"เหตระกูล" จะหักเหจาก "เดลินิวส์"?

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

"เหตระกูล" เป็นตระกูลเก่าแก่ที่ครอบครอง "เดลินิวส์" หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย"

แต่เดลินิวส์ก็ขยับตัวค่อนข้างช้าในสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจสิ่งพิมพ์

ขณะเดียวกันเหตระกูลกลับไปลงทุนในธุรกิจอื่นอย่างเร้าใจ

ผลงานล่าสุดคือการเทคโอเวอร์ "บง.ทรัพย์ทวีทรัสต์" มูลค่า 800 ล้านบาท

เหตระกูลกำลังทำอะไรและมีวิธีคิดอย่างไรในการขยายอาณาจักร และอนาคตเดลินิวส์จะเป็นเช่นไร ?

เดือนสิงหาคม 2538 ม้ามืดอย่างเดลินิวส์ หรือกลุ่ม "เหตระกูล" โดยบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ชนะประมูลสามารถครอบครอง "บริษัทเงินทุนทรัพย์ทวีทรัสต์" โดยเฉือดเฉือนกับกลุ่มยักษ์ใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ได้อย่างน่าทึ่ง

เบื้องหลังการเทคโอเวอร์ครั้งนี้ เป็นแนวคิดของ "ประชา เหตระกูล" บิ๊กบอสส์แห่งเดลินิวส์ ที่ต้องการฐานธุรกิจด้านเงินทุนไว้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาณาจักรธุรกิจที่จะขยายต่อไป

ภาพพจน์กล้าเสี่ยงของประชา เหตระกูลวันนี้จึงไม่ธรรมดา ดูแตกต่างจากเอกลักษณ์ของกลุ่มเหตระกูลที่รวยเงียบๆ ชนิดเงินสักบาทไม่กระเด็นและมีแนวลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม พร้อมทั้งระบบบริหารแบบครอบครัวใหญ่ในเดลินิวส์

กุนซือที่ปรึกษาดีลสำคัญครั้งนี้คือ บงล.เอกธนกิจ ซึ่งมีทีมวาณิชธนกิจเก่งกาจหลายคน เอกธนกิจจะกลายเป็นหนึ่งผู้ถือหุ้นในทรัพย์ทวีทรัสต์ด้วย โดยผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์สและกลุ่มเหตระกูล 40%

จากถ้อยแถลงของผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ จรุง หนูขวัญวันนั้น ได้กล่าวถึงเม็ดเงินที่ประชา เหตระกูลได้เสนอผลประโยชน์ให้กับกองทุนฟื้นฟูด้วยเงินประมูล 800 ล้าน ในราคาหุ้นละ 168 บาทจำนวน 3.3 ล้านหุ้นเท่ากับ 554.4 ล้านบาทและที่เหลือเป็นค่าใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 4 ใบซึ่งมีมูลค่า 300 ล้านบาท

"การประมูลครั้งนี้ บริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์สจะมีกำไรทันทีในบริษัทเงินทุนทรัพย์ทวีทรัสต์อีกประมาณ 330 ล้านบาทเนื่องจากทุนบริษัทมีทุน 800 ล้านบาท หักหนี้สินที่มีอยู่ประมาณ 470 ล้านแล้ว บริษัทยังมีเงินทุนเหลืออีก" ผู้ช่วยผู้ว่าการกล่าว

ความน่าสนใจลงทุนซื้อทรัพย์ทวีทรัสต์ นอกจากจะได้เป็นเจ้าของบริษัทเงินทุนแล้ว ยังมีใบอนุญาตประกอบการกิจการครบทั้งด้านธุรกิจหลักทรัพย์และด้านเงินทุน ในขณะที่กฎหมายใหม่ระบุว่า การขอประกอบกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์จะต้องแยกกัน

ฉะนั้นนักธุรกิจมาดผู้ดีอังกฤษอย่างประชา เหตระกูล เมื่อดีดลูกคิดรางแก้วตัวเลขที่เสี่ยงจ่ายไป 800 ล้านนั้นคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม !

