ซีทราน-อันดามัน ปริ๊นเซส เจ้าหญิงเหนือไฟใต้น้ำ

โดย เดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เริ่มมีข่าวกระเส็นกระสายมาว่า "ซีทรานปริ๊นเซส" ขาดทุน

พัฒนา นายเรือ ผู้รับผิดชอบปฏิเสธ แต่ก็ยอมรับว่า ธุรกิจเรือสำราญกำลังอยู่ในภาวะลำบาก

เช่นเดียวกับ "อันดามัน ปริ๊นเซส" ที่ไม่ปฏิเสธความจริงข้อนี้

เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจพาฝันที่มีผู้ประกอบเพียง 2 รายและมีแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ?

จะถอยก็ถอยลำบาก จะบุกไปข้างหน้าก็อาจจะเหนื่อยยิ่งขึ้น

"เจ้าหญิงแห่งท้องน้ำ" คู่นี้กำลังล่องอยู่ในวังน้ำวนหรืออย่างไร ?ความฝันของ "ตัณฑ์ไพบูลย์"

การท่องเที่ยวทางทะเลโดยเรือสำราญสัญชาติไทยถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2526 โดยบริษัท ซีทราน ทราเวิล ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ไทยพาณิชย์นาวี จำกัด ที่ทำธุรกิจเดินเรือทะเลขนส่งสินค้าไปต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2510

ก่อนหน้าการขยายมาทำธุรกิจเรือสำราญเล็กน้อย ไทยพาณิชย์นาวีได้ลงทุนสร้างอู่ซ่อมและต่อเรือ ซึ่งเป็นอู่ลอยเอาไว้ 2 อู่ ในชื่อบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด เมื่อปี 2524 พร้อมๆ กับการได้สัมปทานทำเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากจากขนอมไปสมุย

ก่อนที่จะย้ายไปวิ่งในเส้นดอนสัก-สมุย แต่เพิ่งขายไปเมื่อกลางปี 2537 ที่ผ่านมา เพราะไม่ค่อยคุ้มค่ากับการลงทุน

"เราเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีเรือท่องเที่ยวอย่างที่เรียกว่าเรือสำราญเลย คุณสุธรรม ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานกลุ่มก็มาคิดว่า เมื่อเรามีอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรืออยู่แล้ว อู่เรือเราก็มี บุคลากรที่รู้เรื่องการเดินเรือก็มี เราพร้อมทุกอย่าง ทำไมเราไม่ทำธุรกิจท่องเที่ยวทะเลทางเรือขึ้นมา" พัฒนา นายเรือ ผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์บริษัท ซีทราน ทราเวิล ย้อนความหลังให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ซึ่ง "พัฒนา" นี่เองที่มีบทบาทสำคัญทำให้แนวคิดของสุธรรมเป็นความจริง เพราะเมื่อได้รับการชักชวนจากสุธรรมซึ่งเป็นเพื่อนกันให้เข้ามาช่วย พัฒนาก็โดดเข้ามารับงานนี้ตั้งแต่ปี 2525 ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความรู้และประสบการณ์เรื่องการท่องเที่ยวมาก่อนเลย เพราะชีวิตการทำงาน 20 กว่าปีก่อนหน้านั้นของเขา คลุกคลีอยู่กับองค์การระหว่างประเทศแทบทั้งสิ้น เริ่มจากบริติช เคาน์ซิล แล้วย้ายจากยูเสด ซึ่งอยู่มา 11 ปีไปทำที่ UNDP อีก 12 ปี

ช่วงแรกของการทำงาน "พัฒนา" ต้องเริ่มเข้าไปศึกษาหาความรู้เรื่องเรืออยู่ที่สมุยกับเรือเฟอร์รี่ หลังจากนั้นก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยว การบริหารโรงแรม ศึกษาวิธีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยว จนกระทั่งเรือสำราญลำแรกของซีทราน ทราเวิลคือ ซีทราน ควีนส์ เปิดให้บริการเมื่อปี 2526 ส่วน ซีทราน ปริ๊นเซส ถูกนำมาให้บริการเมื่อปี 2532 แต่เมื่อซีทราน ควีนส์ถูกไฟไหม้ไป ก็เหลือแต่ซีทราน ปริ๊นเซสอยู่เพียงลำเดียวจนถึงทุกวันนี้

