|
ทิปโก้ เพิ่มสปีด แตกไลน์สินค้าครบเซกเมนต์หนีคู่แช่งรุมชิงตลาดน้ำผลไม้ 100%
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 พฤศจิกายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"ทิปโก้ฟูดส์" ต่อยอดธุรกิจน้ำผลไม้ เซกเมนต์พรีเมียม 100 % ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง และมีการเติบโตสูงสุด เปิดแนวรุกใหม่ในตลาดน้ำผลไม้อีโคโนมี พร้อมใช้จุดแข็งความนิยมบรรจุภัณฑ์ขวดเพ็ทของผู้บริโภคเป็นตัวเดินเกมเปิดตัวเครื่องดื่มใหม่ปีหน้า วางแผนกินรวบตลาดน้ำผลไม้รวมมูลค่า 4,668 ล้านบาท
ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา "ทิปโก้" เจ้าตลาดน้ำผลไม้ 100% ครองส่วนแบ่งตลาด 47% จากตลาดรวมมูลค่า 2,161 ล้านบาท เจอศึกหนักรอบทิศจากค่ายน้ำผลไม้ทั้งไทยและเทศ ผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่ ที่ขยายขาธุรกิจใหม่ลงมาจับตลาดน้ำผลไม้ เพราะเห็นโอกาสตลาดจากพฤติกรรมการใส่สุขภาพของผู้บริโภค
นับตั้งแต่มาลี ยูนิฟ และ"เบอร์ลี่"ของซานมิเกล ที่เปิดตัวน้ำผลไม้นำเข้าจากประเทศออสเตเรีย รวมทั้งดัชมิลล์ค่ายนมพร้อมดื่ม สยายปีกลงมาจับตลาดน้ำผลไม้พรีเมียม และหวังปั้นแบรนด์ "วาเลนเซีย" ให้แจ้งเกิดในวงการ ด้วยแพ็กเก็จจิ้งในรูปแบบขวดเพ็ทซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และการวางตำแหน่งราคาใกล้เคียงกับน้ำผลไม้ 40% พร้อมช่องทางจำหน่ายที่มีเครือข่ายครอบคลุมตลาดของร้านสะดวกซื้อ 7-11 เป็นจุดแข็งในการทำตลาด
ขณะที่ความเคลื่อนไหว"ทิปโก้"นั้น ขนขบวนน้ำผลไม้รสชาติใหม่ๆออกมาทำตลาดครบครันทั้งน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรซ์ทิปโก้สควีซ น้ำมะม่วงผสมน้ำผลไม้รวม น้ำเบอร์รี่เชอรี่ น้ำพรุนผลไม้องุ่นแดง น้ำมะเขือเทศ เน้นกลุ่มลูกค้าที่ชอบดื่มน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพและคนในกรุงเทพ และการออกผลิตภัณฑ์น้ำส้มใหม่ โดยเปิดตัวน้ำส้มโชกุน และน้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ซึ่งส่งผลให้ทิปโก้เป็นแบรนด์ที่มีน้ำส้มถึง 7 สายพันธุ์
ปรากฏการ์ณน้ำผลไม้100 % ฟีเวอร์ครั้งนี้ ไม่ได้สร้างแรงสะเทือนต่อบัลลังค์ของน้ำผลไม้ "ทิปโก้" ในทันที แต่ในอนาคตเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ เนื่องจากแนวโน้มการแข่งขันตลาดน้ำผลไม้นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น " 2 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดน้ำผลไม้ทำให้ตลาดมีการเติบโตสูง ประการแรกคือ การทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมการตลาดของผู้เล่นในตลาด ซึ่งปีนี้เติบโตถึง 15%
ประการต่อมาคือ อัตราการดื่มน้ำผลไม้ของคนไทยมีเพียง 2-3 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น"
บัญชา สุรัตนชัยกุล ผู้อำนวยการปฏิบัติการ ธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้ตราทิปโก้ กล่าวอีกว่า
"ทิปโก้" แก้เกมคู่แข่งรุมกินเค้กในตลาดน้ำผลไม้พรีเมียม 100 % โดยใช้กลยุทธ์ Product Extension แตกกิ่งก้านสาขาเปิดตัวสินค้าใหม่ๆเข้าไปเก็บเกี่ยวมาร์เก็ตแชร์ในตลาดน้ำผลไม้ให้ครบเซกเมนต์ จากเดิมครองความเป็นผู้นำในตลาดน้ำผลไม้พรีเมียม 100% และน้ำผลไม้ ภายใต้แบรนด์ "เต้เต้" เน้นจับกลุ่มลูกค้าวัยเด็ก ในตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก ร้านสควีซ 40 สาขา
ขณะเดียวกันในไตรมาสสี่ยังออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดเครื่องดื่มธัญญาหาร โดยส่งเนเจอร์ อัพ รสชาติใหม่ น้ำนมข้าวผสมลูกเดือยและฮาเซิลนัทลงตลาด ซึ่งปัจจุบันครองส่วนแบ่ง 50% จากมูลค่าตลาดเครื่องดื่มธัญญาหาร 250 ล้านบาท