การเปิดตัวรุกก้าวเข้าสู่การลงทุนในสถาบันการเงินของประชา ได้ปลุกให้สาธารณชนเริ่มจับตาการเติบโตของกลุ่มครอบครัวเหตระกูลที่รวยเงียบๆ อย่างใกล้ชิด และพบว่ากว่าสามทศวรรษ "เดลินิวส์" ซึ่งรุ่นพ่อคือแสง เหตระกูล ก่อตั้งขึ้นมา เป็นธุรกิจกงสีที่ปันผลกำไรอย่างงาม 151 บาทต่อหุ้นแก่คนเหตระกูล 12 ครอบครัว

แม้ว่าประสิทธิ์ เหตระกูลจะเป็นพี่ชายคนโต แต่บทบาทมีน้อยมากในแง่การบริหารและการลงทุน ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานอำนวยการบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นอกจากนี้ประสิทธิ์ยังมีหุ้นในเดลินิวส์ เขายังถือหุ้นในบริษัท แสงเอ็นเตอร์ไพร์ส และยาคูลท์เช่นเดียวกับพี่น้องทุกคนในเหตระกูล

ลักษณะการถือหุ้นของพี่น้องเหตระกูลนั้นจะถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งอย่างบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัทโฮลดิ้งก็จะเป็นผู้ลงทุนในบริษัทอื่นๆ

ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา คนที่ขยายการลงทุนมากที่สุดคือ ประชา เหตระกูล ซึ่งปัจจุบันเป็นบรรณาธิการอำนวยการของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประธานกรรมการของบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด(มหาชน) กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท แสงเอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัทแอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็ม นอกเหนือจากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตระกูล และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ "สื่อธุรกิจ" ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ดูตารางธุรกิจในเครือเหตระกูล)

ในแง่สิ่งพิมพ์ ขณะที่กลุ่มสิ่งพิมพ์อื่นขยายตัวเชิงรุกอย่างมาก โดยออกสิ่งพิมพ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เดลินิวส์กลับดำรงตนอย่างเงียบสงบมาเป็นเวลา 30 ปี จนกระทั่งปรับตัวเล็กน้อยด้วยการออก "สื่อธุรกิจ" หนังสือพิมพ์รายวันธุรกิจฉบับบ่ายเมื่อปีที่แล้ว

"สื่อธุรกิจมีจุดเริ่มต้นมาจากสายสัมพันธ์ระหว่างคุณประชากับสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งมีคุณจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยาและคุณจุลจิตต์ บุญยเกตุ เมื่อสำนักทรัพย์สินฯ แตกไลน์มาด้านสื่อสิ่งพิมพ์ คุณประชาก็คงจะเห็นดีด้วย เพราะเดลินิวส์ก็พร้อมทั้งด้านเครื่องมือ มีโรงพิมพ์ มีออฟฟิศ และคน ก็เลยตกลงกันเริ่มสื่อธุรกิจ โดยร่วมทุนในสัดส่วน 51 ต่อ 49" ไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "สื่อธุรกิจ" เล่าให้ฟัง

ภายใต้ขีดจำกัดเรื่องทุนดำเนินการ ซึ่งเริ่มต้นควักกระเป๋าเพียงฝ่ายละ 10 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น แค่โฆษณาอย่างต่ำก็ใช้เงินถึง 30-40 ล้านแล้ว แต่สื่อธุรกิจใช้โฆษณาเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น อันสะท้อนลักษณะองค์กรและวัฒนธรรมบริหารของสื่อธุรกิจที่มีความมัธยัสถ์ในการลงทุน

สำหรับเงินก้อนแรกของสื่อธุรกิจ บรรณาธิการกล่าวว่า ใช้ซื้อคอมพิวเตอร์สำนักงานไป 15 ล้าน ส่วนเครื่องจักรโรงพิมพ์ใช้ร่วมกับเดลินิวส์ โดยประชา ได้วางกลยุทธ์และเป้าหมายให้ "สื่อธุรกิจ" เป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจคุณภาพสำหรับคนระดับกลางและระดับสูง ต่างจากเดลินิวส์ที่เน้นตลาดชาวบ้าน

ไตรรัตน์ เป็นลูกหม้อเก่าของเดลินิวส์ ถือเป็นคนที่ประชาวางใจให้มาดูแล "สื่อธุรกิจ" ไตรรัตน์ทำงานกับเดลินิวส์โดยเริ่มจากงานข่าวต่างประเทศรุ่นเดียวกับแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.คนปัจจุบัน

"คุณประชาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และเริ่มเข้าไปลงทุนในกิจการอื่นที่เห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ถึงแม้จะอยู่เฉยก็ไม่เดือดร้อน เพราะเดลินิวส์มั่นคงและไม่มีวันล้ม" ไตรรัตน์เล่าให้ฟัง