สำหรับ "อันดามัน ปริ๊นเซส" ของบริษัท สยามครุยซ์ จำกัด ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2532 หลังจากที่ซีทราน ทราเวิลดำเนินการไปได้ 6 ปี

จะว่าไปแล้ว ซีทราน ปริ๊นเซสและอันดามัน ปริ๊นเซส มีความแตกต่างกันน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบการนำเที่ยว การให้บริการ เส้นทางการท่องเที่ยว และราคาค่าทัวร์

"เราคิดว่ามีคนส่วนหนึ่งที่กลัวการไปเที่ยวทะเลโดยเรือขนาดเล็ก ในขณะที่เรือของเราเป็นเรือขนาดใหญ่ คงสร้างความมั่นใจให้คนกลุ่มนี้ได้" ปราณี ยศะสินธุ กรรมการผู้จัดการ สยามครุยซ์ กล่าวถึงจุดแตกต่างของอันดามัน ปริ๊นเซสและซีทราน ปริ๊นเซสให้ฟัง และนี่ดูเหมือนจะเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ทำให้เกิดอันดามัน ปริ๊นเซสขึ้น นอกเหนือจากจุดดึงดูดที่ว่าประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามมากมาย และในตลาดก็มีคู่แข่งโดยตรงอยู่เพียงบริษัทเดียว

ผ่านพ้นมรสุม ก่อนพบภาวะกดดัน

ในช่วงของการเปิดดำเนินการใหม่ๆ ผู้บริหารทั้งสองบริษัทยอมรับว่า ประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือ การขาดทุน โดยซีทรานต้องแบกรับภาระการขาดทุนอยู่ 4 ปีกว่าที่จะฟื้นตัวและสามารถยืนอยู่ได้ในวันนี้ ขณะที่ฝ่ายสยามครุยซ์ไม่ยอมบอกระยะเวลาของการขาดทุน เพราะต้องการเก็บไว้เป็นความลับต่อไป

"เราถือว่าเราทำเพราะเราอยากทำ และช่วงที่เราทำครั้งแรกยังไม่รู้ความต้องการของตลาด เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน นอกจากนี้ยังต้องมาเรียนรู้วิธีการบริหารค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนบ้าง เราต้องบุกเบิกเองทุกอย่าง" พัฒนากล่าว

แม้ว่าจะประสบปัญหาการขาดทุนในช่วงแรก แต่ทั้งสองบริษัทก็ถือว่าเป็นธรรมดาของการทำธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของซีทราน ซึ่งเป็นผู้เข้ามาริเริ่มบุกเบิก เพราะในขณะนั้นคนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้มาก่อน ทำให้มีความกังวลในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความสนุกสนาน และความคุ้มค่าเงิน

ปัจจุบันอัตราการใช้บริการเฉลี่ยทั้งปีของซีทราน ปริ๊นเซสอยู่ที่ 80% ขณะที่อันดามัน ปริ๊นเซส เขยิบจาก 40% ในช่วงแรกมาอยู่ที่ 65% ซึ่งเรียกได้ว่าพ้นสภาพการขาดทุนไปแล้ว แต่ทั้งสองบริษัทก็ต้องเผชิญกับความกดดันอื่นๆ ที่ดูจะหนักหน่วงไม่แพ้กัน แม้ว่าจะยังไม่วิกฤติเหมือนในช่วงแรกของการดำเนินการ แต่ทั้งสองรายก็ยอมรับว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้อยู่ได้ด้วยความลำบาก เรียกว่าต้องใช้ความเข้มแข็งและอดทนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้

"ปีนี้เราไม่ถึงกับขาดทุน แต่นักท่องเที่ยวของเราก็ลดต่ำลงประมาณ 20% เพราะนอกจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาแล้ว ภัยธรรมชาติยังหนักหน่วงกว่าปรกติ บวกกับการตัดราคาของทัวร์ต่างประเทศและการแข่งขันกับเรือสำราญต่างประเทศ ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก" พัฒนาเล่าให้ฟัง

