แปลงโฉม"ตลท."สู่อาณาจักรธรรมภิบาล"อุ๋ย"การันตีรัฐไม่เอี่ยวนักลงทุนก็เชื่อมั่น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 พฤศจิกายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ไม่ต่างอะไรจากประตูบานแรกของบ้าน ที่เมื่อเจ้าของเปิดออกก็เห็นภาพที่อยู่เบื้องหลังของประตู ภาพนั้นจะสวยสดงามเพียงใดก็อยู่ที่การจัดและตกแต่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการจัดระเบียบสร้าง "ธรรมภิบาล" "ตลท." ให้เป็นที่น่าเชื่อถือของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนั่นทำให้ภาพใหม่ของ ตลท.จึงมิใช่แค่แหล่งเก็งกำไรของนักลงทุน หรือตลาดหุ้นที่สะท้อนภาพการขยายตัวหรือหดตัวทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังแสดงให้เห็นหน้าตาของประเทศที่ลั่นวาจายึดหลักธรรมภิบาลอีกด้วย

เมื่อก่อนภาพของตลาดหลักทรัพย์อาจสะท้อนให้เห็นแค่เรื่องของตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวโยงกัน เป็นต้นว่าเศรษฐกิจดี ดัชนี ราคาหุ้นขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ ดัชนี และราคาหุ้นก็จะวิ่งไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องปกติตามหลักและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

แต่ปัจจุบัน ตลท. ไม่ได้เกี่ยวโยงและสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจเท่านั้นหากแต่ยังสะท้อนภาพลักษณ์และหน้าตาของประเทศอีกด้วย ดั่งประโยคหนึ่งที่ ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญว่าธรรมภิบาลในตลาดหลักทรัพย์ในอดีตยังไม่ดีพอ เนื่องจากถูกภาครัฐบาลเข้าแทรกแทรง ทำให้ราคาหุ้นบางตัวในตลาดฯไม่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน

ปรีดียาธร บอกว่า สำหรับรัฐบาลชุดนี้ ต้องการวางฐานรากของ ตลท. ให้มีธรรมภิบาลอย่างแท้จริง นั่นหมายถึงว่า รัฐบาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับองค์กรอิสระ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับหลักทรัพย์ในตลาดฯ หรือแทรกแทรงราคาหุ้นอันเอื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจตนดั่งอดีตที่ผ่านมา

"การกระทำที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นทำให้กลไกตลาดฯ และราคาหุ้นไม่เป็นไปตามจริง นักลงทุนเกิดความกังวลในการลงทุน เพราะต้องดูว่าหุ้นกลุ่มนี้ใครดู ใครคุม ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์สภาพความเป็นจริงได้ตามปัจจัยพื้นฐานของหุ้น หรือดูผลประกอบการบริษัทมาพิจารณาได้ แต่ความรู้สึกไม่ดีเหล่านี้จะหมดไป"

เพราะปรีดียาธร ยืนยันว่า "รัฐบาลมีความชัดเจน และไม่ได้เป็นพวกใครแก๊งใคร"

คนในรัฐบาลชุดนี้ไม่มีใครที่มีส่วนได้หรือเสียผลประโยชน์จากธุรกิจของภาคเอกชนโดยเฉพาะ ที่สำคัญไม่มีการทับซ้อนในเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่ไม่ต้องกังวลกับระบบ 2 มาตรฐาน โดยสามารถแข่งขันกันที่ศักยภาพและประสิทธิภาพ

"และถ้าหากเราสามารถพิสูจน์ธรรมภิบาลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเห็นได้ชัด ความเชื่อมั่น และการกลับมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น ไม่ใช่รัฐเข้าไปกระตุ้นหรือยุ่งเกี่ยว ผมเชื่อว่าในเรื่องนี้คงพิสูจน์ให้ชาวต่างชาติได้เห็นไม่เกิน 1 เดือนแน่นอน ไม่ต้องไปเสียเวลาจัดโรดโชว์"