แต่ธุรกิจกงสี "เดลินิวส์" กำลังถูกท้าทายจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะตลาดหนังสือพิมพ์ตื่นตัว หนังสือพิมพ์เข้าตลาดหุ้นเพื่อต้นทุนเงินที่ต่ำกว่ากู้แบงก์และเกิดคู่แข่งใหม่ๆ

ประชามองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะโลกใบเก่าอย่าง "เดลินิวส์" ภายใต้การบริหารแบบครอบครัวยังดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครเห็นด้วยกับการนำสมบัติเก่าแก่อย่างเดลินิวส์เข้าตลาดหุ้น ไม่มีใครกล้าเสี่ยง

เมื่อธุรกิจครอบครัวอย่างเดลินิวส์ก็ยังขายได้เรื่อยๆ ประชาก็มุ่งลงทุนเองในธุรกิจส่วนตัวมากขึ้นเป็นลำดับในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ปี 2531 ประชาได้เล็งเห็นว่าธุรกิจที่ดินกำลังบูม ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศที่ขอส่งเสริมจากบีโอไอมีสูงมาก จึงเห็นว่าน่าจะลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมรองรับ การลงทุนที่ต้องใช้เงินสูงเช่นนี้ย่อมเสี่ยง วิธีลดความเสี่ยงคือประชาเข้าถือหุ้นในบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น โดยเปลี่ยนแนวการดำเนินธุรกิจเดิมจากผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า มาเป็นบริษัทพัฒนาที่ดิน โดยเน้นนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก

ประชาเป็นประธานกรรมการเอ็มดีเอ็กซ์ เพราะถือหุ้นใหญ่รองจากสยามแลนด์โฮลดิ้ง (1990) งานนี้ยิ้มรับกำไรจากการลงทุนซื้ออนาคต เมื่อเอ็มดีเอ็กซ์ประเดิมแรกเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ที่ฉะเชิงเทรา ปรากฏว่าเฟสแรกบนเนื้อที่ 6,900 ไร่ขายดีมากๆ เพราะได้ลูกค้ารายใหญ่อย่างโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จุดพลุให้ ปี 2536 เอ็มดีเอ็กซ์มีกำไรสูงสุด 1,297 ล้านบาท

แต่ธุรกิจมีขึ้นก็มีลง เอ็มดีเอ็กซ์ได้รับผลกระทบจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ทำให้ผลประกอบการล่าสุด 3 ไตรมาสแรกของปี 2538 ขาดทุนประมาณ 43 ล้านบาท

ทั้งนี้เพราะเอ็มดีเอ็กซ์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว ยังเป็นบริษัทโฮลดิ้งลงทุนในบริษัทย่อยมากมาย และที่น่าสนใจมากที่สุดคือการลงทุนเพื่ออนาคต ในบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า มีทุนจดทะเบียนถึง 5,000 ล้านบาท ที่ประมูลสร้างเขื่อนในลาว และประเทศจีน ขณะเดียวกัน เอ็มดีเอ็กซ์พาวเวอร์ยังเป็นหนึ่งในผู้สนใจร่วมประมูลสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าเอกชน(ไอพีพี) ด้วย

กิจการอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มารายได้หลักของประชา ก็คือบริษัทแอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็ม (เอไอเอส) รับสัมปทานติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตร จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) มีอายุสัมปทาน 25 ปี ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 63.74% ประชารวยเงียบๆกับธุรกิจนี้ เพราะสัมปทานที่ครอบคลุมไปถึงการติดตั้งโทรศัพท์ และการจำหน่ายบัตรโทรศัพท์ ซึ่งมีความต้องการใช้งานนั้นมากเกินความคาดหมาย เพราะความไม่สะดวก และการขาดแคลนของโทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญที่ทศท.ให้บริการอยู่ ทำให้มีคนหันมานิยมใช้การ์ดโฟนค่อนข้างมาก