ล่าสุด เปิดตัวน้ำผลไม้แบรนด์ "จูปิเตอร์" ลงสู่ตลาดน้ำผลไม้อีโคโนมี ซึ่งมีความเข้มข้นต่ำ 25% บรรจุภัณฑ์เป็นสามเหลี่ยม เน้นจับกลุ่มเป้าหมายเด็กในกรุงเทพฯและปริมณฑลอายุระหว่าง 5-15 ปี
เหตุผลที่ตลาดน้ำผลไม้อีโคโนมี่ ต่ำกว่า 25% คือตลาดเป้าหมายอันดับต่อไป ที่"ทิปโก้"หวังจะเข้าไปสร้างฐานลูกค้าใหม่ เนื่องเป็นตลาดมีอัตราการเติบโตสูงรองจากน้ำผลไม้พรีเมียม 100%
อีกทั้งเป็นตลาดที่มีช่องว่าง เพราะผู้เล่นในตลาดหลักๆคือคือ ดีโด้ ดีดี โกลเด้นท์แพน และ กรีนเมท ยังไม่มีแบรนด์ไหนออกมาทำตลาดอย่างจริงจัง โดยน้ำผลไม้ "จูปิเตอร์" จะเน้นกระตุ้นการจดจำของบริโภคผ่านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ด้วยจุดขายที่ปลอดภัยในการบริโภค ซึ่งจะเป็นการลดจุดด้อยของน้ำผลไม้ราคาประหยัด ที่ผู้บริโภคห่วงใยสุขภาพไม่มั่นใจในการดื่ม
การแตกไลน์เข้าไปเล่นในตลาดน้ำผลไม้ให้ครบทุกเซกเมนต์นั้น ยังเป็นการปิดจุดอ่อนของ "ทิปโก้" ซึ่งยังเป็นรองค่ายคู่แข่งทั้งยูนิฟ และมาลี เนื่องจากมีความหลากหลายของน้ำผลไม้ที่ลงมาทำตลาดคลอบคลุมเซกเมนต์มากกว่า และยังสามารถสร้างความต่อเนื่องในการรับรู้แบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคทุกระดับอายุ สอดคล้องกับพฤติกรรมการดื่มน้ำผลไม้ของคนไทยที่แบ่งตามอายุ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
โดยตลาดน้ำผลไม้ 100% มี Benifit ตอบสนองพฤติกรรมคนไทยใส่ใจสุขภาพ น้ำผลไม้ 40% มีจุดขายด้านความสดชื่น ส่วนตลาดน้ำผลไม้ต่ำกว่า 25% ซึ่งมีราคาไม่สูงมากนัก เป็นตลาดที่ตอบสนองกลุ่มผู้ดื่มหน้าใหม่ที่เริ่มทดลองดื่ม
นอกจากนั้น บรรจุภัณฑ์ขวดเพ็ทยังช่วยสร้างโอกาสในการดื่มและสร้างเซกเมนต์เพิ่มขึ้นอีกด้วย และแม้ว่าพฤติกรรมการดื่มน้ำผลไม้ในบ้านมีสัดส่วน 60% นอกบ้าน 40% แต่ที่ผ่านมาด้วยจุดแข็งของบรรจุภัณฑ์ขวดเพ็ทที่พกพาสะดวก สบาย รวมทั้งกระแสสุขภาพซึ่งทำให้ผู้บริโภคคาดหวังคุณค่าของเครื่องดื่มนอกบ้านมากกว่าความสดชื่น ยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดันให้การสัดส่วนการดื่มผลไม้นอกบ้านมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
"ในปีหน้าจะทยอยออกสินค้าใหม่ในบรรจุภัณฑ์ขวดเพ็ทเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบการตลาด 1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากปีนี้ใช้งบ 500 ล้านบาท เพื่อเตรียมเปิดตัวเครื่องดื่มน้ำผลไม้กว่า 10% เพราะเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีค่ายยักษ์ใหญ่อย่างทรอปิคานาและสแปลชเป็นผู้ผลักดันตลาด
รวมทั้งวางแผนออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นแคธิกอรี่ใหม่ และออกน้ำแร่ออรานวัตกรรมใหม่ต่อเนื่อง หลังจากรีแบรนด์ดิ้งรูปแบบบรรจุภัณฑ์และฉลากให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้าภายใน 3 ปี ขึ้นเป็นผู้นำตลาดแทนด้วยส่วนแบ่งตลาด 50% จากปัจจุบันออรามีส่วนแบ่งเกือบ 30% มิเนเร่ 50% จากมูลค่าตลาดน้ำแร่ 500 ล้านบาท
สำหรับแผนการทำตลาดในช่วงไตรมาสที่สี่ใช้งบการตลาด 150 ล้านบาท แบ่งเป็นงบ น้ำแร่ออรา 50 ล้านบาท และน้ำผลไม้100% ประมาณ 80-90 ล้านบาทโดยปีนี้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมายคือ 1.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นน้ำผลไม้ 90% และน้ำแร่ออรา 10% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามีรายได้ 1.1 พันล้านบาท และสิ้นปี 2550 "ทิปโก้"จะมียอดขายเพิ่มเท่าตัว หรือประมาณ 3 พันล้านบาท"บัญชากล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|