ฝ่ายอันดามัน ปริ๊นเซส ก็ยอมรับว่าได้รับความกระทบกระเทือนไม่น้อย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อจะให้ได้มาซึ่งอัตราการเติบโตปีละ 15%

4 ธุรกิจในหนึ่งเดียว รากเหง้าปัญหาใหญ่

นี่นับเป็นปัญหาแรกและปัญหาใหญ่ที่ธุรกิจนี้ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ "พัฒนา" เล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจนี้มีค่าใช้จ่ายสูงว่า เนื่องมาจากธุรกิจท่องเที่ยวทะเลทางเรือประกอบไปด้วยธุรกิจการบริการถึง 4 อย่างด้วยกัน

ธุรกิจแรก คือ ธุรกิจโรงแรม เพราะภายในเรือสำราญจะต้องมีทั้งห้องพัก ห้องอาหาร ห้องเลานจ์ ห้องออกกำลังกาย จากุสซี่ เซาน์น่า เหมือนโรงแรมๆ หนึ่ง จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องต่างๆ เหมือนกับที่โรงแรมมี

แต่มีความยุ่งยากกว่าธุรกิจโรงแรมตรงที่ต้องเตรียมการล่วงหน้าให้พร้อมทุกอย่างก่อนที่จะออกเรือ เพราะหากขาดเหลืออะไรก็ไม่สามารถหาได้ เนื่องจากอยู่ในทะเล

"อย่างถ้าเป็นทริป 4 วัน 3 คืน เราต้องเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเราเสิร์ฟให้ผู้โดยสารวันละ 5 มื้อไปให้พอ ต้องเตรียมน้ำประปาไปด้วยเที่ยวละ 450 ตัน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ก็ต้องเตรียมเผื่อไปให้พอใช้ เพราะไม่สามารถซักกันกลางทะเลได้ ซึ่งนอกจากผู้โดยสารแล้ว เรายังต้องเตรียมให้กับพนักงานที่ทำงานประจำเรืออีก เพราะเขาต้องกินนอนอยู่กับเรา"

ดังนั้นหากเรือแต่ละลำมีผู้โดยสารเต็มจำนวน คือ ซีทราน ปริ๊นเซส รับผู้โดยสารได้ 156 คน บวกกับพนักงานประจำเรืออีก 92 คน มัคคุเทศก์อีกเที่ยวละ 10 คน

ขณะที่อันดามัน ปริ๊นเซส รับผู้โดยสารได้ 330 คน พนักงานประจำเรือ 170 คน มัคคุเทศก์อีก 30 คน รวมเป็น 258 คนและ 530 คนตามลำดับ ก็นับว่าเป็นภาระที่หนักไม่น้อยทีเดียว เพราะถ้าเทียบกับการท่องเที่ยวทางพื้นดินแล้ว มีแค่คนขับรถ เด็กท้ายรถ และไกด์อีก 2-3 คนต่อนักท่องเที่ยว 30-40 คนแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันมาก

ธุรกิจที่สอง คือ เป็นธุรกิจท่องเที่ยว เพราะต้องพานักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวตามเกาะแก่งต่างๆ ที่กำหนดไว้ มีการดำน้ำดูปลาและปะการัง ซึ่งมัคคุเทศก์ต้องได้รับการอบรมให้มีความรู้ทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิเวศน์วิทยา พืชทะเล สัตว์ทะเล ภูมิประเทศ คลื่นลมต่างๆ นอกเหนือไปจากความรู้เกี่ยวกับเรื่องเรือ และอุปกรณ์ความปลอดภัยในเรือ

ธุรกิจที่สาม คือ ธุรกิจการเดินเรือ เพราะในเรือแต่ละลำจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำเรือครบเหมือนเรือเดินสมุทรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกัปตัน ช่างกล ช่างไม้ ช่างไฟ ช่างยนต์ นอกเหนือไปจากการมีอุปกรณ์การติดต่อสื่อสารที่จำเป็นต่างๆ

ธุรกิจที่สี่ คือ ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ เพราะนอกจากจะต้องสร้างความสนุกสนานรื่นเริงให้กับผู้โดยสารในเวลากลางคืนแล้ว ยังมีกิจกรรมการสันทนาการเพื่อช่วยสลายพฤติกรรมให้ผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่นต่างที่กัน ให้สามารถเข้ากันได้