ที่สำคัญรายได้จากการจำหน่ายบัตรซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน เอไอเอสไม่ต้องแบ่งรายได้ตอบแทนในส่วนนี้ให้กับทศท. จะแบ่งเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นจากการโทรศัพท์จริงเท่านั้น จากข้อตกลงนี้เองทำให้เอไอเอสมีรายได้เข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำ เพราะปัจจุบันมีผู้นิยมซื้อบัตรโทรศัพท์ไปสะสม แต่ไม่ได้นำออกมาใช้งาน เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันเอไอเอส ได้ขยายการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรนี้ไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และเพิ่มสถานที่จำหน่ายบัตรอีกหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม เอไอเอสก็มีปัญหาในเรื่องของสถานที่ใช้ติดตั้งโทรศัพท์ ซึ่งเอไอเอสจะเน้นการติดตั้งภายในสถานที่มากกว่าภายนอกสถานที่ในลักษณะที่เป็นตู้โทรศัพท์ เพราะปัญหาในเรื่องของสถานที่ และการออกแบบตู้โทรศัพท์

ภายในสิ้นปี 2537 ปรากฏว่า บริษัทเอไอเอส มีกำไรกว่า 23 ล้านบาท โดยแบ่งรายได้ให้กับองค์การโทรศัพท์ในปีที่แล้ว 251 ล้านบาท

ประพันธ์ เหตระกูล พี่ชายประชาจัดเป็นรุ่นที่ 2 ของเหตระกูลคนแรกที่มีธุรกิจเป็นของตนเอง แม้จะมีพี่น้องถือหุ้นอยู่ด้วยทุกคนในยาคูลท์ แต่ก็ต้องเรียกว่า "ยาคูลท์" เป็นธุรกิจของประพันธ์ เพราะเป็นผู้ขอเงินพ่อคือ แสง เหตระกูล มาลงทุนร่วมกับพันธมิตรธุรกิจชาวญี่ปุ่นตั้งแต่พ.ศ.2512 และยังมีบริษัท เฮมม่า โรงงานทำกระดาษกล่องผงซักฟอกที่รับซื้อกระดาษเก่ามาเป็นวัตถุดิบ

ก่อนหน้าทำนมเปรี้ยวยาคูลท์ขาย ประพันธ์เคยคิดจะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มประเภทชูกำลัง แต่เมื่อนำความคิดนี้ไปปรึกษาเพื่อขอทุนจากเตี่ย ปรากฏว่านายห้างแสงไม่เห็นด้วยเพราะว่ากินแล้วติดและเป็นโทษกับร่างกาย จึงระงับโปรเจกต์นี้ไป มิฉะนั้นประพันธ์คงได้ชื่อว่าเป็นรายแรกที่ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง

จากทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 10 ล้านบาท ขณะนั้นประพันธ์อายุ 37 ปี มีน้องชายคือหมอประสานเข้ามาร่วมในยาคูลท์ด้วย โดยมีกรรมการบริหารชาวญี่ปุ่นประมาณ 5-6 คนผลัดเปลี่ยนตามวาระจนถึงทุกวันนี้

ยาคูลท์ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ และได้สร้างตำนานการดำเนินธุรกิจแบบขายตรงโดย "สาวยาคูลท์" และการบุกเบิกธุรกิจนมเปรี้ยวที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามหาศาลในปัจจุบัน

ในระยะแรกยาคูลท์ต้องพึ่งเงินกู้ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักของครอบครัวเหตระกูลมานาน ปี 2520 กู้จำนวน 15 ล้าน เพื่อซื้อเครื่องจักรราคา 14 ล้าน พร้อมกับเพิ่มทุนเป็น 30 ล้าน จากนั้น 2 ปีก็ขยายสาขาไปหาดใหญ่ และซื้ออาคารพาณิชย์ที่สำนักงานตรงสยามสแควร์เพิ่มอีก 3 ห้อง จากที่มีอยู่เดิม 3 ห้องรวมเป็น 6 ห้อง

เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาด ในปัจจุบันยาคูลท์ใช้เงินโฆษณาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี เพราะสถานการณ์แข่งขันนมเปรี้ยวของตลาดในปัจจุบันสูงมากและมีคู่แข่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกนับ 10 รายเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดที่มีมูลค่าปีละ 1,500 ล้านบาท หรือตลาดนมเปรี้ยวมีความต้องการสัปดาห์ละ 2.8 แสนขวด เฉลี่ยวันละ 3,500-4,000 ขวด