ปรีดียาธร ย้ำอีกว่า เปล่าประโยชน์ที่รัฐบาลจะเต้นแร้งเต้นกาจัดโรดโชว์ให้เปลืองเงิน สำคัญอยู่ที่การวางโครงสร้างกฎเกณฑ์ให้ดีที่สุด และให้เอกชนเป็นตัวเอกของเรื่องในการรับบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล รัฐบาลทำหน้าที่ดูแลวางกฎเกณฑ์ให้ดี ให้เอกชนอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแล ส่วนการแข่งขันก็ปล่อยไปตามกลไกของตลาดเสรี อย่าพยายามบิดเบือนกลไก เพราะโลกเสรีที่ก้าวเข้ามาอาจเป็นตัวทำร้ายผู้ประกอบการไทยได้หากว่ารัฐเข้าไปอุ้มดูแลเกินจำเป็น

เมื่อกลไกการแข่งขันวิ่งไปตามเสรีโดยที่รัฐบาลไม่พยายามบิดเบือน บรรยากาศการลงทุนก็น่าสนใจมากขึ้น ต่างชาติก็อยากเข้ามาลงทุน ถึงแม้สถานการณ์บ้านเมืองจะอยู่ในช่วงของการประกาศใช้กฎอัยกาศึกอยู่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติสัมผัสได้คือ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยนั้นยังแข็งแกร่ง เห็นได้จาก การปฏิรูปยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน2549 ที่ผ่านมา เปิดตลาดวันแรกหลังปฏิรูป 21 กันยายน 2549 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างแรงทันทีที่ 28.25 จุด แต่ก็ยังมีแรงซื้อต่อเนื่อง ทำให้ปิดตลาดที่ 697.57 จุด ลดลง 9.99 จุด แต่ปัจจุบันนี้ก็ดีดตัวกลับขึ้นมาที่ 700 กว่าจุด ที่สำคัญ วิเคราะห์กันว่า สิ้นปีนี้อาจปิดที่ 744 จุด

เห็นได้ว่าความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้รุนแรงอย่างที่กลัว ปรีดียาธร ยังบอกว่า "เรื่องที่เกิดขึ้นผมไม่ได้มองว่าเป็นวิกฤต หากแต่เห็นเป็นโอกาสมากกว่า เพราะทุกอย่างมีความชัดเจน ตั้งแต่การมีรัฐบาล การออกงบประมาณประจำปีได้เร็วกว่ากำหนด อีกเรื่องนโยบายภาครัฐที่ออกมาอย่างชัดเจนนั้น จะทำให้ภาคเอกชนมีเสาหลักในการปรับตัวธุรกิจได้อย่างถูกทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ผมว่ามันเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต"

ส่วนความกังวลเรื่องการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เกี่ยวกับเรื่องการถือหุ้นแทน(นอมินี)นั้นทางรัฐบาลก็จะเร่งทำออกมาให้มีความชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ทุกอย่างกระจ่างและบรรยากาศน่าลงทุนยิ่งขึ้น

ฟังดูแล้วนโยบายที่ปรีดียาธรให้นั้นดูจะไม่มีอะไรที่เป็นแรงกระตุ้นมากนัก แม้ขนาดเจ้าของคำพูดเองก็ถึงกับกล่าวว่า "ฟังดูแล้วมันแห้ง ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นนะ แต่ผมว่ามันก็ดีกว่าเต้นและไม่ตื่น"

ซึ่งก็คงจะจริงอย่างที่ "อุ๋ย" บอก นโยบายไม่ต้องให้มันตื่นเต้นหวือหวาหรอก ขอแค่สร้างความชัดเจน มีธรรมภิบาล ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแทรง สร้างผลประโยชน์ใส่ตัวแค่นั้นแหละ ทั้งบรรยากาศการลงทุน ภาพลักษณ์หน้าตาของประเทศก็สวยกว่าที่อื่นเป็นแน่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.