ในส่วนของซีทรานนั้น มัคคุเทศก์และพนักงานประจำเรือจะต้องรับหน้าที่เอ็นเตอร์เทนเนอร์ด้วย โดยบริษัทจะว่าจ้างครูมาฝึกสอนการแสดงทั้งไทยและสากลให้ ขณะที่ในส่วนของอันดามัน ปริ๊นเซสจะมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นนักแสดงไว้คอยให้ความบันเทิงกับผู้โดยสารโดยเฉพาะ

"แล้วอย่างนี้จะไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายเราสูงได้อย่างไร เพราะนอกจากภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของโรงแรมแล้ว ค่าบำรุงรักษาและค่าเสื่อมของเราก็สูงมาก อย่างพรมก็ต้องเปลี่ยนบ่อยกว่าโรงแรมทั่วไป เรือก็ต้องเข้าอู่ปีละหนึ่งครั้ง ครั้งละหนึ่งเดือน เงินเดือนพนักงานก็ต้องเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ค่าบริการของเราเพิ่มไม่ได้ เราตั้งราคาอย่างตอนนี้ ลูกค้าก็รู้สึกว่าแพงมากแล้ว โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับการไปเที่ยวต่างประเทศ หรือการไปเที่ยวกับเรือสำราญจากต่างประเทศอย่างสตาร์ครุยซ์" นี่เป็นเสียงสะท้อนของผู้บริหารทั้งจากอันดามัน ปริ๊นเซสและซีทราน ปริ๊นเซส

ภัยธรรมชาติ โหมกระหน่ำ

นอกจากนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวทะเลทางเรือยังมีข้อจำกัดอื่นๆ ที่ทำให้เสียเปรียบการท่องเที่ยวทางบกอีก เช่น ไม่สามารถกอบโกยรายได้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งจะอยู่ระหว่างช่วงเดือนตุลาคม-เมษายนของแต่ละปีได้ เพราะมีห้องพักบนเรืออยู่จำกัด เพิ่มห้องพักไม่ได้ รายรับจึงพลอยถูกจำกัดไปด้วย ขณะที่การท่องเที่ยวทางรถยนต์จะสามารถเพิ่มรถ เพิ่มห้องพัก เพิ่มอาหารได้ไม่จำกัด ขนาดที่สามารถนำรายได้จากช่วงฤดูการท่องเที่ยวไปเลี้ยงช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยวได้

นี่ยังไม่นับปัญหาจำนวนเที่ยวบินของการบินไทย ซึ่งบางครั้งมีไม่พอกับความต้องการของลูกค้า เพราะเดี๋ยวนี้คนไทยเลือกที่จะจ่ายค่าเครื่องบินไป-กลับกรุงเทพฯ-ภูเก็ต มากกว่าการนั่งรถทัวร์ไปลงเรือที่ภูเก็ตเหมือนสมัยก่อน

ขณะที่ถ้าเป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ก็ต้องมีการจัดรายการส่งเสริมการขายพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อทัวร์ โดยในส่วนของอันดามัน ปริ๊นเซสจะทำการลดราคาให้ลูกค้าประมาณ 30% ขณะที่ซีทรานจะเป็นลักษณะของการแถมตั๋วเครื่องบินไป-กลับกรุงเทพฯ-ภูเก็ตให้กับลูกค้าที่จองห้องสวีท หรือจัดรายการท่องเที่ยวก่อนผ่อนทีหลังกับบัตรเครดิตต่างๆ แต่จะไม่มีการลดราคาเด็ดขาด เพราะราคาที่บริษัทกำหนดขึ้นเป็นราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องภัยธรรมชาติที่บางครั้งก็ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในระดับรุนแรงกว่าปกติอยู่บ่อยๆ เห็นได้ชัดๆ คือ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ที่เกือบทั้งประเทศต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้ลูกค้าที่จองทัวร์ไว้ต้องขอยกเลิกการเดินทางกันมากมาย ประกอบกับถูกกระแสความเชื่อเรื่องสุริยคราสกระหน่ำ เดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นฝันร้ายของผู้ประกอบการไปอย่างช่วยไม่ได้