ยาคูลท์ยังคงครองตลาดนมเปรี้ยวได้เป็นอันดับหนึ่ง จากที่เคยมีสัดส่วนครองตลาดสูงสุดถึง 90% เป็นสมัยที่คิดระบบขายตรง "สาวยาคูลท์" ขึ้นมาใหม่ๆ ทำให้การขายกระจายไปได้ทั่ว มีการกำหนดเขตขาย รายได้โบนัสจากการขายที่แน่นอน โดยมีจำนวนขายเฉลี่ยอย่างน้อยคนละ 250 ขวด จากนั้นส่วนแบ่งของยาคูลท์ก็ลดลงมาเรื่อยๆ ล่าสุดเหลือเพียง 36.4% รองลงมาคือดัชมิลล์และโยโมสต์ที่ยังทิ้งห่างอยู่มาก

ในอดีตปี 2531 ยาคูลท์เคยขาดทุนไป 81 ล้าน (แต่เงินปันผล 15 ล้านต้องมีทุกปี) เพราะต้องลงทุนแยกหน่วยขายในรูปบริษัท ยาคูลท์เซลล์ (กรุงเทพฯ) จำกัด ซึ่งปรากฏว่าในรายงานการประชุม บันทึกหัวข้อซักถามระหว่างประสงค์กับประพันธ์ เหตระกูลอยู่หลายประเด็น เช่น ผู้ถือหุ้นยาคูลท์เดิมจะเสียประโยชน์อะไรหรือไม่? จะจัดจำหน่ายราคาเท่าใด? ทรัพย์สินเดิมดำเนินการอย่างไร?

วัฏจักรการทำงานในแต่ละวันของประพันธ์ ทำให้เห็นได้ว่าความสำคัญของธุรกิจอยู่ที่ยาคูลท์เป็นหลัก เพราะอีกธุรกิจของเขา คือธุรกิจกล่องกระดาษ ก็ดำเนินไปได้เรื่อยๆ โดยธุรกิจนี้ที่ทำขึ้นเพราะเห็นว่าวันๆ มีกระดาษหนังสือพิมพ์เหลือมากเอามารีไซเคิลแล้วทำเป็นกล่องกระดาษบรรจุพวกสารเคมี เช่น แฟ้บ จึงเกิดบริษัทเฮมมาขึ้น

การเปลี่ยนตัวบรรณาธิการจากยุคประพันธ์เป็นยุคของประชาในปี 2521 เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มเหตระกูลมองว่าประพันธ์พลาดที่ยอมให้ "คนนอก" อย่างสุเทพ เหมือนประสิทธ์เวช "สิงโตฮึ่มๆ" หัวหน้ากองบรรณาธิการรวบอำนาจทั้งฝ่ายกองบรรณาธิการ และฝ่ายจัดการ และยื่นข้อต่อรองด้วยการยกทีมกองบรรณาธิการลาออก เนื่องจากแสง เหตระกูล ไม่ยอมรับข้อเสนอที่ทางกลุ่มสุเทพยื่นขอส่วนแบ่งจากฝ่ายจัดการเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายเกินจำนวนแสนฉบับ

ในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ยกทีมลาออกจากเดลินิวส์ของสนิท เอกชัยที่ออกไปตั้งใหม่ชื่อ น.ส.พ.เดลิไทม์มาแล้ว

ตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน เดลินิวส์ภายใต้บทบาทนำของประชาในฐานะเป็นบรรณาธิการ ขณะที่ประพันธ์ก็ย้ายไปคุมด้านการตลาดและสายส่งจัดจำหน่าย และประภา ศรีนวลนัดคุมด้านการเงินโดยมีทีมลูกสาวและหลานสาวหลานชายเข้าช่วยดูแล

สำหรับเดลินิวส์ ในยุคของประชา นโยบายเสนอข่าวไม่หวือหวาเท่าคู่แข่ง เช่น ข่าวหน้าสี่จะไม่แรง เช่นเดียวกับพาดหัวข่าวเน้นความถูกต้องเป็นหลัก ซึ่งอาจจะดูจืดตามสายตาผู้อ่าน ยอดขายอาจจะหวือหวาแต่ประชาพอใจที่จะมีคดีน้อยลง

ที่น่าสนใจคือ ในส่วนของคอลัมนิสต์ก็ยังมีทนายความเป็นคณะที่ปรึกษาคอยดูแลจากที่มีมานาน 20 ปีแล้ว

การมีทนายเข้ามาช่วยดูแลนี้ เนื่องจากบทเรียนในสมัย "สิงโตฮึ่มๆ" ช่วงปี 2518-19 ที่เดลินิวส์เผชิญหน้าอย่างแข็งกร้าวกับหลายฝ่าย และส่งผลในภายหลังที่ถูกปิดเป็นเวลา 7 วัน

