ เบียร์ชื่อดังจากอเมริกา
การเทคโอเวอร์บริษัทดาราเหนือ จำกัด (มหาชน) เจ้าของน้ำดื่มโพลาริส การตั้งบริษัท
นมพัฒนา จำกัดเพื่อเป็นฐานการผลิตนมวัวแดง นมโรงเรียนและนมยี่ห้อพอลส์ จากออสเตรเลียซึ่งทีไอพีเพิ่งได้สิทธิ์ในฐานะผู้จัดจำหน่ายในไทย
คาดว่าจะวางตลาดได้ในช่วงกลางปีนี้ รวมถึงการเข้าไปมีส่วนในธุรกิจดิวตี้ฟรี
ที่มีชื่อประภาสปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมเสนอตัว
การเปิดตัวคณะกรรมการบริษัทของบริษัท ดาราเหนือ จำกัด (มหาชน) ชุดใหม่เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา
ประกอบไปด้วย พล ร.อ.วิเชษฐ การุณยวนิช พล อ.อ.สุเทพ เทพรักษ์ พลเอกยุทธนา
คำดี อนันต์ อนันตกูล และประภาส อดิสยเทพกุล
สายสัมพันธ์ที่โยงใยคนจากกองทัพจนถึงขั้นตัดสินใจเข้ามาร่วมงานในฐานะบอร์ดของดาราเหนือ
นับเป็นปุจฉาที่หลายคนพยายามค้นหาคำตอบ
"เป็นความนับถือ และประทับใจเป็นส่วนตัวจึงเชิญพวกพี่ๆ มาร่วมงาน ผมทำธุรกิจอย่างจริงจัง
ไม่ใช่มีทหารมาแบ็กอัพ ผมยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในทีไอพี 100%
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ประภาสทุ่มเงินถึง 3,700 ล้านบาท เพื่อรุกสู่ธุรกิจการเงินด้วยการเข้าประมูลเพื่อฟื้นฟูบริษัท
เงินทุนเอราวัณ ทรัสต์ จำกัด ในนามบริษัท ดาราเหนือ จำกัด(มหาชน)
เบื้องลึกของการตัดสินใจเข้าประมูลเพื่อฟื้นฟูเอราวัณทรัสต์ ประภาสเชื่อมั่นว่านอกเหนือจากใช้เป็นฐานซัปพอร์ตด้านการเงินแล้ว
เขาเชื่อว่าการเงินเป็นหัวใจของธุรกิจทั้งปวง โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐมีนโยบายที่จะเปิดเสรีด้านการเงินด้วยแล้ว
ทำไมเขาจะยอมพลาดโอกาสที่จะเก็บหัวใจไว้ก่อนแล้วค่อยๆ เรียนรู้ จากมืออาชีพที่ทาบทามไว้เรียบร้อยแล้ว
ประภาสกล่าวว่า หากจะนับเม็ดเงินที่ใช้ไปในการร่วมทุนซื้อกิจการที่ผ่านมา
รวมแล้วเป็นเงินเกือบถึง 8,000 ล้านบาทซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยสำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายของทีไอพี
"ผมไม่ใช่นักเทคโอเวอร์ ผมเป็นนักการตลาดที่มองหาโอกาสทุกสิ่งที่เราลงทุนต้องออกดอกออกผล
ถ้ามีบริษัทไหนจะขายและเห็นว่าสามารถซินเนอยี่กับธุรกิจของทีไอพี ผมจะซื้อนโยบายของเราจะไม่เริ่มต้นจากศูนย์อีกต่อไป
เพราะทีไอพีเริ่มจากศูนย์มันเหนื่อยมาก เรื่องแหล่งเงินเราก็มีบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน
หาแหล่งเงินมาให้และทีไอพีเองก็มีเงินไม่น้อย
คำกล่าวข้างต้นดูจะเป็นสัจธรรม เพราะหลังจากเขาได้โพลาริส และนมตราวัวแดงเข้ามาทำให้ยอดขายของทีไอพีเพิ่มขึ้นเกือบ
3,000 ล้านบาทในทันที
อย่างไรก็ตามการเลือกเดินบนเส้นทางลัดของนักธุรกิจผู้นี้ แม้จะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์
เห็นได้จากนมตราวัวแดง โพลาริส และบัดไวเซอร์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสินค้าระดับแนวหน้านั้น
แต่หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้ว กลับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับนักการตลาดที่มีประสบการณ์และคร่ำหวอดในวงการธุรกิจจัดจำหน่ายมานานนับ
20 ปีอย่างประภาสซึ่งมีสไตล์การทำงานแบบ "ONE MAN SHOW"
เพราะคู่แข่งในแต่ละสนามต่างมีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นตลาดนมพร้อมดื่มที่จะต้องปะมือกับโฟรโมสต์
ที่ปัจจุบันคว้าตำแหน่งผู้นำตลาดไปครองหลังจากนมวัวแดงประสบปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอ
หรือแม้แต่น้ำดื่มและเบียร์ ซึ่งโพลาริสและบัดไวเซอร์จะต้องต่อสู้กับค่ายที่มีความพร้อมอย่างบุญรอดบริวเวอรี่
ปีนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญของประภาส อดิสยเทพกุล และจะเป็นยกแรกของการเริ่มต้นพิสูจน์ฝีมือในเวทีที่มีคู่แข่งรายใหญ่
ว่าเขาจะสามารถนำ "โอกาส" ที่ฉวยไว้มาผลักดันให้ทีไอพีประสบความสำเร็จในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มตามเป้าหมายที่หวังได้หรือไม่