"ตั้งแต่ต้นปี 2538 เราทำดีมาตลอดมาเสียเดือนตุลาคม ซึ่งปกติจะเป็นเดือนที่ขายดีมาก เราเข้าใจว่าน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติ แต่ถ้ามีการแก้ไขปัญหารวดเร็วกว่านี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจโดยรวมก็คงไม่มากเท่านี้" ผู้บริหารของสยามครุยซ์ให้ความเห็น

"ราคาแค่นี้ ไปเมืองนอกดีกว่า"

นอกจากข้อจำกัดโดยตัวเองแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลโดยเรือสำราญยังถูกกระทบอย่างจังจากการดัมพ์ราคาของการท่องเที่ยวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วง 2 ปีหลัง ส่งให้ราคาค่าเดินทางของซีทรานและอันดามันในประเทศบางทริปราคาสูงกว่าการเดินทางไปเที่ยวในประเทศใกล้ๆ อย่างสิงคโปร์ และฮ่องกง เช่น ทริปสิมิลัน-สุรินทร์หรือทริปตะรุเตาของอันดามัน(4 วัน 3 คืน) ราคาจะอยู่ในช่วง 11,690-19,050 บาท ขณะที่ของซีทราน ปริ๊นเซส(3 วัน 2 คืน) ราคาจะอยู่ระหว่าง 8,900-12,500 บาท ซึ่งหากจะไปกลับทางเครื่องบินก็ต้องบวกเข้าไปอีก 4,000 บาท แต่ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับฮ่องกงและสิงคโปร์พร้อมห้องพัก 2 คืนราคาแค่ 8,000 บาท

แม้ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่มีรูปแบบแตกต่างกัน และนักท่องเที่ยวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมาก แต่คนไทยก็มักเลือกไปเที่ยวเมืองนอกมากกว่า เพราะ "มันโก้กว่ากัน"

"ถ้าเปรียบเทียบเฉพาะราคาค่าทัวร์ โดยที่ไม่ได้เปรียบเทียบกับสิ่งที่จะได้รับแล้วเราจะเสียเปรียบมาก ทั้งๆ ที่ถ้าคุณไปเที่ยวกับเรา นอกจากค่าทัวร์แล้ว คุณแทบไม่ต้องเสียอะไรอีก นอกจากนี้จะได้พักผ่อนอยู่กับธรรมชาติจริงๆ ขณะที่ถ้าไปเที่ยวฮ่องกงหรือสิงคโปร์กับทัวร์ถูกๆ คุณอาจจะต้องพักโรงแรมอะไรก็ไม่รู้ พอไปถึงก็ตะกุยตะกายซื้อของ กลับถึงบ้านต้องพักผ่อนต่อเพราะเหนื่อย" ปราณีเปรียบเทียบให้ฟัง

แต่รู้ทั้งรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ทั้งอันดามัน ปริ๊นเซสและซีทราน ปริ๊นเซส ก็ไม่สามารถดั้มพ์ราคาสู้ได้ เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงมากค้ำคออยู่ แม้ว่าเรื่องนี้จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของทั้งสองบริษัทได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าทุกปัญหาก็ตาม

เรือคาสิโน เครื่องล่อใจข้ามชาติ

ในขณะที่เรือสำราญจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สตาร์ครุยซ์" ซึ่งให้บริการเส้นทางภูเก็ต-สิงคโปร์ด้วย กลับคิดราคาค่าโดยสารเพียงแค่ 7,000 กว่าบาทเท่านั้น ก็ยิ่งทำให้ทั้งอันดามัน ปริ๊นเซสและซีทราน ปริ๊นเซส ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวมากขึ้น เพราะถ้าไม่พิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่า 3 รายนี้ให้บริการธุรกิจเรือสำราญเหมือนกัน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีคอนเซ็ปต์ที่ต่างกันอย่างชัดเจน