หน่วยงานอื่นๆ ภายในเดลินิวส์มีการแบ่งสายงานให้กับพี่น้องเหตระกูลแต่ละคน คือประภา ศรีนวลนัด เป็นผอ.ฝ่ายบัญชี/การเงินและผอ.ฝ่ายโฆษณาคุมหัวใจด้านการเงินทั้งหมด ประสงค์ ผอ.ฝ่ายเทคนิคและการผลิตคุมด้านการผลิต ประพันธ์เป็นผอ.ด้านการตลาด

ขณะที่เหตระกูลรุ่นที่สองเป็น "ผู้อำนวยการ" รุ่นที่สามก็กินตำแหน่ง "ผู้จัดการ" โดยเฉพาะลูกทั้งสามของประสงค์คือ ปารวดี เป็นผจก.ฝ่ายโฆษณา ปารเมศเป็นผจก.ฝ่ายเทคนิคและผลิต และปฏิภาณดูแลฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ น.ส.พ.สื่อธุรกิจและคุมฝ่ายผลิตของเดลินิวส์

ส่วนกิติพันธ์ ลูกชายประพันธ์บริหารหนังสือรายสัปดาห์ "ดัชนีซื้อขาย" และคุมการตลาดเดลินิวส์ และการผลิต บริษัท ประชุมช่าง ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ตั้งแต่สมัยแสง รับพิมพ์งานสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ "หน้าเหลือง"

ขณะที่สายฝน ลูกของหมอประสานก็เข้ามาช่วยด้านการเงินในฐานะผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ในขณะที่แม่คือ บุณย้อยซึ่งเคยทำหน้าที่นี้ ตอนแสงยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้แยกตัวออกไปทำธุรกิจโรงเรียนอนุบาล

เดลินิวส์จึงเป็นระบบบริหารครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง !

"การปรับตัวด้านการตลาด ถือเป็นจุดอ่อนของเดลินิวส์ ในขณะที่คู่แข่งอย่างไทยรัฐทุ่มไม่อั้น ทั้งแจกทอง ให้เอเยนซีไปเที่ยวเมืองนอก แต่ของเดลินิวส์ก็ทำกันไปตามสภาพหลังจากที่คุณประพันธ์ซึ่งเป็นมาร์เกตติงแมนเข้ามาดูแล ก็มีการปรับปรุงขึ้นบ้าง ก็ใกล้ชิดกับเอเยนต์สายส่งมากขึ้น และทำงานแบบถึงลูกถึงคน แต่ก็ยังค่อนข้างเข้มงวดในการใช้เงิน" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง

"พี่น้องทุกคนมีหุ้นเท่าๆ กัน เวลาเสนอความเห็นก็จะมีหลากหลายมาก ทำให้สรุปไม่ได้ คนค้านมาก ไม่กล้าเสี่ยง ทำให้เดลินิวส์เคลื่อนไปค่อนข้างช้า การหาโฆษณาก็ใช้ระบบครอบครัวดูแล ไม่ยอมให้มีเอเยนซีรับเหมาเหมือนไทยรัฐซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย การควบคุมง่ายกว่าและชัดเจน แต่อาจจะเสียโอกาสไปบ้าง ก็เลยทำให้โฆษณาที่ควรจะได้เต็มร้อยก็ลดลงไปบ้าง" แหล่งข่าวกล่าวถึงข้ออ่อนของเดลินิวส์

"ไทยรัฐ" ถือเป็นมวยรุ่นเฮฟวี่เวทระดับเดียวกับเดลินิวส์ แต่การปรับตัวของเดลินิวส์ที่ช้ากว่าคู่แข่ง ทำให้มียอดขายทิ้งห่างประมาณ 40% โดยเดลินิวส์มียอดขายประมาณ 600 ,000 ฉบับ ขณะที่ไทยรัฐขึ้นหลัก 1 ล้านฉบับแล้ว

ขณะที่เดลินิวส์ไม่ค่อยเล่นบทบาทเชิงรุกนัก แต่ในปีที่ผ่านมา เดลินิวส์กลับมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ !

มาร์เกตแชร์ของเดลินิวส์ห่างไทยรัฐเพียง 15-20% เพราะคู่แข่งพลาดท่าตีลูกพลาดเองหรือ LOOSER GAMES จากกรณีไทยรัฐทะเลาะกับรัฐบาลชวน หลีกภัยและถูกภาคใต้ปิดป้ายเขตปลอดไทยรัฐ

ปรากฏว่าเฉพาะภาคใต้ เดลินิวส์ขายเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 แสนฉบับ ขณะเดียวกันคู่แข่งรายใหม่อย่างข่าวสดในค่ายมติชนก็เป็นตัวแปรชิงส่วนแบ่งการตลาดจากไทยรัฐ ทำให้ปีที่แล้วเดลินิวส์มียอดขายสูงสุดถึง 7 แสน

"คุณประชาทำหน้าที่บรรณาธิการกำกับนโยบาย คือไม่ไปทะเลาะกับใครแบบเอาเป็นเอาตาย หรือไม่ไปรังแกเขา แกจะเป็นสุภาพบุรุษ ประเภทข่าวยกเมฆ ไม่ให้ทำเด็ดขาด" ไตรรัตน์เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่มีต่อยอดขายเดลินิวส์

แม้กระนั้นเดลินิวส์ก็เจอขีดจำกัดของตัวเอง เพราะไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้ เพราะแท่นพิมพ์ที่ใช้มานานและแทบจะไม่มีการลงทุนเพื่อขยายการผลิตเลย

ในที่สุดเหตระกูลก็ตัดสินใจลงทุนสั่งเครื่องจักรเข้ามาใหม่ โดยสร้างอาคารต่อไปทางด้านหลัง ในพื้นที่ที่ซื้อไว้ 28 ไร่ ตั้งแต่สมัยนายห้างแสง

แท่นพิมพ์ปัจจุบันที่ใช้อยู่พิมพ์ได้ชั่วโมงละประมาณ 2 แสนเล่ม ถ้าหากแท่นพิมพ์ใหม่เข้ามาอีก 2 เครื่อง จะสามารถพิมพ์ได้ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 3 แสนฉบับ พร้อมกับตั้งเป้าว่า ในทศวรรษ 2000 เดลินิวส์จะมีโรงพิมพ์ที่ไฮเทคเต็มที่

มีเรื่องเล่าถึงความสัมพันธ์ของคนจีนรุ่นเก่าว่า สมัยที่แสง เหตระกูลมาซื้อที่ดินตรงถนนวิภาวดีรังสิต (ที่ตั้งปัจจุบัน) ด้วยนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน แสงก็ทำหนังสือขอกู้ตามระเบียบขั้นตอนที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสยามสแควร์ ซึ่งเรื่องก็เข้าหูชิน โสภณพนิช เจ้าของแบงก์กรุงเทพจึงโทรศัพท์มาต่อว่านายห้างแสงว่า

"อย่างลื้อเหรออย่างว่าแต่ 200-300 ล้าน 1,000 ล้านอั้วก็ให้ได้"

นี่คือสายสัมพันธ์แบบพ่อค้าจีนรุ่นพ่อที่เกื้อกูลและเติบโตไปด้วยกัน


ภายใต้การบริหารแบบครอบครัวเหตระกูล ที่คนนอกตระกูลไม่มีสิทธ์เป็นใหญ่ในสายบริหาร ขณะเดียวกันเดลินิวส์ก็ยังมีปัญหาผลตอบแทนไม่จูงใจมืออาชีพให้เข้ามาร่วมงาน จนครั้งหนึ่งเดลินิวส์เคยขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ฝึกนักข่าว เมื่อเก่งขึ้นก็เริ่มไปหาที่อื่นที่ให้เงินเดือนดีกว่า

แต่ถ้ามองเดลินิวส์ไม่แง่สมบัติของคน "เหตระกูล" เดลินิวส์ยังคงทำรายได้ให้กับ "เหตระกูล" ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท จะมีเพียงไม่กี่คนใน "เหตระกูล" ที่เริ่มคิดและแตกการลงทุนของตัวเองออกไปนอกเดลินิวส์อย่างประพันธ์ และประชา ซึ่งเป็นแกนนำที่มีบทบาทในครอบครัว

แน่นอนที่เหตระกูลจะไม่มีทางทิ้งจากเดลินิวส์ แต่เดลินิวส์ในสถานการณ์สู้รบของตลาดหนังสือพิมพ์ การตั้งป้อมค่ายอย่างเข้มแข็งกับการรุกไปข้างหน้าอย่างแข็งกร้าวจะเป็นทางเลือกที่พวกเขาต้องขบคิดตลอดเวลา !?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.