กล่าวคือ การท่องเที่ยวกับอันดามัน ปริ๊นเซสกับซีทราน ปริ๊นเซส เป็นการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติ ขณะที่สตาร์ครุยซ์จะเป็นเรือสำราญที่นักท่องเที่ยวไม่มีโอกาสได้เล่นน้ำ ดำน้ำดูปะการัง หรือขึ้นเกาะเลย จะต้องอยู่บนเรือตลอดการเดินทาง ยกเว้นตอนขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์ ซึ่งทำให้มีเวลาเล่นคาสิโนบนเรือได้เต็มที่ และเงินจากคาสิโนนี่แหละที่ทำให้ค่าทัวร์ของสตาร์ครุยซ์ลดต่ำลงไปได้ขนาดนั้น

"ตรงนี้ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม เขาสามารถขายทัวร์ได้ในราคาถูกกว่าเรามาก แต่เราทำไม่ได้ เพราะไม่มีรายได้จากคาสิโนมาจุนเจือ ไม่ใช่ว่าเราอยากทำเรือคาสิโน เพราะคอนเซ็ปต์ของเราคือเรือท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ ในเมื่อคุณห้ามเรือต่างชาติที่มีคาสิโนไม่ให้เข้าประเทศไม่ได้ แต่กลับกดหัวเรือไทยทุกอย่าง แล้วเราจะไปแข่งกับใครได้ เพราะเรือต่างประเทศมีคาสิโนทุกลำ แม้แต่สิงคโปร์เอง ในประเทศเขาห้ามมีคาสิโน แต่ในเรือสิงคโปร์สามารถมีได้ทุกอย่าง เรื่องนี้รัฐบาลควรต้องแยกพิจารณา ถ้าต้องการให้เราแข่งกับต่างประเทศ แต่กดเอาไว้อย่างนี้ อีก 10 ชาติก็สู้เขาไม่ได้" นี่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริหารเรือรายหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ผู้ทำธุรกิจเรือสำราญรู้สึกว่าไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐบาล เนื่องจากมีผู้ประกอบการอยู่เพียง 2 ราย ทำให้อำนาจการต่อรองต่ำ ตัวอย่างเช่น เรื่องการสร้างท่าเทียบเรือสำราญ (Cruise Terminal) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดกันมานานนับ 10 ปีแล้ว ก่อนที่จะเกิดธุรกิจเรือสำราญขึ้นในประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น

ในขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นเกาะเล็กนิดเดียว และสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลก็แทบไม่มี แต่รัฐบาลของเขากลับยอมลมทุนในเรื่องนี้ จนทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีเรือสำราญจากต่างประเทศแวะจอดมากมาย เพราะเขาไม่ได้คิดแค่ว่าปีหนึ่งจะเก็บค่าใช้ท่าได้ปีละเท่าไร แต่เขามองถึงรายได้อื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่าท่องเที่ยว การจับจ่ายซื้อของของนักท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลไทยมัวแต่คิดว่าทำแล้วจะมีใครมาใช้ จะได้ผลกำไรเท่าไร ซึ่งหากมองอยู่แค่นี้ ชาตินี้ประเทศไทยคงไม่มีท่าเทียบเรือสำราญ เพราะคิดอย่างไรก็ไม่คุ้ม

ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าอันดามัน ปริ๊นเซสจะมีปัญหามากกว่า เพราะไม่มีท่าเรือเป็นของตัวเอง ขณะที่ซีทราน ปริ๊นเซสมีท่าเรือของตัวเองที่ภูเก็ต

นอกจากปัจจัยภายนอกดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งตัวผู้ประกอบการเองก็มีข้อจำกัดในการทำตลาด ทำให้ไม่เอื้อให้การทำตลาดของบริษัทเป็นไปได้อย่างกว้างขวาง อย่างในกรณีของซีทราน ทราเวิล ที่ทำการตลาดและการขายเอง โดยไม่ผ่านเอเยนต์ทัวร์ ซึ่งอาจจะทำให้เข้าถึงลูกค้าไม่ทั่วถึง แต่พัฒนาก็มีเหตุผลที่ทำเช่นนั้น

เขากล่าวว่า สินค้าของบริษัทเป็นสินค้าบริการ ไม่ใช่การขายสินค้าที่ผู้ซื้อสามารถไปดูหรือเลือกได้ก่อนว่าน่าพอใจหรือไม่ ดังนั้นคนขายสินค้าจะต้องรู้จักสินค้าละเอียดมาก เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจที่จะซื้อ

"นอกจากเซลส์ของเราแล้ว ลูกค้าเก่าของเราจะเป็นผู้ขายให้กับเราได้ดีที่สุด เพราะที่ผ่านมาเราสร้างกูดวิลล์ไว้ดีมาก และเราก็ได้ลูกค้าใหม่ๆ จากลูกค้าเก่าอยู่ตลอดเวลา" พัฒนากล่าว

ในขณะที่อันดามัน ปริ๊นเซส นอกจากมีทีมขายของตัวเองแล้ว ยังขายผ่านบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวอีกด้วย และยอมรับว่าตัวเลขที่ได้รับจากเอเยนต์ทัวร์อยู่ในระดับที่น่าพอใจทีเดียว

ธุรกิจเรือสำราญ อนาคตจะเหนื่อยกว่านี้ ?

จากปัญหานานาประการที่ทั้งสองฝ่ายสะท้อนออกมาก ดูเหมือนว่าธุรกิจนี้ไม่มีทางออก จะไม่ค่อยมีอนาคตเอาเสียเลย ซึ่ง"พัฒนา" เองก็ยอมรับว่า ธุรกิจนี้ดูเหมือนจะอยู่ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ถ้าเทียบแล้วซีทรานออกจะได้เปรียบกว่าอันดามัน ปริ๊นเซส เพราะอู่ซ่อมบำรุงเรือก็มีท่าเรือที่ภูเก็ตก็เป็นท่าเทียบเรือของบริษัท

"เป็นปัญหาที่เราหนักใจมาก เพราะถ้าเราลดต้นทุน คุณภาพการบริการก็คงต้องลดตามไปด้วย ทางออกที่เราพยายามทำก็คือ การพยายามหาลูกค้าให้ได้มากขึ้น โดยพยายามเน้นการทำตลาด ในส่วนของการเช่าเหมาลำมากกว่าลูกค้าประเภทบุคคลและครอบครัว ส่วนเรื่องอื่นยังคิดไม่ออก" พัฒนากล่าว

สำหรับอันดามัน ปริ๊นเซสนั้นได้ตัดสินใจที่จะปรับราคาขึ้นในฤดูการท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งจะเป็นช่วงการท่องเที่ยวทางฝั่งอ่าวไทย หลังจากที่ไม่มีการปรับราคามาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยคาดว่าจะขึ้นไม่ถึง 10%

"การปรับราคาเราไม่สามารถขึ้นไปตามสัดส่วนของค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทั้ง 100% ได้ บริษัทยังต้องรับภาระเอาไว้บางส่วน"

นอกจากนี้จะยังใช้แผนการตลาดเข้ามาช่วย เริ่มจากการออกบัตรอันดามัน ปริ๊นเซส การ์ด ซึ่งเจ้าของบัตรจะได้รับส่วนลดจากการใช้บริการของบริษัท เช่นได้รับส่วนลด 25%

ส่วนการจัดการรายการส่งเสริมการขายพิเศษด้วยการลดราคาให้ลูกค้าประมาณ 30% ในช่วงโลว์ซีซั่น ก็จะต้องนำมาใช้กันต่อไป

ที่สำคัญจะมีการเพิ่มเส้นทางท่องเที่ยวในปีหน้า คือ ภูเก็ต-ระนอง และไปถึงเกาะสนของประเทศพม่า โดยจะพักที่โรงแรมของกลุ่มดุสิต รีสอร์ทที่อยู่บนเกาะสนด้วย 1 คืน ซึ่งขณะนี้กำลังติดต่อประสานงานกันอยู่

โดยในเรื่องการเพิ่มเส้นทางนี้ ทางซีทราน ปริ๊สเซสก็จะทำเช่นเดียวกัน

"ธุรกิจท่องเที่ยวทางเรือ มองดูเหมือนจะสบาย แต่จริงๆ แล้วเหนื่อย ใครไม่เชื่ออยากเข้ามาเหนื่อยก็เชิญ" ปราณีกล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย

ใครอยากรู้ว่าขู่หรือจริง คงต้องเข้าไปลองดูกันเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.